Skip to main content
sharethis

วันที่ 15 มิ..51 ที่ห้องประชุม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกประเทศไทย เครือข่ายคนไร้บ้าน เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายสลัม 4 ภาค สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สมัชชาคนจน เปิดสภาประชาชนสมัยวิสามัญ ญัตติ "ข้าวยากหมากแพง" เพื่อนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดจากวิกฤตข้าวยากหมากแพง

อนึ่ง สภาประชาชน เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายองค์กรประชาชน ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เพื่อเป็นเวทีรณรงค์และปฎิบัติการสาธารณะในการแสดงออกทางการเมือง และสะท้อนปัญหาทางนโยบายในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม โดยที่ผ่านมา มีการจัดเวทีสภาประชาชนทั้งสิ้น 5 ครั้ง เมื่อเดือน มี.. 46, .. 46, เม.. 47, และในเดือน ม.. 48 สองครั้ง


นางประทิน เวคะวากยานนท์ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ขณะที่ราคาข้าวของขยับขึ้น 100% แต่ค่าแรงไม่ได้ขึ้นตาม จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยจัดการควบคุมราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคหลักที่คนจนในประเทศจำเป็นต้องใช้ 5 อย่าง คือข้าว น้ำมัน ไข่ ก๊าซหุงต้ม น้ำตาลทราย


โดยนางประทินได้ยกตัวอย่าง ราคาข้าวที่สูงขึ้นว่า ทีแรกชาวนาต่างยินดี เนื่องจากจะได้ปลดหนี้ แต่ปรากฎว่า ส่วนต่างนั้นกลับตกกับกลุ่มทุนโรงสี


"ต้องดูว่า ช่วงที่ข้าวเปลือกมาถึงข้าวสารมีส่วนต่างขนาดไหน จากชาวนา 10 บาท โรงสี 15 บาท ออกจากโรงสีป็นข้าวสารมาถึงยี่ปั๊ว 20 บาท กว่าจะถึงผู้บริโภคเท่าไหร่ ส่วนต่างรัฐบาลเข้าแทรกแซงได้หรือไม่ ถ้ารัฐบาลจริงใจก็คุยกับโรงสีว่าระหว่างโรงสี ถึงผู้บริโภค แทรกแซงได้ไหม ดีกว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอย่างที่ทำอยู่"


นางประทิน กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะแจกคูปองให้คนจนรายละ 300-400 บาทว่า รัฐบาลเอาอะไรมาวัดว่าคนจนต้องมีรายได้เท่าไร ต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้ได้ เพราะถ้าบอกว่าได้เงินฟรี คนก็ยกมือกันทั่ว จึงเห็นว่า งบประมาณที่จะนำไปทำคูปอง ควรนำไปอุดหนุนราคาสินค้าอุปโภค แทรกแซงราคาให้น้ำมันถูกลง ซึ่งจะทำให้สินค้าราคาถูกตาม นอกจากนี้ เสนอให้เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า อาทิ ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เพื่อนำมาเป็นสวัสดิการให้คนจนด้วย


นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ ประธานเครือข่ายคนไร้บ้าน กล่าวว่า การออกคูปองให้คนจนก็เหมือนกับสมัยรัฐบาล พ...ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้คนไปลงทะเบียนคนจนแล้วบอกว่าจะหายจน ซึ่งก็หายจริงๆ คือตายไปทีละคนสองคน คราวนี้รัฐบาลให้เอาเลข 13 หลักในบัตรประชาชนมาลงทะเบียน แล้วคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชนจะทำอย่างไร นอกจากนี้ นายสุชิน ยังตั้งคำถามว่า เบี้ยเลี้ยงครองชีพ 500 บาท ของคนชรานั้นได้ให้ทั่วถึงหรือยัง โดยมีข้อสังเกตว่า บางคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกันกลับยังไม่ได้รับ


ทั้งนี้ เขาแสดงความเห็นว่า การออกคูปองเป็นการหาเสียงของรัฐบาล และเสนอว่า หากนำเงินส่วนนั้นไปอุดหนุนค่าน้ำมันให้ลดลง จะทำให้ราคาสินค้าลดลงด้วย ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับทุกคนได้ทั่วถึงกว่า


หลังการประชุม นางสาววิไลวรรณ แซ่เตียว ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า ประชาชน ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร คนจนเมือง ในฐานะปัจเจกชนและองค์กรประชาชน องค์กรแรงงาน องค์กรเกษตรกร องค์กรคนจนเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน จำนวน 40 องค์กร จะไม่ยอมทนต่อปรากฎการณ์ข้าวยากหมากแพงอีกต่อไป โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในด้านต่างๆ ดังนี้


หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค รัฐต้องแทรกแซงและควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้เป็นธรรม จัดทำสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกและจัดคาราวานสินค้าราคาถูกแก่ประชาชน เช่น น้ำมันพืช น้ำตาล น้ำปลา กระจายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก โดยมีสำนักงานประสานงานเบื้องต้นที่ สำนักงานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จตุจักร กรุงเทพฯ และสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสนับสนุนการซื้อขายตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง


หมวดสินค้าผลผลิตทางการเกษตร รัฐต้องควบคุมราคาปัจจัยการผลิต ปุ๋ยเคมี สารเคมีการเกษตร ค่าเช่านา ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ส่งเสริมปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรรายย่อย อาทิ น้ำมันเพื่อการเกษตร ประกันราคารับซื้อข้าวเปลือกและผลผลิตการเกษตรทุกชนิด ด้วยราคาที่เป็นธรรมกับผู้ผลิต และสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และเทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆ ทำการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน


หมวดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม รัฐจะต้องมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ค่าแรงขั้นต่ำ 316 บาท ควรมีอัตราเท่ากันทั่วประเทศ และรัฐจะต้องมีมาตรการดูแลให้แรงงานนอกระบบได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ในหลักการพื้นฐาน ค่าแรงของแรงงานนอกระบบก็ควรได้รับเท่ากับแรงงานในโรงงาน


หมวดสวัสดิการสังคม การประกันสุขภาพของคนจนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องมีมาตรฐานเดียวกันกับผู้ใช้บริการรักษาพยาบาลปกติ ค่าใช้จ่ายในระบบขนส่งมวลชนต้องอยู่ในอัตราที่คนจนมีกำลังจ่ายได้ และประชาชนต้องมีสิทธิเรียนฟรีทุกระดับชั้น


หมวดนโยบายรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับคูปองคนจน รัฐควรใช้งบประมาณอุดหนุนค่าน้ำมันให้ลดลง เพราะเป็นกลไกที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการสาธารณะปรับลดลงได้ ซื้อ ปตท. คืนมา เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และต้องมีการปฎิรูปกรรมการที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ต้องไม่เป็นกลไกของนักการเมือง โดยองค์ประกอบต้องมีตัวแทนนักวิชาการ องค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลผลประโยชน์ของประชาชน


ทั้งนี้ ยังได้เชิญชวนประชาชนทุกสาขาอาชีพ ชุมนุมใหญ่ในวันที่ 24 มิถุนายน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน และเป็นการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 76 ปี โดยนัดรวมตัวเวลา 09.00 . ณ หมุดอภิวัฒน์ 2475 ลานพระบรมรูปทรงม้า


โดยช่วงท้าย นางสาววิไลวรรณ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ยืนยันว่าเวทีสภาประชาชนไม่ได้รวมตัวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่เป็นเวทีเฉพาะเรื่องปากท้องโดยตรง ส่วนจะร่วมกับพันธมิตรฯ หรือไม่ ทางกลุ่มจะต้องพูดคุยกันก่อน



ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า ในส่วน สรส. ได้ตัดสินใจร่วมชุมนุมกับทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีจุดยืนคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยในวันที่ 17 มิ.. เวลา 14.00 .ที่โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น หลักสี่ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 43 แห่งจะประชุมกันเพื่อกำหนดแนวทางปกป้องสิทธิเสรีภาพ และสิทธิอันชอบธรรมทางเศรษฐกิจ โดยขณะนี้เห็นว่าการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องอย่างเดียวไม่เพียงพอ ที่จะทำให้รัฐบาลออกมาแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้ ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ต้องยกระดับปัญหาปากท้องเป็นปัญหาการเมืองระดับชาติ


แถลงการณ์เครือข่ายประชาชน ฉบับที่ 2


ชุมนุมใหญ่วันที่ 24 มิถุนายน 2551


หยุดน้ำมันแพง หยุดสินค้าราคาแพง


ประกันราคาผลผลิตที่เป็นธรรม ค่าแรงต้องสมดุลค่าครองชีพ


 


พวกเราประชาชน ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร คนจนเมือง ในฐานะปัจเจกชนและองค์กรประชาชน องค์กรแรงงาน องค์กรเกษตรกร องค์กรคนจนเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน จำนวน 40 องค์กร ขอประกาศ ณ สภาประชาชนแห่งนี้ว่า เราจะไม่ยอมทนต่อปรากฎการณ์ "ข้าวยากหมากแพง" อีกต่อไป


 


ราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง เป็นความไม่มั่นคงของชีวิตที่เลวร้ายลงทั่วโลก เป็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นระหว่างฝ่ายบรรษัทข้ามชาติและรัฐบาลนายทุนธุรกิจการเมืองที่ร่ำรวย กับพลเมืองโลกในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ที่มีรายได้ไม่เพียงพอในการบริโภคอุปโภค การยังชีพขั้นพื้นฐาน


 


กล่าวสำหรับประเทศไทยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำตาล ก๊าซหุงต้ม มีราคาสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ราคาน้ำมันแพงขึ้น ค่ารถโดยสารเพิ่มสูงขึ้น ในทางกลับกันค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานปรับขึ้นเพียง 2-11 บาท ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำและผันผวน เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว


 


ปรากฎการณ์ "ข้างยากหมากแพง" ไม่สามารถแก้ไขด้วยการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดดังที่นักเศรษฐศาสตร์กล่าวไว้ เพราะหากกลไกตลาดสามารถนำพาซึ่งความเป็นธรรมได้ เราคงไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันที่สูงเช่นนี้ ดังนั้น รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช จะต้องมีมาตรการในการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม มีกลไกในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และไม่เป็นเพียงการสร้างคะแนนเสียงทางการเมือง


 


ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ใช้แรงงาน เกษตรรายย่อย คนจนเมือง มีข้อเรียกร้องเชิงหลักการต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้


 


หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค


1.รัฐต้องแทรกแซงและควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้เป็นธรรม


2.กำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยราคาที่เป็นธรรม


3.จัดทำสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกและจัดคาราวานสินค้าราคาถูกแก่ประชาชน เช่น น้ำมันพืช น้ำตาล น้ำปลา


4.การกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกเพื่อให้เพิ่มช่องทางผ่านองค์กรประชาชน สหภาพแรงงาน สหกรณ์ ร้านค้ากลุ่มองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรประชาชน โดยมีสำนักงานประสานงานเบื้องต้นที่ สำนักงานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จตุจักร กรุงเทพฯ และสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


5.สนับสนุนการซื้อขายตรงระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง


 


หมวดสินค้าผลผลิตทางการเกษตร


1.ควบคุมราคาปัจจัยการผลิต ปุ๋ยเคมี สารเคมีการเกษตร ค่าเช่านา ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ส่งเสริมปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรรายย่อย อาทิ น้ำมันเพื่อการเกษตร


2.ประกันราคารับซื้อข้าวเปลือกและผลผลิตการเกษตรทุกชนิด ด้วยราคาที่เป็นธรรมกับผู้ผลิต


3.สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และเทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆ ทำการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน


 


หมวดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม


1.รัฐจะต้องมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ


2.ค่าแรงขั้นต่ำ 316 บาท ควรมีอัตราเท่ากันทั่วประเทศ


3.รัฐจะต้องมีมาตรการดูแลให้แรงงานนอกระบบได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม ในหลักการพื้นฐาน ค่าแรงของแรงงานนอกระบบก็ควรได้รับเท่ากับแรงงานในโรงงาน


 


หมวดสวัสดิการสังคม


1.การประกันสุขภาพของคนจนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องมีมาตรฐานเดียวกันกับผู้ใช้บริการรักษาพยาบาลปกติ


2.ค่าใช้จ่ายในระบบขนส่งมวลชนต้องอยู่ในอัตราที่คนจนมีกำลังจ่ายได้


3.ประชาชนต้องมีสิทธิเรียนฟรีทุกระดับชั้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ


 


หมวดนโยบายรัฐบาล


1.ไม่เห็นด้วยกับคูปองคนจน รัฐควรใช้งบประมาณอุดหนุนค่าน้ำมันให้ลดลง เพราะเป็นกลไกที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการสาธารณะปรับลดลงได้


2.การแก้ไขวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่ดีที่สุดก็คือ การซื้อ ปตท. คืนมา


3.คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และต้องมีการปฎิรูปกรรมการที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ต้องไม่เป็นกลไกของนักการเมือง โดยองค์ประกอบต้องมีตัวแทนนักวิชาการ องค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลผลประโยชน์ของประชาชน


 


เราขอเชิญชวนประชาชนทุกสาขาอาชีพ ชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศ ในวันที่ 24 มิถุนายน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน และเป็นการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 76 ปี


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net