Skip to main content
sharethis

5 มิ.. 51 - คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตย ( ภาคเหนือ  อีสาน กลาง  และใต้ ) ได้ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยระบุองค์กรประชาชน กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา จากโครงการของรัฐ จากระบบทุนนิยม ออกมาสร้างทางเลือกที่ 3 โดยปฏิเสธการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ที่มีโอกาสหมิ่นเหม่ให้อำนาจระบบรัฐประหารเข้ามาเข้าแทรกแซงในที่สุด


 


0 0 0


 


หมายเหตุกองบรรณาธิการ : คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. มีด้วยกัน 4 ภาคคือ กป.อพช.เหนือ ใต้ อีสาน และ กลาง โดยมีคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่งทำหน้าที่ประสานงานทั้ง  4 ภาค หรือที่มักจะเรียกกันว่า กป.อพช. (ชาติ) โดย กป.อพช.แต่ละภาค ทำหน้าที่เป็นอิสระ เอกเทศ มติและท่าทีของ กป.อพช.ภาคใดๆ อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนหรือผูกพันกับ กป.อพช.ในภาคอื่น


อย่างไรก็ตาม โครงสร้างองค์กรทั้งหมดข้างต้น ไม่เกี่ยวข้องกับ "คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตย (เหนือ อีสาน กลาง ใต้)" ที่ออกแถลงการณ์นี้แต่อย่างใด


ทั้งนี้ "คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตย (เหนือ อีสาน กลาง ใต้)" คือคณะบุคคลที่รวมตัวกันขึ้นเพื่อประสานงานบุคลากรและองค์กรพัฒนาเอกชนส่วนหนึ่งที่มีความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองแบบเดียวกัน โดยมากประกอบกันขึ้นจากคนรุ่นใหม่ๆ ทั้งๆ ที่เป็นแกนนำในองค์กร และในส่วนบุคลากรโดยทั่วไป


 






 


แถลงการณ์ต่อสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง


 


ความขัดแย้งหลักทางการเมืองของชนชั้นนำที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้ส่งผลต่อการพัฒนา ประชาธิปไตยในหลายๆด้าน โดยเฉพาะด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนของคนจน และมีแนวโน้มทางออกคือนำไปสู่การรัฐประหารได้ในที่สุด


 


เรามีความคิดเห็นต่อปัญหาคนจนและการเมืองดังนี้


 


1.       ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยเฉพาะคนยากคนจน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากความจงใจของรัฐไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากปากกระบอกปืนภายใต้การพัฒนาประเทศสู่ทุนนิยมซึ่งเห็นและเป็นอยู่ทุกยุคสมัย


 


2.       อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การเมืองไทยและสากลบ่งบอกให้รู้ว่า ระบอบรัฐประหารอันตรายน่าสะพรึงกลัวมากกว่า เนื่องจากได้สร้างปัญหาด้านการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการต่อสู้-ต่อรองปัญหาต่างๆขององค์กร/กลุ่มประชาชนอย่างเสมอภาคและสันติวิธี ซึ่งแตกต่างกับการต่อรองกับระบอบรัฐสภา พรรคการเมือง นักการเมือง ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนครองอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม เช่น เมื่อมีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549  ชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านการสร้างเขื่อนเสือเต้นต้องเผชิญกับกองกำลังทหารเข้าพื้นที่ และชาวบ้านปากมูนต้องลำบากยากเข็ญเมื่อกองทหารเข้าควบคุมพื้นที่สอดส่องการประชุม จับตาการเคลื่อนไหวของแกนนำชาวบ้าน ฯลฯ ย่อมส่งผลจำกัดในการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน


 


3.       ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความมั่นแห่งชาติ(คณะรัฐประหาร) และไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้ใช้อำนาจบาตรใหญ่แบบรวมศูนย์อำนาจ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงคะแนนเสียงโดยของประชาชนเหมือนเช่นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่จำเป็นต้องหาเสียงแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องสนใจกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชาชนต่างๆอย่างแท้จริง และไม่เปิดกว้างให้ประชาชนมีเงื่อนไขในการต่อรองแต่อย่างใดทั้งสิ้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงได้ออกกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อคนยากคนจนและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เช่น พระราชบัญญัติป่าชุมชน  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงาน เป็นต้น


 


4.       ในยุคประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย เราเชื่อว่า อำนาจการต่อรองของประชาชนคนจนกลุ่มต่างๆ นั้น จะมีพลังและสันติวิธีได้นั้น การเมืองต้องเป็นการเมืองที่เปิดกว้างยอมรับสิทธิเสรีภาพ  การเมืองที่ไม่ใช่ระบบเจ้าขุนมูลนายใช้คำสั่งจากเบื้องบนแบบผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมซึ่งหมดยุคสมัยแล้ว


 


5.       โปรดลองพิจารณาไตร่ตรองดูว่า การเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลทักษิณที่ผ่านมา ไม่ว่าเรื่องภาคใต้ เรื่องยาเสพติด  และอื่นๆ สิทธิเสรีภาพรวมทั้งสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ย่อมเปิดกว้างมากกว่าการเคลื่อนไหวในยุครัฐบาลสุรยุทธ์ที่มาจากรัฐประหารในการควบคุมสื่อสารมวลชนถึงโต๊ะบรรณาธิการ/สำนักงานสื่อ   


 


6.       ดังนั้น เราจึงสนับสนุนระบบผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา แม้ว่าไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยประชาชนก็ตาม เราไม่สนับสนุนระบอบรัฐประหารและการเคลื่อนไหวใดๆที่นำไปสู่ระบอบรัฐประหารในที่สุด


 


7.       เราขอเรียกร้องให้องค์กรประชาชน กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา จากโครงการของรัฐ จากระบบทุนนิยม ออกมาสร้างทางเลือกที่ 3 โดยปฏิเสธการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ที่มีโอกาสหมิ่นเหม่ให้อำนาจระบบรัฐประหารเข้ามาเข้าแทรกแซงในที่สุด


 


 


 


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตย


( ภาคเหนือ  อีสาน กลาง  และใต้ )


 


 


 


 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net