Skip to main content
sharethis

เชียงใหม่เร่ง HUB การบินลุ่มโขง
สานต่อ Logistics เชื่อมเพื่อนบ้าน

นับเป็นเวลา 2 ปีแล้วที่โครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้ท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบินในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Aviation Hub) ตามดำริของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร มีความคืบหน้า เป็นรูปธรรม และคึกคักเป็นอย่างมาก

ล่าสุดมีการประกาศว่าเชียงใหม่จะเป็นศูนย์กลางการบิน หรือ HUB อย่างสมบูรณ์ในปี 2550

นอกเหนือจากนั้นคือ การเตรียมแผนที่จะให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการขนส่งหรือ Logistics ที่สมบูรณ์ครบวงจรในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

การผลักดันโครงการ Mega Project ที่สำคัญขนาดนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี CEO และเจ้าภาพหลัก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิเชษฐ สถิรชวาล เป็นประธานคณะกรรมการฯ มีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ และมีการประชุมหารือร่วมกันเพียง 2 ครั้ง ในปี 2546 และมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเร่งรัดการดำเนินการให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน พร้อมทั้งได้มีการพร้อมกับแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน

ต่อมาประธานคณะกรรมการฯ และกรรมการบางท่านพ้นจากตำแหน่งเดิม กระทรวงคมนาคมจึงได้ปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค โดยปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี เป็นประธาน รวมทั้งได้มีการปรับเปลี่ยนกรรมการบางท่านเพื่อความเหมาะสม

พร้อม ๆ กันนั้น สถิติที่น่าสนใจที่สนับสนุนให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบินก็ยิ่งน่าสนใจคือ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2547 ว่า มีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่รวมทั้งสิ้น 1,354,273 คน แยกเป็นผู้โดยสารในประเทศ 1,175,838 คน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 178,435 คน ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีจำนวนผู้โดยสารเดือนละ 123,115.73 คน และวันละ 7,523.74 คน ทั้งนี้จำนวนผู้โดยสารในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2547 นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2546 ที่มีผู้โดยสาร 912,351 คนมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 441,922 คน

ขณะที่จำนวนเที่ยวบินที่ผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2547 มีทั้งหมด 10,130 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ที่มีเที่ยวบินจำนวน 7,794 เที่ยวบินกว่า 2,300 เที่ยวบินโดยเที่ยวบินในปีนี้แบ่งเป็นเที่ยวบินในประเทศ 7,264 เที่ยวบินและเที่ยวบินระหว่างประเทศ 2,866 เที่ยวบิน ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีจำนวนเที่ยวบินผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่วันละ 56.28 เที่ยวบินและเฉลี่ยเดือนละ 920.91 เที่ยวบิน

นอกจากนั้นการเกิดขึ้นของสายการบินราคาถูก ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานเชียงใหม่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยประมาณวันละ 6,000-7,000 คน

นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรม การดำเนินการให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค (ฮับ) ครั้งที่ 2/2547 ณ จังหวัดเชียงใหม่ว่าคาดว่าเชียงใหม่จะเป็นฮับอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2550 เพราะการปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐาน การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก รวมทั้งการคมนาคมขนส่งทางบกที่สามารถเชื่อมโยงไปยังจังหวัดใกล้เคียง และกลุ่มประเทศในอนุภาคลุ่มน้ำโขง ฯลฯ ทั้งนี้ เชียงใหม่จะเป็นฮับได้ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงในหลายด้าน ได้แก่ จำนวนเที่ยวบิน จำนวนนักท่องเที่ยว ศักยภาพของสนามบิน รวมทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจต่อเนื่องไว้รองรับนักท่องเที่ยว ความพร้อมของสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการส่งเสริมกิจกรรมในด้านต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางโดยเครื่องบินมายังเชียงใหม่ตลอดทั้งปี

"เชียงใหม่ ยังจำเป็นจะต้องหาจุดขายโดยเฉพาะการมีแหล่งท่องเที่ยวหลัก ทั้งจากการปรับปรุงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่จะใช้เป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาได้ตลอดทั้งปี เพื่อให้เชียงใหม่จะไม่ต้องมีไฮซีซั่นและโลว์ซีซั่นอีกต่อไป"

นอกจากนั้น กรมการขนส่งทางอากาศได้เจรจาปรับปรุงสิทธิการบินระหว่างประเทศ โดยการบินแบบประจำได้ดำเนินการเจรจาปรับปรุงสิทธิการบินกับประเทศคู่ภาคีต่าง ๆ เพื่อให้มีการเปิดบินเสรีระหว่างกันมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันสายการบินของทุกประเทศสามารถทำการบินขึ้นลง ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้ พร้อมกับมีการอนุญาตให้ทำการบินเช่าเหมาลำจากต่างประเทศมายังจุดต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้โดยไม่มีข้อจำกัด

นายวิเชษฐกล่าวถึงโครงการรองรับการเป็นศูนย์คมนาคมและศูนย์กลางภาคเหนือตอนบนของจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษาแนวทางการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบิน และการขนส่งในภูมิภาค เพื่อศึกษาความต้องการ การเดินทางของคนและสินค้า พร้อมเสนอแนะแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงระบบการขนส่งและจราจรให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมือง และการอุตสาหกรรม ทั้งปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งเสนอแนะระบบการขนส่งและจราจรต่าง ๆ ที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางด้าน Logistic ไปด้วยโดยจะใช้เวลาการศึกษาประมาณ 8 เดือน ในวงเงิน 14.996 ล้านบาท โดยจะมีการกำหนดแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการและตัวชี้วัดที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังจะมีการสนับสนุนการจัดทำ MULTI MODEL เพื่อวางแผนการพัฒนาระบบขนส่งของจังหวัดเชียงใหม่อย่างเป็นระบบต่อไป

ด้านเรืออากาศโทสุธารา ห่วงสุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ได้สรุปความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ล่าสุดว่า ขณะนี้การพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นเวลานี้ในส่วนของการปรับปรุงก่อสร้างอาคารห้องผู้โดยสารขาเข้า-ออกระหว่างประเทศ และสะพานเทียบ 1 ตัว ได้ดำเนินการแล้วเสร็จแล้วโดยใช้งบประมาณ 114 ล้านบาท ขณะที่การก่อสร้าง Central Block ซึ่งเป็นอาคารที่จะใช้เป็นอาคารสำนักงานของสายการบินต่างๆ และห้องรับรองพิเศษ กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อใช้ทดแทนพื้นที่เดิมที่นำไปใช้ปรับปรุงเป็นอาคารห้องผู้โดยสารขาเข้า-ออกระหว่างประเทศ

นอกจากนั้นการพัฒนาปรับปรุงส่วนอื่นๆ ของท่าอากาศยานเชียงใหม่นั้น ในขณะนี้ยังได้มีการดำเนินการก่อสร้างลานจอดอากาศยานเพิ่มเติม การขยายความกว้างของทางวิ่ง และหากการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ดำเนินการแล้วเสร็จแล้วจากนั้นจะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมให้เป็นห้องผู้โดยสารขาเข้า-ออกภายในประเทศทั้งหมด ทั้งนี้คาดว่าในปี 2548 การปรับปรุงพัฒนาต่างๆ ในส่วนของโครงสร้างหลักจะแล้วเสร็จไปมากพอสมควร และเชื่อมั่นว่าในปี 2549 จะเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ประเมินปริมาณจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานเชียงใหม่ว่า ในปี 2549 จะมีผู้โดยสารใช้บริการรวม 2.64 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 2.5 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1.43 แสนคน ในปี 2554 คาดว่า จะมีผู้โดยสารใช้บริการรวม 3.38 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 3.2 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1.86 แสนคน

ในปี 2559 คาดว่า จะมีผู้โดยสารใช้บริการรวม 4.25 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 4.02 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2.36 แสนคน และในปี 2564 คาดว่า จะมีผู้โดยสารใช้บริการรวม 5.23 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 4.92 ล้านคน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 3.09 แสนคน ในด้านปริมาณการขนส่งสินค้านั้น ในปี 2549 คาดว่า จะมีจำนวนสินค้า 2.98 หมื่นตัน และมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.94 หมื่นตัน ในปี 2559 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.13 หมื่นตัน และปริมาณสินค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.39 หมื่นตันในปี 2564

จึงเห็นได้ว่าโครงการผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบินนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องที่จะต้องเร่งปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นฮับที่สมบูรณ์ในปี 2550 ทั้งระบบขนส่งมวลชน การพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัด ภาคเหนือ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเป็นระบบ รวมถึงการพัฒนาสู่ระบบการขนส่ง Logistics ที่มีประสิทธิภาพในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป.

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net