Skip to main content
sharethis

           




           เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา ที่สวนห้าธันวา บ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรต่างๆ 21 องค์กร และศูนย์ประสานงานชุมชนบ้านน้ำเค็ม ได้ร่วมกันจัดงาน "สามปีสึนามิ สานพลัง พลิกฟื้นอันดามัน" ขึ้น เพื่อแสดงพลังของชุมชนในการฟื้นฟูชุมชนด้วยกระบวนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งนำเสนอผลการฟื้นฟูและแก้ปัญหาโดยเครือข่ายฯ 3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนและนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำเสนอข้อมูลการฟื้นฟูวิถีชีวิตและปัญหาต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนในการวางรากฐานการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน


พร้อมกันนี้เครือข่ายได้ออกคำประกาศและจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล 3 ข้อหลักๆ ประกอบด้วย 1.การออกบัตรประชาชน ให้ชาวเล (มอแกน) จำนวน 724 คน 2.การประกาศเขตชุมชนถาวร 13 หมู่บ้าน ตามมติอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติ 6 จังหวัด ซึ่งเห็นชอบให้ หมู่บ้านดั้งเดิมที่ถูกไล่ที่หลังสึนามิอยู่ต่อไปได้อย่างถาวร (อ่านรายละเอียดในเอกสารแนบ) 3.การตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่น (ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร) โดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การแก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่นที่ไร้สัญชาติ ไม่หยุดชะงัก มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแลเด็กเยาวชน และป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ


นอกจากนี้ ในเอกสารโครงการระบุว่า หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มชายฝั่งทะเลอันดามันในพื้นที่ 6 จังหวัดได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, ตรัง, กระบี่ และสตูลเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาที่เป็นผลพวงตามมา รวมกับปัญหาที่มีอยู่เดิมได้เปิดเผยชัดเจนขึ้น เช่น ปัญหาที่ดิน ปัญหาชาวเล ปัญหาคนไร้สัญชาติ เป็นต้น ซึ่งได้จุดประกายให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่รอดชีวิต เพื่อฟื้นฟูชุมชนที่อยู่อาศัย วิถีชีวิต และอาชีพ รวมถึงเกิดความความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน และมีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ จนผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม


 ที่ผ่านมาเกิดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน กลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน ให้สมาชิกได้กู้เงินไปประกอบอาชีพ โดยเน้นการฟื้นฟูอาชีพดั้งเดิม และส่งเสริมอาชีพใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในชุมชน นอกจากนี้มีการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนให้มีสภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน งานส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปะพื้นบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่น ปลูกฝังให้กับอนุชนรุ่นใหม่ในชุมชน รวมถึงแผนเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ของการป้องกันภัยพิบัติโดยฐานชุมชน


            อย่างไรก็ตาม ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้ทำงานร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จนสามารถผลักดันการแก้ปัญหาในระดับนโยบายหลายกรณี แต่ยังมีปัญหาที่ตกค้างอีกมาก คือ ความขัดแย้งเรื่องที่ดิน มีการร้องเรียนถึง 224 หมู่บ้าน ปัญหาความขัดแย้งและแย่งชิงทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ปัญหาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่กระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ปัญหาคนชายขอบที่ถูกรุกรานและละเมิดสิทธิ ทั้งชาวเลและคนไทยพลัดถิ่น ปัญหาสุขภาวะชุมชนที่ประสบภัยสึนามิ ทั้งด้านสุขภาพจิตและกาย ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ที่กระทบต่อผู้หญิง เยาวชน รวมถึง ปัญหาทั้งด้านสิทธิ และการอยู่ร่วมกันของกลุ่มแรงงานต่างด้าวกับคนในท้องถิ่น


เครือข่ายฯ และองค์กรภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน จึงร่วมจัดงาน "สามปีสึนามิ สานพลัง  พลิกฟื้นอันดามัน" ขึ้น เพื่อนำเสนอผลการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชนหลังภัยพิบัติ ที่เครือข่ายองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก ประเด็นที่เป็นปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับพื้นที่ และระดับนโยบาย อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ที่เป็นรูปธรรมร่วมกัน


อย่างไรก็ตาม งานสามปีสึนามิฯ ได้ดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ มาตั้งแต่วันที่ 7 - 26 ธันวาคม 2550 รวม 11 เวที ประกอบด้วย เวที"รวมพล คนกินปลา" ที่กรุงเทพฯ งาน "แรลลี่วิถีชุมชนกับการจัดการทรัพยากร" จังหวัดภูเก็ต งาน"เปิดเล เขเรือ" ที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เวที "แรงงานข้ามชาติ กำลังเสริมเศรษฐกิจไทย สิทธิขั้นพื้นฐาน และการอยู่ร่วมกัน" ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา งาน "ปลูกบ้าน...ปลูกชุมชน" ที่เกาะมุกด์ จังหวัดตรัง


เวที "สิทธิชุมชน : ที่ดิน ที่อยู่อาศัย...ภัยหลังสึนามิ" จังหวัดพังงา งาน "เผ่าชน คนทะเล" ที่สวนสันติไชยปราการ จังหวัดกรุงเทพฯ งานกิจกรรม "พี่น้องมอแกนเรียนรู้ดูงานที่ชุมชนต่างๆ ในจังหวัดพังงาและภูเก็ต" เวที "สุขภาวะชุมชน...ภัยเงียบหลังสึนามิ" ที่บ้านทุ่งหว้า จังหวัดพังงา เวที "ความรุนแรง" เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ธรรมดา ที่บ้านไอทีวี จังหวัดพังงา เวที "เพื่อสังคมไทยที่พร้อมพอต่อภัยพิบัติ" ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซอยอารี กรุงเทพฯ และเวที "เราพร้อมหรือยัง...กับภัยพิบัติ" ณ บ้านน้ำเค็ม


สำหรับองค์กรในเครือข่ายฯ ประกอบด้วย เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น ระนอง, ชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์ โครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนและการจัดวางระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืนของเกาะลันตา ศูนย์ประสานงานชุมชนบ้านน้ำเค็ม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มูลนิธิชุมชนไทเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิเด็ก มูลนิธิเอเชีย ActionAid มูลนิธิรักษ์ไทย ศูนย์กฎหมายและสิทธิอันดามัน มูลนิธิกระจกเงา ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ International Organization for Migration มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) โครงการช่วยเหลือกฎหมายแก่ผู้ประสบภัย กลุ่มผู้หญิงอันดามัน ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ Malteser International มูลนิธินักบุญคามิโลแห่งประเทศไทย และโครงการนำร่องอันดามันโครงการสิทธิทางวัฒนธรรม


 


00000


 


เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เสนอต่อรัฐบาล ในวาระครบ "สามปีสึนามิ"


 


๑.      การออกบัตรประชาชน ให้ชาวเล (มอแกน) จำนวน 724 คน


 ขอให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ออกบัตรประชาชนให้ชาวเล ตามมติครม. วันอังคาร ที่ 18 กันยายน 2550 เรื่องชาวมอแกน ดังนี้


1. ชาวมอแกนที่ไม่ได้เกิดในไทย ให้สถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมือง โดยชอบด้วยกฎหมาย (ให้ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไว้ก่อน หลังจากนั้น เร่งรัดออกบัตรประชาชน)


2.กรณีบุตรของชาวมอแกนตามข้อที่ 1 ที่เกิดในไทย ให้สัญชาติไทยได้ หากพบว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ถอนสัญชาติได้ (ออกบัตรประชาชนได้ทันที)


·         การจัดทำทะเบียนประวัติ ชาวเล ทั้ง ๗๒๔ คน ได้ทำโดยความร่วมมือหลายฝ่าย แล้วเสร็จ และส่งให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด และ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หาก กรมการปกครอง ใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ จะเกิดความรวดเร็ว (ตารางแนบ)


 


๒.     การประกาศเขตชุมชนถาวร ๑๓ หมู่บ้าน ตามมติ อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นธรณีพิบัติ ๖ จังหวัด (ตั้งโดย กบร.) ซึ่งเห็นชอบให้ หมู่บ้านดั้งเดิมที่ถูกไล่ที่หลังสึนามิ อยู่ต่อไปได้อย่างถาวร เมื่อ ๒๘ ต. ค . ๔๘ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ (ตารางแนบ)


·         กรมป่าไม้ (ที่ดินป่าชายเลน ) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


·         กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางน้ำ (ที่ดินชายฝั่ง) กระทรวงคมนาคม


·         กรมที่ดิน ( ที่ดินสาธารณะ) กระทรวงมหาดไทย


            ทำการประกาศโดยอาศัยระเบียบอื่นใด หรือนำเรื่องเข้าอนุมัติใน ครม. กันแนวที่ดินชุมชนเป็นแปลงรวมให้อยู่ได้อย่างถาวร เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งและความเดือดร้อนจากการไล่ที่ในระยะยาว


โดยเฉพาะ ชุมชนมอแกนบ้านทุ่งหว้า พื้นที่บริเวณเขาหลัก และ ชุมชนประมงพื้นบ้านคลองปากบาง พื้นที่ป่าตอง ชุมชนไม่มีความมั่นคง และมีโอกาสถูกไล่ที่ เพราะเป็นบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยว


 


๓. การตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่น (ระนอง ประจวบ ชุมพร ) โดยอาศัยระเบียบสำนักนายก ฯ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาคนไทยพลัดถิ่น ที่ไร้สัญชาติเป็นไม่หยุดชงัก มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแลเด็กเยาวชน และป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ


·         ผู้ว่าราชการ ตั้งอนุกรรมการในระดับจังหวัด โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนเครือข่ายเข้าร่วม เพื่อให้มีการสำรวจขึ้นทะเบียนประวัติที่ถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งในเบื้องต้นมีทะเบียนประวัติสมาชิกเครือข่าย จำนวน 4,800 คน


·          ออกบัตรรับรองสิทธิ หรือ บัตรอื่นใด เพื่อมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการ เดินทางออกนอกพื้นที่ การรักษาพยาบาล การสมัครงาน การแจ้งเกิดแจ้งตาย แจ้งความ ฯลฯ เพื่อทั้งป้องกันการเอาเปรียบ


 

เอกสารประกอบ

สรุปผลงานในการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิตลอด 3 ปีและประเด็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เสนอต่อรัฐบาล ในวาระครบ "สามปีสึนามิ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net