Skip to main content
sharethis

ประชาไท-3 ธ.ค. 47 เมื่อเวลา 13.00 น. ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนา "จากกรือเซะถึงตากใบ : ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้"

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าปัญหาความรุนแรงภาคใต้ในปัจจุบันคือไม่รู้ว่ารัฐบาลมองภาคใต้ในฐานะไหน ซึ่งตอนนี้อาจเป็นเพียงเวทีละคร แสดงไปเพื่อให้ได้ประโยชน์จากส่วนอื่น กลายเป็นอุตสาหกรรมที่คนจำนวนมากได้ประโยชน์จนต้องดำรงอยู่ แต่คนที่ต้องจ่ายคือเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในพื้นที่

นอกจากนี้สังคมไทยยังถูกสอนว่าใช้ความรุนแรงแล้วแก้ปัญหาได้ ซึ่งเมื่อใช้ความรุนแรงเป็นทางออกจึงไปปิดบังทางเลือกทางการเมือง ใช้กำลังทหารเป็นหลักทางเลือกอื่นเป็นเพียงส่วนประกอบ

"ในสถานการณ์ที่ใกล้การเลือกตั้งประชาชนควรออกมาบอกว่าอะไรที่ไม่เอา นโยบายอะไรที่อยากให้เกิดเพื่อนำสันติสุขมาสู่ภาคใต้ ต้องออกมารณรงค์กับพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองหรือรัฐบาลมีพันธกิจที่ต้องทำตาม เพราะวันนี้ผมไม่เชื่อว่ามันเลวร้ายจนกู่ไม่กลับ แต่อยู่ที่สังคมว่าแข็งแรงพอที่จะดึงกลับมาทางไหน ผมเองรู้สึกไม่สบายใจเมื่อเห็นกองทัพ แต่อยากเห็นการคุ้มครองโดยสายสัมพันธ์ของชาวบ้านเอง" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่าตอนนี้สงสัยว่าคนมุสลิมจะถูกมองแบบไหน มุสลิมถูกสอนในเส้นทางที่เที่ยงตรง ซึ่งเส้นทางเที่ยงตรงและเป๋นั้นค่อนข้างชัดเจน แต่คุณค่ามุสลิมกำลังถูกดึงจากการเมืองอัตลักษณ์ เป็นหนทางที่ถูกเลือกให้ไปอีกทาง โดยการเริ่มสงสัยในสิ่งที่เขาเป็น ซึ่งควรเป็นภาระของคนมุสลิมที่ควรไปชี้เส้นทางผิดถูกกันเอง นอกจากนี้จำเป็นต้องคิดถึงคนกลุ่มน้อยในคนกลุ่มใหญ่ด้วย เพราะไทยพุทธในพื้นที่มองทหารด้วยความรู้สึกอย่างหนึ่งแต่มุสลิมมองอีกอย่างหนึ่ง เรากำลังอยู่ในทางแพร่งที่ต้องคำนึง

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สมาชิกวุฒิสภาอุบลราชธานี กล่าวว่าสถานการณ์ในภาคใต้ตอนนี้ลุกลามเนื่องจากกระแสทุนนิยมบวกกับการสร้างชาติแบบขวาจัดมากขึ้น กรณีการไปพบนายกรัฐมนตรีของนักวิชาการก็ได้เพียงการพับนก หรือเรียกว่า "ไข้หวัดนก" ซึ่งแทนที่จะเป็นการเน้นที่ใจต่อใจก็เป็นเพียงการตลาด เป็นกระแส และสร้างชาติมากขึ้น คือ เป็นการเชื่อผู้นำและทำให้ขยายความรุนแรงมาสู่ส่วนกลางซึ่งจะทำให้บริบทความรุนแรงขยายไปจนทั่ว ต้องระวังกระแสสื่อในปัจจุบันเพราะไม่ได้บอกถึงสติ และปัญญาในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสังคมไทยปัจจุบันต้องทบทวนแนวทางสันติวิธีมากขึ้น

"สิทธิมนุษยชนถูกมองว่าเข้าข้างโจร สนับสนุนต่างชาติ ไม่รักชาติ แต่สิ่งที่เราเรียกร้องไม่ได้บอกว่าสิทธิมนุษยชนอยู่เหนือกฎหมายแต่ต้องการกฎหมายที่เป็นธรรม" สมาชิกวุฒิสภาอุบลราชธานี กล่าว

ด้านน.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช สำนักข่าวเอพี กล่าวว่าบทบาทของสื่อโทรทัศน์และวิทยุกลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เนื่องจากสื่อรับวาทกรรมมาจากรัฐ เวลาไปสัมภาษณ์ก็ไปหาเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐแต่ไม่ไปถามความเห็นชาวบ้าน นักข่าวลงพื้นที่น้อย จึงกลาย เป็นพื้นที่โฆษณาสำหรับบางคนที่มีโอกาสพูดโดยเฉพาะรัฐ

"ภาพข่าวที่ออกในประเทศมาเลเซียกับที่ประเทศไทยแตกต่างกันมาก ชาวบ้านที่ใต้เขาดูข่าวจากมาเลเซียเขารู้สึกว่าคนที่โน่นเห็นใจเขามากกว่าที่นี่ ตอนนี้เขาไม่กล้าพูด หวาดกลัว ไม่ไว้ใจสื่อไทย ดังนั้นการนำเสนอข่าวจึงควรนำเสนอให้รอบด้านให้ทุกฝ่ายได้พูด" น.ส.รุ่งระวี กล่าว

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net