Skip to main content
sharethis


บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)

 


 


ภายหลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว สิ่งที่เหลือทิ้งและไม่มีใครต้องการ คือ ฟางข้าว แม้ว่าการจัดการกับฟางข้าวเหลือทิ้งจะมีหลายวิธี เช่น นำไปเลี้ยงสัตว์ ใช้คลุมหน้าดินเพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น หรือ ใช้ในการเพาะเห็ด หากแต่เกษตรกรในพื้นที่นาปรังส่วนใหญ่มักใช้วิธีการเผาฟางข้าว เนื่องจากเป็นวิธีเตรียมพื้นที่สำหรับการทำนาครั้งต่อไปที่เร็วที่สุด


 


อย่างไรก็ดี แม้เกษตรกรจะทราบว่าการเผาฟางข้าวก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และภาวะโลกร้อน แต่เกษตรกรเองก็ไม่มีศักยภาพที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อกำจัดฟางข้าว ดังนั้นหากสามารถเพิ่มมูลค่าจากการใช้ประโยชน์ของฟางข้าวได้ จึงน่าจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหยุดเผาฟางข้าว และเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ น.ส.ไตรทิพย์ สุรเมธางกูร นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง นโยบายเกี่ยวกับการนำฟางข้าวมาผลิตพลังงานในประเทศไทย เพื่อจัดการการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวให้เหมาะสม ลดพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาฟางข้าว และส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลให้มากขึ้น


 


น.ส.ไตรทิพย์ กล่าวว่า การปลูกข้าวแต่ละพื้นที่ล้วนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการปลูกข้าว พันธุ์ข้าว สัดส่วนของปริมาณฟางข้าว การใช้ประโยชน์ และการเผากำจัด บางพื้นที่ไม่มีการนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์แต่จะเผาทิ้งทั้งหมด ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษพบว่า พื้นที่ที่มีการเผาฟางข้าวและปล่อยมลพิษทางอากาศมากที่สุดมีจำนวน 12 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลาง เช่น ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา และอ่างทอง เป็นต้น อีกทั้ง ภาคกลางยังมีปริมาณฟางข้าวมากกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากนิยมการทำนาปรัง คือ ทำนาปีละ 2-3 ครั้ง ทำให้มีฟางข้าวอยู่เป็นจำนวนมากและน่าจะเพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการผลิตพลังงาน จึงเลือกภาคกลางเป็นพื้นที่แรกในการศึกษาการวางนโยบายการนำฟางข้าวมาใช้ผลิตพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานทดแทนพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน


 


"การวางนโยบายด้านการพัฒนาพลังงาน จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในด้านต่างๆ จากความต้องการของหลายภาคส่วน เช่น เกษตรกรต้องการแรงจูงใจสำหรับการเก็บฟางข้าวมาใช้แทนการเผาทิ้ง อาทิ รายได้จากการขายฟางข้าวที่น่าสนใจ หรือประโยชน์จากการนำฟางข้าวไปใช้เอง ด้านภาคธุรกิจต้องการแรงจูงใจด้านเศรษฐศาสตร์ การลงทุน ความคุ้มค่า ผลตอบแทน และระยะเวลาคืนทุน ส่วนภาครัฐ มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น ต้องการให้มีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ รักษาสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน  ทั้งนี้ หลังจากเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการศึกษาเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้กับพื้นที่ ซึ่งพบว่ามีหลายเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้ เช่น เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากไอน้ำ โดยใช้ฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนในการต้มน้ำจนกลายเป็นไอ เทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากฟางข้าว ซึ่งเริ่มใช้แล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เทคโนโลยีการผลิตไบโอออย หรือน้ำมันชีวภาพ เทคโนโลยีการผลิตเมทานอลจากฟางข้าว และเปลี่ยนฟางข้าวเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับใช้กับเซลล์เชื้อเพลิง"


 


การพิจารณาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้จะไม่พิจารณาเพียงเทคโนโลยีเดียว แต่จะเลือกเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกันและสามารถนำทุกส่วนของฟางข้าวไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เช่น หากเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตเอทานอล วัตถุดิบการผลิตจะเป็นส่วนของเส้นใยด้านใน ส่วนผนังภายนอกเส้นใยที่มีลักษณะแข็ง จะถูกนำมาเป็นเชื้อเพลิงในเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า สำหรับขายเข้าสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือเป็นไฟฟ้าใช้ภายในโรงงานผลิตเอทานอล


 


"แม้ว่าฟางข้าวจะเป็นชีวมวลที่มีพลังงานไม่มากนัก และมีความยุ่งยากในการเก็บรวบรวมเมื่อเปรียบเทียบกับชีวมวลชนิดอื่นๆ แต่ในอนาคตอันใกล้ที่ชีวมวลอื่นๆ ได้ถูกจับจองไปหมดแล้ว ฟางข้าวจึงน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งหากงานวิจัยนี้เสร็จสมบูรณ์ จะเป็นการช่วยเพิ่มทางเลือกและนโยบายการพัฒนาพลังงานจากฟางข้าว อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่ช่วยวางแผนกลยุทธ์ด้านพลังงานของกระทรวงพลังงานด้านพลังงานทดแทนได้ และหากมีการนำนโยบายการจัดการฟางข้าวไปใช้จริงในอนาคต คาดว่าจะช่วยลดมลพิษ เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และช่วยเพิ่มแหล่งพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งนับเป็นการแก้ปัญหาฟางข้าวเหลือทิ้งได้อย่างยั่งยืนในที่สุด" น.ส.ไตรทิพย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net