Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 25 พ.ย. 2547 ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุ รัฐในยุคเศรษฐกิจการเมืองแบบผูกขาด สร้างอำนาจในการละเมิดสื่อ

ดร. สมเกียรติ กล่าวในการเสวนาเรื่อง "เสรีภาพสื่อไทยในยุคเศรษฐกิจการเมืองผูกขาด" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวันนี้ ว่า รัฐใช้กลไกเศรษฐกิจผูกขาดและการเมืองผูกขาดหนุนเสริมกันแทรกแซงสื่อ

ดร. สมเกียรติระบุว่า รัฐสามารถใช้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซงสื่อด้วยการใช้สื่อของรัฐในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ตัวเอง ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในช่วงหลังๆ จะสังเกตได้ว่ามีการใช้สื่อของรัฐให้บุคคลที่มีประวัติส่งเสริมเผด็จการเข้ามาทำรายการ สามารถแทรกแซงรายการวิทยุ โทรทัศน์ที่ล้ำเส้นอำนาจรัฐ แทรกแซงสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยกฎหมายโบราณ ซึ่งบางฉบับมีข้อความที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 และแทรกแซงด้วยกำหมายอื่น ๆ เช่น กฎหมายฟอกเงิน ดังกรณีที่เคยเกิดกับสื่อบางกลุ่มที่ถูก ปปง. ตรวจสอบทรัพย์สิน

นอกจากนั้นยังรัฐสามารถใช้อำนาจรัฐในการขัดขวางการขยายตัวของสื่อที่ไม่เป็นมิตรกับตน โดยอาจหยิบยกเรื่องทางเทคนิคขึ้นมาเป็นเครื่องมือ เป็นต้นว่าไม่สามารถส่งสัญญาณได้ เช่นกรณี วิทยุชุมชน

ดร.สมเกียรติเห็นว่า การใช้อำนาจรัฐในการแทรกแซงสื่อยังสามารถปรากฏในรูปของการแทรกแซงบุคลากรในหน่วยงานของสื่อ เช่นการเปลี่ยนตัวบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ในกรณีของบางกอกโพสต์ และคมชัดลึก

ส่วนการแทรกแซงโดยอำนาจทุนนั้น จะปรากฏในรูปของการเข้าไปเป็นเจ้าของเอง เช่นกรณีที่ขณะนี้มีสถานีโทรทัศน์อย่างน้อย 2 สถานีมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจรัฐ การช่วยเหลือธุรกิจที่พร้อมจะเป็นพันธมิตร และสกัดธุรกิจอื่นใช้พันธมิตรของตนในทางธุรกิจหรือฝ่ายการเมืองในการฟ้องร้องสื่อ และการแทรกแซงผ่านเม็ดเงินโฆษณา

อย่างไรก็ตาม ดร. สมเกียรติ กล่าวว่า ในระยะอันใกล้ซึ่งสัมพันธ์กับช่วงเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ยังมีความหวังเกี่ยวกับเสรีภาพสื่ออยู่ เพราะแม้รัฐจะยังมีอำนาจอย่างหยาบ คืออำนาจทุนและอำนาจรัฐเต็มที่ แต่อำนาจอย่างอ่อนซึ่งหมายถึงเสียงของประชาชนนั้นลดลงอย่างมาก เนื่องจากประชาชนสัมผัสได้แล้วว่ารัฐนี้ไม่ได้มีความพิเศษกว่าปกติดังที่เคยเชื่อ ทั้งได้ตระหนักรัฐไม่เปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มประชาชนที่ต่างออกไป และประชาชนก็ไม่เชื่อว่ารัฐบาลซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีวาระซ่อนเร้น ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ทั้งนี้ผลของอำนาจอย่างอ่อนทำให้สื่อมีเสรีภาพจากอำนาจรัฐ เนื่องจากเมื่อคะแนนความนิยมตกต่ำลง รัฐจึงต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้นในการทำให้ประชาชน และสื่อเห็นด้วย

มีเสรีภาพทางการเงิน เนื่องจากขณะนี้ เศรษฐกิจได้กระจายตัวไปยังกลุ่มทุนทางด้านอสังหาริม ทรัพย์มากขึ้น ซึ่งธุรกิจสายอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นกลุ่มทุนซึ่งมีลักษณะกระจายตัว ไม่ได้รวบอยู่ในกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่มอย่างทุนสื่อสารซึ่งเคยเป็นลูกค้าโฆษณารายใหญ่ของสื่อ ฉะนั้นเมื่อลูกค้าโฆษณาของสื่อกระจายไปสู่กลุ่มทุนอื่น ๆ กลุ่มทุนที่เคยมีอิทธิพลก็จะต้องลดบทบาทลง

มีเสรีภาพทางปัญญา หรือเสรีภาพจาการถูกปั่นข่าว เนื่องจากขณะนี้ใกล้เลือกตั้งแล้ว อีกทั้งรัฐบาลยังอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้น นโยบายเพื่อเรียกคะแนนนิยมต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างไม่ซับซ้อน ขาดความแยบยล เช่น โครงการแจกวัว เป็นต้น ซึ่งทำให้สื่อติดตามได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวก็ต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนและสื่อมีศักยภาพที่จะเข้าใจ คาดว่าการกำหนดการศึกษาขั้นต้น 12 ปี จะส่งผลให้ประชาชนในอนาคตมีความสามารถที่จะเข้าใจและวิเคราะห์มากกว่าปัจจุบัน ในส่วนของสื่อมวลชนต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้น

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในอนาคตควรจะมีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนมากขึ้น และสุดท้ายคือ เสรีภาพจากการมีอคติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพจากฉันทาคติในตัวบุคคลที่ขยันทำการบ้านกับสื่อ

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net