Skip to main content
sharethis

เมธา มาสขาว
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)


            จากที่มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.... ซึ่งขณะนี้อยู่ที่กฤษฎีกา และเตรียมเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเร็วๆ นี้ ผมไม่คิดว่า คมช.และรัฐบาลจะกล้าออกกฏหมายที่บ้าอำนาจออกมาได้ถึงเพียงนี้ หลังจากอ่านเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว


            อำนาจตาม ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น ให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ซึ่งก็คือ ผบ.ทบ. โดยตำแหน่งอย่างมากมายเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจตาม พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเลยทีเดียว ถึงขั้นมีอำนาจล้นฟ้าที่จะสั่งการแก่น่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานได้ ทั้งยังไม่ต้องขึ้นต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและการพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งเป็นกฏหมายหลักของนิติรัฐอีกด้วย  ซึ่งราชการและหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามอำนาจรัฐที่สองนี้โดยปริยาย  และยังบอกอีกว่าผู้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.นี้ไม่ต้องมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา ทำให้ผู้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.นี้จะไม่สามารถถูกตรวจสอบและฟ้องร้องได้เลย นั่นหมายถึงฆ่าคนได้โดยไม่ผิดกฏหมายนั่นเอง ตามมาตรา 37


            นอกจากนี้แล้ว มาตรา 25 ที่ลอกออกมาจากกฏอัยการศึกที่ให้อำนาจ ผบ.ทบ. ราวกับนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเงา เพราะสามารถประกาศเคอฟิวส์ได้ทุกเมื่อ สั่งห้ามเดินทางได้ทุกเส้นทาง บุกค้น จับกุมได้ 24 ชม.แม้ยามวิกาล ทั้งยังสั่งย้ายข้าราชการทุกคนออกนอกพื้นที่ได้ รวมถึงสามารถปราบปรามประชาชนประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐโดยอ้างความมั่นคงได้โดยถาวร   ซึ่งจะทำให้อำนาจทหารปฏิบัติการแทนหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ได้โดยรัฐบาลไม่ต้องประกาศ พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฏอัยการศึกแต่อย่างใด ซึ่งกฏหมายดังกล่าวจะประกาศใช้เฉพาะพื้นที่หรือช่วงเวลาที่เป็นสถานการณ์ไม่ปกติเท่านั้น  แต่ พ.ร.บ.ใหม่นี้ จะเป็นอำนาจถาวรตามกฏหมายที่ ผบ.ทบ.จะสั่งการทุกหน่วยงานได้ในฐานะ ผอ.รมน. ซึ่งจะทำให้ระบบนิติรัฐที่เว้นวรรคชั่วคราวจากการรัฐประหารครั้งนี้ ไปสู่ระบบอำนาจนิยมโดยกองทัพและราชการอย่างถาวรนั่นเอง


            นั่นหมายความว่า แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดีเพียงไหนก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ย่อมอยู่เหนือรัฐธรรมนูญที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพพลเมืองใดๆ ก็ได้โดยอำนาจ ผอ.รมน. ซึ่งก็คือ ผบ.ทบ. ตามกฏหมายนี้  หรือนี่คือการยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีในสมัยหน้ามาสู่กองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ ถ้าเช่นนั้น หรือนี่ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน?


            นี่คือการสร้าง "ระบอบกองทัพ" ขึ้นมาใหม่แทนระบอบทักษิณ


            นี่คือการหมกเม็ด ยืดอำนาจการเมืองในนามกองทัพบกเพื่อการคานอำนาจการเมืองหลังเลือกตั้งอย่างแน่นอน ซึ่งการสร้างอำนาจคู่ขนานและทับซ้อนอย่างนี้  อาจเสมือนทำให้เกิดรัฐบาลผสมระหว่างทหาร-พลเรือน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผลร้ายต่อกองทัพเองเพราะคณะรัฐประหารบอกเองว่าจะอยู่ไม่เกิน 1 ปี!!


            การที่ทหารออกมาอ้างความมั่นคงจึงเป็นแค่การเบี่ยงเบนประเด็น เพราะความจริงประชาชนควรมีส่วนร่วมเพื่อนิยามปัญหาความมั่นคงด้วย แต่ตาม พ.ร.บ.นี้ ให้อำนาจ ผบ.ทบ. นิยามความมั่นคงแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอาจนิยามได้ว่า ใครมีปัญหากับกองทัพก็สามารถจัดการได้เลย เช่นในมาตรา มาตรา 34 บอกว่า กรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นหรือห้ามมิให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวน่าจะมีการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหรือระเบียบ ก.พ. มากกว่า


            เป็นไปได้เลยทีเดียวว่าเรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับการยืดอายุกำนัน ผู้ใหญ่บ้านออกไปจนกษียณ เพื่อให้อำนาจกองทัพในนาม กอ.รมน.แทรกซึมและกระจายไปทุกปริมณฑลของกลไกข้าราชการ จนกองทัพอาจเป็นเหมือนรัฐบาลเงาในอนาคต มีอำนาจทับซ้อนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เหมือนประชาธิปไตยครึ่งใบในอดีต


            เราเคยประณามทักษิณที่ออก พรบ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจตนเองมากเกินไป แต่เรื่องนี้ก็เรื่องเดียวกันที่สมควรถูกประณาม เพราะกองทัพก็แสวงหาอำนาจให้ตนเองไม่ต่างกัน


            แม้มีการกล่าวว่ามาตรา 27 วรรคหนึ่งให้ขอหมายศาลในการจับกุมบุคคลไว้ ไม่ได้มีการจับกุมบุคคลได้นอกกระบวนการยุติธรรม แต่ก็เฉพาะการจับกุมควบคุมตัวเท่านั้น แต่ก็ยังอุตส่าห์ระบุว่าไม่ใช่ที่สถานีตำรวจ!!! นั่นก็คือเซฟเฮ้าหรือคุกลับนั่นเอง!!


            มาตรา 17 ยังบอกว่า ให้  "ผอ.รมน.ภาค" ซึ่งก็คือผู้บัญชาการภาคมีหน้าที่รับผิดชอบในงานราชการของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในภาค และมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชาข้าราชการ ซึ่งเท่ากับว่าให้ ผบ.ภ.มีอำนาจเหนือกระทรวงมหาดไทยสั่งการข้าราชการได้!!!  นี่คือ "รัฐทหารผสมพลเรือน" ที่พยายามขยายฐานไปสู่ท้องถิ่น แม้ให้นายกเป็นประธาน รมน. และผู้ว่าฯ เป็นประธานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด แต่ ผอ.ภาคคือผู้มีอำนาจที่สั่งการผู้ว่าได้ 


            นี่คือการเปลี่ยนการปกครองไทยจากเดิม Constitution Monarchy ให้เป็น Officer Military แทนใช่หรือไม่!!


เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ทหารและนักวิชาการบางคนออกมาพูดว่า ทำให้ภาพพจน์ไทยดีขึ้นเพราะไม่ต้องประกาศกฎอัยการศึก เหตุผลนี้ก็คือ การออก พ.ร.บ.นี้ออกมาก็เพื่อเลี่ยงการแจ้งรัฐภาคีของสหประชาชาติ ในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ซึ่งต้องแจ้งต่อภาคีให้รับทราบผ่านเลขายูเอ็นหากมีประกาศกฏอัยการศึกหรือกฏหมายฉุกเฉินที่มีการละเมิดตามกติกานี้  ซึ่งถ้ากฎหมายนี้ผ่านจะเป็นปัญหาระหว่างประเทศอย่างแน่นอน


ถ้าเราไม่ร่วมกันคัดค้านตั้งแต่วันนี้ ประเทศนี้ไม่มีอนาคตอย่างแน่นอน!!!

หมายเหตุ :


Blog ของเมธา มาสขาว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net