Skip to main content
sharethis

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญ ที่ยังค้างคาอยู่ในหัวใจของชาวบ้าน นั่นคือ ประเด็นคนหาย

ด้วยเพราะถึงวันนี้แล้ว มีผู้คนจำนวนหนึ่งยังไม่กลับบ้าน
อันเป็นที่มาของการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนคนหายของ "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" ร่วมกับ "คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส" ระหว่างวันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน 2547 ที่ผ่านมา

อันเป็นการทำงานร่วมกัน โดยมี "นายสุรสีห์ โกศลนาวิน" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับ "นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลศอมัด" ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่

ทว่า พอเอาเข้าจริงข้อมูลจากคำบอกเล่าของ "นายสุรสีห์ โกศลนาวิน" กลับกลายเป็นว่า มีคนมาแจ้งเรื่องคนหายน้อยมาก

"เรื่องที่มาแจ้งส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของผู้ต้องหา ที่ถูกแจ้งข้อหาหลังจากถูกควบคุมตัวไปไว้ที่ค่ายทหารแล้ว"
เป็นคำยืนยันของ "นายสุรสีห์ โกศลนาวิน" กับ "ประชาไท"

ขณะที่ "นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลศอมัด" กลับมองว่า สาเหตุที่มีผู้มาร้องเรียนประเด็นคนหายน้อย เป็นเพราะชาวบ้านยังหวาดกลัว กลัวขนาดญาติๆ ของบางคน ตัดสินใจหนีข้ามไปอยู่ฝั่งมาเลเซีย ขณะเดียวกันก็มีบางคนที่ตั้งใจจะไม่มาร้องเรียน

"เขาหาว่าผมเป็นสายของทางการ เลยไม่ยอมมาร้องเรียนกับผม ไม่รู้เขาคิดออกมาได้ยังไง"

สำหรับข้อมูลก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า มีคนหาย 48 คน "นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลศอมัด" บอกว่า เป็นข้อมูลที่นำเสนอโดยสื่อมวลชนต่างประเทศ ส่วนตัวเลขคนหาย 18 - 19 คน เป็นข้อมูลของสมาชิกวุฒิสภา ตอนนี้ จึงยังไม่มีใครมีข้อมูลจริงๆ อยู่ในมือ

หลังจากนี้ "นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลศอมัด" คาดการณ์ว่า คงต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลอีกประมาณ 1 สัปดาห์ โดยแบ่งกลุ่มจากข้อมูลที่มาร้องเรียนคร่าวๆ ออกเป็น 6 กลุ่ม คือ

1. ญาติผู้เสียชีวิต 2. เด็กกำพร้าพ่อ 3. ผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 4. ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 5. ผู้มีคดีติดตัว 6. คนหาย

จากการลงพื้นที่ของ "ประชาไท" พบว่าเฉพาะหมู่ที่ 6 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จนถึงขณะนี้ ยังมีคนหายอยู่อีก 2 คน

หนึ่ง "นายอับดุลรอซะ ตีมะซา" อายุ 27 ปี พี่ชายของ "นายมาหะมะมาโซ ตีมะโซ" อายุ 26 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

สอง "นายมาหะมะอาบี เจะโซะ" ซึ่งเป็นญาติห่างๆ บ้านอยู่ใกล้กันกับ "นายอับดุลรอซะ ตีมะซา"

คนในหมู่บ้านนี้ ตกเป็นผู้ต้องหา หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคราวนี้ 13 คน

ส่งผลให้ "นายดอแม ตีมะซา" ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นพ่อของ "นายอับดุลรอซะ ตีมะซา" กับ "นายมาหะมะโซ ตีมะชา" ต้องวุ่นวายอยู่กับการวิ่งเต้นประสานงานขอประกันตัวลูกบ้านทั้ง 13 คน ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส

บรรยากาศที่บ้านในสวนมะพร้าวของผู้ใหญ่บ้าน ในเช้าของวันที่ "ประชากรไทออนไลน์" ไปเยี่ยม จึงเงียบเหงา มีเพียงเด็กผู้หญิงอายุ 6 ขวบ นั่งอยู่คนเดียวหน้าบ้าน

เมื่อเดินต่อไปยังบ้านของ "นายมาหะมะอาบี เจะโซะ" ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 100 เมตร "แม่" คนที่ลูกชายหายไปรายนี้ กลับเดินหนีออกไปหลังบ้าน

เพื่อนบ้านบอกว่า "เธอ" ยังทำใจไม่ได้กับการหายตัวไป ชนิดไร้ร่องรอยของลูกชาย

ตลอดเวลาของการลงตามล่าหาข้อมูล "ประชาไท" ได้รับคำบอกเล่าเกี่ยวกับการหายตัวของผู้คนอยู่เป็นระยะ

ชายคนหนึ่ง แถวตลาดชายแดนตาบาบอกว่า ในวันเกิดเหตุ "เมีย" ของเพื่อน ซึ่งอยู่ที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส มาร่วมชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ พร้อมกับคนในหมู่บ้านอีกหลายคน วันนั้น "เธอ" ปล่อยให้สามีเฝ้าบ้าน

ปรากฏว่า จนถึงวันนี้ "เมีย" ของเพื่อนคนนี้ ยังไม่กลับบ้าน ขณะที่คนในหมู่บ้านกลับกันมาหมดแล้ว

"ตอนนี้ เพื่อนผมคนนี้ เกือบบ้าแล้ว"

นี่คือ หนึ่งตัวอย่างจากหลายเวอร์ชั่นของคำบอกเล่าเรื่องราวคนหาย

"ประชาไท" มีโอกาสได้คุยกับ "ชาวบ้านรายหนึ่ง" ที่เดินทางมาจากตำบลตุหยง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี พร้อมกับญาติอีก 6 คน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 ขณะเข้าร้องเรียนต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนคนหายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส

"ชาวบ้าน" รายนี้ บอกกับ "ประชาไท" ว่า "นายมะดิง ซีนา" ลูกชายวัย 22 ปี ไปทำงานร้านอาหาร ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แล้วถูกตำรวจมาเลเซียกุม เพราะวีซ่าหมดอายุและไม่มีใบอนุญาตทำงาน ต้องเข้าคุกมาเลเซีย พร้อมคนไทยรวม 18 คน

ต่อมา วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุสลายการชุมนุมที่ตากใบ นายจ้างโทรศัพท์มาบอกที่บ้านว่า ทางการมาเลเซียได้ปล่อยตัว "นายมะดิง ซีนา" พร้อมกับเพื่อนๆ ทั้ง 18 คนแล้ว

"ผมไม่รู้ว่า เขากลับบ้านทางด่านไหน รู้แต่ว่าวันนี้เขายังไม่ถึงบ้าน" ผู้เป็นพ่อบอกกับ "ประชาไท" ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

อันที่จริงตามประเพณีแล้ว วันตรุษอีดิ้ลฟิตรี ซึ่งเป็นวันฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเพิ่งผ่านไป ญาติๆ ทุกคนไม่ว่าอยู่ที่ไหน จะต้องกลับบ้าน พลันที่ "นายมะดิง ซีนา" ไม่กลับบ้าน จึงกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องผิดปกติ

"ตอนนี้ ผมกังวลมาก กลัวเขาจะถูกจับไปด้วย เพราะวันนั้นคนที่กลับมาจากมาเลเซีย ถูกจับไปด้วยหลายคน"

ถึงแม้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนคนหาย จะมีคนมาแจ้งเรื่องคนหายไม่มากนัก
ทว่า เรื่องราวที่แต่ละคนพกพามาร้องเรียนนั้น กล่าวได้ว่าชวนเวทนาอย่างยิ่ง ผู้หญิงบางราย อุ้มลูกๆ 3 - 4 คน ที่กำลังร้องไห้กระจองอแงเข้ามาแจ้งว่า สามีเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งนี้ ฐานะยากจน ไม่รู้จะเลี้ยงลูกอย่างไร

จุดประกายให้ "นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลศามัด" เกิดความคิดจะเปิดศูนย์เด็กกำพร้าที่สูญเสียบิดาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ ซึ่งเท่าที่ทราบตอนนี้ เด็กเหล่านี้มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 50 คน ฐานะส่วนใหญ่ยากจน

ดูเหมือนขณะนี้ "นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลศามัด" เริ่มขยับโครงการตั้งศูนย์เด็กกำพร้าฯ แห่งนี้แล้ว โดยให้เหตุผลกับ "ประชาไท" ว่า ….

"ถ้าเราไม่ช่วยกันดูแลกันเองแล้ว ใครเขาจะมาดูแลให้เรา"

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net