Skip to main content
sharethis

การเลือกตั้ง 2548 กับการก่อตัวของประชาธิปไตยวัยชราหรือระบบการเมืองสีเทา
ธีรยุทธ บุญมี
อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทบาทการเลือกตั้งในระบอบการเมืองไทย

ในสังคมประชาธิปไตย การเลือกตั้งก็คือระบบการเมืองย่อยหรือกลไกทางการเมืองซึ่งทำหน้าที่ถ่ายโอนอำนาจและความชอบธรรมจากประชาชนมาให้รัฐ รัฐจะขาดความชอบธรรมและอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง แต่ในสังคมไทยมีพัฒนาการทางการเมืองที่สลับซับซ้อน ผ่านทั้งระบบเผด็จการประชาธิปไตยครึ่งใบ ธนาธิปไตย หรือประชาธิปไตยสัมปทาน การเลือกตั้งจึงทำหน้าที่ที่ต่างไปจากสังคมตะวันตกและสลับซับซ้อนมากกว่า คือทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจสังคม การเมืองและวัฒนธรรมไปพร้อมๆกันดังนี้คือ

1.การเลือกตั้งในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการปกครอง ในช่วงก่อนการปฏิรูปการเมืองคือช่วงเผด็จการก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ อำนาจรัฐถูก ผูกขาดอยู่ในมือของข้าราชการทหาร ตำรวจ การจัดสรรอำนาจรัฐหรืออำนาจการเมืองขึ้นอยู่กับสถาบันกองทัพมากกว่ารัฐสภา การเลือกตั้งไม่ได้ทำหน้าที่การเมือง แต่ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการปกครอง คือการเป็นเวทีให้ประชาชนได้มีปากมีเสียง ระบายความเดือดร้อน ทุกข์ข้องหมองใจ

ในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ การเลือกตั้งทำหน้าที่เพิ่มเติมในมิติทางสังคมโดยการมีส่วนร่วมช่วยสร้างโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ขึ้น ทำให้ชาวบ้านผู้อุปถัมภ์มีฐานะเป็นฐานเสียง ผู้อุปถัมภ์มีฐานะเป็นหัวคะแนนเชื่อมต่อกับส.ส.ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่น

2.การเลือกตั้งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกลไกจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศ ก่อนปฏิรูปการเมือง นักการเมืองอาศัยการเลือกตั้งหรือทำตัวเป็นนายหน้าเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างชาวบ้านกับอำนาจรัฐและกลุ่มทุน โดยมุ่งใช้อำนาจรัฐมาเป็นเครื่องมือหาทุนมาสร้างฐานะและระบบอุปถัมภ์ของตน นักการเมือง พรรคการเมืองรุ่นเก่าหากินกับการก่อสร้างโครงการย่อยๆจากค่านายหน้าที่ได้มาจากการขายทรัพยากรพื้นฐานของประเทศเช่น ป่าไม้ เหมืองแร่ ยาง พืชไร่ต่างๆ แต่ปัจจุบันนักการเมือง พรรคการเมืองเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนอาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือให้ตัวเองเป็นเจ้าของสัมปทานอำนาจรัฐเพื่อหากินกับอำนาจอธิปไตยและทรัพยากรขั้นสูงของประเทศ เช่น ทรัพยากรด้านการสื่อสาร คมนาคม ข่าวสาร บันเทิง ทรัพยากรด้านการเงิน การบริหาร พลังงาน การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ พวกนี้ยังหากินกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของตนในตลาดทุนตลาดหุ้นตลาดการเงิน หรือทำตัวเป็นนายหน้าให้เช่าช่วงสัมปทาน,ซับคอนแทรคท์ (sub-contract) อำนาจแก่กลุ่มทุนใหญ่เฉพาะด้านต่างๆ เช่น ให้กลุ่มธุรกิจเกษตรและการค้าข้ามชาติได้สัมปทานอำนาจคุมนโยบาย โครงการด้านการเกษตรและพาณิชย์ให้กลุ่มพลังงานสื่อสาร คุมนโยบายด้านต่างประเทศ ให้กลุ่มสื่อสาร บันเทิง คมนาคม คุมนโยบายเศรษฐกิจ ภาคข้อมูลข่าวสารและสันทนาการเป็นต้น

3.การเลือกตั้งมีบทบาทในเชิงสังคมมากขึ้น ในอดีตการเลือกตั้งทำหน้าที่เป็นกลไกต่อรองผลประโยชน์ขั้นต้นให้กับชาวบ้านผ่านโครงสร้างอุปถัมภ์ของสังคม และเป็นกลไกต่อรองผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนกับอำนาจรัฐ ในปัจจุบันการเลือกตั้งทำหน้าที่เป็นกลไกต่อรองผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่ม หลายชนชั้นมากขึ้น กล่าวคือ

กลุ่มชนชั้นสูงหรือกลุ่มทุนใหญ่ปัจจุบัน แบ่งเป็นสองส่วนคือ กลุ่มทุนใหม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นทุนในเศรษฐกิจภาคที่กำลังเติบโตไว เช่น การสื่อสาร คมนาคม พลังงาน บันเทิง การค้าข้ามชาติ กลุ่มนี้พยายามต่อรองผลประโยชน์ผ่านไทยรักไทยซึ่งเป็นรัฐบาล

กลุ่มทุนเก่า คือภาคธุรกิจที่เคยรุ่งเรืองในอดีต เช่น บางส่วนของธุรกิจการเงิน และก่อสร้าง รวมทั้งชนชั้นสูงที่เป็นผู้ดีทางวัฒนธรรม ในปัจจุบันมีแนวโน้มต่อรองผลประโยชน์ผ่านพรรคฝ่ายค้าน

กลุ่มชนชั้นกลางของไทยมีประสบการณ์และบทบาทการเมืองสูงและต่อเนื่อง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงมีลักษณะเป็นไปตามกระแสของเหตุการณ์ทางการเมือง ดังเช่นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา ในปัจจุบันคนกลุ่มนี้ถูกลดบทบาททางการเมืองสังคมโดยกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่ผูกขาดอำนาจการเมือง ความเป็นวิชาชีพของพวกเขาก็ถูกคุกคามจากปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มทุนรัฐบาล กลุ่มชั้นกลางจึงมีแนวโน้มจะคัดค้านไม่เอาด้วยกับพันธมิตรของกลุ่มทุนรัฐบาล

กลุ่มชนชั้นล่างจะยกระดับการต่อรองของตนเองจากผลประโยชน์ขั้นต้นผ่านระบบอุปถัมภ์ มาเป็นการต่อรองเชิงนโยบายและโครงการประชานิยมมากขึ้น

จึงกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งของบ้านเรา ได้ขยายบทบาทและสถานะของตัวเองกว้างขวางมากขึ้น เพราะช่วยสร้างกลไกต่อรองเพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับทุกชั้นชนและทุกกลุ่มได้มากขึ้น เป็นกลไกการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับระบบประเทศโดยรวมได้ การเลือกตั้งจึงกลายเป็นสถาบันหลักที่สร้างความชอบธรรมให้กับระบบการเมืองไทย ระบบการเมืองไทยจึงมีเสถียรภาพถ้าการจัดสรรประโยชน์นี้ทำได้ดี แต่จะขาดเสถียรภาพถ้าจัดสรรได้ไม่ดี

มุมมองการเลือกตั้ง 2548

1.การเลือกตั้ง 2548 จะไม่บรรลุเจตนารมณ์การปฎิรูปรัฐธรรมนูญ เพราะกลไกตรวจสอบในสังคมไทยบกพร่อง แม้การเลือกตั้งจะเป็นกลไกความชอบธรรมสำคัญ แต่พลังการตรวจสอบในสังคมไทยตกต่ำลงมากจากการที่ภาคการเมืองแทรกแซง ควบคุมทั้งองค์กรอิสระและสื่อมวลชน การต่อรองผลประโยชน์จะกลายเป็นแสวงผลประโยชน์ที่มากเกินไป ทั้งจากกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่กุมอำนาจพรรคการเมือง การต่อรองผลประโยชน์จะกลายเป็นแสวงผลประโยชน์ที่มากเกินไป ทั้งจากกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่กุมอำนาจพรรคการเมือง และกลุ่มชาวบ้านที่จะเรียกร้องผลประโยชน์เชิงประชานิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นโรคระบาดทางคุณธรรมหรือโรคระบาดของความโลภ(moral hazard) ที่เกิดคู่กับนโยบายทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกประเทศ ซึ่งจะสร้างปัญหาดังต่อไปนี้คือ (ก) ปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาลหรือพรรคการเมือง (ข) ชนชั้นกลาง นักวิชาการ ปัญญาชน NGO จะเรียกร้องประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาคการเมืองหรือภาคประชาชนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็เป็นกระแสไปทั่วโลกอยู่แล้ว (ค) ปัญหาการใช้จ่ายเกินตัวของภาครัฐ การสร้างหนี้สาธารณะและความถดถอยของเศรษฐกิจในที่สุด

2. การเลือกตั้ง 2548 จะมีลักษณะเด่นเฉพาะคือ เป็นการเปิดศักราชการเลือกตั้งสีเทาและการเมืองสีเทาให้กับการเมืองไทย

ลักษณะที่น่าสนใจของสังคมไทย ปัจจุบันคือได้เกิดกระบวนการทำให้ทุกอย่างเป็นสีเทา ที่เป็นสีเทาเนื่องจากทุกๆแง่มุมของสังคมที่เคยแบ่งแยกออกจากกันชัดเจน เช่น ดี-เลว เหมาะสม-ไม่เหมาะสม มียางอาย-ไม่มียางอาย ประโยชน์ส่วนตัว-ประโยชน์สาธารณะ รัฐกับพรรค บุคคลกับองค์กร กลับมาทับซ้อนกันหมดจนทุกอย่างไม่โปร่งใสพร่ามัวเป็นสีเทา ที่ผ่านมาคนไทยสามารถจำแนกได้ว่า การเลือกตั้งสะอาดเป็นอย่างไร การเลือกตั้งสกปรกเป็นอย่างไร แต่ปัจจุบันทิศทาง "ทุกอย่างเป็นสีเทา" ของไทยรักไทย อาทิ

ก.การใช้เงินรัฐบาลมาสร้างคะแนนนิยมให้พรรค สร้างฐานองค์กรการจัดตั้งให้พรรค โดยผ่านนโยบายประชานิยม
ข.การใช้งบรัฐมาหาเสียงให้กับพรรครัฐบาลโดยตรง เช่น งานจากรากหญ้าสู่รากแก้ว
ค.ในช่วงเลือกตั้งจะมีความพยายามพลิกแพลงให้หน่วยราชการ ข้าราชการมาช่วยหาเสียงเลือกตั้งอย่างไม่ผิดกฎหมายมากขึ้น
ง.จะมีการใช้สื่อรัฐ สื่อราษฎรในการหาเสียงมากยิ่งขึ้น
จ.แนวซีอีโอของทรท.นิยมผลและประสิทธิผล โดยไม่จำแนกวิธีการขาวกับดำ จะเป็นวิธีการไหนที่ได้ผลก็จะนำมาใช้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมการเลือกตั้งสีเทา การเมืองสีเทา
ฉ.องค์กรอิสระตรวจสอบการเลือกตั้งชุดหนึ่งมีกรรมการ 2 คนเคยใกล้ชิดกับรัฐบาล อีก 2 คนเคยใกล้ชิดพรรคที่ไม่ใช่รัฐบาล จึงปรากฏว่ามีการแย่งตำแหน่งของประธานองค์กรตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างเข้มข้น แต่เนื่องจากองค์กรนี้จำเป็นต้องใช้เสียงเอกฉันท์ในการตัดสินผลการเลือกตั้ง ในที่สุดองค์กรตรวจสอบการเลือกตั้งก็จะกลายเป็นองค์กรที่ฮั้วผลเลือกตั้งกันระหว่างพรรคการเมืองสำคัญๆ

ทั้งหมดนี้มีส่วนเสริมสร้างบรรยากาศสีเทาให้กับการเลือกตั้งมากขึ้น แต่ขอให้เป็นที่เข้าใจว่าการเลือกตั้งต่อๆไปในอนาคตก็จะเป็นสีเทาหรือคงจะเป็นสีเทาตลอดไป เพราะตามทฤษฎีมองว่าการเมืองประชาธิปไตยในประเทศต่างๆทั่วโลกที่ยืนยงมายาวนาน (ของไทยอาจจะไม่ยาวนานมาก แต่ผ่านการเสียสละและเหตุการณ์ต่อสู้ของผู้คนจำนวนมากหลายหน จึงมีลักษณะก้าวไปไว) จะเป็นประชาธิปไตยวัยชรา (mature democracy) ซึ่งเป็นระบบพรรคใหญ่พรรคเดียวหรือไม่ก็พรรคมีเสถียรภาพการเมืองสูง แต่ใหญ่โตดำรงอยู่ด้วยตัวเอง โดยการสนับสนุนของกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ซึ่งจะมีลักษณะแข็งทื่อตายตัวมากกว่าที่จะรับฟังหรือตอบสนองต่อเสียงของชาวบ้าน ปัญหามีอยู่ว่า การเมืองและการเลือกตั้งของไทยจะเป็นสีเทาเข้มมากกว่าของประเทศอื่นๆ

3.ปัจจัยหลักการลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งในอดีตมีสองอย่าง คือ กระสุนหรือการซื้อเสียง และกระแสคือความคาดหวังของผู้ออกเสียงที่จะให้ผู้นำพรรคการเมืองมาช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญๆของประเทศ เช่น สนับสนุนชวนเพื่อประคองวิกฤติเศรษฐกิจไม่ให้เลวร้าย การเลือกทักษิณเพื่อแก้เศรษฐกิจเป็นต้น การเลือกตั้ง 2548 จะมีปัจจัยการตลาด คือการใช้สื่อโฆษณาอย่างมีหลักวิชา เป็นระบบ มีพรีเมี่ยม มีโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม มีการจัดวางตำแหน่ง(positioning) มีการแยกส่วนการตลาด มีการเสริมสร้างแบรนด์เนม สร้างพรีเซนเตอร์ ฯลฯ เพิ่มเติมขึ้นมาและมีโอกาสเป็นปัจจัยหลักในอนาคต ซึ่งในประเด็นนี้ไทยรักไทยเกือบจะเป็นผู้ผูกขาด ทั้งประสบการณ์ ความชำนาญ และอำนาจในการควบคุมสื่อ

โดยสรุปการเลือกตั้ง 2548 และครั้งต่อไป จะมีฐานะบทบาทกำหนดผลประโยชน์ทิศทางความเป็นไปของสังคมไทยในมิติด้านต่างๆ อย่างมาก ส่งผลให้มันเป็นกลไกเชิงสถาบันสำคัญที่คนถือเป็นทางออกหนึ่งของสังคม ดังจะเห็นได้ว่าเสียงที่เรียกร้องให้มีการปฏิวัติรัฐประหารจะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะมีทางออกโดยการเลือกตั้งหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดกว้างอยู่ อย่างไรก็ตาม ลักษณะความเป็นสีเทาเพราะเป็นการเลือกตั้งที่ซ่อนเร้นอำนาจ ผลประโยชน์แอบแฝงทับซ้อนจะมีสูงมาก ซึ่งส่งผลต่อความชอบธรรมของระบอบการเมืองไทย สังคมต้องพยายามตีกรอบกับภาวะสีเทานี้ให้น้อยลงมากที่สุด สร้างกฏเกณฑ์ กติกา หลักปฏิบัติที่จะทำให้สีเทานี้เปิดเผยโปร่งใสขึ้นมามากขึ้นให้ได้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net