Skip to main content
sharethis

Inside man


ในปีการศึกษาหน้า (2550) นักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ทุกคณะและทุกวิทยาเขต (ปัตตานี หาดใหญ่ ตรัง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต) จะต้องรับภาระกับค่าเทอมซึ่งรวมค่าหน่วยกิต รวมทั้งค่าธรรมเนียมพิเศษต่างๆ เพิ่มขึ้นประมาณ 20 - 250% (ยี่สิบถึงสองร้อยห้าสิบเปอร์เซ็นต์!!!!!) ของค่าเทอมที่จ่ายของตลอดการศึกษาเดิม (มากน้อยขึ้นกับคณะที่เข้าศึกษา) ซึ่งเป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย ที่จะมีผลบังคับใช้กับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษาหน้า


ค่าเทอมที่เพิ่มขึ้นนั้น สามารถส่งนักศึกษา 2 คนเรียนพร้อมกันในเทอมปัจจุบัน!!!


หากนำค่าเทอมใหม่ลบด้วยค่าเทอมเก่าตลอดหลักสูตรแล้ว คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบกับหลักสูตรแล้วนำมาจัดลำดับหลักสูตร (จากทั้งหมด 91 หลักสูตรที่มีการเพิ่มค่าเทอม) พบว่า 13 อันดับแรกเป็นกลุ่มของสังคมศาสตร์ ได้แก่


1. นิเทศศาสตร์ (วิทยาเขตปัตตานี) 252%


2. รัฐประศาสนศาสตร์ (การบริหารงานคลัง) 227%


3. รัฐประศาสนศาสตร์ (นโยบายสาธารณะ) 224%


4. รัฐประศาสนศาสตร์ (การบริหารงานบุคคล) 220%


5. บริหารธุรกิจ (การบริหารทรัพยากรมนุษย์) 217%


6. บริหารธุรกิจ (การเงิน) 216%


7. บริหารธุรกิจ (การบัญชี) 215%


8. บริหารธุรกิจ (การตลาด) 206%


9. คอมพิวเตอร์ธุรกิจ 180%


10. พัฒนาการเกษตร 180%


11. ศิลปการแสดง 174%


12. ภาษาเกาหลี 173%


13. กฎหมายอิสลาม 173%


14. หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ 172 %


อีก 13 หลักสูตรต่อจากนั้น เป็นของกลุ่มสังคมศาสตร์ทั้งหมด


เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มของวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ค่าเทอมตลอดหลักสูตรเพิ่มขึ้นเปอร์เซ็นต์อยู่ประมาณที่ 30 - 80 เปอร์เซ็นต์ (เฉพาะในวิทยาเขตหาดใหญ่ ส่วนวิทยาเขตปัตตานี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ต้องพูดถึงทะลุเพดานร้อยกว่าไปแล้ว) ซึ่งอาจจะตีความได้ว่า (ความคิดเห็นส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านและตีความ) เนื่องจากกลุ่มสังคมศึกษามีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้นักศึกษาที่มีฐานะทางการเงินจึงตัดสินใจเลือกที่จะศึกษาในกลุ่มนี้ ซึ่งสวนทางกับความต้องการของสังคมที่ต้องการกลุ่มวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ


การขึ้นค่าเรียนตลอดหลักสูตรในกลุ่มนี้ ให้มีความใกล้เคียงกับกลุ่มวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ จะเป็นการลดช่องว่างตรงนั้นลง เพื่อเบนความสนใจในให้นักศึกษาเลือกที่จะมาศึกษาในกลุ่มวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพแทน


ประเด็นที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ เรื่องของการบริหารเงินที่เก็บมาจากนักศึกษา ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันที่เป็นอยู่ใน มอ. ขณะนี้ ที่ผู้บริหารได้จัดการอยู่กลับพบว่า (ความคิดเห็นส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านและตีความ) มหาวิทยาลัยได้ทุ่มเงินกับสิ่งที่ไม่จำเป็นเช่น กรณีการปูพื้นอิฐบล็อคใหม่บริเวณลานจอดรถคณะทรัพยากรธรรมชาติ จากนั้นไม่นานนักก็ทำการรื้อทิ้งแล้วก่อสร้างตึกไอทีแทน แล้วงบประมาณที่ใช้ในการปูอิฐบล็อคก็ละลายโดยใช่เหตุ


หากนำเงินจำนวนดังกล่าวมาปรับปรุงศูนย์กีฬา สระว่ายน้ำ(ซึ่งมีแห่งเดียวภายในมหาวิทยาลัยและเป็นสระที่เล็กที่สุดในประเทศไทยเผลอๆ อาจจะเล็กที่สุดในโลกด้วย) สนามเทนนิส (ที่นักศึกษาสามารถใช้ได้ไม่ใช่สำหรับบุคคลากร) มีทั้งหมด 5 คอร์ทถ้วน ซึ่งรองรับการใช้งานประมาณ 16,000 คน (เฉพาะวิทยาเขตหาดใหญ่)


คำถาม ผู้บริหารดูแลและเอาใจใส่นักศึกษาเพียงพอแล้วหรือและสมเหตุสมผลแล้วหรือที่ท่านกำลังจะเรียกเก็บค่าเทอมเพิ่มขึ้น ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาในพื้นที่ พ่อแม่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวสวน เกษตรกร มีรายได้ต่อปีไม่ถึงแสน การที่จะส่งลูกเรียนปีหนึ่งๆ 20,000 - 40,000 บาท ออกจะเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสอยู่


ในขณะเดียวกันก็มีโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษา ก็รองรับนักศึกษาเพียงบางส่วนเท่านั้น คิดเล่นๆ ถ้าค่าเทอมเพิ่มขึ้นก็ทำให้ต้องกู้มากขึ้น ดอกเบี้ยก็มากขึ้น เรียนจบก็เป็นแสนกว่าบาทแล้ว ขณะที่ยังไม่มีงานจะทำ แล้วทีนี้ท่านจะเรียกว่าเป็นเงินกู้เพื่อการศึกษาได้อย่างไร มันเป็นเงินกู้เพื่อสร้างหนี้สินชัดๆ อีกทั้งยังเป็นการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาที่ร้ายแรงที่สุด


ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพียงแห่งเดียว แต่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไทย ดังเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คณะสาขาวิชาสังคมศาสตร์ขึ้นค่าเทอม (ความจริงแล้วขึ้นทุกคณะ) จาก 8,500 บาทต่อเทอม (ปีการศึกษา 2542 - 2547) เป็น 12,000 บาทต่อเทอม ( ปีการศึกษา 2548 - 2549) และกำลังจะปรับเป็น 14,500 บาทต่อเทอม (ปีการศึกษา 2550 - 2551)


มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เริ่มเรียกค่าธรรมการศึกษาเป็นเหมาจ่ายในปี 2549 (เริ่มเก็บแล้ว) โดยนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์ 10,000 บาทต่อเทอม และสายสังคมศึกษา 9,000 บาทต่อเทอม ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวทำให้ สมาพันธ์นักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี (เทียบเท่าสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิ์ที่ถูกละเมิด


เห็นได้ชัดว่าภาระหนักอึ้ง ถูกผลักให้กลับนักศึกษาโดยตรงอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่บ่มเพาะบัณฑิต และมีผู้ทรงความรู้ขั้นสูง รวมตัวอยู่กำลังเบียดเบียนนักศึกษา ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการที่เจ้าหน้าขูดรีดชาวบ้านตาดำๆ


ท่านผู้บริหาร ครับ ท่านอ้างว่าการขึ้นค่าเทอม เป็นการพัฒนาระบบการจัดการและระบบการบริหารภายในมหาวิทยาลัย ให้มีความรวดเร็วและมั่นคงมากขึ้น ท่านกำลังผลักดันให้ตัวท่านเองมีความมั่นคงในด้านการเงิน แต่ท่านกลับทำลายความมั่นคงทางด้านการศึกษา โดยการผลักภาระทางด้านการเงินไปยังผู้ปกครองของเหล่านักศึกษาของท่าน


ท่านลองคิดดูว่า ถ้าต่อไปการจบปริญญาตรีมีค่าใช้จ่ายสูงหลายแสนบาท แต่จบออกมารับเงินเดือนเพียงเดือนละไม่กี่พัน ใครจะอยากมาเรียนปริญญาตรีบ้าง อาชีพที่บัณฑิตของท่านอาจจะยังพอทำอยู่ได้ ก็คือ แกะสลักต้นยางพาราเหมือนที่พ่อและแม่เขาเคยทำ เพราะการศึกษาในระดับปริญญาตรีไม่มั่นคงอีกต่อไป ท่านลองคิดดูให้ดีๆ นะครับ


สุดท้ายขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


"คนเรา ถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีคามโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย


พอเพียง อาจมีมาก อาจมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net