Skip to main content
sharethis

(ภาพหน้าแรก จากhttp://www.friendship.com.au)


 


ประชาไท - 21 .. 50 เวทีประชาธิปไตยประชาชนจัดเวทีข้อเสนอภาคประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่อง สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน (สนค.) โดยมีนายจอน อึ๊งภากรณ์ เป็นประธานในที่ประชุม


 


เวทีประชาธิปไตยประชาชน (วปช.) เสนอหลักการว่า รัฐธรรมนูญต้องเปิดกว้างให้ยอมรับในวิถีชีวิตที่หลากหลายและแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นภาษา เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และบุคคลต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม โดยมีข้อเสนอ 15 ประการในประเด็นที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และภาษาว่า


 


1) กฎหมายรัฐธรรมนูญต้องคุ้มครองทุกคนในประเทศไทย โดยต้องยกเลิกคำว่า 'ปวงชนชาวไทย' เป็น 'บุคคล' ในทุกมาตราและทุกหมวด 2) ให้เสรีภาพกับประชาชนมากที่สุด เช่น เสรีภาพที่จะนับถือศาสนาหรือไม่ก็ได้ 3) เน้นบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมคุ้มครองในมาตราเกี่ยวข้อง โดยเพิ่มคนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานต่างด้าวและเพศสภาพในหลายๆมาตรา


 


4) การคุ้มครองแรงงาน ต้องรวมการคุ้มครองในแรงงานทุกประเภท รวมทั้งแรงงานต่างด้าว แรงงานพิการ รวมทั้งส่งเสริมให้มีสหภาพแรงงานในทุกประเภทเหล่านั้นด้วย 5) รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนสหภาพแรงงานและองค์กรประชาชน 6) รัฐต้องให้ความเคารพในศาสนาและความเชื่อต่างๆอย่างเสมอภาคกัน อาทิ วันหยุดประจำปีของผู้ศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ


 


7) ต้องมีการกระจายอำนาจให้กับชุมชนหรือท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น อาทิ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การมีกฎหมายของท้องถิ่น การมีหลักสูตรการเรียนการสอนของท้องถิ่น 8) รัฐต้องคำนึงถึงสัดส่วนของประชาชนในการบริหารงานจัดการด้านต่างๆ อาทิ เชื้อชาติ เพศ และประชาชนกลุ่มต่างๆ


 


9) บุคคลมีสิทธิในการมีสถานะบุคคลและมีสัญชาติ 10) รัฐธรรมนูญต้องมีผลในตัวเอง ตัดคำว่า 'ตามที่กฎหมายกำหนด' ในทุกมาตรา 11) ประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการศึกษา 12) สนับสนุนศาสนาและความเชื่อที่แตกต่างกัน 13) รัฐต้องอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยให้นำมาใช้ในการศึกษาและสื่อมวลชน 14) รัฐต้องให้ภาษาถิ่นเป็นภาษาทำงาน และสุดท้าย การศึกษาขั้นต่ำต้องไม่ต่ำว่าระดับปริญญาตรี


 


3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตการปกครองพิเศษ


อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ อุปนายกสมาคมยุวมุสลลิมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ควรจะให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตการปกครองพิเศษ ให้ชาวพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รวมทั้งประกาศให้เป็นพื้นที่ปลอดอบายมุข รวมทั้งใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการอีกภาษาหนึ่ง


 


อับดุลอซิซให้เหตุผลของข้อเสนอดังกล่าวไว้ว่า มุสลิมอาจจะเป็นคนส่วนน้อยในประเทศ แต่ถือเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ การกำหนดให้เป็นพื้นที่ปกครองพิเศษเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร และพัทยาจะช่วยส่งเสริมสิทธิชุมชนด้านศาสนาและการศึกษาได้


 


ตัวแทนภาคใต้ ยังเสนออีกว่า ให้มีการกำหนดสัดส่วนให้คนพื้นที่ในการบริหารจัดการต่างๆ ทั้งการบริหารในหน่วยงานราชการและเอกชน ในประเด็นนี้ จอน อึ๊งภากรณ์ ตั้งข้อสังเกตุว่าการให้โควต้าข้าราชการอาจจะเป็นการกีดกันประชาชนส่วนน้อยในพื้นที่ จึงเสนอให้ตำแหน่งราชการในพื้นที่ต้องสะท้อนสอดคล้องกับกลุ่มชาติพันธ์ และต้องครอบคลุม เชื้อชาติ ศาสนา และเพศ


 


เสริมภาษาถิ่นคู่ขนานในโรงเรียน


สุกัญญา หาญตระกูล กล่าวว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องภาษาถิ่นกำลังอยู่ในขั้นวิกฤตว่ากำลังจะสูญพันธ์ไปถึง 14 ภาษาจากภาษาถิ่นทั้งหมดในประเทศ 76 ภาษา เช่น ภาษาชอง, ภาษามลาบรี, ชุอุง ฯลฯ


 


สุกัญญากล่าวต่อไปว่า การสูญเสียความหลากหลายทางภาษา เป็นการสูญเสียระบบความรู้ ภูมิปัญญาด้านต่างๆ เครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพรวมทั้งประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนและความมั่นคง นอกจากนี้ปัญหาของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาแม่ต่างไปจากโรงเรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน จึงให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ภาษาถิ่นโดยการให้ใช้เป็นภาษาคู่ขนานกับภาษากลางในโรงเรียนพื้นที่


 


ข้อเสนอดังกล่าวสอดคล้องกับพรรคแนวร่วมภาคประชาชน ที่เสนอให้มีการปฏิรูปหลักสูตรเพื่อสร้างความหลากหลาย เพื่อสนับสนุนการคิด ส่งเสริมการใช้ภาษาถิ่นควบคู่กับภาษาไทยในทุกพื้นที่ ส่งเสริมการใช้ภาษาราชการหรือภาษาทางการที่หลากหลาย เช่นควรใช้ภาษายาวีเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่มีประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก หน่วยราชการควรอำนวยความสะดวกโดยใช้ภาษาของประชาชนเหล่านั้น อาทิ พื้นที่แม่สอด


 


เสรีในการเลือกเพศสภาพ


อัญชลี สุวรรณานนท์ จากเครือข่ายความแตกต่างหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญกำหนดเพศไว้สองเพศคือชายกับหญิง ทั้งที่ในความเป็นจริง เพศสภาพไม่ได้มีแค่ชายและหญิง เพื่อให้มีการคุ้มครองและพัฒนาความเสมอภาคทางเพศ ที่ไม่จำกัดเพียงชายและหญิง จึงเสนอให้ใช้คำว่า "บุคคล" แทนคำว่าชายหญิง


 


ประเด็นนี้มีข้อเสนอเรื่องคำที่ใช้ในรัฐธรรมนูญหลากหลาย เช่น บางกลุ่มเสนอให้ใช้คำว่า "บุคคล" แทนคำว่าชายหญิง บางกลุ่มเสนอว่า ใครตัดคำว่า "ชาย-หญิง" ออกไปจากรัฐธรรมนูญ บางกลุ่มเสนอให้ยกเลิกการใช้คำนำหน้านาม บางกลุ่มเสนอว่า ให้ต่อใช้ข้อความว่า "ชาย หญิง และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ มีสิทธิเท่าเทียมกัน" บางกลุ่มเสนอให้เติมคำว่า "เพศสภาพ"


 


พนักงานบริการเรียกร้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


จันทวิภา อภิสุข ตัวแทนจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (ส่งเสริมโอกาสผู้หญิง) กล่าวว่า แม้ในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 2540 จะระบุว่า กฎหมายที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับมิได้ก็ตาม แต่หลังใช้รธน. 40 มาเป็นระยะเวลาสิบปีแล้วก็ไม่เคยมีการยกเลิกแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายเกี่ยกวับการค้าประเวณี ที่ปัจจุบันเจ้าของสถานบริการก็ละเมิดคนทำงานตลอดมา


 


ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องเขียนให้ชัดว่า ให้ดำเนินการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยทันที


 


ในส่วนของมาตรา 30 ที่แม้จะระบุ ว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน แต่ที่ผ่านมา ยังพบการเลือกปฏิบัติ จึงเสนอว่า ในรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงแต่คุ้มครองความเท่าเทียมกันในความหลากหลายทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกาย สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองแล้ว เสนอให้เพิ่มความคุ้มครองในความแตกต่างทางอาชีพด้วยว่า คนทุกอาชีพได้รับการปฏิบัติเสมอกันตามกฎหมาย และได้รับความคุมครองโดยเท่าเทียมกัน


 


บริการที่ครอบคลุมถึงคนพิการ


ด้านองค์กรคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า ในหมวด 3 มาตรา55 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ระบุให้ "บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" นั้นไม่ครอบคลุมสิทธิผู้พิการทั้งหมด ควรเพิ่มเติมในทุกมาตราให้กล่าวถึงผู้พิการด้วย ไม่ใช่มองว่ามีมาตรา 55 แล้วมาตราอื่นๆ จะเพิกเฉย ทั้งนี้จะต้องครอบคลุมถึงบริการสาธารณะที่รัฐสมควรจะจัดให้ รวมถึงสื่อสาธารณะของรัฐด้วย


 


กรรมการเพื่อสิทธิจิตเวชเสนอประกันสังคมคุ้มครองผู้ป่วยจิตเวช


รัชนี แมนเมธี ประธานคณะกรรมการเพื่อสิทธิจิตเวช สมาคมสายใยครอบครัวโรงพยาบาลศรีธัญญา เสนอให้รัฐธรรมนูญเพิ่มมาตราใหม่ต่อจากมาตรา 80 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โดยรัฐควรให้สิทธิแก่ผู้ป่วยจิตเวชเท่าเทียมกับผู้ป่วยโรคทางกายอื่นๆ นอกจากนั้น ควรให้ประกันสังคมเพิ่มเติมการคุ้มครองการดูแลผู้ป่วยจิตเวช เพราะการที่ประกันสังคมไม่รองรับ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อคดีจากผู้ป่วยจิตเวช เช่น การโยนทิ้งลูก เป็นต้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net