Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 ธ.ค. 49 ตามที่เมื่อเวลา 00.02 น. วันที่13 ธ.ค. ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางบริเวณอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ละติจูด 19.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 99.15 องศาตะวันออก ความลึกจากระดับผิวดิน 33 กิโลเมตร และห่างจากที่ตั้งของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ราว 25 กม.


 


ประชาชนหลายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของ จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.เชียงราย และ จ.พะเยา สามารถรับรู้ผลจากแรงสั่นสะเทือนได้ และการสำรวจความเสียหายหลังเกิดแผ่นดินไหวพบว่าเกิดรอยร้าวในอาคารหอพักชาย 2 ชั้น 5 ในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบ้านจัดสรรในหมู่บ้านแผ่นดินทอง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่เกิดรอยร้าวนั้น


 


รองอธิการฯ แม่โจ้ยันรอยร้าวไม่มีผลกระทบ


รศ.ดร.อาคม กาญจนประโชติ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่าจากการตรวจสอบความเสียหายของตัวอาคารโดยทีมวิศวกรของมหาวิทยาลัยพบว่าในส่วนโครงสร้างหลักไม่มีความเสียหาย ยังมีสภาพที่แข็งแรงและไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด ส่วนผนังห้องที่มีรอยร้าว เป็นรอยแยกที่เกิดขึ้นในชั้นผิวของปูนที่ฉาบไว้ ไม่ได้เกิดรอยแยก หรือร้าวลึกลงไปถึงตัวผนังตึก อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อติดตามตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดและต่อเนื่อง รวมทั้งมีมาตรการในการจัดซ้อมแผนให้นักศึกษาสามารถรับมือกับแผ่นดินไหวในครั้งต่อไป



ขณะที่รองศาสตราจารย์มนัส กัมพุกุล รองอธิการบดีฝ่ายการจัดการมหาวิทยาลัยแม่โจ้กล่าวว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นเป็นรอยร้ายภายนอกไม่มีผลต่อโครงสร้างของอาคารแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อคืนนี้สร้างความหวาดวิตกให้กับนักศึกษาเป็นอันมาก


 


รุดตรวจสอบเขื่อน จนท.ยันเขื่อนยืดหยุ่นสูงรับมือแผ่นดินไหวได้


ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบตัวเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ที่ อ.ดอยสะเก็ด ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าตัวเขื่อนอาจได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ โดยนายประจญ ปรัชญสกุล ปภ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ผลการตรวจสอบด้วยตาเปล่ายังมีสภาพสมบูรณ์ ไม่พบรอยแตกร้าว แต่ในเรื่องของโครงสร้างตัวเขื่อนนั้นยังไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะ ปภ.ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จึงประสานไปยังกรมทรัพยากรธรณีให้ส่งผู้เชี่ยวชาญจาก จ.น่านเข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียด คาดว่าจะเริ่มตรวจสอบได้ในช่วงสายของวันนี้ ขณะที่นายวัลลภ นามวงศ์พรหม กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร กล่าวว่า ภายหลังเกิดแผ่นดินไหววัดและชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงช่วยกันออกสำรวจทั่วบริเวณวัด ซึ่งไม่พบความเสียหายและรอยร้าวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม จะสำรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง


 



นายชาญศักดิ์ โกมลเกษรักษ์ หัวหน้างานจัดสรรน้ำแม่กวงกล่าวว่าตามที่เจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานได้เข้าตรวจสอบสภาพเบื้องต้นของเขื่อนแม่กวง อุดมธาราโดยละเอียด ไม่พบรอยร้าว แตกหรือรอยรั่วแต่อย่างใด ทั้งนี้เขื่อนแม่กวงเป็นเขื่อนดินที่มีความยืนหยุ่นสูง และออกแบบก่อสร้างรองรับแผ่นดินไหว 7 ริกเตอร์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนที่ฝั่งอยู่ในตัวเขื่อนเพื่อยืนยันความปลอดภัยที่ชัดเจนอีกครั้ง คาดว่าจะทราบผลในช่วงเย็นนี้


 


พ่อเมืองเชียงใหม่ระทึก แผ่นดินไหวแรกรับตำแหน่ง


ด้าน นายวิชัย ศรีขวัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่อาศัยอยู่ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณสะพานนวรัตน์ ริมแม่น้ำปิง ทำให้จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ความสูง 2 ชั้น ที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ สั่นสะเทือนรุนแรงจนสามารถรู้สึกได้ จากนั้นเกิดการสั่นสะเทือนต่อเนื่อง อีกประมาณ 4 ครั้ง ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย หรือ ผู้ได้รับความบาดเจ็บ เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นครั้งแรกของตนตั้งแต่มารับตำแหน่งนี้ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา


 


นักวิจัยฯ มช. ชี้หากแผ่นดินไหวเกิน 5.5 ริคเตอร์เชียงใหม่วุ่นแน่


รศ.ดร.สมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้แล้ว เนื่องจากพื้นที่ใจกลางของเชียงใหม่มีลักษณะทรุดตัวลงของเปลือกโลกเมื่อประมาณ 10 ล้านปีก่อน ทำให้มีรอยแตกในชั้นหิน เมื่อเวลาผ่านไปจึงมีดินตะกอนมาทับถม ปัจจุบันใต้พื้นดินของตัวเมืองเชียงใหม่มีรอยเลื่อนที่มองไม่เห็น และมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา มีแรงสั่นสะเทือน 2-3 ริคเตอร์ ทำให้รับรู้ความรู้สึกไม่ได้ แต่จากเครื่องตรวจสอบวัดได้ตลอดเวลา


 



"แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี โดยพบว่าหากเกิดใต้ผิวดิน 8.5 กิโลเมตร ถือว่าตื้นมาก ทั้งนี้ หากความรุนแรงถึง 5.5 ริคเตอร์ขึ้นไป จะทำให้เกิดความเสียหายกับอาคารสิ่งปลูกสร้างได้ ส่วนในอนาคตจะเกิดแผ่นดินไหวในตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นอย่างแน่นอน แต่ยืนยันไม่ได้ว่าจะถึง 5.5 ริคเตอร์หรือไม่" รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว


 


อุตุฯ ระบุเกิดอาฟเตอร์ช็อก 69 ครั้ง เตือนประชาชนติดตามข่าวสารใกล้ชิด


ขณะที่นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์แผ่นดินไหวบริเวณ อ.แม่ริม และ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ หลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อคืนที่ผ่านมา ปรากฏว่า ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กตามมา หรือที่เรียกว่าอาฟเตอร์ช็อก อีกจำนวน 69 ครั้ง ถือเป็นสัญญาณให้ประชาชนควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด


 


"สมิทธ" ชี้อาฟเตอร์ช็อกหลายครั้งปลดปล่อยพลังงาน


นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานคณะกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริกเตอร์ สามารถสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงได้ แม้จะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีอันตราย เหมือนกับการปลดปล่อยพลังงาน และแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะไม่เกิดซ้ำติดต่อกันอีก ตอนนี้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจึงยังมีความปลอดภัยอยู่ แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ เขื่อนที่อยู่ใกล้บริเวณแผ่นดินไหว คือเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเขื่อนแม่งัดซึ่งเป็นเขื่อนดิน โดยตนได้ประสานให้กรมชลประทานไปตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนว่ามีผลกระทบหรือไม่


 


เช่นเดียวกับ ดร.อดิชาติ  สุรินทร์คำ  ผู้อำนวยการกองธรณีเทคนิค กรมทรัพยากรธรณี ให้สัมภาษณ์ว่า แผ่นดินไหวเกิดกับเมืองเชียงใหม่ได้ เนื่องจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่ อยู่ในแนวรอยเลือนที่มีพลังที่เรียกว่ารอยเลื่อนแม่ทา ที่มาจากอ.แม่ทา อ.บ้านธิ จ.ลำพูน มายังน้ำพุร้อนสันกำแพง  ไปยังอำเภอทางตอนเหนือคือดอยสะเก็ต พร้าว ฝาง ไชยปราการ เพียงแต่ที่ผ่านมาแผ่นดินไหวที่เชียงใหม่จะมีความแรงราว 4 ริกเตอร์ แต่ครั้งนี้ 5.1 ริกเตอร์ ค่าความแตกต่างจะต่างกันถึง 33 เท่า ดังนั้นอาฟเตอร์ช็อคที่เคยมีราว 1 - 2 ครั้ง จึงเพิ่มเป็นสิบกว่าครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องดี ที่พลังงานได้พื้นดินมีการปลดปล่อย ดีว่าจะเกิด 5 ริกเตอร์แล้วเงียบหายไป ซึ่งอันตราย ทั้งนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ที่สุมาตราเมื่อปี 2548 ที่เกิดสินามิ ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อคมากถึงเกือบ 3,000 ครั้ง


 


ควรศึกษาแผ่นดินไหวรอบบ้านหาความเชื่อมโยง


นายสมิทธ กล่าวเพิ่มว่า ขณะเดียวกันจะศึกษาถึงการเกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคใกล้เคียงกับไทยที่เกิดก่อนหน้านี้ขนาดความแรงใกล้เคียงกันด้วย คือ ที่ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ หากมีความสัมพันธ์กันก็จะได้ระมัดระวัง เพราะถ้ามีเกิดแผ่นดินไหวรอบๆ ประเทศไทยหลายๆ จุด จะได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้า


 



"รอยเลื่อนในประเทศไทยที่ยังไม่ตายและมีความเคลื่อนไหวอยู่ มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวอยู่ 9 รอยเลื่อน เป็นแนวพาดผ่านตั้งแต่ภาคเหนือและภาคตะวันตก สำหรับรอยเลื่อนที่จะมีแรงสั่นสะเทือนถึงกรุงเทพฯ หากเกิดแผ่นดินไหว คือ รอยเลื่อนสะแกง รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์ 3 องค์" นายสมิทธ กล่าว


 


ระบุแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนแม่ทา สถิติภาคเหนือไหว 6 ริคเตอร์มาแล้ว 6 ครั้ง


ผศ.ดร.สมชาย นาคะผดุงรัตน์ ภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่ใกล้รอยเลื่อนแม่ทา ซึ่งเป็นแนวเลื่อนใกล้กับรอยเลื่อนแม่จันใน จ.เชียงราย ซึ่งพงศาวดารในอดีตบันทึกไว้ว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มากที่บริเวณรอยเลื่อนแม่จัน แต่ปัจจุบันแผ่นดินไหวในภาคเหนือมักเป็นขนาดเล็ก คนทั่วไปไม่ค่อยรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน อย่างไรก็ตาม ควรมีการเร่งหาจุดศูนย์กลางที่เกิดแผ่นดินไหวให้แน่ชัด และวิเคราะห์ว่า สาเหตุของแผ่นดินไหวเกิดจากอะไร อยู่ใกล้บริเวณที่อยู่ของชุมชนหรือไม่ และควรป้องกันภัยพิบัติแผ่นดินไหวในอนาคตอย่างไร


 



ทั้งนี้ ข้อมูลแผ่นดินไหวจากกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ภายใน 70 ปีที่ผ่านมา ภาคเหนือเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางประมาณ 5-6 ริกเตอร์ 6 ครั้ง คือ พ.ศ.2478 จ.น่าน วัดได้ 6.5 ริกเตอร์ พ.ศ.2518 อ.ท่าสองยาง จ.ตาก วัดได้ 5.6 ริคเตอร์ พ.ศ.2537 อ.พาน จ.เชียงราย วัดได้ 5.1 ริกเตอร์ พ.ศ.2538 อ.ร้องกวาง จ.แพร่ วัดได้ 5.1 ริกเตอร์ พ.ศ.2538 อ.พร้าว จ.เชียงราย วัดได้ 5.2 ริกเตอร์ และ พ.ศ.2539 อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย วัดได้ 5.5 ริกเตอร์


 


กรมทรัพยากรธรณีแถลงข่าว ไม่สรุปว่าสัมพันธ์กับ "สึนามิปี 47"


นอกจากนี้วานนี้ (13 ธ.ค.) นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับนายทศพร นุชอนงค์ ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวกรณีเกิดแผ่นดินไหวที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยนายอภิชัยกล่าวว่าสิ่งน่าแปลกใจและน่าจับตาอย่างมากคือการเกิดอาฟเตอร์ช็อกเกิน 10 ครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะเกิดขึ้นถี่มาก เบื้องต้นสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดการขยับตัวของรอยเลื่อนแม่ทา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนเดิมแต่ยังมีพลังอยู่ ในอดีตเคยขยับตัวมาหลายครั้งมีความแรงระดับตั้งแต่ 2, 3, 4 ริกเตอร์ และเคยแรงสุดถึง 5.2 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.38 มีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่


 


ทั้งนี้การเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงอีกครั้งเมื่อกลางดึกของวันที่ 13 ธ.ค.น่าจะเกิดการสะสมของพลังงานของเปลือกโลกมานานแล้ว และมีการปลดปล่อยออกมา


 


"แผ่นดินไหวบ่อยๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาจนกระทั่งครั้งล่าสุดนี้ ผมไม่ขอสรุปว่าจะมี ความสัมพันธ์โดยตรงกับกรณีการเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล หมู่เกาะนิโคบาร์ และทำให้เกิดคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.47 เพราะถ้าวัดระยะทางจากจุดศูนย์กลางมาถึงพื้นที่ภาคเหนืออยู่ห่าง 2,000-3,000 กม.


 


อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาค เหนือนั้น มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวเนื่องจากมีกลุ่มรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่ถึง 7 ใน 13 กลุ่มรอยเลื่อนทั่วประ เทศ อย่างไรก็ตาม ภัยจากแผ่นดินไหวไม่น่ากลัวเท่ากับความตกใจของประชาชน เพราะส่วนใหญ่คนจะเสียชีวิตเพราะความแตกตื่นตกใจ" นายอภิชัย กล่าว


 


เล็งออกกฎคุมก่อสร้างอาคารรองรับแผ่นดินไหว ในภาคเหนือยัน กทม.และปริมณฑล


นายอภิชัย กล่าวว่า ได้วิเคราะห์ข้อมูลในเชิงความรุนแรงการเคลื่อนตัวของแผ่นดินไปให้กับกรมโยธาธิการ และกรมชลประทาน ที่ต้องใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนการก่อสร้างอาคาร และสร้างเขื่อนที่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ โดยขณะนี้มีการออกประกาศกฎกระทรวงบังคับให้พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน แพร่ และกาญจนบุรี ต้องก่อสร้างอาคารที่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้


 


นอกจากนี้ล่าสุดทางกรมโยธาธิการ ยังขอเพิ่มพื้นที่อีก 5 จังหวัดในภาคกลางคือกทม.และปริมณฑล ที่ต้องมีการออกแบบรองรับแผ่นดินไหวด้วยเนื่องจากอยู่ในชั้นดินอ่อนที่มีความเสี่ยงสูงหากเกิดเกิดแผ่นดินไหวระดับแรง โดยอยู่ในขั้นการพิจารณาของกฤษฎีกาอยู่


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net