Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



 


 


หากจะมีหนังสือสักเล่มในรอบหลายสิบปีที่สื่อเรื่องราวยิ่งใหญ่ของผู้คนในบ้านในเมืองไทย คงไม่มีเล่มไหนอีกแล้วที่จะมีคุณค่าเท่ากับหนังสือที่บรรจุเนื้อหาทั้งสิ้น 12 หมวด กับอีก 1 บทเฉพาะกาล รวมข้อกฎหมายทั้งสิ้น 336 มาตรา ครอบคลุมทุกมิติทุกปริมณฑล ทั้งพื้นที่จากเหนือจรดใต้ ขวาจรดซ้าย ชายแดนสู่ชายฝั่ง หรือมิติเวลา ตั้งแต่เกิดจากครรภ์มารดาจนตายไปบนเชิงตะกอน และล่วงเลยไปถึงชีวิตหลังความตายอันเป็นแดนแห่งอนาคตของคนรุ่นหลัง


 


เป็นหนังสือที่ยากจะบอกว่ามีเนื้อหาหนากี่หน้า เพราะจัดพิมพ์เผยแพร่ในหลายแบบ หลายขนาดตัวอักษร และหลายขนาด ส่วนราคานั้นเล่าก็ยากจะประเมินว่าเท่าไร แต่หากจะนับอย่างเคร่งครัดของต้นทุนการจัดทำต้นต้นฉบับก็ต้องนับช่างสูงค่า ประเมินเป็นจำนวนเงินไม่ได้ เช่นเดียวกับเวลาการจัดทำเนื้อหาและต้นฉบับ ทว่าพอจะตั้งต้นนับได้ว่า ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย 74 ปี กว่าจะมายกร่างเอาในช่วงไม่ถึงปีก่อนปี 2540


 


ไม่มีหนังสือเล่มไหนแล้วที่จะผูกพันความรู้สึกของผู้คนได้มากเท่านี้ แน่ละไม่จำเป็นต้องเชื่อ เพราะคุณอาจจะปฏิเสธความสำคัญของมันด้วยการบอกว่า ไม่เคยอ่าน ไม่เคยเห็น กระนั้นก็ยากจะปฏิเสธถึงคุณค่า เช่นเดียวกับที่ชาวพุทธไม่เคยปฏิเสธหรือสงสัยในมหาคุณค่าของพระไตรปิฎก ที่แม้หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่เคยได้เห็น


 


แต่บางคนบอกว่า หนังสือเล่มยิ่งใหญ่ที่กำลังแนะนำอยู่นี้ "หมดอายุไปแล้ว!"


 


โอ้...หนังสือมีวันหมดอายุอย่างนั้นหรือ? เปล่าเลย…มันไม่ได้หมดอายุ หากแต่อำนาจบางอย่างของมันต่างหากที่ต้องหมดไปพร้อมกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549


 


แน่นอน มันคือ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540" หนังสือที่บรรจุข้อมาตราของกฎหมายสูงสุดที่ได้รับการเผยแพร่มากที่สุด มีคนอ่านมากที่สุด อย่างน้อยก็มากกว่ารัฐธรรมนูญใดๆ ทั้ง 15 ฉบับที่ผ่านมา และความเป็นจริงข้อนี้นี่เองที่ทำให้เกิด "มาตราที่มองไม่เห็น" บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้


 


เป็นมาตราที่มองไม่เห็น ทว่าได้จัดวางความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมไทยด้วยการสร้างมาตรฐานของการมีส่วนร่วมไว้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในการยกร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น


 


ในหนังสือ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540" ที่มีหลากหลายเวอร์ชั่น ปรารถนาให้ผู้อ่านได้ลองค้นหาฉบับที่เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ขนาดพกพา 32 หน้ายก ในชื่อว่า "(ร่าง) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับประชาชน สิงหาคม 2540 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ" ที่จัดทำขึ้นโดย คณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จเรียบร้อยแล้วให้ประชาชนได้รับรู้ ศึกษา


 


นัยหนึ่งก็เพื่อเป็นการรณรงค์ กดดันให้รัฐสภา อันประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญ 2534 ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการยกร่างว่า จะไม่มีการแก้ไขใดๆ เลยจากสมาชิกรัฐสภาผู้ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง


 


เพราะนี่คือเวอร์ชั่นที่ไม่เพียงแต่บรรจุคำปรารภและมาตราต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ (ที่ได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา) แต่ยังบรรจุเรื่องราว การเริ่มต้น และความเป็นมาของการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อการปฏิรูปการเมือง ตั้งแต่เริ่มกระแสเรียกร้องในปี 2537 การกำเนิดคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ที่มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ทำหน้าที่ศึกษาแนวทางในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาด้วยสัญญาประชาคมของบรรหาร ศิลปอาชา ประกาศยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามแนวทางของ คพป. จนเป็นที่มาของคณะกรรมการชุดที่มีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน ที่ชื่อว่าคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแนวทางการยกร่าง จนในที่สุดคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มีมติให้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 211 (มาตราที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ)


 


กันยายน 2539 การแก้ไขมาตรา211 ในรัฐธรรมนูญ พ..2534 สำเร็จลุล่วง มีเนื้อหากำหนดให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมจำนวนทั้งสิ้น 99 คน (มาจากจังหวัดต่างๆ จังหวัดละ 10 คน) รัฐสภาเลือกเหลือ1 คน และอีก 23 คนมาจากบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ (โดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีการให้ปริญญาสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ เลือก 1.ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน 2.ด้านรัฐศาสตร์ และ 3. ผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง หรือการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ประเภทละไม่เกิน 5 คน ให้รัฐสภาเลือก) แบ่งเป็นกฎหมายมหาชน 8 รัฐศาสตร์ 8 และ ผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง หรือการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน นอกจากนี้ยังกำหนดความเชื่อมโยงระหว่าง สสร.และรัฐสภา ว่า เมื่อ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น จะส่งให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบทั้งฉบับโดยไม่มีการแก้ไข กรณีรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ จะนำร่างทั้งฉบับส่งให้ประชาชนทำประชามติ ในที่สุดรัฐสภาก็ลงมีมติท่วมท้นให้แก้ไข มาตรา 211 เปิดทางให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญโดย สสร. ตามแนวทางข้างต้น


 


นอกจากนี้หนังสือ ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ของ ส... ฉบับนี้ยังได้รายงานการดำเนินงานของกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่น่าสนใจอย่างมาก อาทิ


 


กรรมาธิการยกร่าง (มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน) วางกรอบในการจัดทำร่างไว้ 3 กรอบคือ กรอบว่าด้วย สิทธิหน้าที่และการมีส่วนร่วมของพลเมือง กรอบว่าด้วย การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กรอบว่าด้วย สถาบันการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง


 


ส่วนกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ (สมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นประธาน) จัดทำแผ่นพับรวม 2,000,000 แผ่น สติกเกอร์ 1,000,000 แผ่น หนังสือกรอบเบื้องต้นร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน 400,000 เล่ม มีกล่องรับความคิดเห็นรวม 100,000 กล่อง ป้ายผ้าใบ 5,000 แผ่น เทปคาสเซ็ท 10,000 ชุด ชุดละ 2 ม้วน วิดีโอ1,000 ชุด ชุดละ 4 ม้วน ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาวาระ 1 รวม 800,000 เล่ม และคู่มือคำอธิบายประกอบร่างรัฐธรรมนูญวาระ 1 รวม 100,000 เล่ม


 


กรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ประจำจังหวัดรวม 76 จังหวัด รวมการดำเนินการรับฟังทั้งหมดในชั้นเบื้องต้น 629,232 คน ชั้นประชาพิจารณ์ในระดับจังหวัด 70 จังหวัด 122,584 คน เวทีระดับภาค 3,828 คน มีผู้กรอกแบบสอบถาม 87,912 คน รวมผู้มีส่วนร่วมทั้งสิ้น 843,556 คน นอกจากนี้ยังมีการมีส่วนร่วมระดับองค์กรกลุ่มธุรกิจ กลุ่มภาคประชาชน กลุ่มองค์กรประชาธิปไตย พรรคการเมืองจำนวนกว่า 300 กลุ่ม


 


"นับเป็นกระบวนการระดมสมองระดับชาติที่แผ่ซ่านไปทั่ว อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์การเมืองไทย" หนังสือร่างรัฐธรรมนูญเล่มนี้ ระบุไว้เช่นนั้น


 


และต่อจากนี้ คือบางท่อนบางตอน ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญฝากไว้ในหนังสือร่างรัฐธรรมนูญเล่มนี้ ในวันที่ยังไม่รู้ว่า รัฐสภาจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่


 


0 0 0


 


15 สิงหาคม 2540 : กำเนิด "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"


หลังจาก 231 วันแห่งการทุ่มเทกายใจได้ผ่านพ้นไป ที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 15 สิงหาคม 2540 ได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 จนปรากฏเป็น "ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ขึ้นนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อไป


 


"ร่างรัฐธรรมนูญ" นี้ โดยกายภาพก็เป็นเพียงกระดาษหนากว่า 100 หน้าเท่านั้น โดยกฎหมายก็เป็นเพียงข้อเสนอที่เกิดขึ้นโดยชอบตามกระบวนการที่กำหนด รอเพียงอำนาจของประชาชนโดยรัฐสภาหรือการลงประชามติ ประกอบกับพระบรมราชวินิจฉัยเท่านั้นที่จะแปรเปลี่ยนร่างนี้ให้มีสถานภาพเป็น "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" หรือไม่


 


ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นใดก็ตาม โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีชีวิตอยู่เบื้องหลังร่างรัฐธรรมนูญนี้ ก็น่าที่จะเป็นเหตุผลเพียงพอให้เรียกขานร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ว่าเป็น "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เป็นร่างที่ผู้คนในแผ่นดินผู้มีทุกข์ร้อน มีความฝัน มีความเห็นอันหลากหลายได้ร่วมกันนำเสนอเพื่อเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ รัฐธรรมนูญใหม่เพื่อชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม


 


เป็นที่แน่ชัดโดยปราศจากข้อสงสัยว่า ไม่มีผู้ใดที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปเสียทั้งหมด ทั้งในและนอกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ข้อยุติทั้งหมดนี้ ก็เป็นผลมาจากกระบวนการถักทอทางความคิดของทุกฝ่ายตามจังหวะตามกระบวนการที่กำหนดไว้


 


ด้วยเหตุผลดังกล่าว ไม่ว่าในที่สุดแล้ว ประชาชนจะชี้ขาดอนาคตของ ""ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" เช่นใดก็ตาม แต่ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" นี้ ก็น่าที่จะยังดำรงอยู่ ดำรงอยู่เพื่อเป็นตัวอย่างของการตื่นสู้และร่วมกันคิดอ่านเพื่อแผ่นดินที่ควรรักษาส่งเสริมให้เป็นต้นทุนของบ้านเมืองต่อไป


 


0 0 0


 


ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้เป็น "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540" เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 เป็นฉบับที่ 16


 


"รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540" ถูกฉีกและยกเลิกด้วยคณะรัฐประหารที่เรียกตัวเองว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549


 


ด้วยเหตุผลดังกล่าว ไม่ว่าในที่สุดแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 จากคณะรัฐประหารจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรก็ตาม แต่เรื่องราว "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540" ที่บรรจุเรื่องราวของผู้คนในแผ่นดินผู้มีทุกข์ร้อน มีความฝัน มีความเห็นอันหลากหลาย ก็น่าที่จะยังดำรงอยู่ทั้งในการศึกษาหรือกล่าวถึง เพื่อเป็นตัวอย่างของการตื่นสู้และร่วมกันคิดอ่านเพื่อแผ่นดิน และเพื่อตั้งหลักยืนยันว่า


 


"รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ฉบับประชาชน" จะต้องไม่ถดถอยไปกว่านี้ทั้งในมิติของพื้นที่และเวลา ทั้งเป้าหมายและ "กระบวนการ" ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งคนสนับสนุนรัฐประหาร และคัดค้านต่อต้าน ตลอดจนประชาชนอันไพศาลต้องรับผิดชอบเพื่อให้ได้มา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net