Skip to main content
sharethis

เดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงาน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) เปิดเผยแนวคิดใหม่เรื่องการจัดการโดยท้องถิ่น กรณีศึกษาการจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะแม่แตะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ท้องถิ่นจะผันตัวเองตั้งรับกระแสอย่างสง่าผ่าเผยได้มากเพียงใด และยังค้นพบว่าการพัฒนาท้องถิ่นต้องอาศัยแรงหนุนจากภายนอก เข้าไปมีส่วนในการสร้างความเติบโตของชุมชนท้องถิ่น

สัมภาษณ์โดย อีชาลาญ
เรียบเรียงโดย สุขุม ชีวา
ภาพโดย ปาริชาต กลิ่นขจร

โครงการสื่อสารแนวราบ (โลคัล ทอล์ค)



 

 

เดโช ไชยทัพ

ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ)

 

 

"ถ้าเราทำท้องถิ่นให้เข้มแข็งได้จริง การจัดการกับนโยบายข้างบน เราจะมีสถานะน้ำหนักมากขึ้น ถึงแม้โครงสร้างราชการจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาโดยตลอด"

 

"เดโช ไชยทัพ" ผู้ประสานงาน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ได้กล่าวถึงแนวคิดใหม่ในเรื่องการจัดการโดยท้องถิ่น จากกรณีศึกษาการจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะแม่แตะ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ท้องถิ่นจะผันตัวเองตั้งรับกระแสอย่างสง่าผ่าเผยได้มากเพียงใด และยังค้นพบว่าการพัฒนาท้องถิ่นต้องอาศัยแรงหนุนจากภายนอก เข้าไปมีส่วนในการสร้างความเติบโตของชุมชนท้องถิ่น


ระยะเวลา
20 ปี ของประสบการณ์การทำงานพัฒนาตั้งแต่ระดับชุมชนไปถึงการผลักดันนโยบาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องป่าชุมชน ปัจจุบันเขาได้ขยับก้าวงานพัฒนาแนวใหม่ ที่แม้ว่ายังเกี่ยวข้องกับเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นใน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แต่ประเด็นไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ การวิเคราะห์ชุมชนในกระแสโลกาภิวัตน์ และการค้นหาวิธีการเข้าถึงชุมชนอย่างไม่ฉาบฉวย จากกรณีศึกษาในลุ่มน้ำแม่เตี๊ยแม่แตะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ อาจเป็นคำตอบที่กลายเป็นโจทย์ใหม่ในการวิเคราะห์ชุมชนท้องถิ่นยุคใหม่

 

 

แรงจูงใจที่ทำให้เข้ามาทำงานในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะแม่แตะ?

 

ที่มาที่ไปเป็นเรื่องความขัดแย้งในระดับพื้นที่แล้วนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับ วงกว้างทางนโยบาย เรารู้สึกว่าจะทำอย่างไรจึงจะใช้พื้นที่และกรณีตัวอย่างนี้กับการมีส่วนร่วม ของประชาชนในการจัดการทรัพยากรได้อย่างเข้มแข็ง                                                                                                                

บางคนมีทัศนะกับชาวบ้านว่า เป็นอีกพวกหนึ่งก็คือแบ่งแยกเป็นศัตรูกันเลย แล้วใช้เวทีข้างนอกในการคลี่คลายปัญหา ซึ่งต้องเผชิญหน้ากันอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นไปที่หน้ารัฐสภา ไปเจอกันที่ห้องโน้นห้องนี้ เจอที่กลไกนั้นกลไกนี้ กลุ่มทัศนะแบบนี้ก็เป็นเหมือนกับว่าเอาปัญหาเดิมๆ ที่สร้างความรู้สึกแตกแยก สร้างความรู้สึกที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงไปขยายผล เวลาพวกคนเหล่านี้ใช้ข้อมูลที่บิดเบือน เอารูปที่แห่งหนึ่งแห้งแล้งไปอธิบายว่าเป็นลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะแม่แตะ ซึ่งมันคนละเรื่องมาอธิบายเชื่อมโยงสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาดได้สูง (เช่นกรณีความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าบนพื้นที่กับกลุ่มธรรมนาถ ในอำเภอจอมทอง ที่กล่าวหาว่าชาวเขาทำลายป่า - ผู้เรียบเรียง)

 

แรงจูงใจอีกอย่างคือ เอ๊ะ นี่มันเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ เริ่มคิดว่าถ้าขบวนท้องถิ่นยังไม่เติบโตและเข้มแข็งเพียงพอ ขบวนการสร้างพื้นที่ทางสังคม กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายก็อาจจะมีน้ำหนักไม่เพียงพอ เป็นความพยายามตอบโจทย์ในทางหลักการ ที่ผ่านมาเรารวมกลุ่มกันเป็นประเด็นผู้เดือดร้อนแล้วก็ข้ามฝากฝั่งมารวม กลุ่มกัน เป็นกลไกใหญ่ๆ ในระดับภาคไปมีมิติเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ซึ่งมันก็อยู่ในวงจรแบบนี้แล้วไม่ค่อยประสบผลสำเร็จอย่างจริงจังมากนัก แม้ว่าผลสำเร็จที่เกิดขึ้นมีคุณูปการอยู่เยอะ

 

แต่ว่าในทัศนะของเราคิดว่ามันไม่เข้มแข็งเพียงพอ เพราะฉะนั้นจึงมาคิดร่วมกับทีมว่าเราน่าจะกลับไปสู่ฐาน สร้างฐานให้เข้มแข็งจะทำให้มีโอกาสในการสร้างพื้นที่ทางนโยบาย พื้นที่ทางสาธารณะได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

 

พอย้อนกลับลงไปทำงานสร้างฐาน มีวิธีทำงานที่เน้นจุดต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง?

ถ้าถามถึงเรื่องวิธีวิทยา หรือว่ากระบวนการในการทำงานกับท้องถิ่น เราเข้าใจว่าเอ็นจีโอก็ยังไม่เคยถอดบทเรียนเรื่องวิธีวิทยาว่ามีวิธีการทำ งานอย่างไร ยังไม่เคยสรุปเป็นสาระสำคัญในกระบวนการทำงาน มีแต่คุยเป็นหลักกว้างๆ ซึ่งมันยังไม่ลงตัวในวิธีปฏิบัติ

 

เช่น การเข้าหมู่บ้านคุณจะเข้าหาใครบ้าง การที่คุณเข้าหาใครโดยที่ยังไม่ได้ตั้งหลักก่อน มันจะมีผลอย่างไรบ้าง ถ้าคุณเข้าหาผู้นำที่ไม่เป็นทางการ แล้วคุณไปอยู่กับเขา ขณะที่คุณไม่เคยรู้ว่าเขามีสถานะมีบทบาทมีศัตรูมากน้อยแค่ไหนในหมู่บ้าน แต่คุณไปมองเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เพราะเขาพูดถูกใจเอ็นจีโอ พูดถูกใจชนชั้นกลาง ในขณะเดียวกันมันก็นำไปสู่การหมั่นไส้เป็นธรรมดา ผู้ใหญ่บ้านก็หมั่นไส้ แกนนำก็เริ่มหมั่นไส้

 

โจทย์ในการเข้าหาใครก็ยังไม่เคยทบทวน เราก็จะอยู่ในวงจรที่เข้าถึงเข้าง่ายในกลุ่มที่คิดอะไรคล้ายๆ กัน แต่ไม่ได้คิดวิเคราะห์ว่าในสังคมหมู่บ้านมีกลุ่มอำนาจอะไร แล้วเราควรวางบทบาทในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายใหญ่ๆ ได้อย่างไรบ้าง เพื่อทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง

 

แต่ก็ไม่เคยใช้แบบ stakeholder analysis (การวิเคราะห์ที่ครอบคลุมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ที่ดูให้ครบหมด กระบวนการทำงานควรจะวางหลักคิดว่าควรเข้าหาใครบ้าง เราก็ลองเริ่มที่จอมทอง (พื้นที่ทำงานในลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะแม่แตะ) เข้าหากลุ่มแรกคือกลุ่มผู้นำที่เป็นทางการ ซึ่งตอนนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก ว่าเราไปสมคบกับผู้นำทางการ เพราะเอ็นจีโอก็จะมองว่าเขาเป็นเครื่องมือของรัฐ เป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดรัฐ และจะถูกครอบงำโดยรัฐ แต่เราก็แยกแยะว่าควรเข้าหาผู้นำทางการและเข้าหากลุ่มต่างๆ มากขึ้น เรียกว่าการเข้าถึงกลุ่มต่างๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ ตอนนั้นถือเป็นโจทย์ใหญ่เพราะ หนึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องคุ้นเคยของเรามาก่อน สองเราต้องหัดฟังเขาด้วยความจริงใจมากขึ้น ไม่ได้ไปช่วยแบบชี้นำ

 

 

หัดฟังด้วยความจริงใจมากขึ้นหมายความว่าอย่างไร?

 

มันเป็นเรื่องความลงตัวและความใจเย็น คือเรายังไม่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในระยะวันสองวัน หรือเดือนสองเดือน แต่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องลากยาว เพราะฉะนั้นการพบปะพูดคุยก็อาจจะเริ่มที่การเป็นคู่ตรงข้ามกันอยู่ แล้วก็ค่อยๆ ขยับ มันจึงเป็นเรื่องต้องฟังเขาแล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว นี่คือเรื่องที่ได้เรียนรู้เมื่อมองย้อนกลับไป มันก็เริ่มจากแบบนี้ก่อน แล้วเขาก็เริ่มยอมรับพวกเรา

 

 

ถ้าพูดถึงกระบวนการทำงานกับคู่ตรงข้ามที่หลากหลายแบบนี้ ถือว่าเป็นวิธีคิดแบบใหม่ได้ไหม?

 

ถ้าพูดตรงๆ ก็อาจเป็นอย่างที่ว่า เหมือนกับว่าไปฟังเขาไปเรียนรู้จากเขา แต่ไม่ใช่ทั้งหมด มันก็เป็นเกมการเมืองเหมือนกัน ซึ่งสุดท้ายก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์การเมืองท้องถิ่น ว่ากลุ่มที่ยังเป็นแกนหลักอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน ที่เขาก็มองแบบขาวดำอยู่ คือเขาสร้างกฎหมายป่าชุมชนให้มีความหมายเท่ากับการทำลายป่า มีอะไรที่สามารถหยิบยกมาได้ เขาก็จะเอามาขยายผล เช่น ชาวเขาทำลายป่า ซึ่งเราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเขาได้ แต่เราเปลี่ยนแปลงโดยรอบ องค์ประกอบ ปัจจัย เราไปคุยกับนายก อบต. คนนั้นคนนี้มีแววเห็นด้วยกับเรา คือเรามีเจตนาร่วมกันได้

 

คนข้างนอกอาจจะคิดโจทย์ที่ตัวเองสังเคราะห์แล้วก็ไปสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันคนละเรื่องกัน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องฝายดักตะกอนหรือฝายแม้วกับโจทย์ของชนชั้นกลางที่ไม่ต้องการเขื่อน เพราะเขื่อนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง และเป็นวิธีการจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ แล้วทางออกคืออะไร ก็ยังไม่มีใครคิดกัน นอกจากต้องสร้างกติกาแบ่งปันน้ำกัน จริงๆ แล้วมันยังจะมีเทคโนโลยีอื่นอีกไหม (อย่างเช่นฝายแม้ว รูปแบบของการจัดการน้ำในลุ่มน้ำขนาดเล็ก) เหมือนเราตั้งโจทย์ขายไอเดียให้กับท้องถิ่นในเรื่องการจัดการน้ำที่มากไป กว่าข้อตกลงการแบ่งปันน้ำ ไม่ใช่ว่าอะไรก็ต้องมาจากท้องถิ่นคิดเอง ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับคนข้างนอกพอสมควรในการตั้งโจทย์ ไม่อย่างนั้นภูมิปัญญาท้องถิ่นก็จะหยุดนิ่ง ไม่มีพลวัตในการนำมาปรับใช้ในมิติอื่นกับคนข้างนอก เพราะท้องถิ่นก็มีการปรับใช้โดยตัวของมันเองซึ่งไม่บอกกล่าวใครอยู่แล้ว

 

 

การจัดการโดยท้องถิ่นควรมององค์ประกอบเรื่องใดบ้าง?

 

การจัดการตัวเองควรจะดูที่ว่าประเด็นในการจัดการเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องแรกคือการจัดการความสัมพันธ์ของคนในลุ่มน้ำ อย่างเช่นลุ่มน้ำแม่เตี๊ยแม่แตะ การจัดการตัวเองได้สูญเสียไปเพราะเงื่อนไขข้างนอกเข้ามากำหนดทิศทางที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิต ที่ใช้ทรัพยากรอย่างมากมายแล้วเกิดการแย่งชิง กลายเป็นความไม่สามารถจัดการตัวเอง


ชุมชน ท้องถิ่นจะต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถวิเคราะห์ เข้าใจปัญหาได้ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการเรื่องข้อมูลความรู้ที่ท้องถิ่นจะต้องลุกขึ้นมา จัดการด้วยตัวเอง จึงเป็นประเด็นที่เมื่อกล่าวถึงท้องถิ่นจัดการตัวเอง เราต้องมองให้เห็นว่า จัดการอะไร โดยใคร และอย่างไร

 

เมื่อกลไกจัดการสมัยใหม่หรือหน่วยงานภายนอกเข้ามาเป็นองค์การทางการ โดยลืมกลไกหรือบุคคลที่ควรจะเข้ามาร่วมในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจ กลายเป็นระบบการเลือกตั้งท้องถิ่น ถ้าท้องถิ่นจัดการตัวเองเห็นคุณค่าของคนที่มีศักยภาพต่างๆ ก็ต้องให้คนเหล่านั้นมีพื้นที่ในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หมายความว่าเรื่องการจัดการความรู้และพื้นที่ของคนด้อยโอกาส ท้องถิ่นจะต้องมีส่วนเข้ามาจัดการตรงนี้มากขึ้น

 

เรื่องความรู้ต้องมีการแตกรายละเอียดมากขึ้น ท้องถิ่นจะต้องเรียนรู้ความรู้ทั้งที่เป็นวิทยาการสมัยใหม่จากข้างนอก และความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างเช่น การใช้ระบบจีไอเอส** เราก็เชื่อมโยงเรื่องความเชื่อดั้งเดิมเข้ามา คือว่าเชื่อมพิธีกรรมเข้ามา และผู้นำพิธีกรรมเข้าไป ซึ่งก็เหมือนกับว่าเราเปิดให้พื้นที่แก่คนเหล่านี้เข้าไปด้วย ถ้าเรามองเรื่องการจัดการตนเองในโครงสร้างที่ไม่เป็นทางการ เมื่อเรามีพื้นที่ให้เขาได้ปฏิบัติการ เคลื่อนไหวได้เอง มันก็จะเป็นการจัดการที่นำไปสู่ขีดความสามารถในการปรับตัวในยุคกระแสโลกาภิวัตน์ได้ดีมากขึ้น เพราะพื้นที่เหล่านี้เราได้พูดถึงความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ศีลธรรม จริยธรรมที่ควรจะเป็น

 

ในภาคปฏิบัติจริง ถ้าชาวบ้านยังยึดถืออยู่กับจารีตประเพณี เชื่อฟังผู้อาวุโส การตัดสินใจใดๆ มันก็จะเป็นการตัดสินใจแบบจารีต ข้อมูลเป็นการสื่อสารกับคนภายนอกมากว่า เพราะชาวบ้านเองก็ไม่ค่อยได้ใช้ระบบการสื่อสารโดยตัวหนังสือ โดยตัวระเบียบ แต่สื่อสารกันด้วยกฎระเบียบจารีต เพราะฉะนั้นการทำจีไอเอส การทำแม็บปิ้ง มันก็จะไร้ค่า ถ้ามันไม่ซึมอยู่ในกฎจารีต แต่คนที่จะนำพามันเข้าไปอยู่ในกฎจารีตก็คือผู้นำทางพิธีกรรม หรือผู้นำทางศาสนา ดังนั้นถ้าบุคคลเหล่านั้นได้มีโอกาสเข้ามามีบทบาทในการทำพิธี เขาก็จะคนชักนำและเกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนว่าเรากำลังจะทำอะไร เพื่ออะไร ถ้าเราเข้าใจว่าการสื่อสารภายในท้องถิ่นที่สังคมไหนเน้นเรื่องพิธีกรรม เรื่องความเชื่อ มันต้องหาทางให้ผู้นำเหล่านี้ได้แสดงบทบาทสื่อสารออกไป

 

 

ตัวท้องถิ่นเองตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน?

 

โดยตัวของท้องถิ่นเองก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ หมายความว่ามีโอกาสเป็นไปตามกระแสหลักได้โดยตลอดอยู่แล้ว หรือถ้าพูดเป็นเกมการเมืองก็เกือบทั้งหมดเป็นแกนนำของพรรคการเมือง ซึ่งมีวิธีคิดที่จะใช้ท้องถิ่นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง โดยหยาบๆ ท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างนี้

 

ถ้าวิเคราะห์ดูโครงสร้างของท้องถิ่นที่เป็นทางการ ก็มีโอกาส 2 แบบ ที่จะสัมพันธ์กับกระแสการเปลี่ยนแปลงภายนอก ในเชิงเป็นเนื้อเดียวกับกระแสโดยไม่ตั้งหลัก แต่ถ้าในเชิงเป็นกระแสต้าน ปรับดุล ฟื้นฟู ท้องถิ่นพยายามหาสาระสำคัญที่จะดำรงอยู่อย่างสง่าผ่าเผย ซึ่งก็ต้องอาศัยปัจจัยจากภายนอกในการกระตุ้น คือท้องถิ่นต้องการประชาชนจากภายนอกเข้าไปร่วม

 

ส่วนท้องถิ่นที่เป็นโครงสร้างแบบทางการกับท้องถิ่นที่เป็นกลุ่มชาวบ้านจริงๆ มันก็ดำรงอยู่ด้วยกัน แต่หลังๆ ก็จะเริ่มถูกการเมืองในระบบดึงมาเป็นพรรคพวกมากขึ้น โครงสร้างการเมืองก็จะเริ่มเข้ามาเชื่อมต่อกัน เช่น การคัดเลือกแก่เหมืองแก่ฝาย ใครควรจะเป็นแก่เหมืองแก่ฝาย ใครควรจะมาเป็นสมาชิก อบต. บ้านนั้นบ้านนี้ ถ้านายก อบต. ชี้เป็นชี้ตายได้ก็จะง่ายต่อการของบประมาณ ขอส่วนแบ่งในการซ่อมบำรุง

 

 

แสดงว่าตอนนี้ผู้นำทางการมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นมากขึ้น แล้วการจัดการโดยท้องถิ่นจะหมายความว่าอย่างไร?

 

เราเข้าใจว่าการจัดการโดยท้องถิ่นมันอยู่ภายใต้โครงสร้างใหญ่ เพราะเราพูดถึงสังคมที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ครอบงำไปทุกส่วน อาจมีกระแสต้านบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่มันก็ไม่สามารถเป็นกระแสหลักได้ ท้องถิ่นยังต้องการขบวนการปัญญาชนเข้าไปช่วยเหลือท้องถิ่น

 

โจทย์เรื่องการจัดการอำนาจ เราเคยพูดถึงเรื่องการให้ อบต. มาดูแลจัดการอำนาจตัวเอง เป็นการกระจายอำนาจ ท้องถิ่นเรียนรู้ถูกผิด ควบคุมกันเอง แต่ท้ายที่สุดมันก็มีแนวโน้มกลับไปอีกมุมหนึ่ง ก็ไม่ต่างจากระบบเดิมมากนัก เวลาเราพูดถึงท้องถิ่นจัดการตนเอง ในทัศนะของเราต้องสร้างกระแสในชนชั้นกลาง ปัญญาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในถกเถียงแลกเปลี่ยนพูดคุยร่วมกับท้องถิ่น ชนชั้นกลางหรือปัญญาชนไม่สามารถแยกให้ท้องถิ่นจัดการบริหารเองได้ หมายความว่าถ้าคุณต้องการระบบดูแลสุขภาพ และระบบสวัสดิการในท้องถิ่น ถ้าไม่มีการโยนโจทย์ในการจัดการกระบวนการเรียนรู้จากข้างนอกเข้าไป มันก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เช่น ถ้าบอกว่าให้ อบต. ละหนึ่งแสนบาท ชาวบ้านทุก อบต. ก็จะทำโครงการนี้เพื่อของบ ชาวบ้านก็จะเร่งรีบเพื่อเร่งเงินเข้ามาสู่ระบบ คือเวลามีความคิดดีๆ แบบนี้แต่ว่าไม่มีกระบวนการเข้าไปหนุนเสริมกระบวนการจัดการที่ดีพอ มันก็จะเป็นแค่รูปแบบ

 

คอนเซ็ปท์ดีอยู่แล้ว ที่ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ตัวเอง ค้นหาศักยภาพของตัวเอง และหาวิธีการทำงานที่ก่อให้เกิดพลังที่จะลุกขึ้นมาอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ แต่ถ้าไม่มีกระบวนการประชาชน บทบาทของชนชั้นกลาง บทบาทจากคนข้างนอกจะต้องเข้มข้นมากขึ้นในการพูดถึงการจัดการอำนาจโดยท้อง ถิ่น การให้ท้องถิ่นเติบโต ความลงตัวในบทบาทปัญญาชน ชนชั้นกลาง ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ว่าจุดไหนคือจุดลงตัวพอดี

 

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็ไปไกลแล้วคือ พ.ร.บ.องค์กรชุมชน ก็อาจจะออกเป็นกฎหมายภายในปีนี้ หลักคิดในการเสริมท้องถิ่นให้เข้มแข็งสามารถจัดการตัวเอง มันก็เริ่มคลายมาอีกสเต็ปท์ จากที่คิดเรื่องโครงสร้างทางการมากๆ จำกัดพื้นที่ไว้กับระบบการเลือกตั้ง อบต. เข้ามาบริหาร แต่ว่าการเมืองคู่ขนาน การเมืองภาคประชาชนไม่มีบทบาทมากนัก เขาก็คิดสภาองค์กรชุมชนขึ้นมา เพื่อกำกับดูแลติดตามตรวจสอบ หรือทำสิ่งจำเป็นโดยอาจไม่ต้องผ่านกลไกระบบการเลือกตั้ง ซึ่งจะเหมือนกับที่เรากำลังทำอยู่ เช่น การทำฝายแม้วก็ใช้องค์กรท้องถิ่นเป็นคนคิดและเสนอ ไม่จำเป็นต้องมาจาก อบต. อย่างเดียว ซึ่งมันก็เป็นไปได้ ซึ่งในทางตัวกฎหมายก็มีการขานรับกันอยู่ แต่ว่าเอาเข้าจริงในทางปฏิบัติอาจจะไม่ง่าย

 

 

การใช้กลไก อบต. ก็มีการเปิดให้คนกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมเหมือนกัน ซึ่งแตกต่างจากท้องถิ่นจัดการตัวเองอย่างไร?

 

อบต. เป็นมิติทางการเมืองมากเกินไป เช่น การเป็นสมัครพรรคพวกเดียวกัน มันเป็นมิติทางการเมืองมากกว่ามิติทางด้านผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้านที่จะเข้ามาได้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องการเลือกคนที่เห็นและไม่เห็นด้วย เข้ามาจัดการโดยตำแหน่ง

 

ส่วนคนด้อยโอกาสก็อาจไม่ได้เข้ามามีส่วนในพื้นที่ตรงนี้โดยตรง แต่ต้องให้พื้นที่พวกเขา ถึงแม้เขาเข้ามาก็อาจจะไม่กล้าพูดในเวทีกลไกใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสร้างพื้นที่เฉพาะให้กับกลุ่มเหล่านี้ เช่น กลุ่มผู้หญิง กลุ่มแม่บ้านควรมีพื้นที่ๆ เหมาะสมให้เขาได้ทำกิจกรรมจริงจัง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเข้ามาอยู่ในโครงสร้างที่เป็นทางการ การก่อรูปโครงสร้างที่ไม่เป็นทางการเป็นสิ่งที่ควรสนใจ

 

 

ถ้าหากสร้างกลไกท้องถิ่นจัดการตัวเองได้ จะทำให้เกิดผลดีไปในทิศทางใด?

 

ถ้าพูดถึงเรื่องการจัดดุลอำนาจในท้องถิ่นให้เข้มแข็ง มันก็จะสามารถลดอำนาจส่วนราชการลงได้ คือใครจะมาใครจะไปก็เท่านั้น แต่ถ้าท้องถิ่นสามารถจับมือกันได้แล้ว มีระบบข้อมูลที่ดีพอ กระบวนการสื่อสาร การเจรจาต่อรองที่แนบเนียนพอที่ไม่ทำให้ความรู้สึกแบบว่า ป่าไม้ไม่ดีป่าไม้ผิด โดยภาพรวมถ้าท้องถิ่นคลี่คลายลงตัว อำนาจในส่วนของอุทยานก็จะลดลง แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องชั่วคราว เนื่องจากยังเป็นกระแสที่เล็กอยู่ แต่ถ้าเกิดการขยายขีดความสามารถเป็นเชิงรุกทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณไปทั้ง อำเภอและจังหวัด มันก็จะมีพลังขึ้น

 

 

กระบวนการทำงานในลุ่มน้ำแม่เตี๊ยแม่แตะจะมีโอกาสขยายผล สร้างแรงกระเพื่อมถึงระดับจังหวัดได้หรือไม่?

 

แนวคิดเป็นไปได้แต่ก็น่าเป็นห่วงเรื่องกระบวนการทำงาน คือคนที่จะเข้ามารองรับยุทธศาสตร์นี้ ศักยภาพของคนที่จะขับเคลื่อนมันยังมีน้อยมาก กลไกการปฏิบัติการในพื้นที่เป็นโจทย์ที่คนทำงานต้องมีอายุการทำงานไม่ต่ำ กว่า 3 - 5 ปี มีความสามารถในการสื่อสารและกุมสภาพในพื้นที่ได้ ออร์กาไนซ์ประสานงาน และติดอาวุธในเรื่องความรู้นวัตกรรม ถ้าพูดถึงแค่หนึ่งหน่วยพื้นที่ทำงานก็หาคนเกาะติดพื้นที่ยากแล้ว เราต้องทำงานหลายระดับมากก่อนที่จะฟื้นฟูพลังท้องถิ่นได้

 

พลังที่ควรฟื้นฟูก่อนคือพลังความคิดในทางยุทธศาสตร์ ที่ลงตัวและเป็นลักษณะการเติมแต่ง เสริมความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น และมีวิธีกระบวนการในการเสริมแบบแนบเนียน มีการจัดกระบวนการ และเครื่องมือพอสมควร

 

ถ้าอีกมองอีกแง่หนึ่งว่าเอ็นจีโอมีข้อจำกัดในการทำงานแบบนี้ ชุมชนท้องถิ่นจะเป็นตัวขับเคลื่อนไปเองเลยได้หรือเปล่า?

 

ในทัศนะของเรา ขบวนการชาวบ้านยังต้องมองเป็นพื้นที่ๆ ไปคือเขาควรเติบโตควบคู่กันไปกับขบวนเอ็นจีโอ ขบวนปัญญาชน ซึ่งต้องมีทั้งนักจัดการ นักคิดทางยุทธศาสตร์ ที่มองเห็นเป้าหมายด้วยกันว่าต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรควบคู่กันไป ถ้าทำงานเสริมความสามารถในการบริหารจัดการเพียงด้านเดียว มันก็ทำได้อยู่แต่จะมองไม่เห็นหลักหมายที่อยู่ข้างหน้า

 

สมมติว่าเรามีกฎหมายดีๆ เกิดขึ้นมาภายในวันพรุ่งนี้ อย่างเช่นกฎหมายป่าชุมชน หรือกฎหมายดีๆ ทั้งหมด แต่ปัญหาใหญ่ก็คือว่าความสามารถในการบริหารจัดการให้เป็นจริงตามกฎหมาย มันก็ต้องกลับไปคิดอีกเหมือนกันว่ากลไก ขบวนปัญญาชนจะคิดในเรื่องการเสริมอย่างไร เช่น ต้องมีสถาบันใหญ่ขึ้นมาดูแล ส่งเสริมสนับสนุน เพื่อสร้างคนที่มีศักยภาพไปทำงานในระดับท้องถิ่น

 

ส่วนท้องถิ่นก็ต้องถามว่าจะสามารถเข้าไปใช้และจัดการตามเงื่อนไขทางกฎหมายได้หรือเปล่า ท้องถิ่นก็ทำได้เอง แต่จะทำได้ในระดับที่อาจไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมากนัก เช่น กฎหมายป่าชุมชน มีสาระสำคัญเรื่องการรู้จักใช้ทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ถ้าสมมติว่าเกิดการค้นพบตัวยาสมุนไพรที่สามารถรักษาแผลได้เหมือนยาฮีรูดอยด์ แล้วการบริหารจัดการที่มีสถานะตอบสนองเศรษฐกิจของชาวบ้าน มันก็ต้องหยิบยกตัวยาสมุนไพรนี้เข้ามาในกระบวนการวิทยาศาสตร์ กระบวนการแปรูปอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งจะเป็นเป้าหมายเพื่อในระดับท้องถิ่น เสริมสร้างรายได้ รอยต่อแบบนี้เราคิดว่าในแง่ระดับการจัดการ มันไม่มีปัญหา

 

แต่ถ้าเราคาดหวังว่า กฎหมายป่าชุมชนจะเป็นเงื่อนไขที่ให้ท้องถิ่นได้คิดค้นและสร้างระบบการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นมา มันก็ต้องอาศัยปัญญาชน เอ็นจีโอไปช่วยกันขบคิด เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะหยุดอยู่แค่ว่าสมุนไพรตัวนี้รักษาอาการนี้ หรืออาจจะมีคนหัวแหลมผันตัวไปทำธุรกิจส่วนตัว แทนที่จะเป็นระบบที่เอื้อกับชุมชน ซึ่งก็จะจบอยู่แค่นี้

 

ถ้าขบวนท้องถิ่นเราเข้มแข็งพอ ไม่ใช่แค่ว่าเราไปเรียกร้องเอามติ ครม. มันก็ได้มติมา แต่ว่าเราจะจัดการกับองค์ประกอบที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ได้ลำบาก ถ้าเราทำท้องถิ่นให้เข้มแข็งได้จริง การจัดการกับนโยบายข้างบน เราจะมีสถานะน้ำหนักมากขึ้น ถึงแม้โครงสร้างราชการจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาโดยตลอด แต่ถ้าหากท้องถิ่นบอกว่าจะเอาอย่างนี้ มันก็เป็นไปได้มากขึ้น

 

 

* หมายเหตุ ผู้เรียบเรียงเพิ่มเติมคำอธิบายในวงเล็บ เพื่อความเข้าใจบริบทของบทสัมภาษณ์เพิ่มขึ้น

** ระบบจีไอเอส หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ คือเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) โดย การนำข้อมูลเชิงพื้นที่จัดทำให้อยู่ในรูปแบบของข้อมูลดิจิตอล เพื่อนำข้อมูลไปใช้งานกับโปรแกรมทางจีไอเอสในคอมพิวเตอร์ได้ เพื่อตอบสนองตามความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ในกรณีลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะแม่แตะได้นำมาประยุกต์ใช้กับชุมชนในรูปแบบที่เข้าใจ ง่าย เป็นภาพที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางกายภาพของพื้นที่กับรูปแบบการ จัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำ เช่น การทำฝายแม้ว การทำแนวกันไฟ การฟื้นฟูป่า เป็นต้น

 

ที่มา : http://www.localtalk2004.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net