Skip to main content
sharethis

อานุภาพ นุ่นสง


สำนักข่าวประชาธรรม


 


แม้ว่าจะผ่านมานานเกือบเดือนสำหรับงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ที่มีการจัดอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร มีการประชาสัมพันธ์กันอย่างเอิกเกริกเพื่อดึงดูดประชาชนทั้งไทยและเทศ แต่เอาเข้าจริงหลังจากงานนี้เปิดฉากขึ้นกลับมีปัญหาหลายอย่าง บางปัญหาแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับงานที่ชื่อว่าเป็นงานระดับโลก ขณะที่บางเรื่องเกิดปัญหาตั้งแต่ยังไม่ทันเปิดงานด้วยซ้ำจนนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง...


 


งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2549 - 31 ม.ค. 2550 เป็นเวลา 92 วัน บนเนื้อที่ 470 ไร่ ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเริ่มแรกกว่า 2,000 ล้านบาท ต่อมามีการของบประมาณเพิ่มจากรัฐบาลอีกกว่า 1,500 ล้านบาท รวมแล้วงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งนี้ใช้งบประมาณกว่า 3,500 ล้านบาท โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตรและสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยและสมาคมพืชสวนนานาชาติเป็นผู้รับผิดชอบ


 


งานดังกล่าวถูกจัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี 2549 และฉลองพระชนมายุ 80 พรรษาในปี 2550 รวมทั้งการแลกเปลี่ยนในทางวิชาการระหว่างประเทศ


 


ดังนั้น เนื้อที่ 470 ไร่ ณ.ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงจึงถูกเนรมิตให้กลายเป็นสวนขนาดใหญ่ ภายในมีสวนที่ออกแบบและนำพืชนานาชนิดจาก 21 ประเทศมาจัดจำนวน 22 สวน ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้กว่า 2,200 ชนิดรวมกว่า 2.5 ล้านต้น


 


หลายคนอาจคิดว่าผลพวงจากการจัดงานครั้งนี้อาจทำให้สังคมไทยซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมพลอยได้รับความรู้ เกษตรกรอาจมีส่วนร่วมกับการจัดงานซึ่งจะนำไปสู่ผลประโยชน์ การได้รับความรู้ในเชิงวิชาการซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการผลิตต่อไปได้ แต่เอาเข้าจริงๆแล้วกลับพบว่างานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งนี้เกษตรกรไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานแต่อย่างใด


 


พืชสวนโลก เกษตรกรอยู่ตรงไหน?


 


อาจเป็นเพราะว่าชื่อชั้นของงานที่ติดดีกรีงานระดับโลก การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งนี้ตั้งแต่แรกเริ่มจึงพบว่าเกษตรกรไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานแม้แต่น้อย เนื้องานไม่ได้ตอบสนองภาคเกษตร ไม่มีการส่งเสริมการเกษตรแต่อย่างใด


 


ดังนั้น สิ่งที่เกษตรกรสามารถทำได้อย่างมากในงานนี้จึงเป็นแค่เพียงการเช่าพื้นที่หน้างานที่ราคาค่าเช่าแพงหูฉี่ในการออกร้านขายพันธุ์ไม้ต่างๆเท่านั้นเอง


 


เรื่องนี้ ศ.ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ราษฎรอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญเรื่องกล้วยไม้ระดับโลก ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนหลายแขนงว่า งานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งนี้หากพูดถึงเกษตรกรทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรกรในระดับชาวบ้านธรรมดาแทบจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากงานนี้ แถมยังต้องตกเป็นเครื่องมือให้เขาใช้ประโยชน์ทางการเมืองอีกต่างหาก


 


ศ.ระพี ยังกล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ของงานพืชสวนโลกเท่าที่เคยมีมาในประเทศต่างๆนั้น โดยทั่วไปประเทศที่เป็นเจ้าภาพจะจัดงานเพื่อส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรของประเทศนั้นๆเป็นพื้นฐาน แต่สำหรับประเทศไทยกลับแตกต่างออกไป ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ยากไร้ก่อนเป็นอันดับแรก และต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อน แต่กับงานมหกรรมพืชสวนโลก เกษตรกรบ้านเราแทบจะเอื้อมไม่ถึง จริงๆแล้วงานครั้งนี้เป็นงานของเกษตรกร ดังนั้นการเตรียมคนระดับล่างให้มาเป็นเจ้าบ้านก็ต้องใช้เวลา เมื่อรู้ว่าไม่มีเวลาพอที่จะเตรียมคน ก็ต้องยืดระยะเวลาออกไป ไม่ใช่ให้มันเป็นแบบนี้


 


"ภาพรวมของงานพืชสวนโลกครั้งนี้เหมือนกับการทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิ เพียงแต่เป็นมีรูปแบบที่แตกต่างออกไป เวลานี้ถ้าจะอธิบายว่ามีปัญหาอย่างไร คนทั่วไปคงจะมองเห็นภาพได้ยาก อย่างสุวรรณภูมิมาเห็นชัดก็ตอนที่มันเปิดแล้ว ดังนั้นพืชสวนโลกก็จะเป็นเช่นนั้นอีกไม่นานก็คงได้เห็นกัน" ศ.ระพี กล่าวทิ้งท้าย


 


ขณะที่กลุ่มเกษตรกรไม้ดอกไม้ประดับใน จ.เชียงใหม่เองนั้น ส่วนใหญ่สะท้อนว่า เกษตรกรชาวสวนไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่แทบไม่ได้รับประโยชน์จากงานนี้ เพราะระบบประมูลจัดหาพันธุ์ไม้ที่กำหนดจากส่วนกลางตัดโอกาสท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้งการจัดงานไม่มีส่วนช่วยกระตุ้นตลาดพันธุ์ไม้ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่มีความต้องการซื้อไม้ดอกไม้ประดับไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว


 


อย่างไรก็ตาม นอกไปจากเกษตรกรไม่มีพื้นที่สำหรับงานนี้แล้ว ขณะเดียวกันตลอดระยะเวลาการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่ผ่านมานานเกือบครบเดือน สิ่งที่ปรากฏขึ้นตลอดระยะเวลาการจัดงานที่ผ่านมานั้นพบว่ากลับเต็มไปด้วยปัญหาสารพัด หลายปัญหาแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับงานที่มีการให้ดีกรีว่าเป็นงานระดับโลก


 


สารพัดปัญหาในพืชสวนโลก


 


นอกไปจากปัญหาความไม่โปร่งใส การทุจริตคอรัปชั่นที่ฉาวโฉ่ตั้งแต่ยังไม่เปิดงานจนเป็นผลให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)กำลังตรวจสอบแล้ว งานมหกรรมพืชสวนโลกยังก่อเกิดปัญหาต่างๆมากมายโดยเฉพาะปัญหาด้านการจัดการ


 


วันที่ 3 พ.ย. หลังเปิดงานได้เพียง 2 วันกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่เปิดบูธขายของสองข้างทางถนนราชพฤกษ์นับร้อยคน ต้องออกมาประท้วงปิดถนน เรียกร้องให้ฝ่ายจัดงานจัดระบบการจราจรใหม่ เนื่องจากการปิดไม่ให้รถส่วนตัวเข้าสู่บริเวณงานและจัดระบบรถขนส่งสาธารณะขนคนเข้าไปทำให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยเหล่านี้ขายของไม่ได้


 


บูธต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายสองฟากถนนราชพฤกษ์ ผู้เช่าต้องจ่ายค่าเช่าในราคา 8,000-18,000 บาทต่อเดือนโดยวิธีการเหมาจ่าย 3 เดือนรวด และแม้ว่าผลจากการประท้วงปิดถนนทำให้คณะผู้จัดงานและผู้เกี่ยวข้องได้เปิดให้รถยนต์ส่วนบุคคลเข้าใกล้บริเวณงานได้แต่ก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายของบูธขายสินค้าเหล่านั้นกระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด                    


 


ส่วนปัญหาเรื่องขยะ พบว่าหลังการเปิดงานเป็นต้นมามีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละประมาณ 500 ตัน จากปกติที่จะมีปริมาณขยะเฉลี่ยวันละประมาณ 300 ตัน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะแม้ที่ผ่านมาจะมีการยืนยันจากส่วนที่เกี่ยวข้องว่าสามารถจัดการได้โดยการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาจัดการโดยการฝังกลบ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าลำพังแค่ขยะปกติของเทศบาลเมืองเชียงใหม่จำนวน 300 ตันต่อวันนั้นที่ผ่านมาก็มีปัญหาด้านการจัดหาสถานที่กำจัด บ่อยครั้งที่รถขนขยะของเทศบาลเมืองเชียงใหม่แอบนำขยะไปทิ้งในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ดังนั้นเรื่องนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าบริษัทเอกชนที่เข้ามาจัดการขยะในงานพืชสวนโลกจะจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างไร


 


ขณะที่เรื่องห้องสุขา ที่หลายๆ คนไม่คาดคิดว่าจะเป็นปัญหาแต่ท้ายที่สุดก็เป็นปัญหาขึ้นมาจนได้โดยเฉพาะมีจำนวนไม่เพียงพอทั้งยังสกปรก มีกลิ่นเหม็น หลายจุดไม่สามารถใช้การได้เพราะเกิดการอุดตัน โถชักโครกมีน้ำรั่วซึม และบางจุดการก่อสร้างก็ไม่เรียบร้อย  


 


ด้านราคาอาหารภายในงาน งานนี้ถือว่าสูงลิบลิ่ว ราคาอาหารแพงกว่าภายนอกมาก อาทิ อาหารพื้นเมือง เช่น ขนมจีนน้ำเงี้ยวราคาจานละ 35-40 บาท ผัดไทยจานละ 140 บาท อาหารประเภทเซ็ทเมนูราคา 200 บาท ชากาแฟ 25-60 บาท ขณะที่น้ำดื่มขวดละ 15 บาท เป็นต้น


 


ด้านพันธุ์ไม้จากหลายประเทศที่นำมาจัดแสดงก็เช่นเดียวกัน บางส่วนประสบปัญหาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในตอนกลางวันจนเหี่ยวเฉา แห้งตาย เช่น สวนดอกทิวลิปจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่แห้งเหี่ยวตายไปหลังจัดแสดงได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น


 


พืชสวนโลก การบริหารหลังเสร็จงาน


 


ต้องยอมรับว่า งานมหกรรมพืชสวนโลกถูกคิดและวางแผนการบริหารจัดการขึ้นมาภายใต้กรอบของการจัดงานในระยะเวลาช่วง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2549 - 31 ม.ค.2550 เท่านั้น ส่วนระยะเวลาหลังจากนั้นไม่มีการวางแผนการจัดการมาแต่แรกเริ่ม


 


กรณีนี้กระทรวงเกษตรฯก็ยอมรับว่าปัจจุบันยังหาข้อสรุปเรื่องการโอนงานพืชสวนโลกให้กับหน่วยงานที่จะเข้ามารับดูแลต่อไม่ได้ เพราะจากการประเมินเบื้องต้นพบว่าเฉพาะค่าใช้จ่ายในการจ้างเจ้าหน้าที่ขั้นประหยัดสุดตกประมาณเดือนละ 2 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าบำรุงรักษา ค่าปุ๋ย ค่ายา กรณีดังกล่าวมีการหารือกันไว้ว่าจะมอบให้องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ดูแล แต่หลายฝ่ายก็กังวลว่าอาจดูแลไม่ไหว เพราะขนาดพื้นที่โครงการใหญ่ มีพรรณไม้จำนวนมากซึ่งอาจเกินศักยภาพของ อบต.ที่จะจัดการ ดังนั้นหนทางที่อาจจะมีการนำมาใช้ในการบริหารจัดการหลังจากนั้นคือการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาจัดการ


 


ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต แกนนำภาคีคนฮักเชียงใหม่ กล่าวว่า การให้บริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านพืชพันธุ์เข้ามาบริหารจัดการโครงการพืชสวนโลกหลังเสร็จงานถือว่าเป็นไปได้สูงมาก เรื่องนี้น่าเป็นห่วงเพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงก็เท่ากับว่างานพืชสวนโลกที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องการให้ความรู้แก่สาธารณะชนก็จะแปรเป็นการหาผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจแสวงหาผลกำไรมากขึ้น


 


"เป็นไปได้สูงว่าโครงการนี้ในอนาคตรัฐบาลจะให้เอกชนเข้ามาเทคโอเวอร์ในราคาถูก ขณะที่สาธารณูปโภคต่างๆรัฐก็ลงทุนไว้หมดแล้ว บริษัทที่เข้ามาก็กลายเป็นเสือนอนกิน เพราะลำพังค่าใช้จ่าย 2 ล้านบาทต่อเดือนนั้นถือว่าถูกมาก ขณะที่บริษัทที่เข้ามาย่อมมีการขยายกิจการเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดอยู่แล้ว ดังนั้นทั้งโรงแรม รีสอร์ท สปา ร้านอาหารจะต้องเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน" นายชัยพันธุ์ กล่าว


 


ชัยพันธุ์ กล่าวอีกว่า ในเบื้องต้นตนเห็นว่าโครงการนี้ไม่ควรให้เอกชนเข้ามาสัมปทานเพื่อแสวงหาผลกำไร แต่ควรให้เป็นสมบัติและผลประโยชน์ของสาธารณะอาจจะด้วยการแต่งตั้งมูลนิธิเข้ามาจัดการดูแลซึ่งรัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณบางส่วนก็ได้ แต่ทว่าปัจจุบันปัญหาดังกล่าวปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนแต่อย่างใด


 


อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นแม้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งแก้ไขเพื่อรักษาภาพลักษณ์ หน้าตาของประเทศกันอย่างอุตลุต แต่หากกระทรวงเกษตรฯในฐานะหัวเรือใหญ่ในการจัดงานฟังเสียงติติง ทักท้วง รวมทั้งคำแนะนำที่มีมาก่อนหน้านี้บ้างปัญหาต่างๆก็คงไม่ลุกลามอย่างที่เกิดขึ้น ที่สำคัญจะไม่ฉุดให้ความเป็นงานมหกรรมพืชสวนโลก ที่มีดีกรีเป็นงานระดับโลกตกต่ำลงไปด้วย


 


และต้องไม่ลืมว่า แม้งานมหกรรมพืชสวนโลกจะจบลงในวันที่ 31 ม.ค.2550 แต่ทว่าในเนื้อที่ 470 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง ถาวรวัตถุ พันธุ์ไม้ต่างๆยังคงอยู่ ดังนั้นถึงตอนนี้ประชาชนคงต้องช่วยกันจับตาดูว่างานนี้จะลงเอยลงเช่นไร ปัญหา การบริหารจัดการจะมีการแก้ไขกันอย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นแล้วสิ่งที่ถูกเนรมิตขึ้นในเนื้อที่ 470 ไร่ก็จะกลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งความอัปยศอย่างเลี่ยงไม่ได้.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net