Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมานี้ บรรดานักเรียนได้เห็นถึงตัวเลือกที่มากขึ้นในการเรียนต่อมหาวิทยาลัย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะต่าง ๆ เปิดภาคอินเตอร์ ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ในการหาเงินเข้าคณะ และทำให้ภาพลักษณ์ของตนได้รับการประเมินในระดับสากล คณะต่างๆ ดึงดูดนักเรียน ลงโฆษณาสร้างภาพลักษณ์ว่าจะได้บทเรียนเนื้อหาทันสมัย บูรณาการในประเทศและต่างประเทศ แม้ค่าเทอมจะสูงขึ้น แต่ครอบครัวไม่เพียงคนไทย กระทั่งคนในประเทศอาเซียนหรือต่างประเทศที่มีความสามารถในการจ่ายก็พร้อมเชื่อ ลงทุนให้ลูกๆ ได้รับการศึกษาที่คาดว่าดีที่สุด

 

เราเองก็เป็นหนึ่งที่เชื่อโฆษณานั้น และเข้ามาเรียนที่ภาค** PGS - Politics and Global Studies (รัฐศาสตร์และโลกสัมพันธ์ศึกษา) ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หลักสูตรอินเตอร์ใหม่ของคณะที่เปิดมาได้ ปี 

 

** ในบทความนี้ เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น จะเรียก PGS ว่าภาค แต่ในความจริงเป็นหลักสูตรพิเศษ

นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่เทอมแรกที่เราเข้ามาเรียน

วันนี้อาจารย์ยกคลาสนะ” 

 

เช้ามา... คลาสถูกยกเลิก... นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรอก แต่เป็นประสบการณ์ที่นิสิต PGS คุ้นเคย ถึงแม้ว่านิสิตส่วนใหญ่จะมากันพร้อมในห้องเรียนตั้งแต่ โมงเช้า คาบเรียนก็สามารถถูกยกเลิกได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการแจ้งมาก่อน ถ้าโชคดีหน่อยทางคณะก็อาจจะอีเมลมาแจ้งในคืนก่อนหน้า แต่มีหลายครั้งที่เวลาอันมีค่าของนักเรียนต้องเสียไปกับการนั่งรอแบบไร้ความหมาย

ค่าเทอมของคณะอินเตอร์ในจุฬาฯ มีแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ 70,000 ถึงหลักแสนบาท สำหรับหลักสูตรของ PGS ค่าเทอมคือ 99,000 บาท และเนื่องจากตามหลักสูตรต้องมีการไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ ปี (แต่ก่อนเป็นปี และปีสำหรับสายมหาวิทยาลัย Essex และปีกับปีสำหรับสายมหาวิทยาลัย Queensland แต่ตอนนี้ทุกสายเปลี่ยนมาเป็นช่วงปีและปีทั้งหมด) ค่าเทอมที่ต่างประเทศนั้นก็พุ่งขึ้นไปถึงหลักล้าน อาจจะเฉียด ล้านด้วยซ้ำ ขึ้นอยู่กับประเทศและค่าเงินบาทในตอนนั้น (ยังไม่รวมค่ากินอยู่และค่ารักษาสิทธิ 20,000 บาท ที่ต้องจ่ายให้จุฬาฯ ขณะอยู่ต่างประเทศ) 

นิสิตทั้งคนไทยและคนต่างชาติจึงคาดหวังว่า การศึกษาที่จะได้รับในรั้วจุฬาฯ นั้นจะเหมาะสมกับราคาที่ถูกนำเสนอ การเข้ามาเตรียมพร้อมนิสิตไปสู่การใช้ชีวิตและการศึกษาที่มาตรฐานสูงขึ้นในต่างประเทศต้องเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าแน่ๆ แต่ เทอม ผ่านไป เหตุการณ์ยกเลิกคาบเรียนดังกล่าวยังเกิดขึ้นซํ้าแล้วซํ้าเล่า จนฉันและเพื่อน ๆ เริ่มสงสัยว่า เราควรสงสารพ่อแม่ของเราได้หรือยังว่าค่าเทอมที่ท่านให้มาอาจไม่คุ้มเสียแล้ว 

นอกจากยกคลาส อาจาร์ยบางท่านเป็นระดับผู้บริหารคณะก็ยกเลิกคลาสติดกัน ครั้ง โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ครั้งนึงไม่มีใครมาแจ้งจนกระทั่งคลาสเริ่มไปแล้วครึ่งชั่วโมง 

อาจาร์ยบางคนไม่พร้อมที่จะมาสอนอย่างชัดเจน เมื่ออาจารย์ผู้สอนคนเก่าของวิชาบังคับลาออก ทางคณะก็นำอาจารย์ที่ (อาจ) ไม่ได้เต็มใจสอนมาสอนเรา อาจารย์พูดขึ้นในคาบแรกจนพวกเราเหวอ “ผมรู้ว่าพวกคุณจ่ายค่าเทอมแพง แต่อย่าคาดหวังอะไรมากกับผมเลยนะ” ราวกับว่าเป็นเรื่องขำขันแต่ขำไม่ออก อาจารย์หลายๆ คนก็คิดว่า เรารู้อะไรบางอย่างอยู่แล้ว เช่น พวกทฤษฎีสังคมศาสตร์พื้นฐาน (ซึ่งไม่มีวิชาไหนที่สอนเรื่องพวกนี้เพื่อปูความพร้อม) และก็เป็นสถานการณ์ซํ้าๆ ที่อาจารย์แต่ละวิชาจะแสดงความประหลาดใจและพูดเป็นประโยคเดียวกันว่า “พวกเธอไม่รู้เรื่องนี้หรอ?” และทีนี้ก็จะขึ้นอยู่กับความเมตตาของอาจารย์ท่านนั้นๆ ว่า จะอธิบายคอนเซปท์นั้นให้เราเข้าใจหรือไม่ แน่นอนว่า อาจารย์บางคนเลือกที่จะไม่ใส่ใจใยดีอะไรกับพวกเราขนาดนั้น 

หลายๆ ท่านก็มีแนวคิดที่ชวนฉงนสงสัย แม้แต่ยังไม่ได้เรียนอะไรมามากก็แปลกใจในความคิดของท่าน อาจารย์วิชาหนึ่งซึ่งสอนการพัฒนามีความคิดที่สนับสนุน Gentrification (การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น/การทำเมืองให้เป็นผู้ดี) สวนกระแสแนวคิดปัจุบันที่ตระหนักถึงข้อเสียของมันต่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน พูดดูถูกชุมชนรอบบรรทัดทองและสนับสนุนสิ่งที่จุฬาฯ ทำ หยามว่า บริเวณที่คนชุมชนเชียงกงใช้ขายอะไหล่รถยนต์นั้นเป็น ‘junkyard’ (ลานขยะ) ที่เต็มไปด้วยการโจรกรรมซึ่งตนเองก็เคยประสบ มองว่า เป็นเรื่องดีที่จุฬาฯ เวียนคืนที่ดินไปสร้างคอนโดระฟ้าและสวนขนาดกลาง (อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ) เพราะหากปล่อยไว้ก็จะไม่มีการพัฒนา 

อาจารย์บางคนก็มีความพยายามที่จะผลักดันชุดความคิดอย่างเห็นได้ชัด หนึ่งในวิชาบังคับภาษาอังกฤษนั้นสอนโดยอาจารย์ชาวอเมริกัน ซึ่งสอนโดยให้นักเรียนอ่านบทความที่ตนเขียนเองราว  40 เรื่อง และยังเอาเนื้อหานั้นมาออกข้อสอบ การเขียนเองเป็นเรื่องแสดงความตั้งใจ แต่บทความส่วนใหญ่มีเนื้อหาและแนวคิดที่หนักไปทางขวาอเมริกา อาจารย์คนนี้พูดชัดเจนว่าเขาเป็นผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และมักจะพูดถกเถียงกับนิสิตเพียงเพื่อจะเถียงไม่รู้จบ ทำให้ต้องตั้งข้อสงสัยว่า ทางคณะไม่มีการประเมินบุคลากรก่อนที่จะให้สอนนิสิตเลยหรือ มันสุ่มเสี่ยงไปมั้ยที่จะปล่อยให้อาจารย์มาผลักดันชุดความคิดของตนในมหาวิทยาลัยได้อย่างนี้

น่าตลกด้วยว่า อาจาร์ยบางท่านก็ใช้สไลด์ที่ไม่ได้ทำเอง โดยที่ลายนํ้าของคนทำที่เขียนว่าห้ามนำมาเผยแพร่ยังอยู่ในสไลด์ บางท่านก็นั่งทำสไลด์ไปพร้อมๆ กับการสอน หรือบางคนก็คัดลอกข้อมูลมาจากหนังสือหรือบทความโดยที่ไม่อ้างอิงให้ถูกต้อง

โดยรวมแล้วการเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพอย่างไม่น่าเชื่อ หากถามรุ่นพี่ที่กลับมาจากมหาวิทยาลัย Essex ประเทศอังกฤษ หลังศึกษาแลกเปลี่ยนในปี และปีและมาเรียนพร้อมกับปี รุ่นเรา พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ขนาดเขาไปเรียนที่อังกฤษแล้ว กลับมาเรียนที่นี่ก็เรียนไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ไม่มีอาจารย์วิชาไหนที่สอนทฤษฎีพื้นฐานเลย ตอนเรียนที่อังกฤษ เขาต้องเรียนวิชาที่ปูพื้นฐานทฤษฎีด้านการเมือง (Political) สังคมศาสตร์ (Sociology) เศรษฐศาสตร์ (Economics) อาชญวิทยา (Criminology) และระเบียบวิธีวิจัย (Research methodology) ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพที่จุฬาฯ

ในขณะเดียวกัน รุ่นพี่นั้นก็คิดว่าเนื้อหาที่ได้เรียนที่จุฬาฯ นั้นไม่เจาะลึกพอ และเป็นเนื้อหาที่ทั่วไปมาก จนทำให้รู้สึกว่า ที่เรียนพื้นฐานมาจากอังกฤษนั้นไม่ได้นำไปต่อยอด สุดท้ายแล้วคนที่เสียประโยชน์คือนิสิตที่ต้องการที่จะมาหาความรู้และพัฒนาทักษะ 

รุ่นพี่บางคนเคยเขียนจดหมายร้องเรียนไปทางหัวหน้าหลักสูตรแล้ว แต่ก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฝ่ายเดียวที่ไหวตัวคือมหาวิทยาลัย Essex แต่ก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง จึงคงต้องรอดูต่อไปในส่วนนี้ ส่วนทางจุฬาฯ นั้นกลับกลายเป็นว่าเวลาของนิสิตเหมือนถูกออกแบบมาให้หมดไปกับกิจกรรมฆ่าเวลา ก่อนที่จะส่งนิสิตไปกอบโกยหาความรู้ที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศเอา ซึ่งก็ไม่สมเหตุสมผลเพราะต่อให้ไปต่างประเทศ นิสิตเองก็ต้องจ่ายค่าถือครองสิทธิให้จุฬาฯ อยู่ดี แต่เมื่อกลับมาไทยกลับไม่ต้องจ่ายค่าครองสิทธิให้กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศแต่อย่างใด โดยยังคงสถานะนิสิตต่อไปได้เลย

ธุรการของภาคก็ย่ำแย่อย่างน่าประหลาดใจ โดยมีคนที่เหมือนทำงานรู้เรื่องอยู่เพียงคนเดียว แถมยังทำงานช้า แต่ก็เข้าใจได้เพราะเขาต้องทำงานส่วนใหญ่ด้วยตัวเอง โดยที่คนอื่นส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในช่วงฝึกงาน เมื่อถึงเวลานิสิตต้องไปต่างประเทศก็มีการช่วยเหลือแค่การแนะนำ ที่เหลือปล่อยให้นักเรียนไปจัดการเรื่องวีซ่า ตั๋วเครื่องบิน และที่พักเองทั้งสิ้น ในขนะที่ภาค JIPP (วิทยาศาสตร์จิตวิทยา) ของคณะจิตวิทยา ที่มีการไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยเดียวกันในออสเตรเลียกลับมีการช่วยเหลือเรื่องพวกนี้ทั้งหมด

การเชิญผู้มีประสบการณ์และความรู้จากหลายๆ ประเทศมาเป็นวิทยากรพิเศษเป็นเรื่องที่ดี และการที่คณะอนุญาตให้คนนอกเข้าร่วมกิจกรรมได้แบบไม่มีค่าใช้จ่ายก็เป็นเรื่องบริการสังคม แต่การจัดการของธุรการและผู้ที่อยู่เบื้องหลังการบริหารกิจกรรมนี้ที่ทำให้นิสิตของภาค PGS จริงๆ ไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากว่ากิจกรรมเช่นนี้มักจะถูกจัดในช่วงพักเที่ยงในวันที่มีการเรียนการสอนทั้งวัน ซึ่งเป็นการบังคับให้นิสิตต้องเลือกระหว่างการไปกินข้าวพักผ่อนหรือเข้าร่วมกิจกรรมนี้

กิจกรรมเหล่านี้ซึ่งจัดในนามภาคจึงไม่ค่อยมีนิสิตของภาคเข้าร่วมจริงๆ ไม่เพียงเท่านั้นทางภาคยังเคยมีการตัดสินใจเชิญทางสถานทูตอิสราเอลมาเป็นวิทยากร ท่ามกลางโศกนาฏกรรมที่อิสราเอลกระทำต่อปาเลสไตน์และฉนวนกาซ่า ซึ่งเป็นสถานการณ์อ่อนไหวที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่ควร น่าอับอาย มีนิสิตภาคอื่นไม่เข้าใจมาตำหนิพวกเรา แต่เรื่องดังกล่าวอยู่นอกเหนือการตัดสินใจของนิสิต เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยไม่มีการปรึกษากับนิสิต ขณะที่คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่า นิสิตเป็นฝ่ายเชิญมาเองและมองภาค PGS ในทางไม่ดี การที่ทางคณาจารย์และธุรการเชิญมานั้นยังสื่อถึงความอิกนอเรนซ์ของหลักสูตรพิเศษที่มีชื่อว่าโลกสัมพันธ์ศึกษา” 

ท้ายที่สุดแล้ว คำถามที่ยังค้างคาอยู่ในใจก็ยังคงเป็นว่า ค่าเทอมที่จ่ายไปนั้นคุ้มหรือไม่นักเรียนแต่ละคนที่เตรียมตัวเตรียมใจตั้งหน้าตั้งตารอสอบเข้ามาเพื่อจะได้เรียนถึงรัฐศาสตร์จุฬาฯ แต่ความคาดหวังของพวกเขานั้นจะเป็นจริงไหมความคาดหวังที่จะได้เข้ามาเรียนอินเตอร์ของมหาวิทยาลัยระดับสูง ที่มีการไปเรียนต่างประเทศด้วย แต่การเรียนการสอนกลับไม่ได้มาตรฐานสากล ถือเป็นความผิดพลาดของภาค คณะ และมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป ที่การบริหารไม่ดีพอที่จะจัดการศึกษาได้ตามความคาดหวัง 

เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทางมหาวิทยาลัยและทางคณะออกมาแสดงความรับผิดชอบ และปรับปรุงให้เป็นคณะที่เหมาะสมกับสถานะคณะรัฐศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net