Skip to main content
sharethis

Tanah Kita Network ส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าฯนราธิวาสขอให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง “คณะทำงานแก้ไขปัญหาการประกาศเขตอุทยานฯ ซีโป” เพราะไม่เป็นไปตามข้อตกลง ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา และขาดความจริงใจต่อประชาชน

 

1 เม.ย.2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า “เครือข่ายประชาชนปกป้องสิทธิในที่ดินรอบพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป” หรือ Tanah Kita Network ส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ยกเลิกคำสั่ง “แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาที่ดินในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปอย่างมีส่วนร่วม” โดยระบุว่าเพราะไม่เป็นไปตามข้อตกลง ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา และขาดความจริงใจต่อประชาชน

รายละเอียดดังนี้ : 

ตามที่ประชาชนใน 8 ตำบลในจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ ต.ซากอ ต.เชิงคีรี และ ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร ต.เฉลิม และ ต.กาลิซา อ.ระแงะ ต.ลาโล๊ะ และ ต.มะรือโบตก อ.รือเสาะ และ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ ประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน อันเนื่องมาจากการเตรียมประกาศจัดตั้งอุทยานแห่ชาติน้ำตกซีโป และ จากการที่ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินแม้จะตั้งถิ่นฐานมานานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ทั้งนี้ ในการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ปรากฎว่าแนวเขตที่จะประกาศนั้นยังซ้อนทับที่ดินทำกินของชาวบ้านอยู่จำนวนมาก และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดเขตของอุทยานฯ แต่อย่างใด 

ที่ผ่านมาผู้ที่เดือดร้อนได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายประชาชนปกป้องสิทธิในที่ดินรอบพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป” หรือ Tanah Kita Network และได้ร้องเรียนปัญหาไปยังหลายภาคส่วน กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้จังหวัดนราธิวาสได้ออกคำสั่งจังหวัดนราธิวาส เรื่อง “แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาที่ดินในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปอย่างมีส่วนร่วม” โดยให้อ้างว่า “เพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแลและแก้ไชปัญหาที่ดินในการกำหนดพื้นที่เพื่อเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส และเป็นธรรม” โดยระบุให้ตัวแทน Tanah Kita Network เข้าร่วมเป็น 1 ในคณะทำงานที่มีทั้งหมดรวม 16 คน นั้น

Tanah Kita Network มีความวิตกกังวลอย่างอย่างยิ่งว่าคำสั่งจังหวัดนราธิวาสฉบับนี้ จะยิ่งสร้างอุปสรรคต่อการปกป้องสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชน และจะไม่นำมาสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวดูจะเป็นเพียงยุทธวิธีที่ไม่มีความจริงใจของหน่วยงานรัฐเพื่อตอบโต้กลับต่อการท้วงติงของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งชาติน้ำตกซีโป มากกว่าที่จะคำนึงถึงความเดือดร้อนและชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน  ดังนั้น Tanah Kita Network จึงทำหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสขอให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

ทั้งนี้ เหตุผลที่ทำให้ Tanah Kita Network มีความวิตกกังวลต่อคำสั่งฯ นี้ ประกอบด้วย

1) คำสั่งจังหวัดนราธิวาสฉบับนี้ไม่เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันจากเมื่อครั้งที่ Tanah Kita Network ได้เข้าพบและประชุมร่วมกับนายสนั่น พงศ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส (ในขณะนั้น) และตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 เวลา 15.30 – 18.00 น. ณ ห้องประชุมศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส (แห่งใหม่) ในการประชุมครั้งนั้นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า พร้อมจะดำเนินการเดินแนวเขตใหม่ร่วมกันกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในทันที โดยในการประชุมดังกล่าวไม่มีการหารือถึงการตั้ง คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาที่ดินในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปอย่างมีส่วนร่วม แต่อย่างใด

2) คำสั่งจังหวัดนราธิวาสนี้เป็นการมัดมือชกให้ Tanah Kita Network ต้องเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ในขณะที่องค์ประกอบของคณะทำงานตามคำสั่งฉบับนี้มีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐมากถึง 14 หน่วยงาน ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานด้านป่าที่มีความขัดแย้งกับกับประชาชนในเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน อีกทั้งยังมีตัวแทนจาก กอ.รมน. ภาค 4 ซึ่งไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ท่ามกลางวงล้อมของตัวแทนจากหน่วยงานรัฐซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยสรรพกำลัง งบประมาณ เทคโนโลยีด้านแผนที่ ข้อมูล/ความรู้ และกฎหมายและระเบียบต่างๆ นั้น ตัวแทนจากเครือข่ายฯ ซึ่งเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาย่อมเสียเปรียบ ทำให้พวกเราไม่เชื่อมั่นในการทำงานของคณะทำงานชุดนี้ว่าจะเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาจริงๆ โดยคณะทำงานนั้นถูกตั้งขึ้นเพื่อเอื้อต่อทางการในการผลักดันการประกาศอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปให้ได้ตามแผนและเส้นแนวเขตที่หน่วยงานกำหนดไว้แล้วตั้งแต่ต้น

3) ที่สำคัญ การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานฯ ให้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจ การประสานงานกับผู้นำชุมชน และการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยตรง ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานไปทำหน้าที่แต่อย่างใด  

ทั้งนี้ Tanah Kita Network มีข้อเสนอต่อจังหวัดนราธิวาส เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง  ดังนี้

1) ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสยกเลิกคำสั่งดังกล่าวทันที

2) ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสสั่งการให้ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป (เตรียมการ) ดำเนินการนัดหมายกับทาง Tanah Kita Network เพื่อร่วมกันกำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโปใหม่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสมาชิกเครือข่ายฯ ในการประกอบอาชีพ และเพื่อเป็นการรับรู้แนวเขตอุทยานที่จะประกาศร่วมกัน เพื่อจะได้เป็นผลดีต่อการจัดรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในลำดับต่อไป ทั้งนี้ ในการนัดหมายต้องถือเอาความสะดวกของประชาชนเป็นสำคัญ

3) เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสสั่งการให้สำนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาสเข้ามาทำโครงการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชนด้วย

4) ในระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสสั่งการไม่ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่ กอรมน. เข้ามาข่มขู่ คุกคามประชาชนในพื้นที่ด้วยประการใดๆ และให้ประชาชนทำมาหากินตามปกติต่อไป หากทางเจ้าหน้าที่ต้องการจะเข้ามาตรวจสอบในพื้นที่เป็นครั้งคราวตามความจำเป็นก็ขอให้ประสานงานกับทางองค์กรปกครองท้องถิ่นและทาง Tanah Kita Network เพื่อที่จะได้ไปตรวจสอบพื้นที่ร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net