Skip to main content
sharethis

เหตุเครนถล่มที่ 'ระยอง' มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย เป็นชาวเมียนมา 6 และจีน 1 ราย ได้ข้อสรุปเจรจา บ.ยอมจ่ายชดเชยผู้เสียชีวิตรายละ 1.6 ล้าน ภายใน 3 เดือน คนงานเมียนมายอมเปิดทางให้กู้ภัยนำร่างผู้เสียชีวิตออกมา ด้าน สส.ก้าวไกล กำชับ สภ.ปลวกแดง และอุตสาหกรรมจังหวัด หาสาเหตุเครนถล่มต่อ

 

30 มี.ค. 2567 เฟซบุ๊กของ สว่างจิตต์ เลาหโรจนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เขต 5 ระยอง พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความวันนี้ (30 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.49 น. อัพเดทสถานการณ์ความคืบหน้า สืบเนื่องจากวานนี้ (29 มี.ค. 2567) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เกิดอุบัติเหตุเครนก่อสร้างในโรงงานเหล็กสูง 20 เมตร ถล่มลงมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 6 ราย และบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ซึ่งภายหลังเสียชีวิตหลังนำตัวส่งโรงพยาบาล และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนหนึ่ง 

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปลวกแดง พร้อมด้วยกู้ภัยปลวกแดง จ.ระยอง รุดตรวจสอบพื้นที่ แต่ถูกคนงานหลายร้อยชีวิตรวมตัวกันไม่ให้นำร่างผู้เสียชีวิตออกมา โดยเรียกร้องให้บริษัท ชดเชยเยียวยาญาติผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนเงินศพละ 5 ล้านบาท 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ PPTV รายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 23.00 น. ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ และสว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ สอง สส.จากพรรคก้าวไกล เมื่อเสร็จภารกิจที่สภาฯ จึงเดินทางมาไซต์ก่อสร้างจุดเกิดเหตุเครนถล่ม โดย สส.พรรคก้าวไกล ทั้ง 2 ราย ได้มาร่วมพูดคุยกับ พล.ต.ต.พงษ์พันธ์ วงศ์มณีเทศ ผบก.ภ.จว.ระยอง พ.ต.อ.ชัยพงษ์ แสงพงษ์ชัย ผกก.สภ.ปลวกแดง นายสกนธ์ กรกฎ นายอำเภอปลวกแดง รวมถึงญาติของผู้เสียชีวิต และผู้บริหารโรงงาน เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ชุติพงศ์ สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เบื้องต้นจะให้ทางญาติผู้เสียชีวิตมาลงชื่อไว้ก่อน ส่วนเรื่องเงินเยียวยาจะมีการช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม พร้อมตรวจสอบเกี่ยวกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งจะมีการเจรจาร่วมกันระหว่างนายจ้างและผู้สูญเสียอีกครั้ง

ต่อมา เวลา 00.00 น. ตัวแทนจากสหภาพแรงงานชาวเมียนมาจาก WAG ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวเมียนมา ได้เดินทางมาที่ไซต์งานเกิดเหตุ โดยมีแรงงานเมียนมา กว่าร้อยคนเดินออกมาต้อนรับ แล้วพาเข้าไปยังจุดที่ปักหลักชุมนุม ก่อนที่ทั้งหมดจะเข้าไปร่วมเจรจาร่วมกับนายจ้าง และญาติผู้เสียชีวิต

หลังใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หรือ 1.00 น. ของวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ชุติพงศ์ ออกมากล่าวว่า จากการร่วมการเจรจา โดยมีญาติผู้เสียชีวิต เจ้าของโรงงาน ตัวแทนสหภาพแรงงานเมียนมา WAG และ สส.ระยอง เขต 3 และเขต 5 นายอำเภอปลวกแดง และ ตำรวจ สรุปว่า จะมีการทำสัญญาระหว่างนายจ้าง กับญาติผู้เสียชีวิต และมีตัวแทนสหภาพแรงงานชาวเมียนมา เป็นผู้กำกับดูแล โดยตกลงเงินเยียวยากันขั้นต่ำรายละ 1,600,000 บาท รวมเงินประกันสังคม ส่วนเงินเยียวยาอื่นๆ เป็นไปตามกฎหมาย  นอกจากนี้ ทางโรงงานจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายงานศพทั้งหมด โดยจ่ายก่อนศพละ 5 แสนบาท ส่วนที่เหลือจ่ายให้ภายในระยะเวลา 3 เดือน

นอกจากนี้หลังจากที่ลงนามเซ็นสัญญา ก็ต้องเปิดทางให้รถกู้ภัยนำศพผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ศพ ออกไปส่งที่ รพ.ปลวกแดง

ที่มา: เฟซบุ๊ก ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ - Chutiphong Pipoppinyo

ต่อมา ตัวแทนสหภาพแรงงานเมียนมา WAG ได้แปลข้อตกลงเป็นภาษาพม่า พอพูดจบแรงงานที่ปักหลักชุมนุมต่างก็ปรบมือยอมรับข้อเสนอดังกล่าว

หลังจากที่ญาติผู้เสียชีวิตและตัวแทนโรงงานได้ลงนามในสัญญาเสร็จ  แรงงานที่ปักหลักชุมนุม ก็เริ่มทยอยแยกย้ายกันออกไป เปิดทางให้รถกู้ภัยจำนวน 4 คันที่บรรทุกศพผู้เสียชีวิตจากเครนถล่ม เดินทางส่งไปชันสูตรที่ รพ.ปลวกแดง ต่อไป

สว่างจิตต์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุต่อว่า นอกจากนี้ เธอได้รับเรื่องว่าพนักงานชาวเมียนมาที่เหลือได้พูดถึงความลำบากในการใช้บริการรักษาพยาบาลจากประกันสังคม เธอจึงได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดระยอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประกันสังคม เจ้าหน้าที่สวัสดิการฯ และเจ้าหน้าที่จัดหางาน แรงงานจังหวัด ลงพื้นที่พูดคุยกับแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ด้านชุติพงศ์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก กล่าวว่า  ส่วนเรื่องติดตามสาเหตุเครนถล่มระยอง ทางพรรคก้าวไกลจะติดตามต่อเพื่อหาข้อเท็จจริงทั้งหมด

ชุติพงศ์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ระบุว่า โดยสาเหตุการสืบสวนหาสาเหตุเครนถล่มจะมีการสอบถามทาง สภ.ปลวกแดง จ.ระยอง และกำชับว่าอย่าปล่อยผ่าน เพราะว่ามันเป็นเหตุต้องสืบหาความจริงให้ได้ว่ามันเป็นอย่างไร และมีการสอบถามทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว ทางอุตสาหกรรมฯ ระบุว่าจะมีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด 

ทั้งนี้ เว็บไซต์สื่อ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานสัมภาษณ์หนึ่งในแรงงานที่ชุมนุม ระบุว่า ที่เขาต้องใช้วิธีนี้ในการเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยา เพราะเคยมีกรณีก่อนหน้านี้เหตุไฟช็อตคนงานตายมาแล้ว แต่นายจ้างกลับเบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงินเยียวยา ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่เชื่อใจนายจ้าง 

ชุติพงศ์ กล่าวถึงประเด็นนี้ด้วยว่า อาจต้องหาความชัดเจนกับทางเจ้าของโรงงานให้ได้ด้วยว่าทำไมถึงมีกรณีนี้เกิดขึ้นมาได้ แต่เท่าที่ทราบเคยมีกรณีที่มีคนงานเสียชีวิต และเจ้าของเบี้ยวไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย ทำให้ครั้งนี้แรงงานข้ามชาติไม่ยอมปล่อย อย่างไรก็ตาม ชุติพงศ์ มองว่า อาจต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมว่าเคยมีกรณีเบี้ยวจ่ายค่าชดเชยแรงงานที่เสียชีวิตเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมจากเพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล ระบุเมื่อ 29 มี.ค. 2567 ตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บ 20 ราย จากเหตุเครนถล่มที่ จ.ระยอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net