Skip to main content
sharethis

เปิดตัว 'คลินิกด้านเวชกรรมจักษุวิทยานายแพทย์พิชชา' คลินิกเอกชนร่วมขับเคลื่อนโครงการตรวจคัดกรองและตัดแว่นสายตาแก่เด็กนักเรียน ชี้เป็นโมเดลใหม่ เน้นเสริมการทำงานในส่วนที่โรงพยาบาลรัฐยังครอบคลุมไปไม่ถึง - สปสช. เร่งแก้ปัญหาใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. หลังปรับรูปแบบเหมาจ่าย มีประชาชนร้องเรียนไม่ได้รับความสะดวก

9 มี.ค. 2567 นพ.พิชชา พนาวัฒนวงศ์ เจ้าของคลินิกด้านเวชกรรมจักษุวิทยานายแพทย์พิชชา ซึ่งเป็นคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมดำเนินการโครงการเด็กไทยสายตาดี เปิดเผยว่า การเข้าร่วมโครงการตรวจคัดกรองและตัดแว่นสายตาแก่เด็กนักเรียนโดยคลินิกเอกชน เป็นโมเดลใหม่ที่เริ่มทำใน จ.อุดรธานี ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2567 ซึ่งที่มาของการดำเนินการในโมเดลนี้ เนื่องจากตนรับราชการอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีด้วย และเมื่อ 2 ปีก่อนได้มีการดำเนินโครงการนี้ โดยมีเด็กที่ต้องรับการตัดแว่นจำนวน 20 คน แต่หาร้านแว่นตาที่รับตัดแว่นให้เด็กในอัตราที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายให้ไม่ได้ ทางพยาบาลจึงขอให้คลินิกของตนตัดแว่นให้

เมื่อตัดแว่นเสร็จ จึงได้สอบถามรายละเอียดการดำเนินโครงการว่าเป็นอย่างไร เหตุใดทั้งปีจึงหาได้แค่ 20 คน ทีมงานจึงเล่าให้ฟังตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรองในโรงเรียนโดยครู ส่งมาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) แล้วจึงจะมาถึงโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งดูแล้วมีปัญหาหลายในขั้นตอนและมีการตกหล่นระหว่างทาง

การดำเนินการในปีต่อมา จึงได้หารือกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงแว่นตามากขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพราะเด็กเหล่านี้ได้รับการคัดกรองแล้ว แต่ติดขัดปัญหาการเดินทางทำให้ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลศูนย์ได้ หรือมาได้ก็ต้องเสียค่าเดินทางสูงและต้องมาหลายครั้ง จึงเกิดโมเดลการตรวจคัดกรองเชิงรุกเข้าไปที่ รพช. ที่อยู่ห่างไกล โดยจักษุแพทย์จะเข้าไปสอนเจ้าหน้าที่ในด้านการคัดกรองและลงไปตรวจถึงที่ รพช.

ขณะที่ในปีงบประมาณนี้ ได้มีการพัฒนาขึ้นไปอีก โดยในส่วนของระบบราชการ ได้มีการนำเครื่องมือ AI เข้ามาช่วยคัดกรอง จากเดิมที่ให้เด็กอ่านชาร์ตสายตา ทำให้การคัดกรองแม่นยำมากขึ้นและจำนวนผู้รับการคัดกรองก็ทำได้มากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการนำคลินิกเอกชนซึ่งเป็นคลินิกของตนเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย เนื่องจากประชากรเด็กใน จ.อุดรธานี มีค่อนข้างเยอะ ขณะที่โรงพยาบาลรัฐก็มีศักยภาพในการคัดกรองได้ประมาณหนึ่ง จึงคิดว่าต้องใช้ภาคเอกชนเข้ามาเสริมในการตรวจคัดกรองให้เด็กกลุ่มที่เหลือเข้าถึงได้มากขึ้น

“ระบบการทำงานของรัฐ ก่อนคัดกรองก็ต้องเขียนโครงการ ตั้งงบประมาณล่วงหน้าว่าเมื่อพิจารณาจากงานประจำและจำนวนบุคลากรแล้ว จะสามารถคัดกรองเด็กได้กี่คน สมมุติเช่น คัดกรองได้ 200 คน แต่ประชากรเด็กของอำเภอนั้นมีเกิน 200 คน อาจจะ 500-1,000 คน แล้วเด็กส่วนที่เหลือจะทำอย่างไร จึงเป็นที่มาของการนำเอกชนเข้ามาช่วยในส่วนที่โรงพยาบาลรัฐยังไม่ครอบคลุม เพื่อให้เด็กเข้าถึงการคัดกรองได้มากขึ้น”นพ.พิชชา กล่าว

นพ.พิชชา กล่าวต่อไปว่า ข้อดีของภาคเอกชนคือมีความคล่องตัว และทำงานแบบ one stop service มีทั้งทีมงานและเครื่องมือ ลงไปตรวจถึงที่โรงเรียน และเมื่อได้ค่าสายตาแล้วก็สั่งประกอบแว่นแล้วนำแว่นไปมอบให้เด็กเลย ทำให้เด็กไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งจะสะดวกสำหรับเด็กที่อยู่ไกลๆ ที่ผู้ปกครองไม่สะดวกพาเข้ามารับการตัดแว่นที่โรงพยาบาลอุดรธานี  และนอกจากตรวจและตัดแว่นให้แล้ว ยังจะมีการดูแลหลังจากใส่แว่น เช่น หากใส่แว่นตาแล้วรู้สึกมึน ก็จะตรวจเช็คว่าเด็กรับค่าแว่นสายตาได้แค่ไหนแล้วเปลี่ยนเลนส์ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

สำหรับแนวทางการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีนั้น นพ.พิชชา กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีคลินิกของตนเพียงแห่งเดียวที่ทำร่วมกับโรงพยาบาลอุดรธานี โดยทางโรงพยาบาลจะคัดกรองไปก่อนตามแผนที่วางไว้ เมื่อโรงพยาบาลรัฐคัดกรองเสร็จแล้ว แล้วทางคลินิกจะดูว่าในอำเภอนั้นๆ ยังมีเด็กที่เหลือและควรจะรับการตรวจคัดกรองอีกกี่คนแล้วจึงเข้าไปช่วยเสริมในส่วนนั้น โดยเน้นที่โรงเรียนเป็นหลักเพื่อให้เด็กไม่ต้องเดินทาง

“คลินิกเราจะเน้นที่โรงเรียนรัฐบาลก่อน เพราะโรงเรียนเอกชนส่วนมากจะมีแว่นแล้ว แต่ในโรงเรียนรัฐ บางห้องมีแว่นตาคนเดียว บางห้องก็ไม่มีเลย หรือโรงเรียนในชนบทไกลๆ บางโรงเรียนก็แทบไม่มีเด็กมีแว่นตาเลย แสดงให้เห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึงแว่นตา ไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาสายตา พอไปตรวจก็พบว่ามีค่าสายตาผิดปกติรุนแรงมาก แล้วก็ใช้ชีวิตอยู่กันแบบนั้น มองอะไรก็ไม่ค่อยเห็น เราเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ต.ค. 2566 ทีมของคลินิกจะลงพื้นที่ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ยกเว้นช่วงที่เด็กสอบหรือปิดเทอม ซึ่งจะมีเวลาเข้าไปตรวจคัดกรองได้ประมาณ 8 เดือน ดังนั้นช่วงนี้เราก็จะพยายามลงพื้นที่ให้มากที่สุด”นพ.พิชชา กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน ทางคลินิกสามารถตัดแว่นให้เด็กได้ประมาณ 100 กว่าคน ส่วนของโรงพยาบาลก็แจกแว่นให้เด็กไปได้ประมาณ 500-600 คนแล้ว แต่ก็ยังมีเด็กที่รอการตรวจคัดกรองอีกจำนวนมากและน่าจะไม่สามารถตรวจให้หมดได้ในปีงบประมาณนี้ แต่อย่างน้อยก็จะพยายามให้เด็กได้รับการคัดกรองให้ได้อย่างน้อย 50% ก่อน

นพ.พิชชา กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเชิญชวนให้จักษุแพทย์ในประเทศไทยร่วมมือกัน เด็กๆจะได้เข้าถึงแว่นตาและมีประชากรที่มีคุณภาพมากขึ้น จริงๆแล้วโครงการนี้ไม่ได้ยากเลย ทุกอย่างมีพร้อมแล้ว ทั้งเรื่ององค์ความรู้ซึ่งจักษุแพทย์มีอยู่แล้ว เครื่องมือก็มี เพียงแต่จักษุแพทย์จะต้องเสียเวลาลงมาทำเป็นทีมนำ ว่าจะสร้างทีมคัดกรองและทีมลงไปตรวจวัดสายตาที่ รพช. ซึ่งโดยส่วนตัวต้องทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน ถือว่ามีมีภาระงานค่อนข้างเยอะ แต่เมื่อได้ทำแล้วรู้สึกดีที่ได้เห็นเด็กได้ใส่แว่นอย่างมีความสุข เห็นแล้วแล้วอิ่มใจทุกครั้ง

สปสช. เร่งแก้ปัญหาใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. หลังปรับรูปแบบเหมาจ่าย มีประชาชนร้องเรียนไม่ได้รับความสะดวก

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (สปสช. เขต 13 กทม.) ได้ปรับแนวทางการเบิกจ่ายค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ของหน่วยบริการปฐมภูมิ (คลินิกชุมชนอบอุ่น) เป็นเหมาจ่ายรายหัวให้กับหน่วยบริการจากเดิมที่เป็นรูปแบบโมเดล 5 ซึ่งเป็นตามข้อเสนอคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มายัง สปสช. ก่อนหน้านี้ โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา และได้มีการประชุมชี้แจงและซักซ้อมความเข้าใจในแนวทางการดำเนินการตามรูปแบบใหม่ รวมทั้งมีการประชุมวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์กรณีการปรับรูปแบบใหม่นี้

ทั้งนี้ จากการประชุมวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องช่วงเช้าของทุกวันในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้ยอมรับว่ามีประชาชนจำนวนมากได้ร้องเรียนเข้ามายังสายด่วน สปสช. 1330 และช่องทางระบบออนไลน์ต่างๆ ของ สปสช. เนื่องจากไม่ได้รับความสะดวกในการเข้ารับบริการ ไม่ว่าจะเป็นกรณีคลินิกทำหนังสือแจ้งยกเลิกใบส่งตัว, ปฏิเสธการออกใบส่งตัวให้ผู้ป่วย, คลินิกไม่ส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อเนื่องที่ รพ.เดิม, ไม่ส่งต่อหน่วยบริการรับส่งต่อตามสิทธิ, กำหนดเงื่อนไขการออกหนังสือส่งตัว, แนะนำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังย้ายหน่วยบริการ, ผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงิน, รพ.รับส่งต่อเรียกใบส่งตัว ไม่ให้ผู้ป่วยใช้สิทธิ OP Anywhere (บริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้) และอนุโลมให้ใช้สิทธิในการครั้งแรกโดยขอให้มีใบส่งตัวในครั้งถัดไป

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ภายหลังจากรับทราบปัญหาทาง สปสช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยทุกรายโดยเร็วที่สุด โดยได้ทำการประสานงานไปยังหน่วยบริการทุกระดับในพื้นที่เพื่อเร่งแก้ปัญหาการเข้ารับบริการให้กับผู้ป่วย ขณะที่ทางทีม สปสช. เขต 13 กทม. เอง ก็ได้มีการกระจายทีมลงพื้นไปยังคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามา เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจแนวทางการบริการให้กับทางคลินิกฯ ด้วยเช่นกัน พร้อมมีการพูดคุยกับโรงพยาบาลที่รับส่งต่อในการรับดูแลผู้ป่วยที่มีนัดบริการก่อน ให้ความมั่นใจการใช้สิทธิเบิกจ่าย OP Anywhere เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่มีนัดหมายกับโรงพยาบาล เบื้องต้น เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่าน

ส่วนการแก้ไขเชิงระบบในภาพรวมนั้น รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. เขต 13 กทม. ได้ทำการสรุปปัญหาเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานชุดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในการร่วมหาแนวทางแก้ปัญหา โดยเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกันของคณะทำงานทุติยภูมิใน กทม. แล้ว เบื้องต้นมีข้อเสนอกรณีผู้ป่วยมีนัดของโรงพยาบาล แต่ไม่มีใบส่งตัวของคลินิกต้นสังกัด ขอให้ รพ. ให้บริการและเบิกค่ารักษาจากกองทุน OP AE (กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน), OP Anywhere หรือ CA Anywhere (โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้) เช่นเดียวกับกรณีผู้ป่วยที่มีนัดกับ รพ.และมีใบส่งตัวจากหน่วยบริการอื่น

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีใบนัดนั้น หากเป็นกรณีอุบัติหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ ขอให้ รพ. ให้การดูแลรักษาโดยไม่ชักช้า ไม่ต้องมีใบส่งตัว โดยเบิกจ่ายจากกองทุน OP AE แต่หากไม่ใช่กรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ แต่ รพ.เห็นว่าไม่ควรรอก็ให้บริการได้เช่นกัน ให้เบิกจ่ายจากกองทุน OP AE, OP Anywhere หรือ CA Anywhere หรือกองทุนที่เกี่ยวข้อง    

ในกรณีที่คลินิกมีใบส่งตัว ให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายค่ารักษาจากคลินิกตาม FS หากเกินจากเพดานการจ่ายที่กำหนดของคลินิกก็ให้เบิกจ่ายจาก สปสช. กรณีส่งต่อผู้ป่วยนอก (กองทุน OP Refer) รวมถึงกรณีที่เกินศักยภาพบริการของโรงพยาบาล และมีความจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับบริการที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพให้บริการได้ ก็ให้เบิกจาก สปสช. ในกองทุน OP Refer เช่นกัน แต่ต้องแจ้งให้คลินิกรับทราบ แต่หากต้องรักษาต่อเนื่องก็ให้คลินิกพิจารณาส่งตัว โดยออกหนังสือส่งตัวอย่างน้อย 90 วัน   

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า จากแนวทางดังกล่าวนี้ทาง สปสช. เขต 13 กทม. จะนำเรื่องเข้าสู่ อปสข. กทม. และมีการประชุมด่วนเพื่อชี้แจง รพ.รับส่งต่อ และคลินิกที่ในระบบในวันที่ 11 มี.ค. นี้ และในวันนี้ช่วงเย็นจะเป็นการประชุมชี้แจงร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้สถานการณ์การรับบริการใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม.

“สปสช. ต้องขออภัยประชาชนสิทธิบัตรทองใน กทม. อย่างยิ่ง กรณีความไม่สะดวกในการรับบริการที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เนื่องด้วยเป็นช่วงของเปลี่ยนผ่านของระบบการเบิกจ่ายที่ปรับเป็นเหมาจ่าย ทำให้มีความเข้าใจต่อระบบการเบิกจ่ายที่คลาดเคลื่อนได้ โดย สปสช. จะเร่งทำความเข้าใจหน่วยบริการ และขอความร่วมมือ รพ. รับส่งต่อในการให้บริการผู้ป่วยที่มารับบริการ ส่วนผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและประสบปัญหาการเข้ารับบริการ ขอให้แจ้งเข้ามาที่ สปสช. ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อประสานการเข้ารับบริการ ในกรณีสายไม่ว่าง ก็ขอให้ส่งผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะมีเจ้าหน้า สปสช. ติดต่อกลับไปเพื่อรับแจ้งแก้ปัญหา” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net