Skip to main content
sharethis

รายงานจาก Stateline สื่อที่เกาะติดประเด็นท้องถิ่นสหรัฐฯ ชี้ว่า'ขนส่งสาธารณะฟรี' อาจมีประโยชน์ต่อคนรายได้น้อย แต่อาจ 'ไม่ยั่งยืน' เนื่องจากต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนมหาศาล ยากที่จะทำในระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ และหากสิ้นสุดการอุดหนุน ก็มีการหวั่นเกรงว่าตั๋วโดยสารอาจจะแพงขึ้น


ที่มาภาพ: GRTC Transit System

Stateline สื่อที่เกาะติดประเด็นท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา รายงานว่าที่เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย เมลวิน วิลสัน (Melvin Wilson) วัย 28 ปี ใช้ชีวิตง่ายขึ้นด้วยรถบัสฟรี เขาเพียงกังวลว่าค่าโดยสารที่เคยต้องจ่ายประมาณ 60 ดอลลาร์ฯ ต่อเดือน อาจจะกลับมาอีกครั้งและแพงขึ้น ซึ่งหมายความว่าจะทำให้เขาไปทำงานได้อย่างยากลำบาก

“มันอาจส่งผลให้คนจำนวนมากอย่างผมออกนอกเส้นทางที่คุ้นเคย ผมคิดว่าผู้คนจะสูญเสียงานไปเพราะเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันเกิดขึ้นเร็วเกินไป” วิลสัน กล่าว ขณะรอรถกับผู้โดยสารคนอื่น ๆ ที่สถานีขนส่งใจกลางเมืองช่วงต้นเดือน ก.พ.

ริชมอนด์เป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองที่จำนวนผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะฟื้นตัวอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิด-19 ตามการวิเคราะห์ของ Stateline ทั้งนี้ค่าโดยสารฟรีมีบทบาทสำคัญ โดยเงินอุดหนุน 4.5 ล้านดอลลาร์ฯ จากรัฐบาลกลางให้กับโครงการกระตุ้นภาคขนส่งสาธารณะของรัฐเวอร์จิเนีย ช่วยทำให้สิ่งนี้เป็นไปได้

นอกเหนือจากริชมอนด์ มีเพียงอีก 22 เมืองเท่านั้นที่มีผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะในปี 2023 เทียบเท่าหรือมากกว่าปี 2019 และในจำนวนนั้นมี 14 เมืองมีบริการรถโดยสารฟรี (อย่างน้อยบางส่วน) ในแต่ละปี ตามการวิเคราะห์โดย Stateline ใช้ข้อมูลจาก National Transit Database พบว่าเมืองที่สามารถฟื้นฟูจำนวนผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้นั้น ล้วนแล้วแต่มีบริการรถโดยสารฟรี (อย่างน้อยบางส่วน) ในแต่ละปี ได้แก่ ทูซอน รัฐแอริโซนา; ออลบานี รัฐนิวยอร์ก; เบอร์มิงแฮม รัฐแอละแบมา; วูสเตอร์ รัฐแมสซาชูเซตส์; และชรีฟพอร์ต รัฐลุยเซียนา โดยจำนวนผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะในปี 2023 อยู่ในช่วงตั้งแต่3.3 ล้านคนในชรีฟพอร์ต ไปจนถึง 17.5 ล้านคน  

ไม่น่าแปลกใจที่รถโดยสารฟรีสามารถกระตุ้นตัวเลขผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่กำลังดิ้นรนหาทางฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนไปทำงานที่บ้าน การเสนอรถโดยสารฟรีและราคาลดพิเศษเป็นประโยชน์ต่อแรงงานรายได้น้อย ซึ่งพึ่งพาการขนส่งสาธารณะ แต่คำถามคือ นโยบายดังกล่าวมีความยั่งยืนทางการเงินหรือไม่ – หรือยุติธรรมหรือไม่ เนื่องจากผู้โดยสารที่มีรายได้สูงก็ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน

ผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะฟื้นตัว
มีเพียง 23 พื้นที่เท่านั้นที่มีจำนวนผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะในปี  2023 เทียบเท่าหรือมากกว่าปี 2019 ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีบริการรถโดยสารฟรี (อย่างน้อยบางส่วน)

รายงานของสถาบันบรูคิงส์ (Brookings Institution) เมื่อปี 2023 ระบุว่า รัฐต่าง ๆ จะมีบทบาทสำคัญในการทำให้ระบบขนส่งสาธารณะที่เผชิญกับจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงอยู่รอด ซึ่งก็ต้องเผชิญกับปัญหา "หน้าผาทางการคลัง" (fiscal cliff) เมื่อเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสิ้นสุดลง

ในริชมอนด์ ผู้นำท้องถิ่นได้ยกเลิกการเก็บค่าโดยสารเป็นการชั่วคราวในเดือน มี.ค. 2020 ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อสนับสนุนบุคลากรด่านหน้า คนทำงานจำเป็น และเพื่อให้ผู้คนเดินทางไปโรงพยาบาลหรือพบแพทย์ได้ง่ายขึ้น การยกเลิกค่าโดยสารยังช่วยป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารรวมตัวกันรอบ ๆ บริเวณที่จ่ายค่าโดยสาร และลดความจำเป็นในการสัมผัสกันใกล้ชิด

ขนส่งสาธารณะยังคงให้บริการฟรีต่อไป เมื่อพวกเขาตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำและนายจ้างที่พึ่งพาพวกเขา ผลสำรวจพบว่า 71% ของผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะมีรายได้ครัวเรือนน้อยกว่า 40,000 ดอลลาร์ฯ ต่อปี ในขณะที่ผู้โดยสารที่มีรายได้สูง เช่น คนทำงานภาครัฐ ก็ได้รับบัตรโดยสารฟรีเป็นส่วนหนึ่งของงานในช่วงโควิด-19 เฮนรี่ เบนดอน (Henry Bendon) โฆษกประจำระบบขนส่ง GRTC Transit System บริษัทผู้ให้บริการรถโดยสารในพื้นที่ริชมอนด์ ระบุกับ Stateline

"[ก่อนที่จะให้บริการฟรี] มีปัญหาด้านความเสมอภาค ค่าโดยสารกลับตกเป็นภาระของผู้คนรายได้น้อย" เบนดอน กล่าว "ระบบขนส่งเป็นบริการสาธารณะ เราสร้างถนนหนทางและไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้ แล้วทำไมเราถึงต้องเก็บค่าโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะ"

เบนดอนนั่งรถโดยสารฟรีไปทำงานและไปเรียน เขากำลังศึกษาปริญญาโทสาขารัฐประศาสนศาสตร์ที่ Virginia Commonwealth University ในริชมอนด์ และนักศึกษาจำนวนมากที่ใช้บริการรถโดยสารฟรีที่วิ่งผ่านบริเวณวิทยาเขตใจกลางเมือง เมื่อผู้โดยสารเห็นสัญลักษณ์ของ GRTC Transit System บนเสื้อแจ็คเก็ตของเขา ก็มักจะเข้ามาพูดคุยและถามคำถาม ส่วนใหญ่เกี่ยวกับความสะอาดและความปลอดภัยบนรถโดยสาร แต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่พอใจกับการให้บริการทุก ๆ 15 นาที บนเส้นทางหลัก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากทุก ๆ 30 นาที เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว

ดี โอทีย์ (Dee Otey) พนักงานร้านอาหาร Lee's Famous Recipe Chicken ในริชมอนด์ กล่าวว่าเธอก็เป็นกังวลว่าค่าโดยสารจะกลับมาสูงกว่าเดิม เธอไม่อยากคิดถึงการดิ้นรนประจำสัปดาห์ ที่ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง เพื่อตัดสินใจว่าจะจ่ายค่าโดยสารเที่ยวเดียว 1.50 ดอลลาร์ฯ หรือซื้อบัตรโดยสารรายสัปดาห์ถึงจะคุ้มค่ากว่ากัน

ขนส่งสาธารณะควรฟรีสำหรับทุกคนหรือไม่


ที่มาภาพ: GRTC Transit System

เมืองอื่น ๆ กำลังเผชิญกับคำถามที่ว่า ผู้โดยสารที่มีรายได้สูงควรได้รับสนับสนุนค่าโดยสารฟรีหรือไม่ ในเขตพื้นที่วอร์เซสเตอร์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งรวมถึงบางส่วนของคอนเนคติกัต หน่วยงานขนส่งสาธารณะภูมิภาคของวอร์เซสเตอร์ (WRTA) ได้ขยายบริการโดยสารฟรีออกไปเป็นเวลาระยะหนึ่งปีอย่างต่อเนื่อง และบางคนก็อยากให้มันเป็นแบบนั้นต่อไป

อเล็กซ์ กวาร์ดิโอลา (Alex Guardiola) รองประธานฝ่ายกิจการสาธารณะและนโยบายสาธารณะของหอการค้าภูมิภาควอร์เซสเตอร์ กล่าวว่า “มีประโยชน์มากมายสำหรับผู้อยู่อาศัยและธุรกิจท้องถิ่นของเรา ในการขนส่งพนักงานไปทำงาน รวมถึงการนัดหมายทางการแพทย์”

แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบางคนเห็นประโยชน์ในการเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ที่มีกำลังจ่ายได้ “ฉันเห็นใจที่เรากำลังพยายามเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร แต่การเพิ่มจำนวนผู้โดยสารโดยไม่มีการหาเงินทุนเพิ่ม อาจทำให้เราอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้กับคนขับได้” โรบิน กริมม์ (Robin Grimm) ผู้ดูแลเมืองสเตอร์บริดจ์ ชานเมืองของวอร์เซสเตอร์ กล่าว “แต่การเก็บเงินผู้มีกำลังที่จะจ่าย ต้องยังคงอนุญาตให้ผู้ที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อยลงหรือไม่ต้องจ่ายเลย” เธอกล่าว

ไบรอัน เทย์เลอร์ (Brian Taylor) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส และผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาด้านการขนส่งของมหาวิทยาลัย กล่าวว่า การลดค่าโดยสารหรือค่าโดยสารฟรีนั้นไม่ค่อยสมเหตุสมผลในเมืองที่มีผู้โดยสารที่มีกำลังจ่าย เช่น ซานฟรานซิสโก

“มันยากที่จะสร้างกรณีที่เท่าเทียมกัน” เทย์เลอร์ กล่าว “มีข้อโต้แย้งที่ยอดเยี่ยมสำหรับค่าโดยสารฟรีในสถานการณ์ที่เหมาะสม แต่การทำเช่นนั้นโดยทั่วไปจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลและประโยชน์ก็ตกแก่ผู้ที่มีรายได้สูง”

ในอดีต ระบบขนส่งสาธารณะของเมืองเป็นธุรกิจที่แสวงหากำไร แต่ได้กลายเป็นบริการสาธารณะที่ได้รับการอุดหนุนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อผู้คนใช้รถยนต์อย่างแพร่หลายทำให้ธุรกิจระบบขนส่งสาธารณะไม่สามารถทำกำไรได้ ระบบขนส่งสาธารณะในริชมอนด์และเมืองอื่น ๆ ที่จำนวนผู้โดยสารฟื้นตัวมาอยู่ในระดับก่อนโควิด-19 ระบาด มีประชากรที่ต้องพึ่งพาการขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาไม่มีรถยนต์ เทย์เลอร์กล่าว

แต่แม้กระทั่งในริชมอนด์ ท้องถิ่นก็ยังคงมีปัญหาทางการเงินจากการสูญเสียรายได้จากค่าโดยสาร ซึ่งคิดเป็นเงินกว่า 8 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ความสูญเสียดังกล่าวได้รับการชดเชยบ้าง ทั้งนี้ท้องถิ่นกำลังพิจารณาขอเงินสมทบลดหย่อนภาษีจากธุรกิจเช่น Amazon ซึ่งพนักงานได้รับประโยชน์จากการเดินทางฟรี เบนดอน กล่าว

“จะมีการพูดคุยที่ยากลำบากเกี่ยวกับการระดมทุนในอีก 5-6 ปีข้างหน้า” เบนดอน กล่าว “เราจะกลับไปเก็บค่าโดยสารอีกครั้ง เฉพาะในกรณีที่ทุกอย่างล้มเหลวเท่านั้น เราไม่อยากทำอย่างนั้น เราไม่อยากทำอย่างนั้นเลย”

แม้แต่ระบบขนส่งสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดบางแห่งก็ยังทดลองให้นั่งฟรีแบบจำกัด องค์การขนส่งมวลชนมหานครนิวยอร์ก ซึ่ง Stateline พบว่าจำนวนผู้โดยสารรถประจำทางและรถไฟใต้ดินฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ประมาณ 76% เมื่อเทียบกับปี 2019 กำลังใช้เงินช่วยเหลือจากรัฐเพื่อสนับสนุนเส้นทางรถประจำทางค่าโดยสารฟรี 5 เส้นทาง จากทั้งหมด 325 เส้นทาง วอชิงตัน ดี.ซี. ยืดอายุรถโดยสารประจำเมืองฟรีออกไปจนถึงปลายปี 2024 ส่วนชานเมืองในรัฐแมริแลนด์และเวอร์จิเนีย พบว่าจำนวนผู้โดยสารรถประจำทางและรถไฟ อยู่ที่ประมาณ 71% เมื่อเทียบกับปี 2019

ปัญหาขาดแคลนพนักงาน


ที่มาภาพ: GRTC Transit System

แต่สำหรับระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่มาก นโยบายค่าโดยสารฟรีโดยไม่กระทบต่อสถานะการเงินนั้นยากกว่า สเตฟานี ล็อตชอว์ (Stephanie Lotshaw) ผู้อำนวยการของ TransitCenter ซึ่งเป็นมูลนิธิในนครนิวยอร์กที่ทำงานด้านกลยุทธ์และการจัดหาเงินทุนสำหรับบริการการขนส่ง กล่าว

"ในริชมอนด์ พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางอย่างมาก และเป็นหน่วยงานขนาดเล็ก แต่สำหรับองค์กรที่ใหญ่กว่านั้น นับว่าเป็นไปได้ยาก" ล็อตชอว์ กล่าว "ตัวอย่างเช่น ระบบขนส่งมวลชนเบย์แอเรีย (BART) ของซานฟรานซิสโก ได้รับเงิน 71% จากค่าโดยสาร ที่จอดรถ และโฆษณา ก่อนเกิดโรคระบาด ตัวเลขนั้นลดลงเหลือประมาณ 50% ในขณะนี้"

และเมืองใหญ่บางแห่งที่ยกเลิกค่าโดยสาร ยังคงไม่สามารถฟื้นจำนวนผู้โดยสารก่อนเกิดโรคระบาดได้ ในรัฐนิวเม็กซิโก เมืองลาสครูเซสและอัลบูเคอร์คีต่างมีบริการรถโดยสารฟรี แต่มีเพียงลาสครูเซสเท่านั้นที่ฟื้นจำนวนผู้โดยสารได้เต็มที่ ส่วนอัลบูเคอร์คียังคงอยู่ที่ประมาณ 75% เลสลี่ คีเนอร์ (Leslie Keener) ผู้อำนวยการฝ่ายขนส่งของอัลบูเคอร์คีกล่าว

สาเหตุประการหนึ่งคือการขาดแคลนพนักงานขับรถและพนักงานอื่นๆ: อัลบูเคอร์คีมีชั่วโมงให้บริการเพียงประมาณ 62% เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยมีอัตราว่างงานโดยรวม 34% และเกือบ 50% สำหรับช่างซ่อมบำรุง

"เรากำลังประสบปัญหาเรื่องตำแหน่งงานว่างซึ่งพุ่งสูงในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นการกลับมาจ้างงานบ้างแล้ว แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องดำเนินการ" คีเนอร์ กล่าว

ริชมอนด์แก้ปัญหาการขาดแคลนพนักงานขับรถโดยการขึ้นค่าจ้าง 43% เป็น 24.91 ดอลลาร์ฯ ต่อชั่วโมงเมื่อปี 2023 และยกเลิกข้อกำหนดสำหรับว่าต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะ โดยแทนที่ด้วยการขอเพียงประวัติการขับขี่ที่สะอาดและรับเข้าการฝึกอบรมก็พอ

"เราตั้งเป้าหมายอันทะเยอทะยานที่จะนำพนักงานขับรถ 300 คน กลับมาภายในหนึ่งปีครึ่ง และเราบรรลุเป้าหมายนั้นภายในเวลาครึ่งหนึ่ง" เบนดอน กล่าว

การขาดแคลนพนักงานเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาจำนวนผู้โดยสารกับหน่วยงานขนส่งมวลชนส่วนใหญ่ ควบคู่ไปกับการเดินทางไปทำงานที่ลดลง เนื่องจากการทำงานจากที่บ้านกลายเป็นผลสืบเนื่องถาวรจากโควิด-19 แทรซีย์ แฮดเดน โลห์ (Tracy Hadden Loh) นักวิจัยจากสถาบันบรูคิงส์และผู้เขียนรายงานการขนส่งฉบับล่าสุดของสถาบันกล่าว

"บางแห่งยกเลิกเที่ยววิ่งมากกว่าที่อื่น ๆ เนื่องจากขาดแคลนพนักงาน ผู้คนไม่สามารถใช้สิ่งที่พวกเขาไม่สามารถพึ่งพาได้" โลห์ กล่าว "ไม่ต้องสงสัยเลยว่าค่าโดยสารฟรีช่วยกระตุ้นจำนวนผู้โดยสาร แค่ดูที่ริชมอนด์ก็พอ"

"ดังนั้น เราควรจะยึดติดกับความฝันที่ว่าระบบขนส่งสาธารณะควรหาเงินเลี้ยงตนเองได้อย่างไร" เธอ กล่าว "หรือเราควรคิดวิธีหาเงินอุดหนุนเพื่อให้ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะได้ใช้มันฟรี ๆ "

 

ที่มา:
No fare! Free bus rides raise questions of fairness, viability. (Tim Henderson, Stateline, 21 February 2024)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net