Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาทุจริตฯ ภาค5 นัดสอบคำให้การ 2 ครูฝึก ค่ายเม็งราย จังหวัดเชียงราย 5 มี.ค.นี้ ข้อหาร่วมกระทำโหดร้ายฯ กรณีพลทหารกิตติธรเสียชีวิตระหว่างฝึกทหารเกณฑ์พลัด 1/66

4 มี.ค.2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งว่า 5 มี.ค.นี้ เวลา 9.30 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่  นัดสอบคำให้การครั้งที่สอง สองครูฝึกยศร้อยโทและจ่าสิบโท ผู้รับผิดชอบการฝึกพลทหารกิตติธร ในข้อหาร่วมกระทำการโหดร้ายฯ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เป็นคดีหมายเลขดำที่ ปท. 1/2566 กรณีพลทหารกิตติธร เวียงบรรพตเสียชีวิต หลังเข้ารับการเกณฑ์ทหารใหม่ พลัดที่ 1/66 ค่ายเม็งราย จังหวัดเชียงราย เมื่อปีที่แล้วระหว่างการฝึกทหาร ด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

คดีสืบเนื่องจากเหตุการณ์ พลทหารกิตติธร เวียงบรรพต ทหารเกณฑ์พลัดที่ 1/66 ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย เข้ารับการเกณฑ์ทหารตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2566 จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 ภริยาได้เดินทางไปรับพลทหารกิตติธรและพบว่ามีอาการอิดโรย ตัวซีด ไข้ขึ้น มีอาการร้อนและหนาวสลับกัน ซึ่งจากการสอบถามของญาติแจ้งว่าพลทหารกิตติธร มีอาการป่วยมาหลายวันและพยายามขอให้ทางค่ายส่งมารักษาที่โรงพยาบาล แต่ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ภริยาของพลทหารกิตติธรเห็นอาการของพลทหารกิตติธรหนักมาก จึงยืนกรานขอให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราชในระหว่างวันที่ 14-15 ก.ค. 2566 และ ก่อนที่พลทหารกิตติธรเสียชีวิตในวันที่ 16 ก.ค. 2566 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ด้วยภาวะคือติดเชื้อในกระแสเลือด

พ่อและภริยาพลทหารกิตติธร มีข้อกังวลและข้อสงสัยต่อสาเหตุการเสียชีวิตของพลทหารกิตติธรเป็นอย่างมาก จึงได้เข้าร้องเรียนต่อพนักงานอัยการ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566  อีกทั้งได้ส่งร่างของพลทหารกิตติธรไปผ่าชันสูตรศพเพื่อค้นหาสาเหตุการเสียชีวิตที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ต่อมาอัยการจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้องสองครูฝึกต่อศาลอาญาทุจริตภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา

ภริยาพลทหารกิตติธรกล่าวให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา นัดสอบคำให้การครั้งแรก ว่า ตนยังรู้สึกว่าสามี พลทหารกิตติธร ยังอยู่กับเรา และแม้ว่ากระบวนการในชั้นศาลจะใช้เวลามากและทนทุกข์ทรมานทุกครั้งที่มาศาล แต่เราก็อยากได้การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ไม่ใช่แค่ค่าชดเชยเยียวยาเราอยากได้ความเป็นธรรม และให้ทหารใหม่ทุกคนต่อจากนี้ปลอดภัยและไม่เกิดเหตุเช่นนี้อีกกับครอบครัวทหารใหม่ทุกครอบครัว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า นับแต่พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีผลบังคับใช้เมื่อกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา คดีนี้อาจถือเป็นคดีแรกและยังคงเป็นคดีเดียวในขณะนี้ที่อัยการสั่งฟ้องด้วยข้อหาอาญาตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ คดีนี้จึงเป็นคดีสำคัญยิ่งที่จะสร้างบรรทัดฐานและมาตรการป้องกันในการฝึกทหาร ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นกรณีดังกล่าวกับทหารใหม่คนใดอีก มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมกันติดตามคดีนี้ เพื่อติดตามต่อไปว่า กรณีการเสียชีวิตของพลทหารกิตติธรนั้น เกิดจากการฝึกทหาร การลงโทษโดยครูฝึก และการปล่อยปละละเลยของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือทำให้ถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ ตามความผิดในมาตรา 6 ของพ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย หรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net