Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากที่กองทัพเมียนมาเพลี่ยงพล้ำต่อกองกำลังชาติพันธุ์และกองกำลังพิทักษ์ประชาชนทำให้กองทัพเมียนมาอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดและแม้ว่ากองทัพจะยังคงพยายามจะรักษาอำนาจไว้ แต่จากสถานการณ์ที่กองทัพเมียนมาเป็นฝ่ายสูญเสียมากขึ้นในการรบแต่ละครั้ง เราก็อาจจะได้เห็นความความก้าวร้าวและโหดเหี้ยมของกองทัพเมียนมามากยิ่งขึ้น

ธันวาคม 2566 - รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศการเก็บภาษีเงินได้คนเมียนมาที่อาศัยอยู่นอกประเทศในอัตรา 2% ของรายได้ต่อเดือนให้กับทางการเมียนมา โดยกำหนดให้แนบเป็นหลักฐานในการต่ออายุหนังสือเดินทาง และยังกำหนดให้แรงงานเมียนมาที่ออกไปทำงานในต่างประเทศผ่านบริษัทนายหน้าต้องเปิดบัญชีกับธนาคารเมียนมาแล้วต้องโอนเงินกลับบ้านผ่านบัญชีดังกล่าวในอัตรา 25% หากไม่บัญชีดังกล่าวไม่มีการเคลื่อนไหวภายในสามเดือนก็ถูกขึ้นบัญชีห้ามเดินทางออกไปนอกประเทศในอนาคต ขณะนี้มีคนเมียนมาที่อยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยประมาณ 4 ล้านคน เป็นแรงงานเมียนมาที่ได้รับอนุญาติทำงานในประเทศไทยจำนวน 2.3 ล้านคน ส่วนมากเป็นแรงงานไม่มีทักษะซึ่งเป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมภาคการผลิตและการบริการของไทย แรงงานเมียนมาจำนวนมากมีรายได้ขั้นต่ำและไม่พร้อมที่จะทำตามนโยบายใหม่นี้เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงค์ชีวิตอยู่แล้วและก็ไม่ต้องการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมานำเงินที่พวกเขาทำงานหามาด้วยความยากลำบากไปใช้สู้รบ ในเมื่อมันยากอยู่แล้วที่จะรักษาตัวเองอยู่ในระบบการจัดการแรงงานของไทยเนื่องจากความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายที่สูง มาตรการของรัฐบาลเมียนมาที่ประกาศออกมากำลังจะทำให้แรงงาน เมียนมาในประเทศไทยตัดสินใจ หรือถูกผลักให้ออกจากระบบการจัดการของไทยเป็นจำนวนมากจากการไม่สามารถต่ออายุหนังสือเดินทาง และจะทำให้ไทยมีจำนวนแรงงานเมียนมาในประเทศที่อยู่นอกระบบการจัดการของรัฐบาลไทยเพิ่มมากเป็นขึ้นและยากที่จะจัดการในอนาคตต่อไป

กุมภาพันธ์ 2567 – รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศใช้กฎหมายบังคับการเกณฑ์ทหารโดยจะบังคับให้ประชาชนชาวเมียนมาที่ยังอยู่ในวัยทำงาน ทั้งผู้ชายอายุ 18-35 ปีและผู้หญิงอายุ 18-27 ปี จำนวน 5,000 คนต่อเดือนและมีโทษจำคุก 3-5 ปีหากหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ทั้งนี้มีคนเมียนมาจำนวน 14 ล้านที่มีสิทธิถูกเกณฑ์ทหาร ต่อมาได้มีการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารกับผู้หญิง โดยกองทัพเมียนมาได้เริ่มการจดชื่อและจับหนุ่มสาวเหล่านี้ไปเป็นทหารและเริ่มรีดไถเงินจำนวนมากหากใครต้องการหลีกเลี่ยงการเป็นทหาร คำถามคือหนุ่มสาวเหล่านี้มีศักยภาพในการสู้รบกับกองกำลังชาติพันธุ์และกองกำลังพิทักษ์ประชาชนหรือไม่? แล้วทำไมกองทัพเมียนมาจึงต้องการพวกเขา? นี่เป็นยุทธวิธีการรบที่ไร้จิตสำนึกของกองทัพเมียนมาตั้งแต่อดีตที่มักจะเกณฑ์ชาวบ้านไปแบกหามอยู่แนวหน้า เสี่ยงต่อการถูกกับระเบิดและถูกฆ่าตาย หนุ่มสาวเหล่านี้จึงกลายเป็นโล่มนุษย์ชั้นดีให้กับกองทัพเมียนมา และทำให้กองกำลังชาติพันธุ์และกองกำลังพิทักษ์ประชาชนลังเลที่จะทำร้ายประชาชนพวกเดียวกันเอง และจะทำให้หนุ่มสาวชาวเมียนมาจำนวนมากตัดสินใจหนีการบังคับเกณฑ์ทหารในครั้งนี้เพราะรู้อยู่แล้วว่าหากถูกเกณฑ์เข้าไปเป็นทหารจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ทางรอดของพวกเขาคือหนีออกนอกประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาถึง 2,200 กิโลเมตร และมีแรงงานเมียนมาอยู่ในไทยแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เป้าหมายของพวกเขาคือประเทศไทย เห็นได้จากจำนวนชาวเมียนมาที่ต่อคิวขอวีซ่าที่หน้าสถานทูตไทยในเมียนมา ในขณะที่รัฐบาลเมียนมาเริ่มยุติการออกเอกสารเดินทางให้กับประชาชนและไทยประกาศออกวีซ่าเดินทางให้เหลือวันละ 400 คน ทำให้คนเมียนมาไม่มีทางเลือกที่จะเดินทางมาอย่างถูกต้องและเหลือทางเลือกที่จะเดินทางมายังประเทศไทยผ่านช่องทางไม่ถูกต้องแทน

เป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีคนอย่างน้อย 10% ของคนที่มีสิทธิถูกบังคับเกณฑ์ทหาร หรือ 1.4 ล้านคนจะเริ่มอพยพหลบหนีออกจากประเทศเมียนมา นี่ยังไม่รวมกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยแล้วกว่า 100,000 คน และ ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมากว่า 500,000 คนที่อาศัยอยู่ติดกับชายแดนไทยและพร้อมจะข้ามมายังฝั่งไทยหากสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาทวีความรุนแรงขึ้น

คงเดาไม่ยากว่าสิ่งที่ไทยอาจจะต้องเผชิญจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา นโยบายเก็บภาษีแรงงานข้ามชาติและการบังคับเกณฑ์ทหารของรัฐบาลทหารเมียนมาในเวลาไม่นาน คือคลื่นผู้อพยพลี้ภัยชาวเมียนมาที่จะเดินทางเข้าไทยอย่างไม่ถูกต้อง ขณะที่แรงงานชาวเมียนมาจำนวนมากที่กำลังจะหลุดออกจากระบบการจัดการของไทย ประเมินอย่างไม่เป็นทางการจะมีคนเมียนมาที่ไม่มีสถานะอยู่อาศัยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านคนในปีนี้ สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่คือรูปแบบการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานแบบผสมผสานคือทั้งแบบปกติและไม่ปกติ รวมถึงเดินทางด้วยหลายเหตุผล หลายข้อเท็จจริงโดยมีแนวโน้มที่จะเป็นการอพยพแบบไม่ปกติมากขึ้น 

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินได้ขอให้ชาวเมียนมาเดินทางมาอย่างถูกต้องและหากลักลอบเข้ามาต้องดำเนินการเอาผิดทางกฎหมาย ทำให้เห็นว่ารัฐบาลไทยกำลังประเมินสถานการณ์ผิดไปและเลือกที่จะไม่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือชาวเมียนมาเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ การบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถหยุดยั้งเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้เนื่องจากสถานการณ์ได้ผ่านจุดที่สามารถควบคุมได้แล้ว

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์การอพยพลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยอย่างไม่ถูกต้องนับจากนี้คือการเป็นการเติบโตขึ้นของของธุรกิจสีเทาและธุรกิจมืดตามแนวชายแดน ทั้งขบวนการนำพาคนเข้าเมือง ซึ่งเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ การแสวงหาประโยชน์อื่น การบังคับเรียกค่าไถ่ การบังคับใช้แรงงาน การลักลอบนำเข้าสินค้าเถื่อน ยาเสพติด และการทุจริตของเจ้าหน้าที่ สถานการณ์สิทธิของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยในประเทศไทยจะตกต่ำลงและอาจจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาและข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่ไทยกำลังดำเนินการอยู่ ไทยอาจถูกลงโทษจากกลุ่มผู้ซื้อสินค้าในต่างประเทศโดยการลดและยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ ความไม่สงบในประเทศเมียนมาจะสร้างผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมหาศาลจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของไทยในเวลาอันสั้นนี้หากประเทศไทยยังคงนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ความไม่สงบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเมียนมา 

0000
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net