Skip to main content
sharethis

คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 ร้อง 'ก้าวไกล' ทวงความยุติธรรมให้ประชาชนผู้สูญเสียในเหตุการณ์การสลายการชุมนุม 'ชัยธวัช' ยืนยันพร้อมแสวงหาช่องทางให้เกิดคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง คืนความยุติธรรมให้ประชาชนจากเหตุสลายชุมนุมปี 53

1 มี.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย อภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรคก้าวไกล รับหนังสือจาก เหวง โตจิราการ และคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) เพื่อร่วมเจรจาปรึกษาหารือให้มีการปฏิบัติได้จริงตามข้อเรียกร้องและคำมั่นสัญญาก่อนการเลือกตั้ง ในการทวงถามความยุติธรรมให้ประชาชนผู้สูญเสียในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

ชัยธวัชกล่าวว่า ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านและในฐานะคนที่ร่วมทำงานเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 แม้วันนี้เราเป็นฝ่ายค้านแต่ก็พยายามทำเต็มที่ ที่ผ่านมาได้ประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอยู่เป็นระยะเพื่อขอติดตามความคืบหน้าของคดีความทั้งหมดที่ค้างอยู่ในสารบบ ผลักดันให้คดีความเหล่านี้มีความคืบหน้า

ไม่ว่าจะเป็นคดีความที่ศาลมีการไต่สวนการตายในชั้นสอบสวนไปแล้ว แต่ยังไม่มีการสั่งฟ้องขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาลยุติธรรม หรือคดีความที่มีการยื่นฟ้องไปแล้วแต่ก็ถูกตีตกด้วยสาเหตุหลายอย่าง ในแง่เทคนิคทางกฎหมาย รวมถึงอย่างน้อยอีก 62 ศพที่ยังไม่มีการไต่สวนการตายจนถึงวันนี้ 

นอกจากนี้ ตนรับข้อเสนอจาก นพ.เหวง ในการผลักดันให้เกิดคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งถ้าจะให้มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการชุดนี้ต้องมีอำนาจทางกฎหมายพอสมควร โดยปัจจุบันตนอยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรม ที่ไม่ได้พูดคุยเฉพาะเรื่องการนิรโทษกรรมอย่างเดียว แต่พูดถึงการค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เรื่องใหญ่ที่สุดคือการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันสามารถผลักดันเรื่องนี้ผ่าน กมธ. ของสภาฯ ชุดอื่นๆ ได้ แม้ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดในการเรียกหลักฐานและบุคคล

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ขณะนี้พรรคก้าวไกลได้พิจารณาการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การทบทวนแก้ไขกฎหมายความมั่นคงที่ผ่านมา ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยไม่ต้องรับผิด รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอำนวยความยุติธรรมให้คดีสลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมาก ปรากฏว่าเรามีบทเรียนว่ามีการส่งฟ้องศาลแล้ว แต่ด้วยกฎหมายเกี่ยวกับศาลทหารทำให้ศาลยุติธรรมโอนคดีไปยังศาลทหาร สุดท้ายศาลทหารก็ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมจนเสียชีวิต

โดยตอนนี้ใน กมธ.การทหาร ได้ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับศาลทหารอยู่ เชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศาลทหารร่วมแก้ไขสาระสำคัญ นอกจากเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ทหารระดับล่างแล้ว ต้องทำให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในข้อหาทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผิดในยามสงคราม ต้องขึ้นศาลยุติธรรมเหมือนประชาชนทั่วไป เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด เป็นไปอย่างเท่าเทียมและได้มาตรฐานเดียวกัน

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา เหวง พร้อมคณะเดินทางยื่นหนังสือถึงพรรคเพื่อไทยเพื่อทวงคืนสัญญารื้อฟื้นคดีที่ถูกแช่แข็งตั้งแต่ปี 2553 โดยมี ชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้รับหนังสือด้วย โดยครั้งนั้น เหวง ระบุว่า ตนเคยยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อ ตั้งแต่ ก.พ.66 แต่สำหรับข้อเรียกร้องเร่งด่วน ได้แก่ 1.ขอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐหรือพลเรือน หรือประชาชน หรือครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อติดตามทวงถามเรื่องเกี่ยวกับการเสียชีวิตเมื่อเมษายน 2553 ว่าจะต้องดำเนินการให้ครบทุกศพ เพราะตอนนี้ขาดอีก 62 ศพ 2.แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคที่จะนำเอาคนฆ่าและคนสั่งฆ่ามารับผิดทางกฎหมาย นำทหารที่ทำผิดอาญาต่อพลเรือนมาขึ้นศาลพลเรือน รวมถึงนักการเมืองที่ทำผิดอาญาต่อพลเรือนด้วย และ 3.ต้องการให้รับรองแก่อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีเมษายน 2553 เกี่ยวข้องเฉพาะศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ย้ำว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net