Skip to main content
sharethis

'เซีย' นำทีม สส. ก้าวไกล แถลงค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับกระทรวงแรงงาน ชี้ตั้งใจซ่อนเนื้อร้าย ล้มเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หวัง ครม. ปกป้องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน กติกาเดินหน้ามาไกล อย่าดึงถอยหลัง

 

21 ก.พ. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (21 ก.พ.) ที่รัฐสภา เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นำทีม สส.ก้าวไกล แถลงข่าวคัดค้านกรณีกระทรวงแรงงานเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ยกเลิกความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาตรา 8 วรรค 3 ที่กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน มาจากการเลือกตั้ง โดยคาดว่าจะบรรจุในวาระ ครม. เพื่อพิจารณาเร็วๆ นี้

เซียกล่าวว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่นี้ เป็นการ “ซ่อนเนื้อร้าย” ทำลายกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เนื่องจากมีการแก้ไขจากฉบับเดิมหลายมาตรา รวมถึงแก้ไขที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตนและนายจ้าง หรือ บอร์ดประกันสังคม ตนในฐานะผู้แทนสัดส่วนผู้ใช้แรงงานและพรรคก้าวไกล ขอคัดค้านและแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่มีการแก้ไขที่มาของบอร์ดประกันสังคม จากเดิมมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตนโดยตรง 1 ผู้ประกันตน 1 สิทธิ เปลี่ยนเป็น “หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด  โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” 

ในอดีตการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม มาจากการเลือกตั้งของผู้แทนสหภาพแรงงาน 1 สหภาพแรงงานมี  1 เสียง  ไม่ว่าสหภาพแรงงานจะมีสมาชิก 5,000 คน หรือมีสมาชิก 50 คน ก็มี 1 เสียงเท่ากัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกระบวนการการมีส่วนร่วมของพี่น้องแรงงาน เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพเพียง 1,400 แห่งเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก  และผู้ประกันตนที่อยู่ในสถานประกอบการเหล่านั้น ไม่ได้มีสิทธิมีเสียงใด ทั้งที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุก ๆ เดือน 

ทำให้ที่ผ่านมาแรงงานจำนวนมากพยายามเสนอให้มีการเลือกตั้งโดยตรงจากผู้ประกันตน คือ 1 ผู้ประกันตน 1 สิทธิ จนเมื่อมีการทำรัฐประหารปี 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 40/2558 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมแทนชุดเดิมที่มาจากการเลือกตั้งโดยผู้แทนสหภาพแรงงาน 

เซียกล่าวต่อว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมร่วมกับพี่น้องแรงงาน และเมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็น สส. ก็ได้ภิปรายติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ว่าสำนักงานประกันสังคมจะจัดให้มีการเลือกตั้งโดยตรงแบบ 1 ผู้ประกันตน 1 สิทธิ หลังจากชี้แจงในวันดังกล่าวข่าวเรื่องการเลือกตั้งก็หายไปอีก สำนักงานประกันสังคมไม่เคยสื่อสารเรื่องความคืบหน้าใดๆ ให้ผู้ประกันตนรับทราบ

เซียไล่เรียงลำดับเหตุการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมว่า สำนักงานประกันสังคมเริ่มประชาสัมพันธ์เรื่องการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในต้นเดือนตุลาคม 2566 โดยให้เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12–31 ต.ค. 2566  ซึ่งผู้ประกันตนทราบเรื่องการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมน้อยมาก ทำให้สำนักงานประกันสังคมต้องขยายระยะเวลาการลงทะเบียนถึงวันที่ 10 พ.ย. 2566 และสุดท้ายมีการจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24  ธันวาคม  2566  และหลังการเลือกตั้งสำนักงานประกันสังคมได้ประกาศผลการอย่างไม่เป็นทางการ ข่าวคราวเกี่ยวกับผู้ชนะเลือกตั้งก็เงียบหายไปอีก จนมีหนังสือรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ผลกลับปรากฏว่าผู้ที่ได้คะแนนอันดับที่ 7 ไม่ใช่คนเดิมเหมือนที่ประกาศหลังเลือกตั้ง  จึงมีคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับผลการเลือกตั้ง 

พร้อมกันนี้ เซีย ได้ตั้งคำถามต่อเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนอ้างเหตุผลว่าใช้งบประมาณ  เกือบ 100  ล้านบาท แต่คนมาใช้สิทธิไม่ถึงล้านคนจากผู้ประกันตน  24  ล้านคน ว่าสำนักงานประกันสังคมและกระทรวงแรงงานได้สรุปบทเรียนการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ว่าเกิดจากอะไร  การประชาสัมพันธ์น้อยไปหรือไม่  การลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์มีปัญหาจริงไหม รวมถึงหน่วยเลือกตั้งที่ไม่อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตน ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถไปใช้สิทธิได้  ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เป็นอย่างไรควรนำไปปรับปรุงแก้ไขให้การเลือกตั้งครั้งหน้าดีขึ้นกว่าเดิม  แต่กลับมาแก้ไขกฎหมายถอยหลังลงคลองเพื่อยกเลิกการเลือกตั้ง  

“หรือที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ไม่เคยคิดอยากให้มีการเลือกตั้งในรูปแบบ  1 สิทธิ  1  เสียง และมีใครได้ประโยชน์อะไรจากระบบแต่งตั้งหรือไม่ วันนี้เมื่อกฎกติกาเดินหน้ามาไกลแล้ว ไม่ควรที่จะดึงถอยหลังไปอีกเหมือนเดิม” เซียกล่าว

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ย้ำว่า วันนี้ตนและพรรคก้าวไกลขอคัดค้านในประเด็นดังกล่าว และหวังว่า ครม. จะร่วมคัดค้าน เพื่อปกป้องกระบวนการการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ไม่ใช่มัวหวาดระแวงต่อผลการเลือกตั้ง ถ้าเป็นเช่นนั้น จะไม่ต่างจากรัฐบาลเผด็จการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net