Skip to main content
sharethis
  • พวงทองชี้ว่า แรงต้านที่เกิดกับตะวันและแฟรงค์จากกรณีขบวนเสด็จครั้งนี้เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งจากเป็นการแสดงออกในโลกออฟไลน์ ความไม่พอใจวิธีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่มีอยู่แต่เดิม และยังถูกใช้เป็นข้อกล่าวหาทางการเมืองด้วย
  • กรณีขบวนเสด็จจึงกลายเป็น "กระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว" ในการใช้โจมตีทางการเมืองต่อกลุ่มของตะวันและยังถูกใช้กล่าวหาพรรคก้าวไกลว่าเป็นผู้สนับสนุน ไปจนถึงการขัดขวางการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง
  • อย่างไรก็ตาม กระแส "เสื้อม่วง" จากกลุ่มคนรักสถาบันกษัตริย์ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ พวงทองมองว่ากระแสอาจไม่ขยายวงกว้างไปกว่านี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกับกรณีขบวนเสด็จอีกหรือไม่และเกิดกับสมาชิกในราชวงศ์คนใด 
  • พวงทองได้เตือนถึงการใช้วาทกรรม "คนที่อยู่เบื้องหลัง" ในการกล่าวหาใคร และการนิยามใครว่าเป็นพวก "สุดโต่ง" เพราะเป็นเหมือนเป็นการให้ใบอนุญาตในการปราบปรามจับกุมคนที่คิดต่าง 

หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแฟรงค์ ขับรถไปเจอขบวนเสด็จบนทางด่วนจนเกิดภาพที่พวกเธอมีปากเสียงกับตำรวจที่ปิดเส้นทางอยู่และเกิดการบีบแตรรถ ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.พ. แต่ก็ยังใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดกันเป็นวงกว้างจนเกิดทั้งกระแสต่อต้านไปจนถึงปรากฏการณ์เสื้อม่วงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และสุดท้ายกระแสรณรงค์ของกลุ่มคนรักสถาบันฯ เหล่านี้ก็เหมือนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาต่อรัฐในการดำเนินคดีกับทั้งสองคนด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นและไม่ได้รับการประกันตัวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์การวิจารณ์ “ขบวนเสด็จ” ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมานานแล้วและยังเคยกลายเป็นแฮชแท็กในทวิตเตอร์ในช่วงปลายปี 2562-2563 จนอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องจุดชนวนกระแสวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่ต่อเนื่องกันมาในช่วงหลายปีนี้

แต่เหตุใดกระแสที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์จึงกลายเป็นกระแสตีกลับที่ไม่จบเพียงแค่ทานตะวันและแฟรงค์ถูกวิจารณ์จากแทบทุกฝ่ายแต่ยังไปถึงขั้นที่ทั้งสองคนถูกดำเนินคดีด้วยคดีความมั่นคง และยังกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมได้ออกมาแสดงความจงรักภักดีด้วยการสวมเสื้อม่วงกันได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอีกด้วย

ประชาไทชวน พวงทอง ภวัครพันธ์ุ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุยถึงทิศทางปรากฏการณ์ของเรื่องขบวนเสด็จและปรากฏการณ์เสื้อม่วงที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่อาจทำให้ใครหลายคนมองเปรียบเทียบย้อนไกลไปถึงสถานการณ์ในยุค 6 ตุลาฯ

พวงทอง ภวัครพันธ์ุ ภาพถ่ายโดย ชนากานต์ เหล่าสารคาม

สาเหตุที่กรณีขบวนเสด็จถูกตอบโต้อย่างรุนแรงและปรากฏการณ์เสื้อม่วง

พวงทองมองว่าก่อนหน้านี้ขบวนการของฝ่ายกษัตริย์นิยมไม่ได้หายไปไหนแต่มีการแสดงออกทั้งการออกมาวิจารณ์และต่อต้านฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปสถาบันฯ มาตั้งแต่ปี 63 ไปจนถึงมีออกมาทำร้ายคนที่เห็นต่างหรือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์หลายครั้ง แต่กระแสที่ออกมาตอบโต้ครั้งนี้เกิดจากสถานการณ์หลายอย่างที่มาประจวบเหมาะกันพอดี

ปัจจัยแรก เธอเห็นว่ากรณีตะวันกับขบวนเสด็จครั้งนี้แตกต่างกับการวิจารณ์เรื่องขบวนเสด็จในช่วงปี 62-63 เนื่องจากครั้งนั้นยังเป็นเพียงเสียงบ่นกันในอินเตอร์เนตหรือทวิตเตอร์ไม่ได้เกิดการกระทำให้เห็นทำให้ไม่ถูกมองว่าเป็นการคุกคาม อีกทั้งไม่เห็นตัวตนของคนที่บ่นในทวิตเตอร์ แต่ครั้งนี้เห็นตัวผู้กระทำการชัดเจน

ปัจจัยต่อมา คือความไม่พอใจต่อวิธีการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวัง ที่ไม่ใช่แค่ตะวันที่ตกเป็นเป้าของความเกลียดชังจากฝ่ายขวาเท่านั้น แต่ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่พอใจกับวิธีการของกลุ่มทะลุวังที่พวกเขามองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง

“เพราะฉะนั้นเมื่อมีการปั่นมีการบิดเบือนสิ่งที่ตะวันทำคนก็รับทันที เป้าก็มาที่ตะวันและกลุ่มทะลุวังแล้วก็โยงไปถึงพรรคก้าวไกลด้วย เป็นโอกาสที่จะโจมตีพรรคก้าวไกลว่าอยู่เบื้องหลังขบวนการ ซึ่งการโจมตีแบบนี้มาตั้งนานแล้ว เหตุการณ์นี้ก็ไปย้ำอีกทีหนึ่ง”

พวงทองอธิบายเพิ่มด้วยว่ากลุ่มทะลุวังเองก็เป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายน้อยที่สุดในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองรวมถึงจากผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลเองด้วย แต่สำหรับฝ่ายเสื้อแดงและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเองก็รู้สึกอึดอัดกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพราะรู้อยู่แล้วว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ทำเรื่องนี้ ทำให้กลุ่มสนับสนุนพรรคเพื่อไทยตั้งป้อมเมื่อพรรคถูกวิจารณ์เรื่องนี้

ทั้งนี้เธอเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความคิดเห็นต่างกันในเชิงวิธีการที่กลุ่มใช้ในการรณรงค์ประเด็นสถาบันกษัตริย์ แต่คนจากทุกสีก็มองกลุ่มทะลุวังว่าเป็นพวกสุดโต่งและไม่ประนีประนอม ทำให้ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกกระแสตีกลับได้ง่าย

“แม้กระทั่งคนที่ออกมาปกป้องกลุ่มทะลุวัง เขาก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการแต่เขาก็คิดว่าวิธีนี้ไม่ได้ทำร้ายใครโดยตรงแล้วในฐานะพลเมืองก็มีสิทธิแสดงออก แต่เขาก็เห็นอยู่ว่าเป็นวิธีที่สุ่มเสี่ยงที่กระแสจะตีกลับมากๆ รวมถึงเสี่ยงต่อการทำให้สมาชิกของกลุ่มจะตกอยู่ในอันตราย”

อีกทั้งเธอเห็นว่าเหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับเรื่องการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองที่จะให้รวมคดีมาตรา 112 เข้ามาด้วยแล้วพรรคก้าวไกลก็เป็นพรรคเดียวที่ให้การสนับสนุนประเด็นนี้ เรื่องขบวนเสด็จนี้จึงกลายเป็นการ “ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว” สำหรับฝ่ายขวาที่รอจังหวะกระแสสังคมที่จะเป็นแต้มต่อให้พวกเขาอยู่แล้วได้เอามาใช้ขัดขวางเรื่องการนิรโทษกรรมและยังใช้จัดการกับกลุ่มของตะวันและพรรคก้าวไกลไปพร้อมกันด้วย

พวงทองยังกล่าวถึงท่าที่ของพรรคก้าวไกลด้วยว่าทางพรรคเองก็ดูมีความกังวลเรื่องที่ สส.ในพรรคเคยไปยืนหยุดขังหรือไปเป็นนายประกันให้กับนักกิจกรรมก็จะถูกมองว่าไปสนับสนุนกลุ่มสุดโต่งไปด้วย

ดังนั้นพวงทองจึงยังมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ฝ่ายขวายังไม่ได้สร้างกระแสตีกลับขึ้นมาได้อย่างมีนัยยะสำคัญ และฝ่ายที่เคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูปสถาบันด้วยกันเองเมื่อไม่เห็นด้วยกับวิธีการของกลุ่มทะลุวังก็ไม่อยากออกมาปกป้องต่างจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นๆ เช่น ธรรมศาสตร์และการชุมนุม

นอกจากนั้น เมื่อเกิดกระแสตอบโต้จากฝ่ายขวาแรงขึ้นตามความโกรธจากการถูกปั่นและบิดเบือนข้อเท็จจริงก็เป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายขวามีข้อเรียกร้องที่แรงมากขึ้นตามไปด้วย และเมื่อเหตุการณ์ขบวนเสด็จถูกเอาพูดถึงในสภาก็กลายเป็นเรื่องที่ทำให้กระแสเรื่องนี้ดูใหญ่โตมากขึ้น ยิ่งนักการเมืองฝั่งรัฐบาลนำเรื่องนี้มาพูดด้วยท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออีกฝ่ายอย่างมากทำให้กระแสยิ่งดูรุนแรง ทั้งที่ถ้าเป็นการพูดคุยกันในหมู่ประชาชนมันไม่แรงเพราะไม่ส่งผลอะไรในทางปฏิบัตินัก

ทั้งนี้ พวงทองเห็นว่าพื้นที่ในการพูดถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์ขยายเพิ่มมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการเป็นนโยบายของพรรคการเมืองช่วงรณรงค์หาเสียง ในสื่อกระแสหลัก มาจนถึงพื้นที่ในรัฐสภา ทำให้การตอบโต้จากฝ่ายขวารุนแรงขึ้นตามไปด้วย

“เมื่อเราใช้พื้นที่พวกเขาเคยผูกขาด เขาก็ใช้พื้นที่นี้แหละมาตอบโต้ด้วยท่าทีที่ไม่ประนีประนอม หลายปีที่ผ่านมาเขาไม่ประนีประนอมแล้วก็ยังพยายามที่จะกอดอุดมการณ์กษัตริย์นิยมไว้แน่นมากเพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง จะสร้างได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งเพราะสำหรับพวกเขาการบอกว่าตัวเองปกป้องสถาบันกษัตริย์มันคือการดำรงอยู่ของพวกเขา”

กระแสเสื้อม่วงจะขยายไปได้แค่ไหน?

เมื่อถามว่าภาพการรณรงค์สวมเสื้อม่วงในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังคงเกิดขึ้นในหน่วยงานราชการหรือในกลุ่มที่แสดงออกชัดเจนว่าเป็นกลุ่มคนรักสถาบันเป็นส่วนใหญ่แต่กระแสจะขยายออกไปเป็นวงกว้างกว่านี้หรือไม่

พวงทองมองว่า แม้การกระทำของกลุ่มตะวันจะทำให้ฝ่ายขวาออกมาต่อต้านมากและเป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี แต่กระแสนี้จะไม่ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านจำนวนมวลชนของฝ่ายขวาลดลงและเห็นได้จากมุมมองของคนที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ก็เป็นเรื่องที่ใช้แบ่งช่วงวัยของคนได้ง่าย อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับว่าประเด็นที่เกิดขึ้นด้วยว่าเกิดกับสมาชิกราชวงศ์ที่ได้รับความนิยมหรือเป็นที่รักใคร่ของมวลชนฝ่ายกษัตร์นิยมด้วยหรือไม่ เช่นในกรณีเกิดขึ้นล่าสุดนี้แต่ก็ยังเห็นว่าคนที่ออกมาก็ยังไม่ได้เยอะมาก

อย่างไรก็ตาม เธอเห็นว่าถ้ามีการปลุกระดมฝ่ายขวาขึ้นมาจากเหตุการณ์ที่ทำให้พวกเขามองว่าเป็นการคุกคามไปที่ตัวบุคคลอีกเรื่อยๆ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าปรากฏการณ์นี้จะขยายวงไปได้แค่ไหน เพราะตอนนี้ฐานมวลชนส่วนมากยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวหรือมีกิจกรรมอะไรมากนัก แต่ถ้าฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เคลื่อนไหวโดยไม่ระวังเรื่องวิธีการหรือไปทำกิจกรรมที่ใกล้กับตัวบุคคลในทางกายภาพ ก็อาจทำให้เกิดกระแสต่อต้านขึ้นมามากขึ้นทั้งในแง่จำนวนมวลชนและมีความรุนแรงมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง

“ในหลายๆ เรื่องของคนไทยมันไม่ใช่เรื่องหลักการ ไม่ใช่แค่คุณบอกว่าเราในฐานะพลเมืองเรามีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้ตราบใดที่ไม่ได้ทำให้ใครตกอยู่ในอันตรายก็ไม่ได้แปลว่าจะพูดอะไรก็ได้หรือจะทำอะไรก็ได้ ฉะนั้นเราอยู่กับเรื่องที่มันอ่อนไหวที่สุดในสังคมนี้ก็ต้องระวัง”

อย่าใช้วาทกรรมจากยุค 6 ตุลาฯ เป็นใบอนุญาตให้จับกุมปราบปราม

แม้ปรากฏการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะทำให้ใครหลายคนนึกถึงบรรยากาศในช่วงยุค 6 ตุลาฯ แต่พวงทองยังไม่เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะเหมือนกับบรรยากาศในช่วงนั้นและไม่เชื่อว่าจะเกิดสถานการณ์เดียวกันกับ 6 ตุลาณในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม พวงทองก็ยังเห็นว่าข้อกล่าวหาที่ใช้โจมตีนักกิจกรรมว่ามีคนอยู่เบื้องหลังและเป็นพวกสุดโต่งก็เป็นวาทกรรมแบบเดียวกับที่ฝ่ายขวาใช้กล่าวหานักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงปี 2518-2519

“คุณกำลังทำแบบเดียวกัน แล้วรู้มั้ยว่าสิ่งที่คุณทำเป็นการปูทางไปสู่การจับกุมและถ้าจะมีการปราบปราม นี่คือขั้นแรกในการอนุญาตให้รัฐจับกุมปราบปรามคนที่คิดต่าง ก็เตือนเขาว่าเราอย่าทำแบบนี้”

พวงทองวิจารณ์ถึงกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและนักการเมืองในพรรคที่ใช้เรื่องมีคนอยู่เบื้องหลังมาใช้โจมตีนักกิจกรรม และการใช้คำว่า “สุดโต่ง” นิยามใครก็เป็นปัญหาเนื่องจากเป็นคำที่มีอคติสูงมาก เพราะเป็นการกล่าวหาว่าคนกลุ่มนั้นมีพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้และเป็นสิ่งผิดไม่ควรจะได้รับการอนุญาตให้มีอยู่ อีกทั้งยังมองว่าเป็นการใช้ทฤษฎีสมคบคิดเพื่อหวังประโยชน์เฉพาะหน้าในการจัดการกับพรรคก้าวไกลและเพื่อที่จะไม่ต้องรับรองร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของประชาชน

ดังนั้นพวงทองจึงเห็นว่านักการเมืองในพรรคเพื่อไทยเองที่หลายคนก็เป็นคนเดือนตุลาฯ ต้องช่วยกันเตือนให้หยุดการใช้วาทกรรมลักษณะนี้ โดยที่ในตอนนี้พรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ได้ช่วยในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ทั้งที่เรียกตัวเองว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยและก่อนเลือกตั้งก็สัญญาว่าจะฟื้นฟูนิติรัฐนิติธรรมแต่มาถึงวันนี้ก็ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่กลับมาใช้วาทกรรมเดียวกันกับฝ่ายขวาจัดมาใช้เล่นงานคนที่คิดต่างซึ่งเป็นเรื่องที่เธอมองว่าไร้ความรับผิดชอบอย่างที่สุดแล้วปัญหาที่ควรจะได้รับการแก้ไขก็ไม่ถูกแก้

“เรื่องกองทัพก็ไม่แตะปกป้องกองทัพทุกอย่าง เรื่องมาตรา 112 ก็ไม่ทำ เรื่องความขัดแย้งก็ไม่ทำ เรื่องคืนความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดงก็ไม่ทำ”

พวงทองวิจารณ์พรรคเพื่อไทยอีกว่า เรื่องที่พรรคไม่ได้ทำเหล่านี้ทำให้เห็นว่าจะยังมีอีกหลายเรื่องในอนาคตที่พรรคเพื่อไทยจะไม่ทำตามสัญญาอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่ความหวังของประชาชนจะต้องตกลงไปในกับดักทางการเมืองและทำให้เกิดการสะสมของความไม่พอใจมากยิ่งขึ้นเป็นเหมือนการเร่งไฟความโกรธของประชาชนมากยิ่งขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net