Skip to main content
sharethis
  • ทนายความเผยความประหลาดของกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีการเมือง พร้อมตั้งคำถามถึงประโยชน์ที่สังคมได้รับจากการที่กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีกับประชาชนผู้ใช้เสรีภาพและเรียกร้องสิทธิของตนเอง
  • ทัศนีย์เล่าประสบการณ์ถูกจับ-ขึ้นศาลทหารจากคดีจดหมายประชามติ เชื่อตนเป็นเหยื่อคดีการเมืองเพราะเห็นต่างกับผู้มีอำนาจและมนุษย์ไม่สามารถคิดเหมือนกันทุกเรื่อง
  • พูนสุข ศูนย์ทนายฯ ชี้การให้ประชาชนขึ้นศาลทหารถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
  • นักวิชาการ-นักการเมือง มองนิรโทษกรรมประชาชนเป็นทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่สะสมมานาน

21 ก.พ. 2567 เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawywers Association: HRLA) ได้จัดกิจกรรม Drink and Talk: เมื่อความรุนแรงโดยรัฐล้นศาล ‘นิรโทษกรรม’ ทางออกกระบวนการยุติธรรมไทย? ซึ่งประกอบไปด้วยนิทรรศการภาพถ่ายในคอนเซ็ปท์ความรุนแรงโดยรัฐและวงเสวนา ที่ ร้าน BEERGASM ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยมีผู้ร่วมเสวนาทั้งหมด 5 คน ได้แก่ จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความและกรรมการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พูนสุข พูนสุขเจริญ ฝ่ายนโนบายและกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 116 และ วทันยา บุนนาค อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 

ความประหลาดของกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีการเมือง

DSC_3790

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว

การเสวนาครั้งนี้เริ่มที่ประเด็นความยากและสถานการณ์คดีความทางการเมืองปัจจุบัน จันทร์จิรากล่าวว่า บทบาทของทนายความที่เกี่ยวข้องกับคดีทางการเมืองตอนนี้ คือ การดูแลทั้งคดีความที่ประชาชนตกเป็นจำเลยจากการไปใช้เสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงออกเพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมืองหรือสิทธิบางประการ เช่น ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีผู้ประกันตนหลายคนตกงานและรวมตัวชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องสิทธิจากสำนักงานประกันสังคม คือ ขอเงินที่เคยสมทบให้ประกันสังคมออกมาให้เขาใช้ แม้จำนวนผู้ชุมนุมจะไม่มากแต่ก็ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

จันทร์จิราจึงตั้งคำถามกับการดำเนินคดีต่อประชาชนในลักษณะดังกล่าวว่า ประชาชนและสังคมนี้ได้ประโยชน์อะไรจากการที่กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพและเรียกร้องสิทธิของตนเอง ขณะเดียวกันคดีเหล่านี้ล้วนมีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคม คือ มีกรณีที่จำเลยยอมให้ศาลออกหมายจับเนื่องจากตนไม่สามารถไปตามนัดของศาลได้เพราะอยู่ในช่วงทดลองงานไม่สามารถขาดงานได้ หรือคดีมาตรา 112 ที่มีโทษหนักและมักไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อเทียบกับคดีทั่วไปและมีจำเลยจำนวนมากที่เปลี่ยนใจมารับสารภาพเพื่อให้คดีสิ้นสุด 

“แล้วเราหวังให้กระบวนการแบบนี้ก่อเกิดอะไรในสังคม ด้านหนึ่งผู้มีอำนาจอาจเห็นว่าควรดำเนินคดีเพื่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย แต่ถามว่าในระยะยาวกระบวนการยุติธรรมมันเป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนความคิดใครได้หรือไม่ มันไม่ได้ มันมีแต่ถ้ากระบวนการไม่เป็นธรรมจะยิ่งส่งผลต่อความไม่พอใจและความคับแค้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว กระบวนการยุติธรรมถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐที่ใช้เพื่อยับยั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน เพราะฉะนั้น เราจะคาดหวังความเป็นธรรมกับการดำเนินคดีโดยองค์กรศาลที่เป็นส่วนหนึ่งของการยับยั้งเสรีภาพประชาชนได้อย่างไร” จันทร์จิรากล่าว

DSC_3839

ภาพคลิปวิดีโอกรณีวันทนา

กรณีฟ้องกลับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น คดีของ วันทนา โอทอง อายุ 62 ปี ที่ยืนรอขบวนอดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงนอกเครื่องแบบเข้าไปสกัดและควบคุมตัวไว้ ซึ่งวันทนาได้ฟ้องกลับเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกัน

ทั้งนี้ ในคดีนี้วันทนาได้ถูกพิพากษาจำคุก 6 เดือน 10 วัน ไม่รอลงอาญา โดยส่วนหนึ่งของคำพิพากษาได้กล่าวว่า  ‘...การที่วันทนาไปแจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่เดือดร้อนและสูญเสียกำลังใจในการทำงาน…’

คำพิพากษาของศาลในกรณีของวันทนา ทำให้เห็นถึงการที่ศาลรับรองการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน และส่งผลต่อหลักประกันสิทธิของประชาชนและการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐว่าสามารถอุดปากประชาชนที่มาแสดงออกทางการเมืองได้ แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าเหตุที่เอาใช้มืออุดปากเพราะวันทนาได้ตะโกนด่าอดีตนายกฯ และคนที่มาเชียร์อดีตนายกฯ เริ่มแสดงท่าทีไม่พอใจ จึงต้องใช้มือปิดปากเพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายและรับประกันความปลอดภัยจากมวลชนฝ่ายตรงข้าม

นอกจากนั้น ปัญหาที่พบระหว่างการทำคดีที่ประชาชนตกเป็นจำเลย คือ ความประหลาดของกระบวนการพิจารณาคดี เช่น การที่ผู้บริหารศาลเข้ามามีบทบาทในการพิจารณาคดีทำให้เกิดการเลื่อนนัดสืบพยานขึ้นมาเร็วขึ้นและตรงกับช่วงที่ทนายหรือจำเลยไม่ว่าง ทำให้เกิดการสืบพยานคดีโดยไม่มีทนาย แม้ศาลจะให้สิทธิจำเลยในการถามความพยานโจทก์เองก็ตาม บางคดีมีการตัดพยานและรีบตัดสินคดีภายใน 3 วัน หรือบางคดีศาลไม่อนุญาตให้เรียกพยานเอกสารเข้ามา ด้วยเหตุผลว่าเป็นข้อมูลที่ข้องเกี่ยวกับสถาบันฯ 

“สิทธิขั้นพื้นฐานในการสู้คดีอย่างเต็มที่เราหาได้หรือไม่ในคดีลักษณะนี้… โดยเฉพาะคดี 112 เราเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ทางออกสำหรับคดีเหล่านี้แน่นอน มันคือทางตัน เพราะฉะนั้น… การที่สังคมจะเดินหน้าต่อไปได้ การนิรโทษกรรมน่าจะเป็นทางออก… เราเข้าใจว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้อยากรับภาระเหล่านี้ แต่เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ คดีชุมนุมตั้งแต่ 2564 ก็ทยอยฟ้องเรื่อย ๆ คำถามคือคดีเหล่านี้สังคมได้ประโยชน์อะไร” จันทร์จิรา กล่าว

ทัศนีย์เล่าประสบการณ์ถูกจับ-ขึ้นศาลทหาร พูนสุขชี้เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

DSC_3850

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์

ทัศนีย์ผู้เคยตกเป็นจำเลยคดีทางการเมืองและขึ้นศาลทหารหลังการรัฐประหาร 2557 จากการส่งจดหมายแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาและบทบาทของ สว. ในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 ทำให้ทัศนีย์ถูกกล่าวหาว่า เป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และก่อให้เกิดความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ โดยใช้ มาตรา 44 ในการควบคุมตัว

ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ฝ่ายความมั่นคงมาหาทัศนีย์ น้องสาวถูกปิดซอยล้อมบ้าน มีเจ้าหน้าที่มาตรวจค้นสถานที่ทำงาน มีการเช็คโทรศัพท์และคนที่เคยมีประวัติการติดต่อกับทัศนีย์ ทั้งเจ้าของโรงพิมพ์และคนที่ถูกฝากซื้อซองจดหมาย ทัศนีย์กล่าวว่า ตอนนั้นรู้สึกเหมือนตนเองเป็นอาชญากรสงคราม จากนั้นทัศนีย์และทีมงานต้องถูกจับกุมร่วม 15 คน บางคนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายแต่อย่างใด ทำให้ต้องเข้าเรือนจำระหว่างชั้นสอบสวนเกือบเดือน สู้คดีในศาลทหารและพลเรือนร่วม 4 ปี ท้ายสุดศาลยกฟ้อง 

หลังถูกจับกุม ทัศนีย์ต้องอยู่ในค่ายทหาร 1 สัปดาห์ และขึ้นศาลทหารเชียงใหม่ โดยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเนื่องจากกลัวจะไปยุ่งกับพยานหลักฐาน ระหว่างอยู่ในเรือนจำทัศนีย์ได้พบเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อสิทธิความเป็นมนุษย์ของตนเอง ทัศนีย์ถูกปฏิบัติเหมือนตนเองเป็นนักโทษทั้งที่คดียังไม่ถูกตัดสิน ทั้งการค้นตัวที่ทำตามระเบียบใส่ชุดนักโทษ การถ่ายรูปนักโทษ การนอนแบบนักโทษ มีผ้าปูให้ 3 ผืนและมีผ้าห่มและหมอนเล็กๆ ครอบครัวต้องมาเยี่ยมผ่านลูกกรงตลอด 20 กว่าวัน เหตุการณ์ตอนนั้นส่งผลถึงสภาพจิตใจของทัศนีย์และครอบครัว ถ้าไม่กินยาจะนอนไม่หลับและต้องพบแพทย์จิตเวช

“ขอเล่าบรรยากาศที่ครอบครัวที่ต้องมาหาเรา เราคุยกันผ่านลูกกรง พ่อแม่อายุ 70 80 ต้องมาหาเราทุกวันผ่านลูกกรง แล้วกุ้งคิดว่า เด็กๆเยาวชนอีกหลายคน พ่อแม่เขาต้องมีสภาพจิตใจนั้น ซึ่งวันนี้เด็กหลายคนก็ยังอยู่ในสภาพจิตใจแบบนี้ คือ สภาพที่เราเอามือจับไปได้ที่ลูกกรงเท่านั้น”

ทัศนีย์กล่าวว่ากระบวนการสู้คดีนั้นมีต้นทุนที่ต้องใช้ ทั้งเวลา เงิน ความสัมพันธ์กับครอบครัว และการถูกตัดสินจากสังคม แม้บทสรุปของคดีนี้จะเป็นการยกคำร้องไม่มีความผิด แต่ทัศนีย์ยังไม่ได้รับการเยียวยาทางจิตใจจากสิ่งที่ถูกกระทำ พร้อมกล่าวว่านี่ คือ เหตุผลที่ต้องมีการนิรโทษกรรมประชาชนที่เหลืออยู่ตอนนี้ เพราะตนมั่นใจว่าตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันยังมีประชาชนที่ค้างอยู่ในคดีความเหล่านี้มากกว่า 1,000 คน

“คดีทางการเมืองแต่ละคน ทุกคนเยาวชนแต่ละคนประชาชนที่อยู่ในนั้นแต่ละคน มันก็หาคำตอบไม่ได้ว่า ข้อหาที่เราผิดเนี่ยเกิดจากการกระทำอะไรนอกจากความคิดเห็นต่าง ซึ่งเราก็มาเป็นมนุษย์ มนุษย์มีความเห็นต่างกันทุกคน ความรู้สึกต้นทุนที่ทุกคนต้องเสีย ต้นทุนค่าใช้จ่าย ต้นทุนทางด้านจิตใจ ต้นทุนทางด้านสังคม เราซึ่งไม่เคยมีความผิดแต่เราต้องไปอยู่ในเรือนจำสังคมจะมองเรายังไง” ทัศนีย์ กล่าว

DSC_3758

พูนสุข พูนสุขเจริญ

พูนสุขอธิบายปัญหาและภาพรวมที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบตลอดการก่อตั้งศูนย์ทนายฯ คือ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2557 ซึ่งเป็นเวลา 2 วัน หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีการใช้มาตรา 44 เรียกบุคคลไปรายงานตัว จับกุม และคุมขังประชาชนจำนวนมาก ทั้งยังประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร พูนสุขมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สถานการณ์ที่ศูนย์ทนายฯ เจอในช่วงเวลานั้น คือ การใช้มาตรา 116 ซึ่งเป็นหนึ่งประเภทคดีที่ต้องทำให้ประชาชนต้องขึ้นศาลทหารไม่ต่ำกว่า 2,400 คน ขณะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก่อนรัฐประหาร 2557 นั้นถือเป็นคดีร้ายแรงและคนที่ถูกคดีส่วนใหญ่ศาลจะไม่อนุญาตให้มีการประกันตัว และเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น คสช. ก็ได้กำหนดให้ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องขึ้นศาลทหาร  ทำให้พูนสุขมองว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด 

ขณะเดียวกันช่วงปี 2561-2563 พูนสุขสังเกตถึงความพยายามที่จะไม่ใช้ มาตรา 112 กับประชาชน ก่อนวันที่ 19 พ.ย. 2563 ที่ประยุทธ์ประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราเอาผิดกับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง  และทำให้มีประชาชนถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ด้วยเหตุที่กล่าวข้างต้น ทำให้ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน นับการนิรโทษกรรมประชาชนตั้งแต่การกระทำตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 จนถึงวันที่พระราชบัญญัติบังคับใช้ โดยความผิดที่จะนิรโทษกรรมทันที คือ คดีตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. คดีพลเรือนในศาลทหาร คดีมาตรา 112 คดี พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ คดี พ.ร.บ. ประชามติฯ และคดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับคดีข้างต้น โดยไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุและผู้ก่อกบฏทำรัฐประหาร ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชนได้ที่ amnestypeople.com

นักวิชาการ-นักการเมือง มองนิรโทษกรรมประชาชนเป็นทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้ง

DSC_3776

มุนินทร์ พงศาปาน

มุนินทร์เห็นถึงปฏิกิริยาของสังคมต่อกฎหมายมาตรา 112 คือ จากเดิมเป็นข้อกฎหมายและเป็นประเด็นที่ดูร้ายแรง การรณรงค์เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่สังคมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ ตั้งแต่มีการชุมนุมเมื่อปี 2563 สังคมก็เริ่มเปิดใจให้ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112 ให้กลายเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ในสาธารณะมากขึ้นโดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองได้แสดงเจตจำนงและจุดยืนที่มีต่อข้อกฎหมายดังกล่าวมากขึ้น

เมื่อมองสภาพการเมืองในปัจจุบันทำให้มุนินทร์เข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมคณะรัฐประหารถึงพยายามจับกุมประชาชนที่ออกมารณรงค์ต่อต้านการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 เพราะมีเหยื่อจำนวนมากจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะพรรคการเมือง เช่น ก้าวไกล และการเลือกตั้งตลอด 2 ครั้งที่ผ่านมา 

การรัฐประหารเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง แต่เมื่อเกิดขึ้นก็ได้ถูกรับรองโดยกระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายต่าง ๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการรัฐประหาร ศาลย่อมยอมรับสิ่งนี้ไปโดยปริยาย มุนินทร์มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความอัปยศของวงการนิติศาสตร์หรือกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ดังนั้น การนิรโทษกรรมประชาชนนั้นจึงถือเป็นการลบล้างความอัปยศของกระบวนการดังกล่าว แม้จะไม่สามารถชดเชยสิ่งที่สูญเสียไปได้ทั้งหมดก็ตาม

“สิ่งที่เราคุยกันอยู่ตอนนี้เป็นการพยายามแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่สั่งสมมา และเป็นรากของปัญหาที่สะสมมาหลายสิบปี จริงอยู่ที่ตอนนี้เห็นว่ากระแสคนไม่ได้สนใจ แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ มันอาจจะเงียบหรือปะทุขึ้นมา มันอาจจะรอเวลาว่าจะมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์อะไรขึ้นมา กระทั่งคนในสังคมไม่สามารถอดทนได้อีก” มุนินทร์ กล่าว

DSC_3917

วทันยา บุนนาค

วทันยาในฐานะที่เป็นนักการเมืองกล่าวว่าตนรู้สึกสะเทือนใจเมื่อได้ฟังประสบการณ์จากผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความทางการเมือง และที่ผ่านมาตนได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน ในเบื้องต้น คือ เห็นว่าหลักคิดของร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการคืนความยุติธรรมให้คนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งต่อให้ไม่ใช่คดีการเมืองก็ไม่ควรมีใครไม่ได้รับความยุติธรรม 

นอกจากนั้น วทันยาเชื่อว่าการมีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องปกติ ซ้ำยังมีข้อดีในตัวของมันเอง คือ การเห็นต่างนั้นทำให้เกิดการถกเถียงและหาข้อสรุปเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ในสังคม  แต่การแสดงความคิดเห็นนี้ยังต้องอยู่ในกรอบที่เราไม่ไปละเมิดเสรีภาพของคนอื่น ดังนั้น วทันยาจึงไม่เห็นเหตุผลที่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองจะไม่ได้รับความยุติธรรมกลับคืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net