Skip to main content
sharethis

กสม. แจงกรณีตรวจสอบบริการทันตกรรมในระบบประกันสังคม ยืนยันรับฟังข้อมูลรอบด้าน ไม่พบที่อ้างว่าใช้สิทธิในโรงพยาบาลรัฐได้โดยไม่จำกัดวงเงิน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหาทางออก

9 ก.พ. 2567 เวลา 10.30 น. ทีมสื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า สุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเรื่องความคืบหน้าผลการตรวจสอบกรณีการให้บริการทันตกรรมตามสิทธิประกันสังคมไม่เป็นมาตรฐานเดียวกับบัตรทอง

สุภัทรา เปิดเผยว่า กสม. ได้แถลงข่าวรายงานผลการตรวจสอบกรณีประกันสังคมกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนให้เบิกได้เฉพาะกรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด รวมกันทุกรายการไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี เป็นการกำหนดวงเงินการเบิกค่าบริการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อความจำเป็น อันเป็นการละเมิดสิทธิในสุขภาพของผู้ประกันตน ซึ่งควรได้รับสิทธิไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง นั้น กสม. ขอชี้แจงว่า รายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวมีการรับฟัง ตรวจสอบและสอบทานข้อเท็จจริงจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง ทันตแพทยสภา สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สภาองค์กรของผู้บริโภค ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิและองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบด้าน โดยขอยืนยันว่า การกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี เป็นการกำหนดวงเงินสิทธิประโยชน์ที่ต่ำกว่าสิทธิของผู้ถือบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขขั้นต่ำที่คนไทยทุกคนได้รับ อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมการรักษาทันตกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเอกซเรย์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการรักษาสุขภาพช่องปากและฟันทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ ซึ่งแตกต่างจากประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองที่สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ในกรณีดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ไม่พบข้อเท็จจริงว่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถใช้สิทธิรักษาด้านทันตกรรมในโรงพยาบาลของรัฐได้อย่างไม่จำกัดวงเงิน ตามที่เป็นข่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อประเด็นดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงในสังคม เมื่อบ่ายวานนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2567) กสม. ได้ประชุมร่วมกับผู้แทน สปส. สปสช. และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เพื่อหารือถึงสถานการณ์ปัญหา และแนวทางแก้ไข โดยเห็นพ้องกันว่า กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรกำหนดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นด้านบริการทันตกรรมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขระหว่างผู้รับสิทธิประโยชน์ของทั้งสองกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ทุกเดือน

“กสม. มีข้อแนะนำเบื้องต้นให้กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข หารือร่วมกันถึงแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์หรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นด้านบริการทันตกรรมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดย กสม. พร้อมเป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมประสานและสนับสนุนให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้หารือร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน และมีสิทธิเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขของรัฐที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน อันสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนสากล” สุภัทรา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net