Skip to main content
sharethis

แถลงผลการพูดคุยสันติสุขครั้งที่ 7 ฝ่ายไทยและ BRN เห็นชอบ 3 หลักการแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวม(JCPP) มุ่งการลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชน และการแสวงหาทางออกทางการเมือง พร้อมนัดคุยรายละเอียดในคณะเทคนิคอีก 2 ครั้ง เตรียมสร้างบรรยากาศสันติสุขในช่วงเดือนรอมฎอนถึงสงกรานต์ ดึงกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมพูดคุย – พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

 

ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบหลักการแผนปฏิบัติการร่วม JCPP

คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกแถลงการณ์ผลผลการการพูดคุยสันติสุขเต็มคณะครั้งที่ 7 วันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียโดยมีฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุย และ อุสตาสอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าผู้แทน BRN (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ได้มีการพูดคุยสันติสุขอย่างเป็นทางการครั้งที่ 7 โดยการดำเนินการของ ศาสตราจารย์ พล.อ.ตันซรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย และมีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan Towards Peace) หรือ JCPP ซึ่งจะมีการรับรองอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป ซึ่ง JCPP มีหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชน และการแสวงหาทางออกทางการเมือง

คุยรายละเอียดในคณะเทคนิคในเดือน ก.พ. และ มี.ค.นี้

ทั้งสองฝ่ายได้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่มุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อให้เอกสาร JCPP เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว ซึ่งจะเป็นหนทางนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงสันติสุขเพื่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า จะมีการหารือในรายละเอียดระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับเทคนิคร่วมกันอีก 2 ครั้ง ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และต้นเดือนมีนาคม 2567 นี้ ซึ่งคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย ยังได้แจ้งว่ามีความพร้อมในการดำเนินมาตรการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เนื้อหนุนต่อการสร้างสันติสุข

ทั้งนี้ ที่ประชุมเน้นย้ำว่ากระบวนการพูดคุยควรเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการฯ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยต่อไป

พร้อมสร้างบรรยากาศสันติสุขในช่วงเดือนรอมฎอนถึงสงกรานต์

ในการพูดคุยครั้งนี้ ทาง Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้ ได้รายงานด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายยังเห็นด้วยในการสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการพูดคุยสันติสุขให้มากขึ้น ที่ทางฝ่ายไทยเสนอ เช่น ลดระดับการปิดล้อมตรวจค้นเท่าที่จำเป็นเท่านั้น การปรับลดจำนวนด่านตรวจลงโดยเฉพาะบริเวณหน้าฐานปฏิบัติการ แต่ในพื้นที่อื่นๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ และพิจารณายกเลิกป้ายแสดงเป้าหมายจับแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบตามสี่แยกต่าง ๆ รวมถึง การพิจารณายกเลิก พรก.ฉุกเฉินในพื้นที่ที่บีอาร์เอ็นสามารถลดความรุนแรงได้เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอนถึงช่วงสงกรานต์

นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย กล่าวว่า พอใจกับความก้าวหน้าในการพูดคุยครั้งนี้ โดยทั้งสองฝ่ายจะกลับมาหารือในรายละเอียดปลีกย่อยอีกครั้ง นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการหยิบยกเรื่องของการกระจายอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญไทยขึ้นมาพูดคุยด้วย

ดึงกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมพูดคุย – พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

ด้าน พล.อ.ซุลกีฟลี ระบุในช่วงแถลงข่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะดึงกลุ่มอื่นๆ มาเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งต้องหารือร่วมกับทางบีอาร์เอ็นที่เป็นกลุ่มหลักอีกครั้ง ขณะที่ฝ่ายไทยก็ไม่ขัดข้องในเรื่องนี้ โดยที่ประชุมยังเน้นย้ำที่ควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสันติสุข

ขณะที่ อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่าย BRN ได้แถลงต่อสื่อมวลชนถึงความห่วงใยต่อการดำเนินคดีนักกิจกรรมของกองทัพภาค 4 เพราะอาจกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยยืนยันว่า ไม่ได้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องเป็นการแสดงออกในเวทีที่เหมาะสม แต่หลังจากนี้ เวทีการพูดคุยสันติสุขจะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายอย่างเต็มที่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net