Skip to main content
sharethis

Leadership Poll เผยผลสำรวจผู้นำภาคสังคม-ธุรกิจ-การเมือง 543 คน 62.20% ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท 52.40% เห็นด้วยให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตรา

3 ก.พ. 2567 วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ Leadership Poll โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต, ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ รองคณบดีฝ่ายวิชาการวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม

โดย ดร.สุริยะใส กล่าวว่า การจัดทำโพลสะท้อนไปยังผู้นำ รัฐบาล หน้าที่ของผู้นำ คือ ความเป็นผู้ตามที่ฟังประชาชนให้ได้มากที่สุด โพลก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่เที่ยงตรงแม่นยำ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่สลับซับซ้อน และโพลก็ได้สะท้อนความเห็นของผู้นำในภาคส่วนต่างๆ ที่สำรวจมา Leadership Poll คือ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้นำมาร่วมทำแบบสอบถาม ทางภาคธุรกิจภาคสังคม ภาคประชาชน ภาคการศึกษา อย่างกว่า 500 คน ซึ่งในอนาคตอาจจะเพิ่มตัวอย่างเป็น 1,000-2,000 คน 

ด้าน ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช กล่าว่า โพลชุดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง ต่อนโยบายภาครัฐที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการในปัจจุบัน เก็บข้อมูลทั้งสิ้น 543 ตัวอย่าง ในเดือน ม.ค.2567 จากกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง 

โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้นำภาคธุรกิจ: ตัวแทนนักธุรกิจที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่, ภาคประชาสังคม: ตัวแทนภาคประชาสังคม NGO และมูลนิธิต่างๆ ในประเทศไทย, ภาคการเมือง: นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี นายกและรองนายก อบจ. นายกและรองนายก อบต. ในทุกภูมิภาคของประเทศ, ภาคการศึกษา: นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี รองคณบดี ในมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน

สอบถามความคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1. ความคิดเห็นต่อนโยบาย "เงินหมื่นดิจิทัล" ของรัฐบาล 

62.20% ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
21.30% เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว แต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
13.00% เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
3.50% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น,ไม่แน่ใจ ,ไม่ค่อยสนใจ

2. ความคิดเห็นต่อโครงการ "แลนด์บริดจ์" ของรัฐบาล

36.70% เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว แต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
29.60% ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
28.00% เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
5.70% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่นไม่ทราบรายละเอียด, ต้องการข้อมูลที่ศึกษา, ไม่แน่ใจ

3. ความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน "ซอฟต์พาวเวอร์" ของรัฐบาล

41.10% เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
37.30% เห็นด้วยกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
14.50% ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
1.40% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น ไม่ทราบรายละเอียด , เห็นด้วยเป็นบางอย่าง , ยังเข้าใจไม่ชัดเจน

4. ความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

52.40% เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา
28.8% เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
14.5% ไม่เห็นด้วย 
4.3% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112, แก้ไขบางมาตราที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจริงๆ, นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้และพิจารณาปรับปรุงหลักการในบางมาตรา

5. ความคิดเห็นต่อความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทย 

51.20% ยังคงขาดความมุ่งมั่นในการดำเนินการ
34.90% มีความมุ่งมั่นแต่ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
9.40% มีความมุ่งมั่น
4.50% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น ,ไม่ทราบแน่ชัด , ไม่แน่ใจ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยังน้อยเกินกว่าที่จะประเมิน

ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่ได้จากการสำรวจ

1. เท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นนโยบายที่เคยหาเสียงไว้เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร และอะไรที่ยังไม่ได้ทำก็ควรชี้แจง 
2. รัฐบาลต้องเคารพกฎหมาย ไม่ให้อภิสิทธิใครให้อยู่เหนือกฎหมาย
3. การพัฒนาประเทศควรใช้สิ่งที่ไทยได้เปรียบเป็นสารตั้งต้นสำคัญ แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการก็อาจมีผลดีอย่างมีนัยสำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล
4. รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหา ในเรื่องของยาเสพติด ควบคู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเร่งด่วน
5. รัฐบาลควรลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการทุจริต การศึกษาและการทำงานของข้าราชการที่ล่าช้าและไม่สอดคล้องกับสภาวะการปัจจุบัน
6. รัฐบาลยังคงกังวลเรื่องคะแนนเสียงมากกว่าการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและจริงใจ 
7. โครงการแลนด์บริดจ์ ที่ดูไม่ได้รับความสนใจ ควรเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น ที่ไม่ต้องขนของขึ้นๆลงๆ จากเรือ คือให้เรือทั้งลำแล่นผ่านไปได้เลย 
8. ควรให้ความสนใจปัญหาโครงสร้างทางสังคมและการศึกษาในระดับแรกๆ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 
9. เข้าใจว่าผู้นำหลายคนกังวลกับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่วิกฤติความขัดแย้งที่เป็นผลเรื้อรังมานับสิบปีก็ยังคงมีอยู่ โดยอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศของการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ หรือสร้างความภูมิใจร่วมที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้
10. เรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ประเทศเกิดภาวะที่จะเรียกว่าวิกฤตหรือไม่

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปดูโพลชุดนี้ได้ที่ https://csirsu.com/ เพื่อศึกษาหรือนำไปต่อยอดในโพลสอบถามประชาชนต่อไปได้ 

ด้าน รศ.ดร.รัตน์พงศ์ สอนสุภาพ อาจารย์ประจำวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรม กล่าวว่า โพลในครั้งนี้ต่างจากที่เราเคยรับฟังมาในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโพลนี้จะพยายามเน้น ในสิ่งที่เฉพาะกลุ่มเพื่อจะได้ตอบประเด็นให้ลึกซึ้งมากขึ้น และมีน้ำหนักด้วยการวิเคราะห์โดยภาพรวมเศรษฐกิจและสังคม 

ผศ.ดร.บูชิตา สังข์แก้ว รองคณะบดีฝ่ายพัฒนาสังคม กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลได้รับฟังเสียงสะท้อนจากโพลครั้งนี้ก็คงคิดว่ามีผลต่อการพัฒนาของรัฐบาลบ้างในฐานะของการเป็นเสียงส่วนหนึ่งหรือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของสังคม โดยบทบาทของโพลในต่างประเทศมีความสำคัญมาก โผลไหนที่มีความเชื่อน่าถือก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่การพัฒนานโยบายที่ดีที่ถูกต้อง และสอดคล้องของความต้องการของสาธารณชนด้วย เพราะโพลเป็นส่วนกลางระหว่างประชาชนกับผู้บริหารประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net