Skip to main content
sharethis

“ณัฐวุฒิ” เล่าถึงการต่อสู้และเหตุผลในการออกมาต่อสู้ของคนเสื้อแดงจนบาดเจ็บล้มตาย ถูกดำเนินคดี และระหว่างเสวนาเขาได้กล่าวถึงการนิรโทษกรรมคดีการเมืองว่าต้องช่วยกันผลักดัน และยืนยันต้องรวมคดี ม.112 ด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้คนหนุ่มสาวต้องมาเป็นคู่กรณีกับกฎหมายมาตรานี้ ต้องช่วยกันคิดเพื่อไม่ให้เกิดขึ้น

2 ก.พ.2567 ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  เสวนา “คนเสื้อแดง ภาพวาดปีศาจร้ายการเมืองไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และอานนท์ ชวาลาวัลย์ จากพิพิธภัณฑ์สามัญชน พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการต่อสู้ของคนเสื้อแดง

ณัฐวุฒิเริ่มเล่าถึงการต่อสู้ทางการเมืองของเขาและคนเสื้อแดงว่า ทุกวันนี้คนเสื้อแดงก็ยังต่อสู้อยู่และยังมีที่ทางอย่างชัดเจนในประวัติศาสตร์ของไทยแต่อาจจไม่เป็นที่ต้องการของคนบางกลุ่มหรืออำนาจบางอำนาจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในประวัติศาสตร์ไทยมีการต่อสู้ของคนเสื้อแดงอยู่ด้วย และขอบคุณผู้จัดงานที่รวบรวมสิ่งของต่างๆ ในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมาจัดแสดง

เขาบอกว่าสิ่งของที่มาจัดแสดงนี้ยังทำให้นึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 10 เม.ย.2553 ที่เป็นวันที่คนเสื้อแดงถูกล้อมปราบโดยรัฐบาลในเวลานั้นที่มีการใช้อาวุธสงครามกับคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายของเขามากแต่ก็เกิดขึ้นทั้งมีการใช้อาวุธติดกล้องเล็งยิงจากระยะไกลกับผู้ชุมนุม และเรื่องนี้ผู้มีอำนาจก็ไม่เคยปฏิเสธว่าไม่เคยใช้เกิดขึ้นจนปัจจุบัน

ณัฐวุฒิกล่าวต่ออีกว่าเหตุการณ์คึนนั้นยังเป็นครั้งที่เขารู้สึกสะเทือนใจมากที่สุดในการร่วมชุมนุมรอบปี 53 และเพราะเป็นคืนแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้แม้ว่าภายหลังจะเกิดการเสียชีวิตขึ้นมาต่อเนื่อง และตัวเขาเองยังมีหน้าที่ในตอนนนี้ที่ต้องพยายามเจรจากับรัฐบาลเพื่อให้ยุติความรุนแรงขึ้นแล้วก็ยังเป็นคนพูดคุยกับมวลชนตอนเกิดสถานการณ์ แล้วก็ยังเป็นคนคอยปลอบญาติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไปด้วย เป็นช่วงเวลาที่ “โกลาหล” มาก

“ระงมไปด้วยเสียงร้องไห้ เสื้อผมนี่เปียกไปหมดน้ำตาประชาชนที่เพื่อนฝูงเขาถูกยิง สามีเขาถูกยิง” ณัฐวุฒิเล่าถึงเหตุการณ์ในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 และยังมีผู้หญิงที่รีบออกจากบ้านมาทั้งชุดนอนเพราะเห็นชื่อสามีเธอถูกยิงอยู่ด้วยมาขอความช่วยเหลือจากเขา

ณัฐวุฒิกล่าวว่าคนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุมกันตอนนั้นก็เป็นเพียงคนไทยธรรมดาที่อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของการเมืองภายหลังรัฐธรรมนูญ 2540 และคนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยก็รู้สึกว่านโยบายจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาได้ ผูกผันกับนโยบายและรัฐบาลที่พวกเขาเลือกมา แม้ว่าจะมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่อาจจไม่ได้มีความผูกผันแบบนี้แต่เห็นความเป็นไปในบ้านเมืองและการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมเกิดสภาพ “สองมาตรฐาน” ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้ไม่ยอมรับกับสภาพแบบนี้

ส่วนคนกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับการรัฐประหาร 2549 ที่ก่อนหน้านั้นอาจจะไม่ได้สนใจการเมืองมากนักและยึดติดกับกลุ่มใดๆ ไปจนถึงอาจจะเคยเป็นคนที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือ พธม. แต่พอเกิดรัฐประหารคนกลุ่มนี้ไม่ยอมข้ามเส้นหลักการแล้วยอมตามไปกับกลุ่ม พธม.อีกแล้ว

ในความเห็นเขาทั้งสามกลุ่มนี้คือกลุ่มก้อนหลักๆ ที่เดินทางร่วมกันในฐานะคนเสื้อแดงและปรากฏตัวชัดเจนครั้งแรกในเวที “ความจริงวันนี้สัญจร” ครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะเคยมมีการรณรงค์ใส่เสื้อแดงตอนรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แล้วก็ตาม

“ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คนเสื้อแดงเหมือนคนแปลกหน้า ไม่มีกลุ่มการเมืองไหนมีรูปลักษณ์และมีวิธีการเคลื่อนไหวแบบคนเสื้อแดงมาก่อนตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กลุ่มคนที่ออกมาแสดงพลัง เรียกร้องหรือต่อสู้ทางการเมืองจนกระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม โดยส่วนใหญ่คือคนเมืองแม้จะมีถิ่นฐานในชนบทแต่เข้ามาใช้ชีวิตในเมือง”

ณัฐวุฒิเล่าว่าคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมนั้นเป็นประชาชนที่เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามากรุงเทพเพื่อส่งเสียงเรียกร้องของพวกเขา และมาฉีกหน้ากากของใครตามที่ถูกจัดวางสถานะทางสังคมไว้ว่าเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ และที่ผ่านมาในการเมืองไทยไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ และวิธีการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงก็ไม่ได้ยึดถือขนบ มีเรื่องที่อยากพูดก็พูด อยากร้องเพลงอยากเต้นที่ไหนก็ทำไม่ว่าจะเป็น ทำให้คนเสื้อแดงถูกตั้งคำถามและไม่ถูกเชื่อว่าคนเสื้อแดงจะเข้าใจการเมืองและเรียกร้องประชาธิปไตย

คนอีกฝ่ายในสังคมนี้ไม่เชื่อเลยว่าคนเสื้อแดงมาด้วยอุดมการณ์แต่อธิบายว่าเป็นม็อบรับจ้าง ทาสทักษิณ ถูกล้างสมอง ไร้การศึกษา เพื่อทำให้พลังของคนเสื้อแดงไร้ค่าจนไปถึงชีวิตของคนเสื้อแดงก็ไร้ค่าไปด้วย และหลังจากที่คนเสื้อแดงถูกฆ่า ผู้มีอำนาจก็ไม่ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองออกมาเพราะเห็นว่าชีวิตคนเสื้อแดงไม่มีค่า ไม่เหมือนกับเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นที่หลังเหตุการณ์สลายชุมนุมทางการเมืองรัฐจะต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองออกมาเพราะยังเห็นว่ายังได้ทำผิดอยู่

“ผมพูดเองผมก็เจ็บเอง แต่มันคือการยิงทิ้ง ยิงทิ้งสักร้อยหนึ่ง เรา(คนเสื้อแดง)เดินมาด้วยสายตาแบบนั้นของสังคม ถูกพูดถึงอย่างนั้น”

ณัฐวุฒิกล่าวว่าการที่คนเสื้อแดงต้องผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมา แต่เมื่อเยาวชนนำเรื่องคนเสื้อแดงกลับมาพูดอีกครั้งในการชุมนุมจึงเป็นเรื่องที่มีความหมาย คุณค่า และมีพลังมากๆ สำหรับคนเสื้อแดง เขายกตัวอย่างกรณีเหตุการณ์ที่เยาวชนจัดชุมนุมใต้ตึกคณะอักษร จุฬาฯ ว่านอกจากบทกวีของเขาจะถูกเอาไปอ่านแล้ว ยังมีการพูดถึงคนเสื้อแดงในการชุมนุมแล้วมีเสียงตบมือให้ มีการกล่าวขอโทษคนเสื้อแดง และยังเป็นกระแสตามมาในอินเตอร์เนตด้วย

ณัฐวุฒิได้กล่าวถึงประเด็นการนิรโทษกรรมต่อว่ามีสองเรื่องอยู่ในประเด็นนี้คือ ส่วนของผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่ของพวกเขาไปถึงศาลแล้วแต่ศาลอาญาก็มีคำพิพากษาออกมาว่าคดีของคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลอาญาแล้วไปตั้งต้นใหม่ที่ ปปช. แต่ปปช.ก็ยกคำร้องอีกโดยให้เหตุผลว่าผู้มีอำนาจทางการเมืองในตอนนั้นไม่มีความผิดเนื่องจากเป็นการใช้อำนาจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การจัดการเรื่องนี้อาจจะมีคนเสนอไว้หลายแนวทางแต่เขาเห็นว่าจะต้องแก้ไขกฎหมาย ปปช.และกฎหมายการพิจารณาคดีความในศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้สิทธิประชาชนที่เป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เองได้กรณีที่อัยการหรือ ปปช.ไม่ฟ้องที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอเข้าสภาและขณะนี้ทั้งสองฉบับกำลังจะเข้าสู่วาระการพิจารณาในสภา 16 ก.พ.2567 ซึ่งเขาจะไปตามพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงก้าวไกลเพื่อขอให้ช่วยกันยกมือให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน

ส่วนเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง เขาเห็นด้วยที่จะมี แต่สำหรับมวลชนคนเสื้อแดงแล้วตอนนี้ติดคุกและออกมาหมดแล้วเพราะเวลาผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว ส่วนระดับแกนนำอย่างเขาก็ติดคุกไป 3 รอบแล้วแต่ก็ยังเห็นว่ามีรอบที่ 4 รออยู่เพราะคดียังไม่จบแม้กระทั่งคดีช่วงปี 2551-2552 ก็ยังมีอยู่ จึงไม่เหลือคนเสื้อแดงที่ต่อสู้กันมาในปี 2552-2553 ให้ต้องนิรโทษกรรมออกจากคุกแล้ว แต่เขาก็ยังเห็นว่าพวกเขาก็ยังต้องผลักดันให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาอยู่ดี เพราะไม่ใช่แค่เอาคนออกจากคุกแต่เป็นการปลดพันธนาการของความผิดที่ประชาชนถูกยัดใส่มาเพราะไม่ยอมรับการรัฐประหารและกระบวนการอยุติธรรมที่พวกเขาออกมาสู้เพราะพวกเขาก็ควรจะมีสิทธิที่จะถูกยอมรับโดยรัฐว่าการออกมาต่อสู้ของพวกเขาไม่ใช่ความผิดและเป็นสิทธิโดยชอบธรรม

“แต่กฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมาเราไม่ได้พูดถึงคนเสื้อแดงเป็นด้านหลัก แต่ผมพูดตรงไปตรงมาทุกที่ว่านิรโทษกรรมคราวนี้ช่วยเด็กด้วย นิรโทษกรรมผู้ต้องหา ผู้ถูกดำเนินคดีหรือผู้ต้องขังจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เสียด้วย ให้พูดที่ไหนก้จะยืนยันแบบนี้ เพราะนี่คือการแสดงทางความคิดของคนปัจจุบัน”

ณัฐวุฒิมีความเห็นว่าถ้าจะบอกว่าต้องปรองดองสมานฉันท์กัน แล้วจะทิ้งคนยุคสมัยหนึ่งไว้กับคดีความแบบนี้ก็จะไม่เป็นผลดีกับใครหรือส่วนใด องค์กรใด สถาบันใดเลย และเขายืนยันว่าไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยแบบไหนข้อเสนอต่อเรื่องนี้ของเขาก็ไม่เปลี่ยน

“เพราะไม่ได้มีเจตนาทำร้ายทำลายสิ่งใด แต่เป็นการยื่นอ้อมกอดแห่งความเมตตาให้กับเยาวชนให้กับลูกหลานเราเอง”

ณัฐวุฒิยกประเด็นที่คนจะบอกว่าถ้านิรโทษกรรมให้กับคดี 112 ว่าไม่ใช่พวกเขาทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายคนก็ติดคุกจำนวนครั้งมากกว่าเขาแล้วและก็ถูกกระทำมาต่างๆ นานามากมายเผชิญความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ จึงเห็นว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะต้องช่วยกันคิดแล้วก็ช่วยกันทำ เขาเองที่ผ่านมาต้องสู้กับคดีเก่ามา 16 ปี แล้วจะให้คนหนุ่มสาวที่ตอนนี้มี 20-30 กว่าคดีจะต้องขึ้นศาลกันไปจนเกษียร จึงจะปล่อยให้บ้านเมืองเดินต่อไปแบบนี้ไม่ได้

นอกจากนั้นเขายังเห็นว่าการนิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดีม.112 ด้วยจะเป็นการสร้างคู่กรณีขึ้นมาคู่หนึ่ง ก็คือระหว่างคนหนุ่มสาวกับกฎหมายมาตรานี้ ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น

“ความหมายมันลึก ช่วยกันคิดไม่ให้เป็นแบบนั้นผมว่ามันดีกับทุกฝ่าย อันนี้ด้วยความปรารถนาดี”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net