Skip to main content
sharethis

คณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ประชุดนัดแรก เห็นชอบแนวทางสนับสนุน อปท. “ดูแลระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น” ตาม ม. 47 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมตั้ง 2 คณะทำงานด้านกฎ ระเบียบ-สุขภาพชุมชน ด้านมหาดไทยรับพร้อมทำเต็มที่ สอดรับพันธกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”

2 ก.พ. 2567 ทีมสื่อ สปสช. รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมีสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยประธานคณะอนุกรรมการ เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบแนวทางสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ ตามที่ นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำกับดูแลกลุ่มภารกิจสนับสนุนการจัดระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นเสนอ

สำหรับแนวทางสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการกองทุนและค่าบริการสาธารณสุข อันได้แก่ 1. กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) 2. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (LTC) 3. กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด (กองทุนฟื้นฟูจังหวัด) ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบคณะทำงานอีก 2 ชุด เพื่อจัดทำข้อเสนอดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของอนุกรรมการฯ ได้แก่ 1. คณะทำงานด้านกฎ ระเบียบ กฎหมาย โดยมี ศาสตราจารย์ บรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธานคณะทำงาน และ 2.  คณะทำงานด้านสุขภาพชุมชนและวิชาการ โดยมี นพ.ประทีป  ธนกิจเจริญ เป็นประธานคณะทำงาน

สุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า หน้าที่หนึ่งของกระทรวงมหาดไทยคือการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และดูแลประชาชนตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน สอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉะนั้นจึงอยากจะขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพของประชาชน ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะทำเต็มที่

“ที่ผ่านมากรมการปกครองก็ช่วยเก็บข้อมูลครัวเรือนของประชาชน ทั้งปัญหาสุขภาพ และปัญหาความเดือนร้อนในด้านต่างๆ ตรงนี้จะเป็นอีกส่วนที่อยากให้บอร์ดชุดนี้ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจจะโยงกับฐานข้อมูลเพื่อใช้ในงานสุขภาพได้” สุทธิพงษ์ กล่าว

ด้าน นพ.เติมชัย กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ เป็นไปตามคำสั่งแต่งตั้งจากบอร์ด สปสช. ในการประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 เพื่อสนับสนุนและประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินงาน และบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ได้ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

อย่างไรก็ดี สำหรับอำนาจและหน้าที่ของคณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ได้แก่ 1. จัดทำหรือทบทวนกฎ การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ อปท. เป็นผู้ดำเนินงานบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ เสนอต่อบอร์ด สปสช. 2. สนับสนุน และประสาน อปท. ในการดำเนินงาน และบริการระบบหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นฯ สนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วม ให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินงานและบริหารจัดการเงินกองทุนในระดับท้องถิ่นฯ  ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น

3. จัดทำข้อเสนอสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ เพื่อเสนอต่อบอร์ด สปสช. 4. ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ และจัดทำข้อเสนอการพัฒนาที่ต่อเนื่อง 5. แต่งตั้งคณะทำงานตามความจำเป็น และเหมาะสมสำหรับการขับเคลื่อนประเด็นข้อ 1-4 และ 6. ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ บอร์ด สปสช. มอบหมาย

นพ.เติมชัย กล่าวว่า การดำเนินการตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ นั้น ที่ผ่านมา มีการก็ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ท้องถิ่นดำเนินการ และบริหารจัดการกองทุนและค่าบริการสาธารณสุข ได้แก่ 1. กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่สำหรับเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 2. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (LTC) สำหรับพื้นที่เทศบาล และ อบต. และ3. กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสำหรับผู้พิการ และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงที่ดูแลโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

“ที่ผ่านมามีคณะทำงานที่ดูแลที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาดูแลกองทุนอยู่แล้ว แต่การจัดตั้งคณะอนุกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม ม. 47 จะมีบทบาท และหน้าที่ในการสนับสนุนที่ชัดเจนขึ้น” นพ.เติมชัย ระบุ

อนึ่ง ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ยังได้มีมติเห็นชอบ และมอบให้คณะทำงานแก้ไขปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการการตามประกาศ บอร์ด สปสช. เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินงาน และบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ กทม. พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net