Skip to main content
sharethis

เทียบ 4 ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ใครจะได้นิรโทษกรรมบ้าง ย้อนไปไกลแค่ไหน ผู้ตัดสินใจจะนิรโทษกรรมให้เป็นใครมาจากไหน  

25 ม.ค. 2567 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้งพรรคก้าวไกลและภาคประชาชนมีการเสนอร่างนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองออกมาแล้ว ล่าสุดก็มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มาจากทางฝั่งรวมไทยสร้างชาติและทางพรรคครูไทยเพื่อประชาชนด้วยเช่นกัน โดยมีการออกร่างกฎหมายของพรรคออกมา

ทำให้เวลานี้มีร่างที่ปรากฎออกมาให้เทียบกันแล้วอย่างน้อย 5 ร่างทีมีเนื้อหาต่างกันชัดเจน คือ

  1. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ของภาคประชาชนที่รวมตัวกันจากเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อเสนอในวันที่ 1-14 ก.พ.2567

  2. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ของก้าวไกล

  3. ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติเข้ายื่นเป็นเจ้าของญัตติในสภาเมื่อ 25 ม.ค.2567

  4. ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรคครูไทยเพื่อประชาชนที่ขณะนี้เปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่บนเว็บไซต์ในระบบรับฟังความเห็นของรัฐสภาระหว่างวันที่ 22 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567

  5. ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของระวี มาศฉมาดล ของพรรคพลังธรรมใหม่ที่เปิดรับฟังความเห็นในระบบรับฟังความเห็นของรัฐสภามาตั้งแต่ 2 ก.พ.2566

อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดดูเนื้อหาของร่างกฎหมายแล้วร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยฯ และของระวีที่นอกจากจะใช้ชื่อเดียวกันแล้วเนื้อหายังมีความเหมือนกันอย่างมากทั้งการกำหนดฐานความผิดที่จะได้รับหรือไม่ได้รับการนิรโทษกรรมที่ต่างกันแค่ 1 ข้อหา กลไกการนิรโทษกรรม ส่วนที่ต่างกันบ้างคือส่วนของการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป

สำหรับความแตกต่างส่วนที่สำคัญๆ มีทั้งเรื่องช่วงระยะเวลาที่เกิดขึ้นของคดี, ฐานความผิด, กลไกการพิจารณานิรโทษกรรม และผลของการนิรโทษกรรม รวมถึงสัดส่วนของกรรมการพิจารณาว่าจะให้ใครได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง

ผลของการนิรโทษกรรม

นอกจากของภาคประชาชนที่มีการกำหนดฐานความผิด 5 ฐานที่จะได้รับการนิรโทษกรรมทันทีเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วให้คดีที่เป็นความผิดฐานอื่นๆ อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ ส่วนของก้าวไกล รวมไทยสร้างชาติ และพรรคครูไทยฯ และของระวี จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการทั้งหมดว่าจะให้คดีใดบ้างได้รับการนิรโทษกรรม แต่ก็มีความแตกต่างอยู่บ้างตรงที่ รวมไทยสร้างชาติ, ครูไทยฯ และระวี จะมีกรอบของประเภทฐานความผิดตามกฎหมายที่ระบุในบัญชีแนบท้าย

ผลของการนิรโทษกรรมมีหลายส่วนที่ใกล้เคียงกันในทั้ง 5 ร่าง คือคดีที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมจะถูกยกเลิกออกไปทั้งในชั้นการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ การพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของอัยการ และคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล รวมไปถึงการยกเลิกการลงโทษในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วคือถ้าหากถูกจำคุกอยู่ให้ได้รับการปล่อยตัวทันที

แต่ทั้ง 5 ร่างมีเพียงร่างของภาคประชาชนเท่านั้นที่ระบุชัดเจนว่าให้มีการลบประวัติอาชญากรรมในฐานข้อมูลของตำรวจไปด้วย

ม.112

ประเด็นสำคัญที่สุดในเวลานี้ที่เป็นจุดตัดสำคัญของการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองคือการตัดสินว่าจะให้มีการนิรโทษกรรมข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” หรือมาตรา 112 นี้หรือไม่ ด้วยจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของแต่ละข้างอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้เสนอร่างกฎหมายถูกแบ่งอย่างเห็นได้ชัด

ร่างที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะต้องมีการนิรโทษกรรมให้กับคดีม.112 คือฉบับนิรโทษกรรมประชาชน ที่ให้ยกเลิกคดีที่เกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาที่กฎหมายครอบคลุมถึงทันทีรวมถึงจะถูกลบประวัติอาชญากรรมด้วย

ของรวมไทยสร้างชาติ, ครูไทยฯ และของระวี ก็ชัดเจนแต่เป็นไปในทางตรงกันข้ามคือ ไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112

ส่วนของก้าวไกลแม้ว่าบรรดา สส.และแกนนำในพรรคจะแสดงท่าทีชัดเจนผ่านการพูดในวาระต่างๆ ว่าสมควรที่จะให้นิรโทษกรรมกับคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 แต่ในทางปฏิบัติคนที่ถูกดำเนินคดีนี้จะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ก็ยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตามกฎหมายและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คำวินิจฉัยเป็นอย่างไรก็คือสัดส่วนของกรรมการว่าจะมาจากขั้วทางการเมืองใดมากกว่ากัน

ความผิดที่ไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

ทั้ง 5 ร่างมีจุดที่เหมือนกันอยู่คือการไม่นิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต แต่เรื่องอื่นๆ ก็ยังมีจุดที่ต่างกันอยู่

ในร่างของรวมไทยสร้างชาติและครูไทยฯ จะไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 เหมือนกันแต่ก็มีจุดที่ไม่เหมือนกันอยู่บ้างคือของรวมไทยสร้างชาติมีการเว้นเรื่องการไม่นิรโทษกรรมให้กับคดีที่บุคคลฟ้องร้องคดีต่อบุคคลกันเอง ส่วนของครูไทยฯ และของระวีจะเว้นการนิรโทษกรรมคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเอาไว้

ส่วนของก้าวไกลและภาคประชาชนจะไม่นิรโทษกรรมให้ความผิดฐานกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ทั้งพูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.เขตดอนเมืองจากพรรคก้าวไกลได้ตอบคำถามของนักข่าวประชาไทระหว่างเสวนาในเวที “ปรองดอง” ที่จัดโดยสมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2567 ซึ่งทั้งสองให้คำตอบใกล้เคียงกันว่า ที่ในร่างกฎหมายมีเรื่องนี้อยู่เป็นเรื่องของการป้องกันการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้กระทำความผิด แต่ในส่วนที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองยังสามารถพูดคุยเจรจากันได้ในขั้นตอนหลังจากนี้เช่นในชั้นกรรมาธิการต่อไปเพื่อปรับแก้ในประเด็นนี้ได้

ความผิดที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม

แม้ทุกฉบับจะมีการกำหนดกรอบเกี่ยวกับการให้นิรโทษกรรมเอาไว้ว่าเป็นคดีที่ต้องเกี่ยวข้องกับการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองในช่วงระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา(เรื่องกรอบเวลายังเป็นอีกประเด็นที่กล่าวต่อไป) แต่นอกจากของพรรคก้าวไกลที่ส่งคดีให้คณะกรรมการพิจารณาทั้งหมด อีก 3 ร่างที่เหลือต่างก็มีการระบุฐานความผิดเอาไว้ด้วยว่าคดีฐานความผิดใดที่จะเข้าข่ายการได้นิรโทษกรรม

ลักษณะการระบุฐานความผิดไว้ในร่างกฎหมายระหว่างของภาคประชาชนกับของรวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยฯ และของระวี (ทั้ง 3 พรรคกำหนดฐานความผิดไว้ใกล้เคียงกัน) ก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งบางฐานความผิดถูกจัดอยู่ในกลุ่มคดีที่เกี่ยวข้องการชุมนุมทางการเมืองที่ผู้ชุมนุมมักจะถูกตั้งข้อหา เช่น ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้วพ่วงตามมาด้วย พ.ร.บ.จราจร, พ.ร.บ.การใช้เครื่องเสียง หรือพ.ร.บ.ความสะอาด ซึ่งเกี่ยวข้องกับลักษณะการใช้สถานที่ในการชุมนุม

ภาคประชาชน

รวมไทยสร้างชาติ+ครูไทยเพื่อประชาชน+ระวี

  1. ความผิดตามประกาศคำสั่งของ คสช.

  2. คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/57 และฉบับที่ 38/57

  3. คดี ม.112

  4. คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548

  5. คดีตามฐานความผิดใน พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559

  6. คดีอื่นๆ ที่มีข้อหาตาม 1-5 ร่วมด้วย

1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

(1) กบฏ ม.113, สะสมอาวุธ มาตรา 114, ยุยงปลุกปั่น มาตรา 116 และ นัดหยุดงานประท้วง มาตรา 117

(2) ก่อการร้าย

(3) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136 มาตรา 138 มาตรา 139

(4) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามมาตรา 209 วรรคหนึ่ง มาตรา 210 ถึง มาตรา 214 มาตรา 215 วรรคหนึ่ง มาตรา 216

(5) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามมาตรา 217 ถึงมาตรา 220 มาตรา 225 มาตรา 226

(6) ความผิดต่อร่างกาย ตามมาตรา 295 มาตรา 299 มาตรา 300

(7) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามมาตรา 309 วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาตรา 310 วรรคหนึ่ง มาตรา 310 ทวิ มาตรา 311 วรรคหนึ่ง

(8) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 มาตรา 359 (3)

(9) ความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา 362 มาตรา 364 มาตรา 365 (3) หรือ (2) โดยร่วม กระท าความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ(3)

2. ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามมาตรา 30 มาตรา 31

3. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถึง พ.ศ. 2561

4. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง พ.ศ. 2561

5. พ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง พ.ศ. 2560

6. พ.ร.บ.วิทยุ

7. พ.ร.บ.ทางหลวง

8. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548

9. พ.ร.บ.ความมั่นคง 2551

10. พ.ร.บ.จราจรทางบก

11. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (ไม่มีฐานความผิดนี้ในร่างของระวี)

12. พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 2558

อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ของการระบุฐานความผิดในร่างของภาคประชาชนจะแตกต่างกับของรวมไทยสร้างชาติ ครูไทยฯ และของระวี คือ ร่างของภาคประชาชนระบุไว้เพื่อกำหนดฐานความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมทันทีโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการซึ่งต่างกับของรวมไทยสร้างชาติและครูไทยฯ ที่กำหนดไว้เพียงเป็นกรอบให้คณะกรรมการพิจารณาอีกทีว่าจะให้นิรโทษกรรมหรือไม่

สัดส่วนกรรมการที่จะส่งผลว่าใครได้นิรโทษฯ

ประเด็นเรื่องสัดส่วนกรรมการที่จะมาพิจารณาว่าคดีใดจะได้รับการนิรโทษกรรมก็เป็นอีกประเด็นที่แต่ละร่างมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนทั้งเรื่อง ที่มา จำนวนและสัดส่วนของคณะกรรมการ ซึ่งประเด็นนี้เป็นอีกประเด็นที่สำคัญเนื่องจากเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของกรรมการว่าใครจะได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง

ในร่างของภาคประชาชนจะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองแต่ละช่วงได้เข้าร่วมในคณะกรรมการด้วยและยังให้มีสัดส่วนที่เป็น สส.ในคณะกรรมการมากถึง 10 คน ตามสัดส่วนที่นั่ง สส.ในสภา

ส่วนของก้าวไกลมีโอกาสที่จะมีประชาชนเข้ามาร่วมอยู่บ้างผ่านการเลือกของ ครม. 1 คนแต่ส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักเป็นนักการเมืองและ สส.ที่ได้รับเลือกตั้งมาและมีข้าราชการตุลาการเข้ามาร่วมด้วย

ส่วนรวมไทยสร้างชาติจะให้คณะกรรมการมีเพียง นายกฯ, รมต., สส., สว., ข้าราชการประจำ ข้าราชการตุลาการเท่านั้นที่เข้ามามีส่วนตัดสินใจว่าจะให้ใครได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง ส่วนของพรรคครูไทยและของระวีไม่ได้มีการแบ่งอย่างชัดเจนว่าจะให้ใครเข้ามาเป็นกรรมการบ้างโดยให้อยู่กับดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทั้งหมด

ดูสัดส่วนคณะกรรมการของแต่ละร่างได้ตามตารางต่อไปนี้

 

ภาคประชาชน

ก้าวไกล

รวมไทยสร้างชาติ

ครูไทยเพื่อประชาชน+ระวี

จำนวน (คน)

19

9

9

7

ที่มาและสัดส่วนกรรมการ

1) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

2) ผู้นำฝ่ายค้าน

3) ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)

4) สส. เลือก สส.มากันเองจำนวน 10 คนตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภา

5) ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากการรัฐประหาร 2549 1 คน

6) ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมช่วงปี 2552-2553 1 คน

7) ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากช่วงการรัฐประหาร 2557-2562 1 คน

8) ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมช่วงปี 2563-2566 1 คน

9) องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรม 2 คน

1) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

2) ผู้นำฝ่ายค้าน 1 คน

3) ครม.เลือกบุคคลมา 1 คน

4) สส. ที่ สส. เลือก 2 คน จากพรรคการเมืองที่มี รมต. 1 คน และพรรคการเมืองที่มีสมาชิก สส.มากที่สุดที่ไม่มี รมต. 1 คน

5) เลขาธิการสภาฯ 1 คน

6) ผู้พิพากษา/อดีตผู้พิพากษา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือก 1 คน

7) อดีตตุลาการ/ตุลาการในศาลปกครองที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเลือก 1 คน

8) พนักงานอัยการ/อดีตพนักงานอัยการที่คณะกรรมการอัยการเลือก 1 คน

นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งมา โดย

1) นายกฯ

2) รมต. ที่ ครม.เลือก 1 คน

3) อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือก 1 คน

4) อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ถูกเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 1 คน

5) สส.ที่ถูกเลือกจากที่ประชุม สส. 1 คน

6) สว.ที่ถูกเลือกจากที่ประชุม สว. 1 คน

7) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ที่ ครม.เลือกมา 1 คน

8) ปลัดกระทรวงการคลัง

9) ปลัดสำนักนายกฯ เป็นกรรมการและเลขาฯ

รมว.ยุติธรรมตั้งมาเองทั้งหมดโดยไม่ได้กำหนดว่ามาจากกลุ่มบุคคลใดบ้าง

กรอบช่วงเวลาที่เกิดคดีขึ้น

ประเด็นเรื่องระยะเวลามีจุดเริ่มต้นแตกต่างกันอยู่บ้างที่ฉบับของภาคประชาชนจะเริ่มบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คมช.ทำการยคดอำนาจรัฐบาลไทยรักไทยเมื่อ 19 กันยายน 2549 ซึ่งจะเหมือนกับของพรรคครูไทยฯและของระวี แต่จะต่างกันหลักเดือนกับของพรรคก้าวไกลที่เริ่มขึ้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ที่การชุมนุมทางการเมืองในนามกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือ คนเสื้อเหลืองเริ่มต้นขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับของพรรครวมไทยสร้างชาติที่เริ่มนับตั้งแต่ปี 2548 นั้นไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนทั้งในตัวร่างและการแถลงของพรรค แต่คาดว่าเพื่อรวมไปถึงการจัดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ของสนธิ ลิ้มทองกุลที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน 2548 หลังจากรายการถูกถอดออกจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท.

ทั้งนี้ส่วนที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญก็คือวันสุดท้ายที่กฎหมายจะครอบคลุมไปถึง

สำหรับของพรรคก้าวไกลและภาคประชาชนที่เหมือนกันคือที่ระบุว่าจนกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้นั้นหมายถึง หากยังเกิดคดีใหม่ขึ้นในระหว่างที่กฎหมายยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ ไปจนถึงวันที่กฎหมายถูกประกาศใช้จะได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย

แต่ของรวมไทยสร้างชาติที่สิ้นสุดในปี 2565 ส่วนของครูไทยฯ และระวีที่กำหนดไว้ใกล้เคียงกันคือ 30 พฤศจิกายน 2565 ทำให้คดีที่เกิดขึ้นหลังจากกรอบเวลาดังกล่าวไม่ได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย แต่ตลอดช่วงปี 2566 ที่ผ่านมายังคงเกิดคดีชุมนุมทางการเมืองอยู่และยังอาจจะเกิดคดีใหม่ๆ ขึ้นได้อีกหลังจากนี้ด้วยเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net