Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' นำนักธุรกิจลงพื้นที่ จ. เชียงใหม่ Kick Off การทำงานร่วมกันของรัฐบาลและเอกชน เดินชมตลาดจริงใจ ชิมกาแฟภาคเหนือ พร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมคนท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในพื้นที่ร่วมกัน

20 ม.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดําริ อําเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเยี่ยมชมโครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดําริ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายถึงประเด็นการส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่และการใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูก ซึ่งจากข้อมูลของโครงการศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ พบว่า ไทยมีศักยภาพในหลายปัจจัย เช่น สภาพภูมิประเทศทั้งพื้นราบและที่สูงสามารถผลิตได้ทั้งไม้ดอกไม้ผลได้หลากหลาย เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งสามารถพัฒนาเป็นพันธุ์พืชชนิดใหม่ ๆ ได้อีกมาก  ซึ่งศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ เป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกและไม้ผลให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่โครงการพระราชดำริ นำกล้าไม้ไปปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ตลาด รวมถึงยังหาตลาดให้กับเกษตรกรที่อยู่ในโครงการด้วย

สำหรับตัวอย่างพันธุ์พืชที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จในปัจจุบัน คือ พืชกลุ่มปทุมมา และกลุ่มกระเจียว หรือที่ต่างชาตินิยมเรียกว่า “สยามทิวลิป” ซึ่งมีการคิดค้นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีสีสันสวยงาม จนเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของภาคเหนือในปัจจุบัน รวมไปถึง กล้วยไม้แวนด้า ดอกไฮเด็นเยียร์ และล่าสุดมีการส่งเสริมการปลูกต้นวาซาบิ ที่สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละกว่า 10,000 บาท 

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นการ Kick Off ที่นำกลุ่มนักธุรกิจ ในนามกลุ่มรวมมิตรมาลงพื้นที่ร่วมกัน โดยส่วนตัวรู้จักกับ พล.ต.อ. วิสนุ ปราสาททองโอสถ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นการ  Kick Off ในหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องซอฟพาวเวอร์ เรื่องมวย และได้พบปะกับหลายหน่วยราชการ พร้อมย้ำว่าทุกคนเป็นผู้ที่มีฐานะดี การที่มีบุคคลสำคัญหลายคนมานั่งรวมกันอยู่ตรงนี้ถือเป็นมิติใหม่หมายที่ดี เป็นสัญลักษณ์ที่ดี เป็นกำลังใจให้คนทำโครงการดีดี  เผื่อเกิดผลเป็นรูปธรรมได้ ยืนยันว่าในฐานะที่เป็นนักการเมืองไม่ได้มาพูดคำหวานอย่างเดียว  ต้องให้กำลังใจ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สิ่งที่มีค่ามากที่สุดสำหรับนักธุรกิจไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของเวลา การต้องเสียสละเวลามาลงพื้นที่ ถือเป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติโดยเฉพาะ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีระหว่างกลุ่มรัฐบาลและกลุ่มรวมมิตรที่มาเชียงใหม่ โดยครั้งต่อไป จะไปจังหวัดยะลาขอให้มาร่วมนั่งกันให้เต็มห้องแบบนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รายละเอียดของโครงการถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่การนำเสนอการขายดอกไม้ ดูแล้วต้อง Amezing  ตื่นเต้น จากมุมมองนักธุรกิจ ต้องดูโครงสร้างด้านพาณิชยการ ทางด้านการบิน ถือเป็นประกาศอัพเกรดของที่ดีในประเทศ และถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งวันที่ 1 มีนาคมนี้ จะประกาศให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค 

ส่วนเรื่องงบประมาณ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ โดยการนำงบประมาณมาใช้ จะต้องดูที่ kpi ขอให้สำนักนายกรัฐมนตรีมาร่วมทำงาน เพื่อให้รู้ว่าลงทุนไปแล้ว จะได้อะไรบ้าง ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทยร่วมทำงานด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในหลายหลายเรื่องและจะพัฒนากันต่อไป

จากนั้น ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ และหน่วยงานความร่วมมือ จำนวน 6 งาน ได้แก่
1. งานพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ได้แก่ ลูกผสมปทุมมาและกระเจียว สายพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์พืช และคุ้มครองพันธุ์พืชที่ได้นำไปส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรจากภาคเหนือจรดภาคใต้ ลูกผสมแกลดิโอลัส ลูกผสมดาหลา และบานชื่น
2. การขยายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชนิดต่างๆ ที่นำไปส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร และงานวิจัยเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เช่น ปทุมมา กระเจียว แกลดิโอลัส วาซาบิ และ สตรอว์เบอร์รี 
3. ผลิตภัณฑ์สินค้าพืชเมืองหนาว เช่น ไฮเดรนเยีย ลิลลี ลาเวนเดอร์ และ วาซาบิ 
4. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาเย็น (Cold Plasma technology) จากความร่วมมือระหว่างศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ กับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์วิจัยเชิงธุรกิจด้านเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับเกษตรและชีวภาพ (Agriculture and Bio Plasma Technology Center : ABPlas) เพื่อพัฒนางานวิจัยด้านไม้ดอกและไม้ผล 
5. งานขยายผลกลุ่มไม้ดอก ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ (กลุ่มผู้ผลิตแกลดิโอลัส และ กลุ่มผลิตปทุมมาและกระเจียว)
6. งานขยายผลบนพื้นที่สูง งานแสดงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชนเผ่า เช่น กาแฟภูพยัคฆ์ และการทำเครื่องจักรสาน ฯลฯ

โดยทางโครงการฯ ได้ดำเนินการจัดเก็บรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกต่าง ๆ รวมไปถึงการศึกษาวิจัยพันธุ์ไม้ ซึ่งมีแผนงานพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล 7 ชนิด ได้แก่ 1. กระเจียว ปทุมมา 2. แกลดิโอลัส 3. บานชื่น 4. ดาหลา 5. แอสเตอร์ 6. หงส์เหิร และ7. สตรอว์เบอร์รี เพื่อนำผลสำเร็จในการขยายพันธุ์พืชไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในแต่ละภูมิภาคของประเทศ นำไปเพาะปลูกเพื่อประกอบอาชีพ รวมไปถึงร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ  โดยสามารถพัฒนาธุรกิจส่งออก ผ่านการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร เชื่อมโยงกับผู้ส่งออก และผู้นำเข้าจากต่างประเทศ สร้างรายได้กว่า 38,668,975 ล้านบาท 

เดินชมตลาดจริงใจ ชิมกาแฟภาคเหนือ พร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมคนท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในพื้นที่ร่วมกัน

เวลา 12.00 น. ณ ตลาดจริงใจ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเยี่ยมชมตลาดจริงใจ (JING JAI MARKET) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีเดินเยี่ยมชมและศึกษาเมล็ดกาแฟที่เป็นผลผลิตจากเกษตรกรพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ข้างเคียง เช่น เมล็ดกาแฟดอยขุนวาง อำเภอแม่วาง เมล็ดกาแฟดอยขุนช้างเคี่ยน อำเภอเมือง โดยข้อมูลจากสำนักนโยบายยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกเมล็ดกาแฟถึง 250,000 ไร่ และมียอดส่งออกกาแฟเป็นอันดับ 8 ของโลก รวมทั้งยังได้ร่วมชิมกาแฟจากร้าน Mix Kaffe ซึ่งเป็น 1 ในร้านกาแฟจากผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าร่วมออกงาน Chiang Mai Coffee Week ระหว่างวันที่ 18 – 21 มกราคม 2567 เวลา 06.30 – 21.00 น. ณ ตลาดจริงใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับบาริสต้าเจ้าของร้าน ชื่มชมรสชาติและรูปแบบการนำเสนอกาแฟ สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่พร้อมส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงภาคเกษตรกรต้นทางผลผลิต ทั้งเมล็ดกาแฟไทย และร้านกาแฟของคนไทย

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมในโซนตลาดจริงใจ Farmers Market ซึ่งเป็นตลาดผักเกษตรอินทรีย์ที่จำหน่ายพืชผัก ผลไม้ ออร์แกนิคและปลอดสารจากเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น จากอำเภอพร้าว สารภี สะเมิง ดอยสะเก็ด ไชยปราการ แม่อาย โดยภาคเอกชนได้สนับสนุนผ่านการส่งเสริม ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปลูกผลิตภัณฑ์เกษตรแต่ละชนิดให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งเป็นตัวแทนในการรับผลผลิตเข้ามาขาย และหาช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังตลาดและกระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง  ซึ่งจากเดือนมกราคม-ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ตลาดจริงใจสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนได้กว่า 295 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เดินชมผลิตภัณฑ์จากกลุ่มตลาดสินค้าทำมือ ซึ่งได้รวบรวมช่างฝืมือท้องถิ่นไว้ในพื้นที่ถึง 190 ร้านค้า เช่น การทอผ้าท้องถิ่น การออกแบบเสื้อผ้าพื้นเมืองให้ร่วมสมัยจาก young designer ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันภายในตลาดจริงใจ

ทั้งนี้ ตลาดจริงใจ (จริงใจ Farmers Market เชียงใหม่ และรัสติคมาร์เก็ต) เป็นหนึ่งในโครงการของเครือกลุ่มเซ็นทรัลที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดรักษ์โลก (Eco-friendly) และ CSV (Creating Shared Value) เพื่อส่งเสริมเกษตรกร ช่างฝืมือท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อย ตลอดจนดีไซเนอร์และศิลปินไทยในแต่ละแขนง พร้อมทั้งเป็นพื้นที่แบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับคนท้องถิ่นและชุมชน จัดแสดงผลงานส่งเสริมภูมิปัญญาอัตลักษณ์ไทย เปิดพื้นที่ในการสร้างประโยชน์เพื่อสังคมร่วมกัน โดยภายในจริงใจมาร์เก็ต แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อาหาร (Food) ศิลปะและงานออกแบบ (Art & Design) และงานฝีมือ (Craft) เปิดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 06.30 - 15.00 น.

 

ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net