Skip to main content
sharethis

'สส.ก้าวไกล' ยื่นร่าง พ.ร.บ.คุกคามทางเพศ เข้าสภา เพิ่มนิยาม-กำหนดมาตรการเพิ่มความปลอดภัยของประชาชน หวังเป็นจุดเริ่มต้นใช้กระบวนการกฎหมายที่มีมาตรฐานแก้ปัญหาคุกคามทางเพศ

18 ม.ค.2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วานนี้ (17 ม.ค.67) สส.พรรคก้าวไกล นำโดย ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ เอกราช อุดมอำนวย สส.กรุงเทพฯ เขต 10 และ ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ แถลงข่าวยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ.คุกคามทางเพศ ที่ห้องแถลงข่าว อาคารรัฐสภา

ภคมน กล่าวว่า ที่มาของร่างกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ผู้ที่กระทำคือคนใกล้ตัว กลุ่มผู้ถูกกระทำจำนวนมากคือเด็กและเยาวชน ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้สังคมเราอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย ควรจะมีกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น และขณะเดียวกันที่ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา เหตุผลส่วนหนึ่งมาจาก 2 อดีต สส. ของพรรคก้าวไกล ที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในสังคม แม้วันนี้เหตุการณ์จะคลี่คลายแล้ว แต่ในฐานะพรรคการเมืองคงไม่สามารถสิ้นสุดเหตุการณ์ดังกล่าวเพียงแค่การขับอดีต สส. ออกจากพรรคและน้อมรับผิด แต่พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคการเมือง ต้องเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ และคาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้กระบวนการทางกฎหมายที่มีมาตรฐานเพื่อแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศในสังคม

เอกราช กล่าวว่า การยื่นร่างนี้ถือเป็นการรักษาคำมั่นสัญญาที่พรรคก้าวไกลเคยหาเสียงกับพี่น้องประชาชน เนื้อหาของร่างคือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศหรือเรื่องของการคุกคามทางเพศ ซึ่งแต่เดิมมีการบัญญัติบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดเป็นลหุโทษหรือโทษเล็กน้อย จึงเป็นที่มาให้ สส.พรรคก้าวไกล นำโดยภคมนและทีมงานกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ร่วมกันพิจารณาแก้ไข โดยมีบทบัญญัติเพิ่มเติมเรื่องการนิยามคำว่า ‘คุกคามทางเพศ’ ว่าหมายถึงอะไร นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยคือ ‘คำสั่งงดเว้นกระทำการ’ หมายความว่าถ้าบุคคลใดถูกศาลฟ้องร้อง ศาลมีอำนาจสั่งให้บุคคลที่คุกคามหรือผู้ถูกฟ้อง ต้องแยกพื้นที่ออกจากผู้ถูกคุกคาม และงดเว้นการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมาย 

นอกจากนั้น ยังเพิ่มโทษของการคุกคามทางเพศ โดยแบ่งเป็นระดับ คือการคุกคามโดยการติดตามผู้อื่น การคุกคามทางเพศกับเด็ก หรือการคุกคามโดยผู้มีอำนาจเหนือกว่าที่ใช้อำนาจต่อผู้ถูกกระทำ เมื่อแบ่งเป็น 3 ระดับ จะทำให้โทษชัดเจนขึ้น รวมถึงการคุกคามทางเพศผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นเรื่องใหม่ในสังคม เราจึงเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้

ขณะที่ปารมี ในฐานะคณะทำงานด้านการศึกษาของพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตนได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีคุกคามทางเพศหลายคดี จะเห็นว่าการคุกคามทางเพศในโรงเรียนปรากฏเป็นข่าวมากขึ้น ยังไม่นับกรณีคุกคามทางเพศในครอบครัว และในสถาบันอื่นๆ ตนจึงเชื่อว่าสังคมไทยควรมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาได้แล้ว อย่างไรก็ตาม เพียงการเสนอกฎหมายอาจยังไม่เพียงพอสำหรับกรณีคุกคามทางเพศในโรงเรียน ยังมีเรื่องเกี่ยวเนื่องกับบุคลากรทางการศึกษาอีกหลายตำแหน่งและเกี่ยวข้องกับกฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของครู ใบอนุญาตของโรงเรียน ซึ่งหากครู ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือบุคลากรทางการศึกษา กระทำความผิด ก็ไม่ควรอยู่ในระบบการศึกษาอีก เพราะพฤติกรรมเหล่านี้อันตรายมาก ยิ่งใกล้ชิดนักเรียน เด็กและเยาวชน ยิ่งเป็นเรื่องอันตราย จะทิ้งปมบาดแผลทางจิตใจให้นักเรียนหรือเด็กเยาวชนคนนั้นไปตลอดชีวิต 

หลังจากการยื่นร่างกฎหมายในวันนี้ ตนยังต้องการยื่นแก้ระเบียบข้อบังคับของคุรุสภาเกี่ยวกับใบประกอบวิชาชีพของผู้อำนวยการหรือบุคลากรการศึกษาที่มีพฤติการณ์คุกคามทางเพศ ว่าต้องเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตลอดไปหรือไม่ โดยจากประสบการณ์ ประเด็นการคุกคามทางเพศนั้นละเอียดอ่อนมาก สภาพจิตใจของผู้เสียหายเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง จึงต้องเร่งแก้ไขกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ปัญหาการคุกคามทางเพศหมดไปจากประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net