Skip to main content
sharethis

การชุมนุมของเยาวชน นิสิต นักศึกษาในปี 2563 กลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จิตสำนึกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ผลิบาน เพลงเพื่อชีวิตรุ่นเก่ายุค 80-90 กลับแผ่วหายไปจากการชุมนุมที่มักเป็นของคู่กันมาตลอด ทำไมคนรุ่นใหม่ ณ เวลานั้นจึงไม่เอาเพลงเพื่อชีวิตยุคเก่า ‘ประชาไท’ ชวนไปหาคำตอบ

  • การขึ้นเวที กปปส. ของศิลปินเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่จำนวนหนึ่งและการแต่งเพลงสนับสนุนประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นจุดสิ้นสุดของเพลงเพื่อชีวิตยุคเก่า
  • เพลงเพื่อชีวิตต้องไม่รับใช้อำนาจ แต่ต้องรับใช้ประชาชนในฐานะที่เท่าเทียมกันกับศิลปิน มิใช่วางตัวเหนือกว่าประชาชน
  • ดนตรีเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ 21 เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ทางดนตรีของคนรุ่นใหม่ด้วยตนเองและปลดแอกจากคนเดือนตุลาฯ เกิดเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่ที่มีความหลากหลายทั้งท่วงทำนองและแนวดนตรี
  • เมื่อจิตสำนึกประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่เพิ่มสูงขึ้น พวกเขาจึงพิจารณาทั้งบทเพลงและตัวศิลปินว่ามีอุดมการณ์สอดคล้องกับบทเพลงของตน สอดคล้องกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ผลคือศิลปินเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่จำนวนหนึ่งมีจุดยืนสนับสนุนรัฐประหาร ทำให้พวกเขาบทเพลงเหล่านี้ไม่ตอบโจทย์สังคมการเมืองและหมดหน้าที่ไปแล้ว

 

อาจจะช้าเกินไปมาก แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปในการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และเยาวชนในปี 2563 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย เกิดการชุมนุมที่นำโดยนักเรียน นักศึกษากระจายไปทั่วประเทศ หากไม่มีโควิด-19 เข้ามาแทรกแซงจังหวะ ตอนนี้ฉากทัศน์การเมืองไทยอาจเป็นอีกแบบ?

การชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้คือเพลงและดนตรีเพื่อชีวิต (แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเพลงแนวอื่นในการชุมนุม) ในการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง 4 ครั้งก่อนหน้านั้น-พฤษภาทมิฬ 2635, พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปี 2549 และ 2551, การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เราได้เห็นบทบาทและฟังบทเพลงของนักดนตรีเพื่อชีวิตที่เฟื่องฟูในยุค 80-90

ทว่า ในปี 2563 กลับต่างออกไป บทบาทและบทเพลงเพื่อชีวิตในอดีตแทบจะเหือดหายไปจากความรับรู้ของเยาวชน เพลงเพื่อชีวิตที่คนยุคนั้นคุ้นเคยในสไตล์ดนตรีกลับมีแร็ป ร็อค ป๊อป และแนวอื่นๆ ผลิขึ้นมาแทนที่

บทบาทของนักดนตรีเพื่อชีวิตในอดีตและบทเพลงของพวกเขาหายไปไหน?

กปปส. กับจุดสิ้นสุดของเพลงเพื่อชีวิตยุคเก่า

ชิษณุพงศ์ อินทร์แก้ว นักวิชาเกรียน (เจ้าตัวนิยามตัวเอง) ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ ‘เพลงประท้วงในประเทศไทย ยุคหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557’ อธิบายว่า ในช่วงการชุมนุมของ กปปส. มีกลุ่มศิลปินเพื่อชีวิตระดับตำนานหลายคน ขึ้นเวทีม็อบ กปปส. นั่นถือเป็นจุดสิ้นสุดของเพลงเพื่อชีวิตยุคเก่าและเป็นจุดเริ่มต้นของเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่

เขาเล่าว่าตอนที่แอ๊ด คาราบาวหรือยืนยง โอภากุลแต่งเพลงนาวารัฐบุรุษ ปี 2557 ก็ทำให้เกิดกระแสลบทางการเมืองต่อนักเพลงเพื่อชีวิตยุคนั้น ตอนปี 2563 ที่มีการชุมนุมใหญ่ที่สุดหลังจากปี 2557 ที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues เล่นเพลงเมดอินไทยแลนด์กลับโดนผู้ร่วมชุมนุมโห่ นั่นเป็นจุดหนึ่งที่ชิษณุพงศ์เห็นว่าหมดยุคของศิลปินเพื่อชีวิตในอดีตแล้ว

ชิษณุพงศ์ อินทร์แก้ว

ชิษณุพงศ์กล่าวต่อว่า ขณะที่เพลงเพื่อชีวิตยุค 6 ตุลาคม 2519 หรือเพลงยุคป่าซึ่งมีอุดมการณ์ชัดเจนที่ตรงกับการชุมนุมปี 2562-2563 เพลงจึงไม่ใช่แค่เพลง แต่ผูกโยงอุดมการณ์ของผู้ร้องเข้าไปด้วย ทำให้เพลงของวงโฮปหรือคีตาญชลีได้เปล่งเสียงในการชุมนุม อย่างไรก็ตาม เพลงยุคนั้นที่เป็นที่รู้จักวงกว้าง เช่น ถั่งโถมโหมแรงไฟ แสงดาวแห่งศรัทธ ยังได้รับการขับขาน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงยุคป่า เพลงสหาย อย่างเพลงจากลานโพธิ์ถึงภูพาน เป็นต้น

ในมุมมองส่วนตัวของชิษณุพงศ์เห็นว่าเป็นเรื่องราวยุคหลังออกจากป่า เช่น คาราวานยุคหลังออกจากป่าแล้วก็มีคาราบาวเกิดขึ้น รวมถึงศิลปินเพื่อชีวิตอื่นๆ เมื่อเพลงเพื่อชีวิตเข้าสู่ยุคธุรกิจเทปบวกกับกลไกทุนนิยมทำให้เจ้าของค่ายเพลงซึ่งมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลทหารอยู่แล้ว ทำให้เนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิตยุคขบวนการนักศึกษาปี 2516 ถูกลดทอนเนื้อหาลงเหลือเป็นเพียงแฟชั่น กลายเป็นเพลงรักหรือเพลงที่พูดถึงชีวิต เพลงเพื่อชีวิตกลายเป็นสินค้าซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เพลงเพื่อชีวิตเนื้อหาเบาลงไป ไม่กล้าวิพากวิจารณ์รัฐบาล แนวคิดสังคมนิยมที่เคยอยู่ในเพลงเพื่อชีวิตก็เหือดหายไป

เพลงที่ไม่รับใช้อำนาจ

ถึงจุดนี้ต้องย้อนกลับไปหานิยามของเพลงเพื่อชีวิต เราเลือกถามคำถามนี้กับชูเวช เดชดิษฐรักษ์ แห่งวงสามัญชนซึ่งให้นิยามว่าคือเพลงที่พูดถึงชีวิต พูดถึงเลือดเนื้อของคน เขาอธิบายว่าปกติแล้วเพลงในบริบทโลกมักรับใช้อำนาจบางอย่าง เช่น เพลงคลาสสิค เพลงโอเปร่ารับใช้ชนชั้นสูง ในโบสภ์มีการใช้เพลงเพื่อสร้างความโอ่อ่า ความอลังการ ความศักดิ์สิทธิ์ ส่วนในดนตรีไทย จิตร ภูมิศักดิ์เขียนว่าได้รับอิทธิพลจากเขมรสืบทอดมาเป็นเพลงที่พูดถึงความสง่าผ่าเผยของสถาบันพระมหากษัตริย์ ความสง่าผ่าเผยของอิริยาบถต่างๆ

“ผมคิดว่าการครอบครองดนตรีคือการครอบครองอำนาจในการส่งต่อความรู้สึกบางอย่างต่อผู้คน เพื่อใช้มันสนับสนุนอำนาจของชนชั้นปกครอง ดังนั้น ดนตรีเพื่อชีวิตของมนุษย์ย่อมแตกต่างกันกับดนตรีในอดีตที่เอาไว้รับใช้ชนชั้นสูง”

เมื่อเป็นเช่นนี้ เพลงเพื่อชีวิตจึงมีราคาที่ต้องจ่าย หลายครั้งคราที่ฝ่ายปกครองไม่ยอมรับ ชูเวชยกตัวอย่างบ็อบ ดีแลน ที่เพลงของเขาไม่เคยอยู่ในสถานะเครื่องมือของรัฐ ขณะที่เอลวิส เพรสลี่เป็นเครื่องมือของรัฐชัดเจน ผ่านกิจกรรมเดินสายเพื่อส่งต่ออุดมการณ์ชาตินิยม โจมตีคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นดนตรีเพื่อชีวิตจึงเป็นเพลงที่อุทิศให้ชีวิตมนุษย์ ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์จะอธิบายขยับไปอีกว่าดนตรีเพื่อชีวิตควรเป็นดนตรีเพื่อประชาชนและประชาชนไม่จำเป็นต้องชอบ หมายความว่าหลายครั้งดนตรีศิลปะเพื่อประชาชน มันไปกระตุก กระชาก ความจริงบางอย่างที่ประชาชนไม่อยากฟัง

“ผมคิดว่าผมยอมรับแล้วถูกสังคมสาปแช่งก็ได้ แม้ว่าโอเค เราคิดว่าเราจะทำเพื่อชีวิต แล้วรวมไปถึงเพื่อชีวิตเราเอง คือเราไม่ได้คิดว่ามันแยกขาดหรืออุทิศตนขนาดนั้น ผมจะหมายถึงว่าเพื่อชีวิตผมด้วย ถ้าไปดูเพลงเพื่อชีวิตยุค 14 ตุลาคมจะมีเซ๊นส์ความเป็นปัญญาชนชี้นำสังคม มี hierarchy นิดหน่อยไหม ซึ่งผมไม่เคยเรียกตัวเองแบบนั้น แต่ถ้าเราเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ 21 เรารับได้กับคำนี้ เพราะว่าเรากลัวที่จะต้องแบกคำว่าเพื่อชีวิตในยุคก่อนมาด้วย”

ดังนั้น เพลงเพื่อชีวิตจึงไม่ถูกจำกัดด้วยแนวดนตรี แต่อยู่ที่เนื้อหา ชูเวชมีทัศนะว่าเพลงของ EMINEM ก็มีเนื้อหาเป็นเพลงเพื่อชีวิต หรือเพลงแร็ป THIS IS AMERICA ของดอนัลด์ โกลเวอร์ ที่พูดถึงประเทศอเมริกาเป็นประเทศที่มีแต่อาชญากรรม การสบถของคนผิวดำที่ปลดปล่อยเรื่องราวโครงสร้างอยุติธรรมของอเมริกา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่เพลงเพื่อชีวิต

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ แห่งวงสามัญชน (คนกลาง)

ดนตรีเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ 21

ชูเวสกล่าวว่าดนตรีเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ 21 ต่างจากดนตรีเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ 20 ตรงที่ศิลปินเห็นตนเองเป็นส่วนหนึ่งของผู้ได้ประโยชน์ อยู่ในระนาบเดียวกันของคำว่าชาวบ้าน ไม่ใช่ปัญญาชนที่ชี้นิ้วสั่งการ หรือบอกว่าอุทิศตนให้

“เราอยู่ในระนาบเดียวกับเขา เท่ากันกับมวลชน ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เราจะไม่รู้สึกว่าเราเสียสละอะไรมากมายครับ และเราไม่ได้คิดว่ามวลชนจะต้องตอบแทนอะไรเราในอนาคต เราเห็นวงเพื่อชีวิตหลายวงที่วันหนึ่งเคยร้องคำว่าโค่นล้มจักรพรรดิฟาสซิสต์ ศักดินา แล้ววันหนึ่งก็ไปร่วมกับม็อบที่สามารถเทิดพระเกียรติ เรียกร้องนายกฯ มาตรา 7 ได้อย่างไม่อายอุดมการณ์ตัวเอง คือซ้ายเก่าบางคนอาจจะไม่เชื่อเรื่องประชาธิปไตยแล้วก็ได้ เขาอาจจะต้องการยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลง ทีนี้พอถึงเวลาที่มีคนมารัฐประหารเขาเลยไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อน เพราะว่า concept ของการคิดว่าคนนี้เป็นคนดีหรือเปล่า ถ้าอำนาจอยู่ฝั่งที่เราชอบ เราก็แฮปปี้ มันคือต้องการปลายทางที่ดีเลย คนกลางไม่ได้นำไปสู่สิ่งนั้น แสดงว่าเป้าหมายของการโค่นล้มจักรวรรดิฟาสซิสต์และศักดินาของเขาในอดีตมันคือการสร้างฟาสซิสต์ใหม่หรือเปล่า”

เพลงเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ 20 ณ เวลานี้ที่การต่อสู้ของประชาชนเข้มข้นมาก มันหมดหน้าที่แล้วหรือไม่ ชูเวชกล่าวว่าเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เด็กรุ่นใหม่ก็ยังร้อง มันพิสูจน์ผ่านกาลเวลา แล้วพวกเขาก็พิจารณามากขึ้นว่าใครเป็นผู้แต่ง ต่อให้เนื้อหาดีแต่ถ้าพิจารณาแล้วเป็นการผลิตซ้ำหรือเพิ่มอำนาจให้ผู้แต่ง พวกเขาก็ไม่นำมาร้อง แต่เลือกที่จะเปิดโอกาสให้วงใหม่ๆ ได้มีพื้นที่ ชูเวชเข้าใจว่าเด็กรุ่นใหม่พยายามสร้างประวัติศาสตร์ เพราะรุ่นเขาโตมากับการถูกคนยุคเดือนตุลาฯ ทวงบุญคุณและปรามาสพวกเขาไว้มากว่าเป็นพวกไม่สนใจการเมือง ทำม็อบลงถนนไม่ได้ เอาแต่เพลงเก่าๆ ไปร้อง ไม่ผลิตผลงานตัวเอง

“ผมก็เลยเลือกที่จะไม่ร้องเพลงที่เชื่อเรื่องฟาสซิสต์ไปเลย ไปให้สุด แต่งเพลงของตัวเอง เป็นจุดเริ่มต้นของวงสามัญชนว่าเราอยากบันทึกประวัติศาสตร์ของตัวเอง อยากมีเพลงของตัวเองไว้ให้ร้อง อย่าง เพลงอนาคตคือ ของมิลลิกับยังโอห์ม ผมว่านี่คือเพื่อชีวิตนะ แค่อยู่ในฟอร์มของ RAP เฉยๆ”

ศิลปินเพื่อชีวิต แต่สนับสนุนรัฐประหาร

ส่วนชิษณุพงศ์เลือกที่จะเรียกว่า เพลงประท้วงหรือ Protest Song ในภาษาอังกฤษ เพราะไม่มีคำว่า Music for Life ในต่างประเทศ ขณะที่เพลงประท้วงมีความหมายที่ตรงกับเพลงเพื่อชีวิตในสังคมไทยมากกว่า ซึ่งหมายถึงเพลงเพื่อประชาชน เพลงที่ต้องการให้สังคมดีกว่าเดิม

นอกจากนี้เพลงเพื่อยุคก่อนก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักเป็นส่วนใหญ่ แต่เพลงที่เล่าเรื่องราวชีวิตคนจน เพลงที่พูดถึงปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างแทบไม่มี นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เขาเลือกจะใช้คำว่า เพลงประท้วงสำหรับเพลงที่พูดถึงชีวิตผู้คนและลดความ romanticize ของเพลงเพื่อชีวิตลง เขายกตัวอย่างเพลงประท้วงของวงสามัญชนที่พูดถึงปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งเขาถือว่าเป็นเพลงประท้วงที่เกิดขึ้นในยุคนี้

แล้วเพลงเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ 20 ล่ะเป็นอย่างไร ชิษณุพงศ์อธิบายว่าเป็นยุคของธุรกิจเทปที่ทำให้เพลงเพื่อชีวิตได้รับความนิยมสูงเนื่องจากพูดถึงคนจน ชีวิตชนบท ความรักที่ไม่สมหวัง มีความ romanticize ที่ทุนนิยมอนุญาตว่าต้องสู้ทุกวันเพื่อชีวิตที่ดี แต่ทุนนิยมไม่อนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เพลงเพื่อชีวิตในยุคนั้นจึงโดนลดทอนเป็นเพียงแฟชั่น โดนลดทอนความเป็นศิลปินเพื่อประชาชน

“ในเรื่องบทบาททางการเมือง ผมว่ามันก็โดนลดบทบาทเพราะอาจเรียกได้ว่าเป็นการเลือกฝั่งเผด็จการในยุคนั้น ซึ่งเป็นปกติของนักดนตรีที่บางทีเขาอาจจะไม่มีความแหลมคมทางการเมือง สนับสนุนรัฐประหาร มันไม่ตรงกับศิลปินเพื่อชีวิตอยู่แล้ว เพื่อชีวิตเป็นเพลงของผู้ที่มีสถานะรองหรือเป็นคนที่ต่อต้านอำนาจนิยม แต่เขาไปสนับสนุนพวกนี้ก็ไม่สมเหตุสมผล แล้วก็ไม่มีหลักอะไรสักอย่างที่จะพูดเนื้อหาทางการเมือง ปัจจุบันตำนานหลายท่านสนับสนุนรัฐประหาร ไม่อยู่ในร่องในรอย ไม่ได้เหมือนตอนที่สนับสนุนขบวนการนักศึกษา มันเลยทำให้เขาโดนลดทอนความเป็นศิลปินเพื่อประชาชน

“แล้วก็เกิดศิลปินอย่างพวกแก้วใส วงสามัญชนที่มีอุดมการณ์ชัดเจน ต่อสู้กับเผด็จการ มันตรงข้ามกับศิลปินเพื่อชีวิตในตำนานบางคนที่พัวพันกับผู้มีอำนาจ พัวพันกับการเชียร์ให้คนไปบุกรุกป่า มันจึงโดนลดทอนไปเลย”

ดังที่ชิษณุพงศ์กล่าวไว้ในช่วงแรกว่าเพลงเพื่อชีวิตยุคก่อนสิ้นสุดลงเกิดการชุมนุมของ กปปส. และเมื่อแอ๊ด คาราบาวแต่งเพลงนาวารัฐบุรุษ ขณะเดียวกันก็มีเพลงบทเพลงของวงสามัญชนปล่อยออกมา เขาเห็นว่าเป็นจุดตัดเพราะตอนที่แอ๊ด คาราบาวปล่อยเพลงนาวารัฐบุรุษ ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรีแต่งเพลงคืนความสุข ก็มีคนถูกจับ ถูกปรับทัศนคติ ถูกคุมขัง เขาจึงถือเป็นการสิ้นสุดยุคของคาราบาว แต่เพลงของวงสามัญชนพูดถึงคนที่ถูกจับและมีพัฒนาการ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่

“ก่อนหน้านั้นก็มีเพลงของคนเสื้อแดงใช่ไหมครับ เพลงของพี่แป๊ะ บางสนาน เพลงของพี่อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ซึ่งเป็นเพลงที่ค่อนข้างที่จะโจมตี แล้วก็มีการผลิตที่ยังไม่เหมือนวงสามัญชนเลย ถ้าเป็นลักษณะทางดนตรี ซึ่งเขาจะใช้การใช้คอร์ดง่ายๆ ไม่มีความป๊อบเท่าสามัญชน ผมจึงคิดว่าวงสามัญชนเป็นหมุดหมายใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคของปี 2557 และเป็นจุดสิ้นสุดของเพลงเพื่อชีวิตยุคเก่า”

เพราะศิลปินและอุดมการณ์สวนทางกัน คนรุ่นใหม่จึงไม่ยอมรับ

“ผมว่า (เพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่) มันกลับไปคล้ายกับยุคของขบวนการนักศึกษา 2516 คือมันมีแนวคิดสังคมนิยมอยู่ในนั้น การโจมตีผู้มีอำนาจ การต้องการสังคมที่ดีกว่า การพูดถึงรัฐสวัสดิการ ซึ่งในยุคนั้นมีแนวคิดอยู่แล้วแต่ไม่ชัดเท่ายุคนี้ แต่การต่อสู้กับผู้มีอำนาจถ้าพูดตรงๆ ก็คือเพลงที่มีเนื้อหาแนวๆ 112 ค่อนข้างเยอะเลย แบบเพลงไม่มีคนบนฟ้าของ t_047 มันชัดเจนว่า เฮ้ย คนมันเท่ากันนะ แล้วก็เพลงที่พูดถึงคนที่โดนจับ โดนอุ้มหายก็เยอะมากในยุคนี้ ซึ่งคล้ายๆ ยุค 2516 เพลงการะเกดของวงต้นกล้าก็เป็นดนตรีไทยที่โจมตีแล้วยกตัวอย่าง King ขึ้นมาเลย แต่ในยุคนี้จะมีเพลงอยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ของวงสามัญชน ที่มันแตกต่างกับเพลงวงอื่นๆ” ชิษณุพงศ์กล่าวและอธิบายต่อว่า

เพลง อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ เป็นเพลงที่นำเสนอแนวคิดว่าจะไปสู่สังคมที่ดีได้อย่างไร ซึ่งค่อนข้างแปลกใหม่ในยุคนี้ เป็นการนำแนวคิดรัฐสวัสดิการที่ได้รับความนิยมมากล่าวถึงในเพลง ขณะเดียวกันศิลปะของยุคนี้ก็มีลักษณทิ่มแทงผู้มีอำนาจ นำเสนอปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น กลุ่ม Rap Against Dictatorship ที่ด่า เสนอปัญหา และเสนอว่าจะมีสังคมที่ดีอย่างไร ลักษณะทางดนตรีก็ป๊อบขึ้น มีความหลากหลายซึ่งเป็นพัฒนาการทางดนตรีในยุคสมัยนี้ที่เข้าใกล้เทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น ศิลปินสามารถทำเพลงเองได้ใน Home Studio  ต่างจากสมัยก่อน จึงทำให้แนวเพลงยุคนี้ขยายกว้างขึ้น มีเนื้อหาและรูปแบบทางดนตรีหลากหลายขึ้น

แม้ว่าเพลงเพื่อชีวิตยุคก่อนหลายเพลงก็ยังเข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน แต่ผู้ฟังก็พิจารณาอุดมการณ์ทางการเมืองของศิลปินควบคู่กับผลงานด้วย เมื่อเนื้อหากับอุดมการณ์สวนทางกันทำให้เกิดความรู้สึกถึงความเทียม ความหลอกลวง ชิษณุพงศ์กล่าวเสริมว่าต้องยอมรับด้วยว่าเนื้อหาของการประท้วงในยุคนี้ทะลุเพดานไปแล้วและมีเนื้อหาทางการเมืองที่แหลมคม

“ผมเคยไปคุยกับเด็ก ม.ต้น ในม็อบ เขาก็พูดถึงเนื้อหาทางการเมือง การไม่เอา 112 ได้แหลมคมมาก พูดถึงคุณภาพชีวิต ปัญหาผังเมือง คือมันไปไกลมาก ผมคิดว่าเนื้อหาก็ต้องไกลไปด้วย มันมีเพลงของไทยทศมิตรที่ถือเป็นเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่ แต่คนก็ไม่ได้มองเขาเป็นศิลปินเพื่อชีวิต แต่เขายอมรับในอุดมการณ์ของตัวศิลปิน”

สรุปได้ว่าการที่เพลงเพื่อชีวิตศตวรรษที่ 20 แผ่วหายไปในการชุมนุมปี 2563 เป็นเพราะจุดยืนของศิลปินเพื่อชีวิตระดับตำนานหลายคนสวนทางกับแนวคิดประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ซึ่งมีสำนึกทางการเมืองมากขึ้นก็พิจารณาเห็นความไม่คงเส้นคงวานี้จึงไม่สนับสนุน อีกทั้งยังต้องการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเพลงเพื่อชีวิตในยุคของตนเองขึ้นมาที่มีเนื้อหาแหลมคมทิ่มแทงอำนาจทะลุเพดานกว่า เพื่อผลักดันสังคมที่ดีกว่า ซึงเพลงเพื่อชีวิตศตวรรษที่ 20 ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้แล้วในศตวรรษที่ 21

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net