Skip to main content
sharethis

'ชัยธวัช' ก้าวไกล อภิปรายร่างงบรายจ่ายปี'67 ไร้ยุทธศาสตร์และวาระของรัฐบาลใหม่ งบนโยบายเรือธงอาจตั้งงบฯ ไว้ไม่เพียงพอ สะท้อนปัญหารัฐบาล 'เฉพาะกิจ' แบ่งปันอำนาจ รักษาสถานะ ไม่มีวาระผลักดันนโยบายร่วมกัน ในฐานะฝ่ายค้าน พร้อมสนับสนุนรัฐบาลปฏิรูประบบราชการ-งบประมาณ 

 

3 ม.ค. 2567 ช่องยูทูบ TP Channel หรือสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 ประจำวันที่ 3 ม.ค. 2567 โดยมีวาระการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2567 ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน กล่าวอภิปรายว่า เขายังพบเห็นปัญหาของรัฐบาลตั้งแต่การแถลงนโยบาย กำหนดแผนงานรายกระทรวง จนถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ยังมีอยู่เหมือนเดิม ยังเป็นแผนงบประมาณกว้างๆ มีเนื้อใจที่เลื่อนลอย จับต้องไม่ได้ สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ และการลำดับความสำคัญ

ชัยธวัช กล่าวถึงปัญหาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ด้วยว่า ก่อนหน้านี้ช่วงกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเคยมีมติให้ทบทวน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าวใหม่ โดยเห็นชอบให้มีการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ ทบทวนแนวทางในการทำงบประมาณ และการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีใหม่ รัฐบาลใช้เวลา 3 เดือนในการปรับปรุง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้ ซึ่งคาดหวังกันว่าจะนำไปสู่การจัดสรรงบฯ ใหม่ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายเป้าหมายของรัฐบาล แต่สุดท้าย 3 เดือนผ่านไป เราดูร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ที่เรากำลังพิจารณา พบว่ามันแทบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเลยอย่างมีนัยยะสำคัญ

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ควรยึดโยงกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ก็ต้องผิดหวัง ยกตัวอย่าง ในร่างระบุว่าจะเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน แต่กลับไม่มีการสะท้อนเรื่องนี้เลย และไม่มีการตั้งงบประมาณชดเชยหนี้ให้กับ กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) จากนโยบายลดค่าไฟฟ้า สุดท้าย ถ้าไม่ตั้งงบประมาณเอาไว้ จะใช้งบฯ กลาง หรือว่ารอไปอีก 3-4 เดือน เมื่อ กฟผ. แบกรับหนี้ไม่ไหว ก็จะยุตินโยบายนี้หรือไม่ 

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า นโยบายเร่งด่วนที่บอกว่าจะให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเราทราบดีว่าถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราต้องมีการจัดทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 1-2 ครั้ง แต่ตอนนี้เราไม่เห็นการตั้งงบประมาณรอไว้สำหรับเรื่องนี้แต่อย่างใด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของบฯ ไว้ 2 พันล้านบาท แต่ได้มา 1 พันล้านบาท เรื่องนี้คาดการณ์ได้ แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น

ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ซึ่งการแถลงนโยบายนั้น นายกฯ และรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่กู้ และจะบริหารงบประมาณปกติในการดำเนินนโยบายเรือธงอันนี้ แต่วันนี้ชัดเจนว่าไม่มีการตั้งงบประมาณใดๆ ไว้ในปี 2567 และชัดเจนว่ารัฐบาลจะต้องรอการเสนอ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เข้าสู่สภาฯ ได้หรือไม่ 

ชัยธวัช กล่าวต่อว่า ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้ 3,480,000 ล้านบาท ไม่ได้สะท้อนวาระของรัฐบาล หน้าปกดูดีแต่ดูด้านในไม่ได้สะท้อนเป้าหมายหรือนโยบายของรัฐบาลใหม่ ส่วนใหญ่โครงการเดิมๆ แต่เอามาเปลี่ยนปกแบบมั่วๆ ก็มี โครงการเก่าๆ เดิมๆ เอามาโยงกับเป้าหมายใหม่ แถมยังนับรวมเอาทุกรายจ่าย และมาเคลมว่าเป็นงบฯ ใหม่สำหรับการลงทุนของรัฐบาลใหม่ เช่นงบตัดก่อสร้างทำถนน เอามาโยงว่าตอบโจทย์ได้แทบทุกยุทธศาสตร์ 

หัวหน้าฝ่ายค้าน ระบุต่อว่า เราเห็นโครงการใหม่อยู่ประมาณ 200 โครงการเท่านั้น ซึ่งโครงการใหม่แทบทั้งหมดเกิดขึ้นไม่ใช่เพราะรัฐบาลชุดใหม่ แต่เกิดขึ้นจากหน่วยรับงบประมาณใหม่ที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ เขาเลยต้องมีโครงการใหม่ ไม่ใช่การขับเคลื่อนของรัฐบาล โครงใหม่ๆ เหล่านี้ไม่ได้สะท้อนวาระของรัฐบาลจริงๆ 

ปัญหางบประมาณคาดการณ์รายได้เกินจริง-งบฯ นโยบายเรือธงรัฐบาล 'หายวับ'

ชัยธวัช ยังสะท้อนปัญหาของงบประมาณฉบับนี้เพิ่มเพิม ทั้งการคาดการณ์รายได้เกินไปเยอะมาก เท่าที่คำนวณประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งมีคำถามว่าทำไมต้องเกินจริงไปเยอะขนาดนั้น ทำเช่นนี้เพื่อเพิ่มแผนรายจ่ายให้สูงขึ้น แต่ในฝั่งรายจ่ายที่ควรจะต้องทราบว่าต้องจ่ายแน่ๆ หรือคาดการณ์ว่าจะต้องจ่ายในปีงบประมาณนี้ไม่พอ อาทิ เงินบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ เงินเดือนข้าราชการ สวัสดิการต่างๆ ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วทำแบบนี้ ตั้งงบประมาณไม่พอทั้งที่ทราบอยู่แล้ว สุดท้าย ต้องไปทำงบประมาณรายจ่าย เพื่อชดใช้หนี้เงินคงคลังภายหลัง

(ที่มา: TP Channel)

ชัยธวัช กล่าวต่อว่า ในส่วนของงบประมาณที่คาดการณ์ว่าจะต้องเพิ่ม เช่น นโยบายเพิ่มงบเดือนข้าราชการ 10 เปอร์เซ็นต์ ค่าชดเชยภาษีรถยนต์ EV ที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลเก่า ค่าไฟที่ต้องชดเชยหนี้ให้กับ กฟผ. งบฯ Soft Power บอกว่าจะตั้งงบฯ ไว้ 5 พันกว่าล้านบาท เหล่านี้ก็ไม่เห็นใน พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ รวมๆ 2 ก้อนนี้ไม่น่าจะเกิน 1 แสนล้านบาท สุดท้าย ก็ต้องปัดเป็นงบประมาณกลาง และชดเชยเงินคงคลังในปีถัดๆ ไป ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว 

"ด้วยสภาพแบบนี้เราจึงมองไม่เห็นวาระเป้าหมายรัฐบาลผ่านการผ่านร่างงบประมาณฉบับนี้" หัวหน้าฝ่ายค้าน กล่าว 

สาเหตุการจัดงบฯ ผิดปกติ เพราะเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ปัญหาความไร้เป้าหมายของรัฐบาล ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้ มีสาเหตุมาจากเส้นทางการเข้ามามีอำนาจของรัฐบาล ซึ่งทำให้รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อแบ่งปันอำนาจ ไม่ได้มีวาระเป้าหมาย และนโยบายในการขับเคลื่อนร่วมกัน ดังนั้น เราจึงเห็นการตั้ง ครม.ที่ผิดฝาผิดตัวทั้งหมด ไม่ได้วางงานตามเป้าหมาย แต่แบ่งตามโควต้าพรรคการเมือง วางเจ้ากระทรวงไม่ถูกกับงาน พรรคแกนนำรัฐบาลไม่ได้วางคนบริหารกระทรวง กรม หรือหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเรือธงอย่างบูรณาการ 

“วันนี้จากที่เคยบอกว่า คิดใหญ่ทำเป็น บางทีบางวัน บางทีบางวันกลายเป็นคิดไปทำไป คิดสั้นไม่คิดยาวบ้าง คิดอย่างทำอย่าง ก็มี” 

“หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้จะมีวาระร่วมกันจริงๆ ผมเห็นว่ามันคงเป็นวาระเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางอำนาจของชนชั้นนำ เพราะว่าการเข้าสู่รัฐบาลชุดนี้ เพื่อเป็นการรักษาสถานะเดิมของสังคมไทยเอาไว้ เป็นการรวมตัวกันเพื่อพยายามฝืนทวนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เป็นการรวมตัวกันเพื่อป้องกันพลังทางสังคมแบบจารีต และต่อต้านพลังทางสังคมใหม่ๆ ที่ต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้” ชัยธวัช กล่าว

ฝ่ายค้านยินดีช่วยรัฐบาลปฏิรูปรัฐไทย

ชัยธวัช กล่าวว่า แม้ว่าช่วงก่อนรัฐประหารปี 2549 รัฐบาลที่มาจากการเลืแกตั้งเล็งเห็นว่า หากประเทศจะพัฒนาให้เจริญกว่านี้ ต้องมีการปฏิรูประบบราชการ กระบวนการกำหนดนโยบายที่ล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการปฏิรูประบบงบประมาณที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงและยุทธศาสตร์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้าราชการ

หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ชนชั้นนำจารีตกลับมามีอำนาจทางการเมือง และเราไม่เคยเห็นการปฏิรูปรัฐไทยในลักษณะนั้นอีกเลยอย่างจริงจังอีกเลย เนื่องจากพลังทางการเมืองที่เป็นพลังใหม่ ที่เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ได้กลับไปร่วมสมาคมกับอำนาจเก่าแล้ว 

(ที่มา: TP Channel)

หัวหน้าฝ่ายค้าน ระบุต่อว่า สุดท้ายอยากสื่อสารไปยังรัฐบาลว่าเราไม่สามารถอยู่กันแบบเดิมๆ ได้อีกแล้ว รัฐบาลทราบดี หลังรัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐราชการรวมศูนย์ของไทยกลับมาเติบโตขยายตัว รวมศูนย์มากขึ้น ดูเฉพาะงบรายจ่ายบุคลากรภาครัฐในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แทนที่รัฐจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรากลับมีบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นถึง 500,000 คน มีภาระรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรภาครัฐ 40% ของงบรายจ่ายประจำปี 

ชัยธวัช กล่าวว่า เราไม่สามารถเดินไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้ หากไม่พยายามปฏิรูปรัฐไทยและระบบงบประมาณอย่างจริงจัง พวกเราในฐานะฝ่ายค้านไม่อยากเห็น พ.ร.บ.งบประมาณที่เหมือนเดิม ที่ไม่เปลี่ยนแปลงแบบนี้อีกในครั้งต่อไป แม้เป็นฝ่ายค้าน เราพร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการปฏิรูประบบราชการและระบบงบประมาณ เพราะเรื่องนี้สำคัญต่อการสร้างอนาคตร่วมกันของพวกเรา

"3 วันต่อจากนี้พวกเราฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรอย่างซื่อตรง และสร้างสรรค์ ขอให้ฝ่ายบริหาร และฝ่ายรัฐบาลเปิดใจ รับฟัง ข้อเสนอแนะและความเห็นของพวกเรา ด้วยความหวังว่าสุดท้าย การพิจารณางบประมาณ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แม้ว่าเราจะผิดหวังร่างงบประมาณฯ ฉบับนี้ก็ตาม" หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net