Skip to main content
sharethis

กลุ่มครอบครัวของทหารเกณฑ์รัสเซียประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียคืนคนในครอบครัวของตัวเอง หลังถูกเกณฑ์ให้ไปรบในแนวหน้าของสงครามยูเครนมาเป็นเวลาเกิน 1 ปีแล้ว องค์กรช่วยหนีทหารระบุว่าช่วงสามเดือนหลังนี้มีทหารรัสเซียขอหนีทหารเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 89 กรณี

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ครอบครัวของทหารรัสเซียที่ถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามยูเครน เรียกร้องให้ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน คืนคนในครอบครัวให้พวกเขา หลังจากที่คนที่พวกเขารักถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารอยู่ที่แนวหน้าของยูเครนมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปีแล้ว

ครอบครัวเหล่านี้ได้รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มที่ชื่อ Put' Domoi (แปลว่า "ทางกลับบ้าน") พวกเขากล่าวหาผู้นำรัสเซียว่าทำการเกณฑ์คนในครอบครัวของพวกเขาไปรบเช่นนี้ถือเป็น "การใช้ทาสแบบที่ถูกกฎหมาย" ซึ่งพวกเขาต่อต้านในเรื่องนี้ โดยมีการเรียกร้องผ่านทางวิดีโอในเทเลแกรม ให้หยุดยั้งการเกณฑ์กำลังพลไปเสริมทัพที่สมรภูมิยูเครน

มีการเกณฑ์ทหารกองหนุนประมาณ 300 นาย เพื่อไปเสริมทัพของรัสเซียที่วางกำลังอยู่ในยูเครน ในฐานะ "ส่วนหนึ่ง" ของแผนการเกณฑ์กำลังรบใหม่ตามคำสั่งปูตินที่เขาเคยประกาศไว้เมื่อเดือน ก.ย. 2565

ปูติน ได้ประกาศเลิกเกณฑ์กำลังพลใหม่อีกเดือนหนึ่งถัดจากนั้น แต่ก็ไม่ได้ระบุคำสั่งออกมาอย่างเป็นทางการเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ผู้สังเกตการณ์และนักกิจกรรมต่างก็บอกว่ากองทัพรัสเซียยังคงทำการเกณฑ์ผู้ชายชาวรัสเซียให้ไปรบในสงคราม

แถลงการณ์และการเข้าชื่อร้องเรียนของกลุ่ม Put' Domoi ที่ออกมาเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ระบุวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็น "การเกณฑ์ทหารไม่รู้จบ" และกล่าวหาว่ารัฐบาลรัสเซียเพิกเฉยต่อทหารและครอบครัวของพวกเขา

ในวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มภรรยาและแม่ของทหารรัสเซียที่ถูกเกณฑ์เรียกร้องให้ปูตินกำหนดให้มีระยะเวลาการรับราชการในสงครามให้จำกัดอยู่ที่เวลา 1 ปี

กลุ่ม Put' Domoi ระบุว่า "พวกเขาเคยมั่นใจว่ารัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เซอร์เก ชอยกู จะรักษาสัญญาที่ให้ไว้ในเรื่องที่ว่าจะมีการใช้ทหารรับจ้างแทนการเกณฑ์กำลังพลในช่วงปลายปี 2566 ... แต่พวกเราก็คาดผิด"

Put' Domoi เผยแพร่วิดีโอชุดดังกล่าวนี้ 1 สัปดาห์ก่อนหน้าที่รายการโทรทัศน์ "ไดเร็คไลน์" จะนำเสนอช่วงที่ปูตินโฟนอินเข้ามาในรายการที่มีชาวรัสเซียขอให้เขาช่วยแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน ซึ่งปูตินได้สัญญาว่าจะนำข้อเรียกร้องทุกเรื่องไปพิจารณาในรายการไดเร็คไลน์ครั้งถัดจากนี้ ซึ่งพวกเขาจะจำคำสัญญานี้ไว้

ในเดือน พ.ย. กลุ่มมารดาและภรรยาของทหารรัสเซียที่ถูกเกณฑ์ไปรบได้จัดการประท้วงต่อต้านการเกณฑ์ทหารตามเมืองต่างๆ ในรัสเซีย มีอยู่บางแห่ง เช่น มอสโกว์ และ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่ทางการปฏิเสธไม่อนุญาตให้ผู้จัดงานทำการเดินขบวนประท้วง

ในวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา สมาชิกรายหนึ่งของกลุ่ม Put' Domoi ชื่อ มาเรีย อังเดรเยวา ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออิสระในรัสเซีย มอซเฮม ออบยาสนิต ว่า เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงได้ข่มขู่คุกคามสามีของพวกเธอว่าจะต้องเผชิญกับ "สภาพที่ยากลำบาก" ในช่วงที่รับราชการออกรบ เพื่อเป็นการโต้ตอบที่พวกเธอทำกิจกรรมของกลุ่ม Put' Domoi

องค์กรช่วยเหลือระบุ มีทหารรัสเซียเรียกร้องขอช่วยเหลือหนีทหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 89

โครงการ อิดีเต เลซอม ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือให้ชาวรัสเซียหนีทหารจากการไปรบในยูเครน เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า มีทหารรัสเซียเรียกร้องขอให้ช่วยเหลือพวกเขาหนีทหารเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เทียบกับช่วงสามเดือนก่อนหน้านั้น

อิดีเต เลซอม ระบุว่า มีจำนวนทหารรัสเซียที่ขอให้ช่วยเหลือหนีทหารเพิ่มมากขึ้นเป็น 577 กรณี ในช่วงระหว่างเดือน ก.ย.-พ.ย. เทียบกับช่วงระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค. ที่มีอยู่ 305 กรณี ถือว่าเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 89

นับตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา ทนายความและอาสาสมัครจาก อิดีเต เลซอม ได้ให้คำปรึกษาแก่ทหารรัสเซียมากกว่า 1,000 นาย ที่ต้องการจะหนีทหาร ช่วงเดือนที่มีคนขอให้ช่วยมากที่สุดคือเดือน ต.ค. อยู่ที่ 218 กรณี น้อยที่สุดคือเมื่อเดือน มิ.ย. คือ 54 กรณี

เซอร์กี คริเวนโก ผู้อำนวยการขององค์กรสิทธิมนุษยชน "กราซดานิน, อาร์มิยา, พราโว" (แปลว่า "พลเมือง, กองทัพ, สิทธิ") กล่าวว่า เป็นเวลา 1 ปีมาแล้วตั้งแต่ที่มีการเริ่มเกณฑ์กำลังพลไปเสริมทัพในสงครามยูเครน ผู้คนคงเข้าใจแล้วว่าความฝันที่จะได้กลับบ้านหลังจากรับราชการมาได้เวลาหนึ่งนั้นเป็นแค่ภาพลวงตา พวกเขาเห็นว่าไม่มีการสับเปลี่ยนกำลังพลประจำการ และแม้แต่ทหารที่บาดเจ็บสาหัสก็ยังคงถูกส่งตัวกลับไปยังแนวหน้าของการรบหลังออกจากโรงพยาบาลแล่ว

กริกอรี สเวิร์ดลิน ประธานของกลุ่มอิดีเต เลซอม กล่าวว่าทหารส่วนมากเลือกที่จะหนีทหารหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บและรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในรัสเซีย

มีกรณีของ พาเวล ทหารที่เคยไปรบในยูเครนตัดสินใจหนีทหารหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 ครั้ง เขาบอกว่าเขาควรจะสามารถร้องเรียนขอค่าชดเชยเรื่องเกี่ยวกับขาของเขาที่ได้รับบาดเจ็บจนกระทบถึงเส้นประสาทได้ แล้วก็ควรจะได้ไปพบนักบำบัดในเรื่องที่เขาประสบโรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ได้ แต่เขากลับไม่ได้รับค่าชดเชยในการรักษาพยาบาลซ้ำยังถูกส่งตัวกลับไปยังแนวหน้าหลังจากรักษาหายแล้ว

คริเวนโกบอกว่าการหนีทหารในขณะที่อยู่ในสมรภูมินั้นเป็นไปได้ยากมาก มีโอกาสถูกจับได้สูงมาก มีกองกำลังลาดตระเวนเพื่อตรวจตราคนหนีทหาร พวกเขามักจะถูกจับกุมแล้วนำไปขังไว้ที่เรือนจำกลางสมรภูมิก่อนจะปล่อยตัวกลับไปที่แนวหน้าอีกครั้ง กรณีการหนีทหารจำพวกนี้มีการนำมาขึ้นศาลน้อยครั้งมาก

สเวิร์ดลิน  กล่าวว่า อาสาสมัครของ อิดีเต เลซอม ได้ช่วยเหลือทหารหลายนายในการหนีทหารจากแนวหน้า แต่ก็ยอมรับว่ามีกรณีหนีจากแนวหน้าน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะทหารในแนวหน้าสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้น้อยและบางครั้งก็ไม่มีเอกสารระบุตัวตน เพราะผู้บัญชาการของพวกเขามักจะยึดหนังสือเดินทางรัสเซียและเอกสารระบุตัวตนของพวกเขาเอาไว้เวลาที่ทหารขอลาหรือเข้าโรงพยาบาล ถึงแม้ว่าตามกฎหมายแล้วผู้บัญชาการจะไม่มีสิทธิทำเช่นนั้นก็ตาม

ถึงแม้ว่าการหนีไปต่างประเทศจะเป็นหนึ่งในไม่กี่วิธีที่ทหารรัสเซียจะหนีทหารได้สำเร็จ แต่สเวิร์ดลินระบุว่าผู้ที่ต้องการหนีทหารไม่ควรจะเดินทางไปต่างประเทศเองโดยไม่มีองค์กรช่วยเหลือ เพราะมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะถูกประกาศว่าเป็นบุคคลที่ทางการต้องการตัวในอีก 2 วันหลังจากนั้น และมักจะถูกจับกุมที่ด่านตรวจพรมแดนประเทศ

ทั้งนี้ทหารรัสเซียยังมักจะไม่มีหนังสือเดินทางนานาชาติด้วย เพราะปูตินแก้กฎหมายให้ต้องมีการยึดหนังสือเดินทางเหล่านี้ภายในระยะเวลา 5 วัน หลังจากที่บุคคลนั้นๆ ได้รับหมายเรียกเกณฑ์กำลังพล ขณะที่หนังสือเดินทางภายในรัสเซียจะใช้เดินทางไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างคาซัคสถานได้ แต่ไม่สามารถเดินทางไปยังประเทศที่ปลอดภัยกว่านี้ได้ถ้าหากไม่มีหนังสือเดินทางนานาชาติ

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net