Skip to main content
sharethis

รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจงศึกษาความเป็นไปได้กระเช้าภูกระดึง เป็นหนึ่งในโครงการเสนอของ จ.เลย ต่อ ครม. ใช้งบศึกษาฯ 28 ล้านบาท - อธิบดีกรมอุทยานฯ ยืนยันว่าการอนุมัติให้เข้าพื้นที่ครั้งนี้ เป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น ไม่ใช่การทำรายงานอีไอเอ และไม่มีการอนุมัติก่อสร้างกระเช้าภูกระดึง การศึกษาทางวิชาการใช้เวลา 2 ปีต้องทำให้ครบรอบด้าน 


ที่มาภาพ: อุทยานแห่งชาติภูกระดึง - Phu Kradueng National Park

5 ธ.ค. 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่านางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ถึงวาระการประชุมมีการนำเสนอโครงการของแต่ละจังหวัดเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งจังหวัดเลยมีการเสนอโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึงด้วย และที่ประชุมอนุมัติในหลักการ เพื่อนำไปเรียงลำดับพิจารณาความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณ และในรายละเอียดโครงการ มีการเสนองบให้ออกแบบการก่อสร้างที่ใช้งบประมาณ 28 ล้านบาท นำไปประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ให้กับกระทรวงทรัพยากรณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ต้องการให้มีการสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้า ที่สร้างรายได้ในพื้นและสร้างรายได้เข้าจังหวัด ขณะเดียวกันก็มีการทำอีไอเอมาแล้วหลายครั้ง โดยแบบก่อสร้างที่เคยเห็นที่ผ่านมามีทั้งการสร้างกระเช้าลอยฟ้าคู่กับสร้างทางเดินขึ้น

นางพวงเพ็ชร ระบุว่า ภูกระดึงเป็นอุทยานแห่งชาติ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะทำอะไรก็จะต้องระมัดระวัง เรื่องสิ่งแวดล้อมและขยะ ส่วนการดำเนินการ จะแล้วเสร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่นั้นก็อยู่ที่การดำเนินงาน งบประมาณและจังหวัด ซึ่งการออกแบบการก่อสร้างจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน ส่วนทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อไหร่นั้น ไม่ได้มีกำหนดไว้

อธิบดีกรมอุทยานฯ ยืนยันว่าการอนุมัติให้เข้าพื้นที่ครั้งนี้ เป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2566 Thai PBS รายงานว่านายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยว่าขณะนี้เพิ่งอนุมัติให้ทีมจากองค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) นำโดยนายเกรียงศักดิ์ พราหมณพันธ์ หัวหน้าโครงการเข้าไปสำรวจ เก็บข้อมูลสถานภาพทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและความเป็นไปได้ในโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2566-ก.ย.2568 หรือประมาณอีก 2 ปีข้างหน้า

"ยืนยันว่าการอนุมัติให้เข้าพื้นที่ครั้งนี้ เป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น ไม่ใช่การทำรายงานอีไอเอ และไม่มีการอนุมัติก่อสร้างกระเช้าภูกระดึง การศึกษาทางวิชาการใช้เวลา 2 ปีต้องทำให้ครบรอบด้าน" นายอรรถพล กล่าว

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะเรื่องดังกล่าวขึ้นกับกระบวนการตัดสินใจในระดับนโยบายในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาผลกระทบในทุก ด้านและต้องทำอีไอเอ

อีกทั้งโครงการนี้คงต้องพิจาณาถึงพื้นที่ที่ต้องมีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวทั้งด้านล่าง และด้านบนภูกระดึง โดยให้กลมกลืนกับธรรมชาติ และเกิดผลกระทบระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

นักท่องเที่ยวขึ้นพิชิตปีละ 60,000 คน

ด้านนายสำเร็จ ภูแสนศรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ยอดภูกระดึง ตั้งอยู่บนความสูง 1,288 เมตรจากระดับน้ำทะเล นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าขึ้นไปบนยอดเขาสูงในระยะทางประมาณ 7 กม.โดยได้เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 ต.ค.-31 พ.ค.ของทุกปี ซึ่งแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 50,000-60,000 คนขึ้นกับสัมผัสธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งใบเมเปิลแดง ผานกแอ่น ผาหล่มสัก หลังแป เป็นจุดเหยียบสัมผัสแรกบนยอดภูกระดึง 

เสน่ห์ของภูกระดึง ส่วนใหญ่จะเป็นบรรยากาศของการเดินเท้าด้วยระยะทาง 7 กม.ผ่านซำต่างๆ ขึ้นไปเช็กอินจนถึงยอดภูกระดึง และเสน่ห์อีกอย่างคือลูกหาบที่สัมภาระที่มีการลงทะเบียนไว้ 200 คน 

ด้านนักท่องเที่ยวที่เคยขึ้นไปภูกระดึงหลายครั้ง ยอมรับว่าหลงรักภูกระดึง เพราะความกว่าจะขึ้นพิชิตยอดภูกระดึงต้องใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมงในการเดินทางขึ้นไปเรื่อยๆ กว่าจะผ่านซำแฮก จนเกือบถอดใจแต่ได้เพื่อนๆร่วมทางที่ไม่ทิ้งกัน และพากันเดินขึ้นไป ประทับใจตั้งแต่ขึ้นหลังถึงหลังแป และได้พบสนสามใบ

เปิดหนังสือให้ศึกษาความเป็นไปได้ 2 ปี

สำหรับหนังสือดังกล่าวระบุว่า อพท.ขออนุมัติเข้าศึกษา โดยมีนายเกรียงศักดิ์ พราหมณพันธ์ หัวหน้าโครงการเข้าไปสำรวจ เก็บข้อมูลสถานภาพทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและความเป็นไปได้ในโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2566-ก.ย.2568 หรือประมาณอีก 2 ปีข้างหน้า 

โดยหนังสือดังกล่าวจะมีทีมศึกษาวิจัยรวม 11 คน  รศ.ดร. สามัคคี บุณยะวัฒน์ ม.เกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.ปิยพงษ์ ทองดีนอก ม.เกษตรศาสตร์ นายสกุล ศิริกิจ ม.บูรพา นายบันดาล โตสาระเดช นายอภิชาติ พูลพล และนายอภิวัฒน์ ชำนาญเวช นายนัฐพล จุ้ยทรัพย์ ม.ขอนแก่น นายธรรมนูญ ภาคธูป น.ส.จีระภา นามี  นายศราวิณฐ์ เหล่าสินชัย น.ส.สรญา เสนามนตรี สำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 ทำการ สำรวจและเก็บข้อมูสภาพปัจจุบันของทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรสัตว์ป่า เพื่อการสำรวจการศึกษา ตามโครงการกิจกรรมทบทวนความเหมาะสมในด้านวิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตตร์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ชี้เงื่อนไขรายงานทุก 6 เดือน-ผิดเพิกถอนใบอนุญาต

นอกจากนี้ยังระบุว่าก่อนเข้าพื้นที่ต้องแจ้งหนังสือเป็นทางการ 15 วัน รวมทั้งต้องรายงานความก้าวหน้าทุก 6 เดือน หากเก็บตัวอย่างจะต้องส่งตัวอย่างมาเก็บรักษาที่กรมอุทยานฯ และเมื่อสิ้นสุดต้องส่งรายงานฉบับสมบูรณ์

อีกทั้งยังระบุกรณีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง เงื่อนไข หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นอันตรายต่อชนิดพันธุ์และพันธุกรรมพืช สัตว์ จุลินทรีย์และทรัพยากรอื่นๆ อธิบดีกรมอุทยาน สามารถดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับอนุญาตหรือเพิกถอนในอนุญาตแล้วแต่กรณี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net