Skip to main content
sharethis

รมว.ประจำสำนักนายก กำชับหน่วยงานรัฐ ห้ามบังคับเรี่ยไรเกลื่อน หวั่นกระทบประชาชน ชี้ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ - ‘รมว.ดีอีเอส’ ย้ำกับ สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC) ‘รัฐบาล’ เดินหน้าขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไทย - ก.พาณิชย์ ชู 7 มาตรการ เสนอนายกฯ ให้ 'ทีมไทยแลนด์' ใช้จุดแข็ง บุก 10 ตลาดเป้าหมาย

24 พ.ค. 2566 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.) โดยคณะกรรมการ กคร. เข้าร่วม โดยที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เคยได้มีการเรี่ยไรตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2566 จำนวน 11 เรื่อง และร่วมพิจารณากิจกรรมที่เสนอขออนุมัติ จำนวน 12 กิจกรรม โดยส่วนมากเป็นการขออนุมัติจัดโครงการทอดกฐิน และการแข่งขันกีฬา เช่น กอล์ฟ และโบว์ลิ่ง การกุศล ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และเสนอให้มีการ แจ้งหน่วยงานรัฐให้ทราบแนวทางการปฏิบัติ ในการนำกิจกรรมเสนอต่อ กคร.

นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า หน่วยงานรัฐที่ต้องการจะดำเนินกิจกรรมในลักษณะของการเรี่ยไรเงินจากผู้ใดก็ตาม ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ โดยกิจกรรมดังกล่าวต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนส่วนรวม ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่เรี่ยไรโดยการเจาะจงหรือบังคับใจ ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดสนใจจัดกิจกรรมโดยการเรี่ยไรต้องยื่นกิจกรรมต่อคณะกรรมการฯ พิจารณาก่อนดำเนินกิจกรรม 60 วัน และต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานรวมถึงงบประมาณทันทีหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของคณะกรรมการว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ

‘รมว.ดีอีเอส’ ย้ำกับ สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC) ‘รัฐบาล’ เดินหน้าขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไทย 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยถึงการหารือร่วมกับ H.E. Ambassador Brian D. McFeeters (ret.) รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการภูมิภาคของสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (U.S. - ASEAN Business Council: USABC) และคณะนักธุรกิจสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน ในโอกาสการเยือนประเทศไทยและเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อหารือความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยกับ USABC พร้อมฟังนโยบายภาพรวมและเป้าหมายการดำเนินงานของรัฐบาลและกระทรวง ด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย รวมทั้งโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 ว่าได้ยืนยันกับผู้แทน USABC ถึงแนวทางของรัฐบาลที่มีกรอบนโยบายในทุกมิติ ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว เพื่อยกระดับความปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อผลักดันไปสู่การสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นจุดหมายการค้าและการลงทุนของอุตสาหกรรมดิจิทัลบนเวทีโลก

ระยะสั้น คือ การมุ่งเน้นการกระตุ้นการใช้จ่าย และเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว ซึ่งกระทรวงฯ มีบทบาทสำคัญในการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนที่สำคัญ คือ การผลักดันการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ (Online scam) โดยได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti-Online Scam Operation Center: AOC) เพื่อให้มีการดำเนินการในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ เป็นศูนย์แบบ One Stop Service สามารถดำเนินการปิดกั้นอายัดบัญชีให้แก่ประชาชนได้ทันที

สำหรับกรอบนโยบายระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลมีเป้าหมายในการเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน กระทรวงฯ จึงได้กำหนดนโยบายในการเป็นเครื่องยนต์ใหม่ของประเทศไทย “The Growth Engine of Thailand” เพื่อเป้าหมายที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1.การยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล โดยผลักดันนโยบาย Go Cloud First ส่งเสริมให้มีการใช้ Public Cloud มุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเชื่อมโยงบริการภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ 2.การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) ให้ความสำคัญในการป้องกันและการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนให้มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิตและการประกอบธุรกิจ และเตรียมความพร้อมภาครัฐและภาคเอกชนในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 3.การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล (Human Capital) เร่งสร้างกำลังคนวิชาชีพดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลให้มีความก้าวหน้าและเข้มแข็ง รวมถึงการพัฒนาให้ประชาชนได้รับการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่เหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจใหม่
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ทั้งทางบกและทางทะเล มีระบบเคเบิลภาคพื้นข้ามพรมแดน (Cross-border terrestrial cables) และระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ (International submarine cables) ให้บริการเชื่อมต่อระบบสื่อสารเชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเส้นทางดิจิทัลที่มีศักยภาพของโลก รวมถึงเร่งสร้างให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการค้าและการลงทุนของอุตสาหกรรมดิจิทัลในเวทีโลก (Advanced Digital Technology Destination) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เอื้อต่อการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและรองรับอุตสาหกรรมใหม่ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเล่ย์ การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม Cloud Innovation & Service และ Data Center บนฐานพลังงานสะอาด และการจัดทำ (ร่าง) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ที่สนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการพัฒนาศักยภาพกำลังคน

“การหารือกันกับรองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการภูมิภาคของสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน และคณะนักธุรกิจสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน ในวันนี้ถือเป็นโอกาสดี ในการที่จะนำไปสู่ความร่วมมือทางด้านการพัฒนากำลังคน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการลงทุนในประเทศไทยเพื่อที่จะก้าวไปสู่ประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กล่าวย้ำ

'ภูมิธรรม' นำพาณิชย์ ชู 7 มาตรการ เสนอนายกฯ ให้ 'ทีมไทยแลนด์' ใช้จุดแข็ง บุก 10 ตลาดเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลัง “ทีมไทยแลนด์”นำเสนอประเทศเป้าหมายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง โดยนางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ระบุ 10 ประเทศเป้าหมาย ที่ 3 หน่วยงาน (กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศและบีโอไอ) เห็นตรงกัน ประกอบด้วย 1.สหรัฐอเมริกา 2.จีน 3.ญี่ปุ่น 4.เยอรมนี 5.ฝรั่งเศส 6.อินเดีย 7.ยูเออี 8.เกาหลีใต้ 9.ซาอุดีอาระเบีย และ 10.แอฟริกาใต้

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ มี 5 แนวทางสำคัญในการผลักดัน คือ 1.ขยายโอกาสทางการค้า ทั้งกระจายตลาด หาหุ้นส่วนการค้าและวัตถุดิบ 2.การเจรจา FTA ใช้ของเดิมและเพิ่มการเจรจา FTA ใหม่ 3.ด้าน Soft Power และเพิ่มพาณิชย์ Influencer 4.เพิ่มประสิทธิภาพการค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสู้กับความท้าทายและกติกาใหม่ของโลก และ 5.ใช้ช่องทางการค้า ผ่านแพลตฟอร์มและดิจิทัลช่วยผู้ประกอบการไทย

หลังจากที่ทีมไทยแลนด์รับนโยบายจากท่านนายกฯ ได้ทบทวนประเด็นต่างๆเป็น 7C หรือ 7 มาตรการ ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะผลักดันนโยบายการทูตและเศรษฐกิจเชิงรุก 1.Common Goal สร้างความร่วมมือกันของทีมไทยแลนด์ 2.Customer-centric ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นสำคัญ 3.Co-creation ทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมทั้งในประเทศและนอกประเทศ 4. Cooperation สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนและทุกภาคส่วน 5. Connectivity เชื่อมโยงทุกส่วนทั้งในประเทศ นอกประเทศและระหว่างประเทศ 6. Care การค้ากับประเทศต่างๆใช้ความเป็นไทย เน้น Soft Power และ 7. Can Do ทีมไทยแลนด์ทุกคนต้องมีความคิดว่าต้องทำได้

จุดแข็งของกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานเดียวในประเทศไทยที่มีสำนักงานพาณิชย์จังหวัด 76 แห่ง มีหน่วยงานระหว่างประเทศ 98 แห่งทั่วโลก และให้ความสำคัญมากในการเชื่อมโยงการค้าภายในและภายนอกประเทศผลักดันสินค้าไทย โดยการค้าขายต้องจับต้องได้ และกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการเร่งด่วนแล้ว คือ 1.นำเสนอสินค้าไทยบนหน้าร้านที่โดดเด่นในห้างหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ 2.ปรับ KPI เป้าหมายการค้าให้เข้มข้นขึ้น และ 3.ให้ร้านค้าที่ได้รับตรา Thai SELECT ในต่างประเทศ เป็นโชว์รูมสินค้าไทยในต่างประเทศ

จากนั้นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชม 7C หรือ 7 มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ และทีมไทยแลนด์ ที่จะช่วยให้คนไทยที่ออกไปค้าขายมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ขอบคุณที่ช่วยผลักดันและอยากฝากอนาคตประเทศไว้ในมือของทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net