Skip to main content
sharethis

ครม.อนุมติหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ มีการเปลี่ยนชายและหญิงเป็นบุคคล ใช้คู่สมรสแทนสามีภรรยาเพื่อให้ครอบคลุมไม่ว่าเพศใด และปรับแก้ให้รับรองสิทธิคู่สมรสเพศเดียวกันเท่าคู่ชายหญิง

21 พ.ย.2566 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลเผยแพร่สรุปการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดย ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สมรสเท่าเทียม) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ

รายงานระบุว่า ร่างกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรมเสนอเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยกำหนดให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นหรือสมรสกันได้ โดยแก้ไขคำว่า “ชาย”, “หญิง”, “สามี”, “ภริยา” และ “สามีภริยา” เป็น “บุคคล”, “ผู้หมั้น”, “ผู้รับหมั้น” และ “คู่สมรส” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้นหรือคู่สมรสไม่ว่าจะมีเพศใด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 43 มาตรา 193/22 มาตรา 1439 มาตรา 1440 ฯลฯ)  

ดังนั้น เพื่อให้สอดรับการแก้ไขถ้อยคำที่กำหนดให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นหรือสมรสกันได้ จึงได้มีการปรับแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อยตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อรองรับสิทธิของคู่สมรสเพศเดียวกันให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

แต่ยังคงหลักการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเพศใด โดยกำหนดให้คู่หมั้นฝ่ายหนึ่งอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งกระทำกับคู่หมั้นของตนเพื่อสนองความใคร่ของผู้นั้นหรือคู่หมั้นของตน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1445) กำหนดให้หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่กับชายได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1453)

ส่วนในกรณีการสมรสระหว่างชายหญิง เมื่อหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เดิม กำหนดให้กรณีถ้าศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรสจนบุคคลทั้งสองมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส) (แก้ไขเพิ่มเติม ม. 1504) ในกรณีการสมรสระหว่างชายหญิง เมื่อหญิงมีครรภ์ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เดิม กำหนดให้สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อหญิงมีครรภ์) (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1510)

อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..)      พ.ศ. .... ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอในครั้งนี้ มิได้ส่งผลกระทบต่อหลักการสำคัญบางประการ เช่น บุคคลทั้งสองฝ่ายสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ รับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ รวมทั้งการจัดการทรัพย์สินบางกรณีต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นไปหลักการแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สำหรับการเข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น ๆ เช่น กรณีการจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการนั้น ปัจจุบันกำหนดให้จ่ายเงินแก่ “สามีหรือภริยา” แต่เมื่อมีการแก้ไขให้คู่สมรสหมายถึงบุคคลเพศเดียวกันด้วยแล้ว หน่วยงานจะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในครั้งนี้

ประเด็นสำคัญ

ประมวลกฎหมาย
แพ่งและพาณิชย์ (ปัจจุบัน)

ร่างฯ ที่ ยธ. เสนอในครั้งนี้

1. เหตุการเรียกค่าทดแทนเนื่องจากผิดสัญญาหมั้น กรณีที่คู่หมั้นไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

กำหนดให้ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น
(มาตรา 1445)

กำหนดให้คู่หมั้นฝ่ายหนึ่งอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน หรือผู้ซึ่งกระทำกับคู่หมั้นของตนเพื่อสนองความใคร่ของผู้นั้นหรือคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น

2. การกำหนดอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรส

การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
(มาตรา 1448)

การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

3. เงื่อนไขแห่งการสมรสใหม่

กำหนดให้หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
1) คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
2) สมรสกับคู่สมรสเดิม
3) มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการรักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์ หรือ
4) มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
(มาตรา 1453)

กำหนดให้หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่กับชายได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
1) คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
2) สมรสกับคู่สมรสเดิม
3) มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการรักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์ หรือ
4) มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้

4. การเพิกกถอนการสมรส (ในกรณีมิได้มีการขอเพิกถอนการมรส ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส)

กำหนดให้กรณีถ้าศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรสจนชายหญิง มีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส
(มาตรา 1504 วรรคสอง)

กำหนดให้กรณีถ้าศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรสจนบุคคลทั้งสองมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือในกรณีการสมรสระหว่างชายหญิงเมื่อหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส

5. เงื่อนไขที่ทำให้การเพิกถอนการสมรสสิ้นสุด

กำหนดให้สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือเมื่อหญิงมีครรภ์
(มาตรา 1510 วรรคสอง)

กำหนดให้สิทธิขอเพิกถอน
การสมรสเป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือในกรณีการสมรสระหว่างชายหญิงเมื่อหญิงมีครรภ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net