Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Signalis เป็นเกมอินดี้สยองขวัญฟอร์มเล็กที่วางจำหน่ายในปี 2022 เล่าเรื่องการตามหา “ความฝันที่สูญหาย” ของหุ่นยนต์ชีวจักรกลตนหนึ่ง แม้ตัวเกมมีผู้พัฒนาหลักเพียงสองคน ระบบการเล่นไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่าการ ยิง-วิ่ง-แก้ปริศนา (และอ่านๆๆ) แต่กระแสตอบรับของเกมก็ท่วมท้นด้วยคำชมมากมาย สื่อหลายสำนักถึงกับยกให้เป็นหนึ่งในเกมสยองขวัญที่ดีที่สุดของปี 2022 เสมอไหล่กับเกมสยองขวัญฟอร์มยักษ์อื่นๆ ที่วางจำหน่ายในปีเดียวกัน

โดยผิวเผิน Signalis อาจดูเหมือนงานบูชาครูที่หยิบเอาองค์ประกอบอันคุ้นเคยจากหลากหลายแหล่งมายำรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นเกมแนวสยองขวัญเอาชีวิตรอด (Survival Horror) หรือภาพยนตร์ไซ-ไฟที่ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์และการรับรู้ความเป็นจริง รวมถึงเรื่องเล่าสยองขวัญแบบคอสมิค (Cosmic Horror) ที่ตัวละครเผชิญหน้ากับสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจ จนอาจทำให้เราคิดถึงรายนาม ‘ขึ้นหิ้ง’ ทั้งหลายที่ป่วยการจะสาธยายให้รกย่อหน้า เพราะว่าในรายละเอียดที่ลึกลงไป สิ่งที่ทำให้ Signalis ยืนได้ด้วยขาของตัวเองคือความประณีตบรรจงในการรังสรรค์เรื่องเล่าเบื้องหลังให้ตัวละครไม่หมกมุ่นอยู่เพียงตัวเอง ทว่าเชื่อมโยงกับโลกภายนอกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการแสดงให้เห็นถึงการกดทับจากรัฐเผด็จการในนามของ “ความถูกต้องทางการเมือง” ที่สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อตัวตนของคนคนหนึ่ง

Spoiler Alert: มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญในเกม Signalis ตั้งแต่ย่อหน้าถัดไป

ในยุคท่องอวกาศ ท่ามกลางสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายจักรวรรดิ (Eusan Empire) และฝ่ายปฏิวัติแห่งยูซาน (Eusan Nation) ยานสำรวจของฝ่ายปฏิวัตินาม Penrose-512 ได้รับภารกิจค้นหาดาวเคราะห์สำหรับอยู่อาศัยหรือเป็นแหล่งทรัพยากรใหม่ของชาติ โดยมีมนุษย์นักบินนาม อาเรียน (Ariane) และ เอลสเตอร์ (Elster, LSTR-512) หุ่นยนต์ชีวภาพเป็นคู่หูรับผิดชอบยานบิน
ภารกิจล้มเหลว ยานบินร่วงลงบนดาวเคราะห์ไกลโพ้นดวงหนึ่งที่ถูกปกคลุมด้วยพายุหิมะ เอลสเตอร์ (หรือเราในฐานะผู้เล่น) ตื่นขึ้นในยานที่ว่างเปล่า เธอออกมานอกยานและพบซุ้มประตูปริศนา เมื่อข้ามผ่านประตูนั้นไป หลุมลึกปรากฏต่อหน้าเธอ พื้นผิวเบื้องล่างของมันเป็นสีแดงดุจเลือด และนี่คือจุดเริ่มต้นของเอลสเตอร์ในการตามหาความฝัน ความทรงจำ คำสัญญา หรือความจริงที่สูญหาย จะเป็นเช่นไรก็สุดแท้แล้วแต่ที่ผู้เล่นจะตีความ

บนชั้นผิวแรกสุดของเรื่องราว กลิ่นตุๆ ที่ฉุนหึ่งขึ้นมาคือมีบางอย่างซ่อนอยู่เบื้องหลังการค้นพบและปกปิดของผู้คนในสถานี S-23 เซียร์ปินสกี้ บนดาวเคราะห์ที่อยู่วงนอกสุดของระบบสุริยะ ทั้งมนุษย์และหุ่นยนต์มีอาการป่วยประหลาด ผิวหนังหลุดลอก ฟันร่วง ผมร่วง เนื้องอกผุดพรายออกมาจนเป็นแผลเหวอะหวะ สติสตังค์ไม่สมประดี ความคิดขาดห้วงและวนเวียนซ้ำไปมา ทั้งยังมีความทรงจำที่ไม่ใช่ของตัวเอง เส้นแบ่งตัวตนพร่าเลือน ราวกับเลือดเนื้อและจิตใจถูกฉีกออกและหลอมรวมกันใหม่ในรูปร่างอื่น มนุษย์ตายลงและย่อยสลายจนเหลือทิ้งไว้เพียงคราบดำด่างชวนขนลุกตามพื้นผิวของสถานี แต่เมื่อหุ่นชีวจักรกลตายลง หลายชั่วโมงต่อมามันฟื้นขึ้นและกลายเป็นซอมบี้(?)เดินแพ่นพ่านไปทั่ว มีบางอย่างอยู่ใต้เหมืองชั้นล่างสุดของสถานี หรือบางทีอาจอยู่หลังซุ้มประตูปริศนา สิ่งนั้นมีพลังเหนือธรรมชาติ และสิ่งนั้นอาจเป็นต้นเหตุของเรื่องราวแปลกๆ ซึ่งแยกยากว่าอะไรคือความฝัน จินตภาพ หรือความเป็นจริง
    
หรือที่จริงแล้ว ทั้งหมดอาจเป็นเพียงความคิดอันลอยละล่องของตัวละครตัวหนึ่งเท่านั้น

ฉากจบหลายแบบและฉากคั่นของเกมถูกนำเสนอด้วยการร้อยเรียงอย่างไม่ปะติดปะต่อประหนึ่งภาพคอลลาจ แม้ว่าผู้เล่นไล่อ่านเอกสารหรือโน้ตในเกมจนครบก็ตาม ก็ยากที่จะยืนยันว่ามีอะไรเกิดขึ้นจริงบ้างในเรื่องราวของ Signalis ทว่าสิ่งที่เราพอจะเชื่อและรับรู้ได้คือ ตัวละครทั้งหมดในเกมเป็นประชากรของฝ่ายปฏิวัติ หรือประเทศยูซาน (Eusan Nation) ซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจนสามารถสร้าง เรพลิก้า (Replika) หุ่นยนต์ชีวภาพที่ถ่ายโอนระบบประสาทมาจากมนุษย์ต้นแบบเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละรุ่นตามแต่บุคลิกภาพ เช่น เอลสเตอร์ (ตัวละครที่เราเล่น) เป็นเรพลิก้ารุ่น LSTR เชี่ยวชาญงานเทคนิค วิศวกรรมการสู้รบ ความสามารถในการเอาชีวิตรอดสูง ใช้ชีวิตได้ในภาวะโดดเดี่ยว จึงเหมาะกับงานสำรวจอวกาศ

เรพลิก้าแต่ละรุ่นถูกสร้างขึ้นโดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องทำ คิด และรู้สึกอย่างไร ทว่าเนื่องจากระบบประสาทถูกถ่ายโอนมาจากมนุษย์และมีโครงสร้างหลายส่วนเหมือนมนุษย์จนอาจเรียกได้ว่าเรพลิก้าเป็นมนุษย์ดัดแปลงมากกว่าจะเป็นหุ่นยนต์ไร้หัวใจ ความคิดความรู้สึกของเรพลิก้าจึงเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตได้ตามแต่ประสบการณ์ที่ได้พบ อันเป็นชีวิตที่คุณค่าไม่ได้ผูกติดอยู่กับงานที่ถูกมอบหมายให้ทำเพียงเท่านั้น เป็นชีวิตที่มีความต้องการอย่างที่คนคนหนึ่งพึงมี ไม่ว่าจะรวมกลุ่มสังคม อ่านหนังสือ ฟังเพลง ฯลฯ

เอกสารที่เราพบได้ระหว่างการเล่นจะทำให้รู้ว่าข้อมูลนี้อยู่ในความรับรู้(อย่างเป็นกังวล)ของรัฐบาลประเทศยูซานเช่นเดียวกัน เนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องการให้เรพลิก้าเป็นอื่นใดนอกจากที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาให้เป็น หากมีแนวโน้มที่เรพลิก้าจะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพไปในเชิงที่หันเหออกจากแบบแผนดั้งเดิม นั่นจะถูกนิยามได้ว่าเรพลิก้าตัวนั้นอยู่ในภาวะ ‘ถดถอยทางบุคลิกภาพ (Persona Degradation)’ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีคู่มือและข้อควรระวังสำหรับการทำให้เรพลิก้าแต่ละรุ่น ‘อยู่กับร่องกับรอย’ เช่น การมี Fetish Object ชักจูงให้เรพลิก้าสนใจสิ่งนั้นๆ เป็นพิเศษ หรือคำแนะนำว่าควรจับคู่เรพลิก้าอย่างไรจึงจะเหมาะสมเพื่อประสิทธิผลที่สูงที่สุด การเป็นอื่นใดที่ไม่เป็นหนึ่งเดียวดูเหมือนเป็นภัยใหญ่หลวงต่อรัฐบาล การเป็นตัวของตัวเองจึงเป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับตัวละครในเกม Signalis


แบบแผนการดำเนินงาน: การควบคุม (หน้าที่ 3 จาก 6):::
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ยูนิตได้พบสถานการณ์ใหม่ๆ มันจะเริ่มเบี่ยงเบนไปจากแบบแผนดั้งเดิม
ในบางกรณีจะนำไปสู่การที่ยูนิตมีประสิทธิภาพถดถอยลงจากจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ นี่เรียกว่าการถดถอยทางบุคลิกภาพ

*** เพื่อการเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น อาจพอเปรียบเทียบได้กับสมัยที่ค่านิยมชายจริงหญิงแท้ยังฟูเฟื่อง การเป็นอื่นไปจากนี้คือการเบี่ยงเบนทางเพศในสายตาของสังคม***

“เมื่อฉันตาย พวกนั้นก็แค่สร้างอีกตัวขึ้นมา”

อีกสาธกที่สำคัญและเห็นได้ชัดคือในศูนย์การเรียนรู้ “เพื่อที่จะเป็นพลเมืองที่มีประสิทธิผลของประเทศที่แสนวิเศษ” หรือสถานี S-23 เซียร์ปินสกี้นี่เอง ที่เราจะพบใบประกาศเกี่ยวกับข้อตกลงของการใช้ศัพท์เฉพาะทาง โดยยกเลิกการใช้ศัพท์คำนั้นซึ่งผู้เล่นก็ไม่สามารถรู้ได้ว่ามันคืออะไรเนื่องจากคำนั้นถูกขีดฆ่าไว้ (เพราะมันกลายเป็นคำต้องห้าม) หน่วยงานใดที่มีคำนี้อยู่ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ และหากใครใช้คำนี้ในบทสนทนาจะต้องถูกลงโทษให้ทำงานหนักขึ้นด้วยความผิดฐานกระทำหยาบคายต่อรัฐ พร้อมย้ำท้ายประกาศว่า “ภาษาของพวกเราก่อร่างสร้างโลกของพวกเรา; โลกที่สมบูรณ์แบบต้องการภาษาที่สมบูรณ์แบบ” (นี่มันเกมด่าพวกพีซีจัดชัดๆ) การพยายามควบคุมภาษาจึงเป็นการพยายามควบคุมโลกทัศน์หรือความเป็นจริงในทางหนึ่งนั่นเอง

คำถามที่ตามมาคือ การขาดพร่องไปของภาษาหรือเสรีภาพของการสื่อสาร จะทำให้ภาษา(และสังคม)สมบูรณ์แบบในเชิงภววิสัยได้จริงหรือ ในนามของการปฏิวัติ ความก้าวหน้า และการต่อสู้เพื่อสังคมที่สมบูรณ์แบบของประเทศยูซานจึงมีความน่ากังขาไม่น้อยเกี่ยวกับการเซนเซอร์ข้อมูลดังที่ว่ามา

เอกสาร “ข้อตกลงร่วม: คำศัพท์เฉพาะทาง”

อย่างไรก็ตาม ตัวละครที่เป็นแกนกลางสำคัญจริงๆ ของเรื่องคือ อาเรียน นักบินของยาน Penrose-512 คู่หูของเอลสเตอร์ ซึ่งเราจะค่อยๆ ปะติดปะต่อได้เองว่าอาเรียนเติบโตมากับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ปลีกวิเวก ทำให้เธอบ่มเพาะความสนใจในงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดหรือหนังสือ เธออ่านทั้งวรรณกรรมต้องห้ามและวรรณกรรมในยุคสมัยของฝ่ายจักรวรรดิที่เป็นศัตรูคู่แค้นของประเทศ

จนกระทั่งเธอย้ายเข้าไปเรียนในเมืองภายใต้ความดูแลของป้าซึ่งโน้มน้าวแม่ของอาเรียนว่าเธอควรได้รับการศึกษาที่เป็น ‘ปกติ’ เยี่ยงมนุษย์คนอื่นๆ แต่อาเรียนถูกปฏิเสธจากเพื่อนวัยเดียวกันเพราะบุคลิก และความสนใจใฝ่ฝันของเธอไม่สอดคล้องกับค่านิยมของสังคม แบบประเมินของครูผู้สอนระบุว่า “เธอดูเหมือนจะไม่เข้าใจว่าสิ่งล่อใจให้วอกแวกเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไปแล้ว และเธอต้องมีส่วนร่วมในสังคมแห่งชาติของเรานี้เหมือนกับคนอื่นๆ ส่วนตัวแล้วฉันได้แต่หวังว่าการรับราชการทหารจะช่วยไล่ความคิดเหลาะแหละพวกนี้ออกไปจากเธอ ซึ่งโรงเรียนล้มเหลวที่จะทำให้สำเร็จ” อย่างไรก็ตาม อาเรียนเข้ารับราชการทหารเป็นนักบินของยาน Penrose-512 ออกสำรวจดวงดาว โดยหวังเพียงเพื่อหนีไปจากที่ที่เธออยู่


หนังสือในห้องของอาเรียน


อาเรียนถูกแกล้งที่โรงเรียน

แต่แล้ว บนยานสำรวจอันว้าเหว่นี่เองที่อาเรียนได้พบรักกับเอลสเตอร์ เรพลิก้าคู่หูของเธอ คืนวันอันซ้ำซากถูกเติมเต็มด้วยความผูกพันโดยผู้ที่เข้าใจและพร้อมแบ่งปันความโดดเดี่ยวร่วมกัน เวลาล่วงผ่านไปจนคล้ายความสุขจะเป็นนิรันดร์ ทว่าโชคร้ายที่ยานสำรวจของเธอไม่อาจบรรลุภารกิจให้สำเร็จได้ ระบบช่วยชีวิตของยานค่อยๆ พังลงพร้อมกับอุปกรณ์ยังชีพที่ร่อยหรอ อาเรียนเผชิญภาวะเนื้องอกเพราะรังสีที่แผ่จากระบบหล่อเย็นเสื่อมสภาพของยาน เธอได้รับคำแนะนำ(และถากถาง)สุดท้ายจากรัฐบาลว่าให้ปลอบใจตัวเองด้วยความคิดที่ว่าผู้อื่นอาจสำเร็จได้จากจุดที่เธอล้มเหลว และจงขอให้เรพลิก้าผู้ช่วย (หรือเอลสเตอร์) สงเคราะห์ความตายให้อาเรียนพ้นจากความทรมาน “และจงจำไว้ว่า เธอรับใช้ชาติจนตัวตายด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงแสนยานุภาพอันเรืองรองแห่งชาติของเรา”

เอลสเตอร์ไม่ฆ่าอาเรียน แต่แช่แข็งเธอไว้เท่าที่จะนานได้ พร้อมคำสัญญาที่อาเรียนขอให้เอลสเตอร์เป็นผู้สังหารเธอ นี่คือจุดเชื่อมโยงฉากเริ่มต้นของเกมเกี่ยวกับความทรงจำที่สูญหาย และฉากจบจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับวิธีการเล่นของผู้เล่น

ในส่วนนี้ น่าสนใจว่าทั้งสองสานสัมพันธ์กันระหว่างภารกิจ แม้มีข้อควรระวังให้งดปฏิสัมพันธ์ (ซึ่งเดาได้ว่า เนื่องจากเอลสเตอร์ถูกออกแบบมาให้คุ้นเคยกับความโดดเดี่ยว เหมาะกับภารกิจปลีกวิเวก การปฏิสัมพันธ์จึงสวนทางกับแบบแผนดั้งเดิมตามจุดมุ่งหมายที่รัฐต้องการให้เอลสเตอร์เป็น) เส้นคาบเกี่ยวระหว่างความรู้สึกของมนุษย์ธรรมดาสามัญและจริยธรรมในวิชาชีพที่ข้อควรระวังบางอย่างมีความจำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ตลอด เราจะตัดสินตัวละครอาเรียนและเอลสเตอร์อย่างไร และควรหาสัดส่วนในการออกแบบกฎเกณฑ์ที่มีพื้นที่ให้เสรีภาพส่วนบุคคลอย่างเหมาะสมอย่างไรนั้นยังคงไม่มีคำตอบตายตัว


เอลสเตอร์และอาเรียนบนยาน Penrose-512

มีการตีความต่างๆ กันไปหลายแบบ บ้างก็ว่าสิ่งที่อยู่ในเกมทั้งหมดเป็นภาพฝันจากพลังจิตของอาเรียนที่ส่งถึงเอลสเตอร์ หรืออาจมีสิ่งที่อยู่เหนือการรับรู้ของมนุษย์บงการให้เกิดฉากสยองขวัญทั้งหมดก็เป็นได้ ก้อนเนื้อมหึมาในเกมอาจเป็นทั้งอมนุษย์จริงๆ หรือภาพแทนภาวะเนื้องอกของอาเรียนก็ไม่สามารถฟันธง แต่ไม่ว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นใน Signalis สิ่งที่เราเห็นในทุกความเป็นไปได้ของเรื่องราว คือเอลสเตอร์ได้กลายเป็นตัวละครที่ต่อสู้กับการบิดเบือนความเป็นจริงโดยสิ่งที่มีอำนาจเหนือหัวถึงสองอย่างพร้อมๆ กัน

หนึ่งคือปรากฏการณ์สยองขวัญที่ไม่ว่าต้นกำเนิดของมันคืออะไรก็ตาม สิ่งนั้นกำลังทำให้เสรีภาพและอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลสูญหายแล้วกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน (ซึ่งเป็นกระบวนการสามัญในรัฐเผด็จการ) และสองคือรัฐบาลแห่งประเทศยูซานที่เซนเซอร์องค์ความรู้ ทั้งยังบงการประชาชนให้อยู่ใต้อาณัติในนามของความถูกทางการเมืองและการปฏิวัติอันสูงส่ง (ตลกร้ายที่เรามักพบสิ่งนี้จาก ‘นักปฏิวัติหัวก้าวหน้า’ ได้เหมือนกับที่พบจากจอมเผด็จการฝ่ายขวาจัด) นัยหนึ่ง มันจึงเป็นเกมที่เล่าเรื่องตัวละครที่แสวงหาเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่สยบยอมต่อการถูกบงการโดยอำนาจเหนือหัว และอาจเป็นเอลสเตอร์นี่เองที่เป็นนักปฏิวัติตัวจริงของเรื่อง


ฉากต่อสู้ท้ายเกม เอลสเตอร์ต่อสู้กับร่างจำแลงของเรพลิก้า ‘ท่านผู้นำ’

ฉากจบหนึ่งของเกมที่เอลสเตอร์ปลุกอาเรียนขึ้นมาเต้นรำในยาน และเบื้องบนฟากฟ้ามีดวงตายักษ์สีแดงจับจ้องลงมา

 

เมื่อเราไม่อาจแยกแยะหรือรับรู้ได้อีกต่อไปว่าอะไรคือความจริง เมื่อเราเป็นเพียงหมากเบี้ยที่ถูก ‘ดวงตายักษ์ของพี่เบิ้ม’ จับจ้องอย่างไม่ลดละราวกับหลุดมาจากนิยายเรื่อง 1984 ความป่วนปั่นบ้าคลั่งไร้ทางสู้ในเรื่องเล่าสยองขวัญแนวคอสมิค อาจไม่ต่างอะไรนักกับความรู้สึกแตกสลายของผู้คนใต้อำนาจเผด็จการที่ไม่สามารถงัดข้อกับอำนาจเหนือหัวพวกเขาได้ อำนาจที่ชี้เป็นชี้ตายและสามารถบงการโลกทัศน์ให้บิดเบี้ยวได้อย่างใจต้องการ

“ตอนนี้ฉันเชื่อว่ามันไม่ใช่ทั้งเชื้อโรคร้าย สารพิษ หรือรังสี –
มันคือการบิดเบี้ยวช้าๆ ของความเป็นจริงเองเลยต่างหาก”

อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึง เนื่องจากเนื้อเรื่องของเกมมีความคลุมเครือและเต็มไปด้วยรายละเอียดทางความรู้สึก ผู้เขียนยังคงแนะนำให้เล่นเองหากต้องการประสบการณ์ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย




 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net