Skip to main content
sharethis

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานแรงงาน ระดับประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำรวจสถานประกอบการ 11,589 แห่ง จาก 77 จังหวัด พบสถานประกอบการมีความต้องการแรงงานอาชีพพื้นฐานในอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุด ตำแหน่งแรงงานพื้นฐานต้องการระดับการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 และไม่มีประสบการณ์ มากที่สุด


แฟ้มภาพ

จาก รายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานแรงงานระดับประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดย กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่ได้ทำการศึกษาการเข้าออกของแรงงานในสถานประกอบการ การประมาณการอุปสงค์แรงงาน และประมาณการอุปทานแรงงานเข้าใหม่ ทั่วประเทศ ปี 2566 ได้ดำเนินโครงการสำรวจข้อมูล ความต้องการแรงงานของสถานประกอบการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำแนกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1. สำรวจสถานประกอบการที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 50 คน โดยกำหนดจำนวนสถานประกอบการที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย 10,941 แห่ง และผลการเก็บรวบรวมข้อมูลจากสถานประกอบการ ได้ทั้งสิ้น 11,367 แห่ง ดำเนินการสำรวจข้อมูลโดยสำนักงานแรงงานจังหวัด 76 จังหวัด และกองเศรษฐกิจการแรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2. สำรวจสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป โดยเชื่อมโยง (link) แบบสำรวจความต้องการแรงงานของสถานประกอบการ (https://ldls.mol.go.th/survey) กับแบบแสดงสภาพการจ้างงานและสภาพการทำงานของสถานประกอบกิจการ (แบบ คร.11) ของ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เว็บไซต์ของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สำนักงานแรงงานจังหวัด และหอการค้าจังหวัด จำนวน 222 แห่ง รวมจำนวนสถานประกอบการที่ตอบแบบสำรวจ 11,589 แห่ง ผลการ สำรวจข้อมูลความต้องการแรงงานของสถานประกอบการทั่วประเทศ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ด้วยการสุ่มตัวอย่างสถานประกอบการจาก 21 ประเภทอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลความต้องการแรงงานของสถานประกอบการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้

1. โครงสร้างประชากรวัยแรงงาน กำลังแรงงาน การมีงานทำและการว่างงาน

จำนวนประชากรผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 58,807,556 คน เป็นเพศชาย 28,033,833 คน และเพศหญิง 30,773,723 คน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 40,280,955 คน และเป็นผู้ไม่อยู่ในกำลังแรงงานจำนวน 18,526,601 คน

จำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้นประมาณ 39,629,215 คน เป็นเพศชาย จำนวน 21,181,857 คน และเพศหญิงจำนวน 18,447,358 คน อย่างไรก็ตามยังมีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 421,143 คน และผู้รอฤดูกาลประมาณ 230,597 คน

2. สถานการณ์ด้านความต้องการแรงงาน (Demand for Labour) ของตลาดแรงงาน

2.1 ผลการสำรวจข้อมูลความต้องการแรงงานในสถานประกอบการ

ผลการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ด้านความต้องการแรงงาน (Demand for Labour) ในสถานประกอบการของตลาดแรงงาน จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 11,589 ตัวอย่าง ชี้ให้เห็นว่าประมาณร้อยละ 20.2 ของกลุ่มตัวอย่างระบุถึงความต้องการแรงงาน ณ ปัจจุบันที่ทำการสำรวจ ปัจจุบัน โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงาน ณ ปัจจุบัน 3 ลำดับแรก ได้แก่ การขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ร้อยละ 35.7 รองลงมา ได้แก่ การผลิต ร้อยละ 17.0 และกิจกรรมโรงแรมและบริการด้านอาหาร ร้อยละ 14.1 ตามลำดับ และสถานประกอบการ ร้อยละ 28.3 ระบุถึงความต้องการแรงงานของสถานประกอบการที่จะเกิดขึ้นภายใน 1 ปี โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานภายใน 1 ปี 3 ลำดับแรก ได้แก่ การขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ร้อยละ 35.9 รองลงมา ได้แก่ การผลิต ร้อยละ 17.2 และกิจกรรมโรงแรมและบริการด้านอาหาร ร้อยละ 12.8 ตามลำดับ ตามลำดับ

ความสามารถในการหาแรงงานได้ภายใน 2 เดือน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะความตึงตัวหรือความคลายตัวของตลาดแรงงาน (Friction or Flexible Labour Market) จากความสามารถของการหาแรงงาน ตามที่สถานประกอบการต้องการภายในระยะเวลา 2 เดือน พบว่า สถานประกอบการสามารถหาแรงงานได้ภายในระยะเวลา 2 เดือน ร้อยละ 73.7 และไม่สามารถหาแรงงานได้ภายในระยะเวลา 2 เดือน ร้อยละ 26.3 โดยอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถหาแรงงานได้มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ร้อยละ 85.7 รองลงมา ได้แก่ ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ร้อยละ 82.3 และการทำเหมืองแร่และเหมืองหินร้อยละ 52.9 ตามลำดับ

เมื่อจับคู่วิเคราะห์ตัวแปร ความต้องการแรงงาน จำแนกประเภทอุตสาหกรรมกับตำแหน่งงานพบว่า ความต้องการแรงงานสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ตำแหน่งผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน ในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 1,087 คน รองลงมาเป็นตำแหน่งพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า ในกิจกรรมโรงแรมและบริการด้านอาหาร จำนวน 614 คน และในอุตสาหกรรมการขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ จำนวน 531 คน ตามลำดับ

ความต้องการแรงงาน จำแนกตามประเภทอุตสาหกรรมและวุฒิการศึกษา พบว่า สถานประกอบการที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ในอุตสาหกรรมการผลิต มีความต้องการแรงงานที่จบการศึกษาระดับต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 846 คน รองลงมา ได้แก่ แรงงานที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในอุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 786 คน และต้องการแรงงานที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในอุตสาหกรรมการขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ จำนวน 746 คน ตามลำดับ

ความต้องการแรงงาน จำแนกตามตำแหน่งงานและช่วงอายุ พบว่า สถานประกอบการต้องการแรงงานในตำแหน่งผู้ประกอบอาชีพพื้นฐานมากที่สุด โดยที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ มีความต้องการแรงงานไม่จำกัดช่วงอายุมากที่สุด ในตำแหน่งผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน จำนวน 1,081 คน รองลงมา ได้แก่ แรงงานช่วงอายุ 15 – 29 ปี จำนวน 862 คน และแรงงานช่วงอายุ 30 – 44 ปี จำนวน 856 คน ตามลำดับ

ความต้องการแรงงาน จำแนกตามตำแหน่งงานและระดับฝีมือ พบว่า สถานประกอบการต้องการแรงงานระดับไร้ฝีมือในตำแหน่งผู้ประกอบอาชีพพื้นฐานมากที่สุด จำนวน 1,904 คน รองลงมา ต้องการแรงงานระดับฝีมือ ในตำแหน่งช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 775 คน และต้องการแรงงานระดับกึ่งฝีมือ ในตำแหน่งตำแหน่งผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน จำนวน 667 คน ตามลำดับ 

ความต้องการแรงงาน จำแนกตามตำแหน่งงานและวุฒิการศึกษา พบว่า สถานประกอบการต้องการแรงงานตำแหน่งงานผู้ประกอบอาชีพพื้นฐานในระดับการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,349 คน รองลงมา ได้แก่ ตำแหน่งงานผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน ในระดับการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,130 คน และตำแหน่งงานพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า ในระดับการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 594 คน ตามลำดับ ตามลำดับ

ทักษะที่สถานประกอบการต้องการ การจัดหมวดหมู่ของชุดทักษะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 หมวดใหญ่ กล่าวคือ ทักษะที่ใช้ในการทำงาน (hard skills) และทักษะที่เป็นลักษณะเฉพาะหรือคุณสมบัติเฉพาะของบุคคลในเรื่องความฉลาด ความสามารถทางอารมณ์หรือความมีคุณธรรม (soft skills) ซึ่งแบบสำรวจจะให้สถานประกอบการระบุชุดทักษะ (คุณสมบัติ) ของแรงงานที่ต้องการต่อตำแหน่งงานหนึ่ง ๆ ได้ถึง 3 ทักษะ ดังนี้

ทักษะที่สถานประกอบการระบุลำดับที่ 1 (คุณสมบัติ) ได้แก่ (1) ทักษะความสามารถเฉพาะ วิชาชีพ จำนวน 1,685 คน ซึ่งเป็นชุดทักษะที่ต้องการมากในตำแหน่งงานช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 763 คน ผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน จำนวน 460 คน และพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า จำนวน 147 คนรองลงมา ได้แก่ (2) ทักษะการสื่อสารและเจรจาต่อรอง จำนวน 926 คน ซึ่งเป็นชุดทักษะที่ต้องการมากในตำแหน่งงานพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า จำนวน 296 คน ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ จำนวน 261 คนและผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน จำนวน 137 คน และ (3) ทักษะความขยันหมั่นเพียร จำนวน 915 คน ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องการมากในตำแหน่งงานผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน จำนวน 313 คน พนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า จำนวน 256 คน และช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 122 คน ตามลำดับ

ทักษะที่สถานประกอบการระบุลำดับที่ 2 (คุณสมบัติ) ทักษะที่ต้องการสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ (1) ความต้องการแรงงานในทักษะความอดทนในตำแหน่งผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน (2) ความต้องการแรงงานในทักษะความสามารถเฉพาะวิชาชีพในตำแหน่งงานช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง และ (3) ทักษะการบริหารจัดการ ในตำแหน่งงานผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน ตามลำดับ

ทักษะที่สถานประกอบการระบุลำดับที่ 3 (คุณสมบัติ) ทักษะที่ต้องการสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ (1) ความต้องการแรงงานในทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในตำแหน่งผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน (2) ความต้องการแรงงานในทักษะความสามารถเฉพาะวิชาชีพ ในตำแหน่งงานช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและ (3) ความต้องการแรงงานในทักษะความขยันหมั่นเพียรในตำแหน่งงานผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน ตามลำดับ 

ความต้องการแรงงาน จำแนกตามตำแหน่งงานและประสบการณ์ทำงาน ไม่มีประสบการณ์ มากที่สุดในตำแหน่งงานผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน จำนวน 2,345 คน รองลงมา ได้แก่ ต้องการแรงงานในตำแหน่งพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้าจำนวน 946 คน และต้องการแรงงานที่มีประสบการณ์ 1 – 2 ปีในตำแหน่งช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 899 คน ตามลำดับ

2.2 ผลการสำรวจข้อมูลการเข้าออกของแรงงานในสถานประกอบการ

ผลการสำรวจการเข้าออกงานของแรงงานในสถานประกอบการ โดยเก็บข้อมูลจากสถานประกอบการ จำนวนทั้งสิ้น 11,161 แห่ง ซึ่งมีจำนวนการจ้างงานปัจจุบันทั้งหมด จำนวน 170,618 คน โดยเป็นแรงงานไทย จำนวน 157,757 คน และแรงงานต่างด้าว จำนวน 12,861 คน และมีจำนวนแรงงานเข้างานใหม่ จำนวน 5,158 คน และมีจำนวนแรงงานออกจากงาน จำนวน 2,720 คน

การเข้างานใหม่และออกจากงานของแรงงานในสถานประกอบการ จำแนกตามประเภทอุตสาหกรรมพบว่า ประเภทอุตสาหกรรมที่มีการเข้างานใหม่จำนวนมากที่สุด ได้แก่ (1) การขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ (2) การผลิต และ (3) กิจกรรมโรงแรมและบริการด้านอาหาร ตามลำดับ ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมที่มีการออกจากงานจำนวนมากที่สุด ได้แก่ (1) การขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ (2) การผลิต และ (3) เกษตรกรรม การป่าไม้ และประมง ตามลำดับจะเห็นได้ว่า ประเภทอุตสาหกรรมที่มีจำนวนแรงงานเข้างานมากที่สุดเมื่อเทียบกับการออกจากงาน คือ การขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ตามลำดับ

การเข้างานใหม่และออกจากงานของแรงงานในสถานประกอบการ จำแนกตามตำแหน่งงาน โดยมีจำนวนแรงงานที่เข้างานใหม่และออกจากงานมากที่สุดในตำแหน่งงานในตำแหน่งงานผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน รองลงมา ได้แก่ พนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า และช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ตามลำดับ ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงของการเข้าออกงานที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าตำแหน่งงานผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน เช่น พนักงานทั่วไป แม่บ้าน กรรมกร เป็นต้น มีแรงงานที่เข้างานใหม่มากที่สุด

การเข้างานใหม่และออกจากงานของแรงงานในสถานประกอบการ จำแนกตามวุฒิการศึกษา โดยมีจำนวนแรงงานที่เข้างานใหม่มากที่สุดในระดับการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 รองลงมา ได้แก่ ระดับต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามลำดับ ในทางตรงกันข้าม จำนวนแรงงานที่ออกจากงานมากที่สุด คือ ระดับต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 รองลงมา ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงของการเข้าออกงานที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าแรงงาน เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเข้างานใหม่มากกว่าออกจากงานมากที่สุดในกลุ่มแรงงานที่อยู่ในวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 เนื่องจากมีอัตราค่าจ้างงานที่ถูกและงานที่ได้รับมอบหมายใช้ความรู้แค่เพียงระดับพื้นฐานเท่านั้น

การเข้างานใหม่และออกจากงานของแรงงานในสถานประกอบการ จำแนกตามระดับฝีมือ โดยมีจำนวนแรงงานที่เข้างานใหม่มากกว่าออกจากงานในแรงงานระดับไร้ฝีมือมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ กึ่งฝีมือ และฝีมือ ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่า สถานประกอบการต้องการแรงงานที่มีทักษะในระดับพื้นฐานไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความชำนาญ และทักษะฝีมือ เพียงแต่ทำงานตามคำชี้แนะหรือรูปแบบที่จัดไว้ได้ ซึ่งแรงงานเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมโอกาสในการทำงานมากขึ้น เพื่อสร้างแรงงานให้มีคุณภาพและทันสมัย

การเข้างานใหม่และออกจากงานของแรงงานในสถานประกอบการ จำแนกตามช่วงอายุ โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างการเข้าและออกของงานสะท้อนว่า แรงงานช่วงอายุ 15 -29 ปี มีการออกจากงานมากกว่าการเข้างาน แรงงานช่วงอายุนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งมีสาเหตุหลายประการที่ทำให้ออกจากงาน อาจเป็นเพราะความไม่พอใจในงานที่ทำไม่ตรงกับความสนใจ มองหาโอกาสในการเติบโตและการพัฒนา หรืออยู่ในตลาดแรงงานในรูปแบบแรงงานอิสระ

2.3 ประมาณการความต้องการแรงงาน ปี พ.ศ. 2567 - 2571

การวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลอุปสงค์อุปทานกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็นถึงประมาณการความต้องการแรงงานปี พ.ศ. 2567 – 2571 พบว่า ความต้องการแรงงานในภาพรวมมีแนวโน้มเฉลี่ยลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อพิจารณาจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมที่มีอัตราขยายตัวของความต้องการแรงงานเฉลี่ยมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ การจัดหาน้ำ การจัดการ และการบำบัดน้ำเสีย ของเสีย และสิ่งปฏิกูล และศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ อัตราการขยายตัวเท่าเฉลี่ยเท่ากัน คือ ร้อยละ 2.4 รองลงมา ได้แก่ กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน อัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.2 และไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศ อัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ตามลำดับ ในทางตรงกันข้ามอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตของความต้องการแรงงานเฉลี่ยลดลงมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ การศึกษา อัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2.5 รองลงมา ได้แก่ การก่อสร้าง อัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2.3 และกิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ อัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2.2 ตามลำดับ

การวิเคราะห์ประมาณการความต้องการแรงงาน ปี พ.ศ. 2567 – 2571 โดยจำแนกตามวุฒิการศึกษา พบว่า ทุกวุฒิการศึกษามีอัตราการเติบโตของความต้องการแรงงานลดลง โดยวุฒิการศึกษาที่มีอัตราการเติบโตของความต้องการแรงงานลดลงเฉลี่ยมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ วุฒิสูงกว่าปริญญาตรี อัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยร้อยละ 1.1 รองลงมา ได้แก่ วุฒิปริญญาตรี อัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.7 และวุฒิปวช.และปวส./อนุปริญญา อัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยเท่ากัน คือ ร้อยละ 0.3 ตามลำดับ

การวิเคราะห์ประมาณการความต้องการแรงงาน ปี พ.ศ. 2567 – 2571 โดยจำแนกตามตำแหน่งงานพบว่า โดยตำแหน่งงานที่มีอัตราการเติบโตของความต้องการแรงงานลดลงเฉลี่ยมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ อัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยร้อยละ 1.4 รองลงมา ได้แก่ ช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง และผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการระดับอาวุโส และผู้จัดการ อัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยเท่ากัน คือ ร้อยละ 0.8 และเจ้าหน้าที่เทคนิคและผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านต่างๆ อัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ตามลำดับ

การวิเคราะห์ประมาณการความต้องการแรงงาน ปี พ.ศ. 2567 – 2571 โดยจำแนกตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า สถานประกอบการทุกขนาดมีอัตราการเติบโตของความต้องการแรงงานลดลง โดยขนาดของสถานประกอบการที่อัตราการเติบโตลดลงของความต้องการแรงงานลดลงเฉลี่ยมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ สถานประกอบการที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน และมีลูกจ้าง 10 – 19 คน มีอัตราการเติบโตลดลง เฉลี่ยเท่ากัน คือ ร้อยละ 0.5 รองลงมา ได้แก่ สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 20 – 49 คน และมีลูกจ้าง 50 – 99 คน มีอัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยเท่ากัน คือ ร้อยละ 0.3 และสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 – 199 คน และมีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป มีอัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ยเท่ากัน คือ ร้อยละ 0.2 ตามลำดับ

3. สถานการณ์ด้านอุปทาน (Supply of Labour) ของตลาดแรงงาน

จำนวนผู้สำเร็จการศึกษา อัตราการเรียนต่อ อัตราการมีงานทำ จำแนกตามวุฒิการศึกษา ปี 2564 พบว่า จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาสูงสุด 3 ลำดับ ได้แก่ รองลงมา ได้แก่ ระดับปริญญาตรี จำนวน 256,045 คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 106,781 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) จำนวน 95,976 คน ตามลำดับ ในภาพรวมอัตราผู้ศึกษาต่อจะค่อย ๆ ลดลงในระดับชั้นการศึกษาที่สูงขึ้น จะเห็นได้จากอัตราการเรียนต่อของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ร้อยละ 32.8 ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ร้อยละ 18.9 และอัตราผู้ศึกษาต่อของผู้สำเร็จการศึกษา ในระดับปริญญาตรี ร้อยละ 8.3 ตามลำดับ แต่อัตราการเรียนต่อของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท ร้อยละ 13.7 ในมิติของอัตราผู้มีงานทำ พบว่า อัตราผู้มีงานทำของผู้สำเร็จการศึกษาสูงสุด 3 ลำดับแรกอยู่ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ร้อยละ 34.6 ในระดับปริญญาตรี ร้อยละ 18.4 และในระดับปริญญาโท ร้อยละ 18.2 ตามลำดับ

การวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลอุปสงค์อุปทานกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายชี้ให้เห็นว่าอุปทานแรงงานเข้าใหม่ ปี พ.ศ. 2567 – 2571 ในทุกประเภทอุตสาหกรรมและทุกวุฒิการศึกษา โดยมีแนวโน้มลดลง โดยเฉลี่ยร้อยละ 1.5

4. ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ

1. จากข้อค้นพบการศึกษาครั้งนี้ คือ ข้อมูลอุปทานแรงงาน การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ) ไม่สะท้อนข้อเท็จจริงเรื่องการศึกษาต่อและการมีงานทำ เนื่องจากพบว่า ขาดความเป็นเอกภาพ มีการรวบรวมมาจากหลากหลายหน่วยงานที่ผลิต นักเรียน นักศึกษา (กำลังแรงงาน) ขาดการติดตามผู้สำเร็จการศึกษา การศึกษาต่อ และผู้มีงานทำ ทำให้ตัวเลขไม่สะท้อนความจริงในบางระดับการศึกษา เช่น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สำเร็จการศึกษา จำนวน 479,038 คน อัตราการศึกษาต่อ ร้อยละ 9.7 แต่ไม่มีอัตราการมีงานทำ ทำให้จำนวนอุปทานแรงงานระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหายไปจากตลาดแรงงาน จึงควรกำหนดหน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูลอุปทานแรงงาน ที่เป็นเอกภาพและต่อเนื่อง จะทำให้ข้อมูลด้านอุปทานแรงงานสะท้อนความเป็นจริงและน่าเชื่อถือ

2. จากข้อค้นพบการศึกษาครั้งนี้ คือ กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจที่สามารถรวบรวมมาได้มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสถานประกอบการในประเทศไทย ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณที่มีอย่างจำกัด ดังนั้น สำนักงานแรงงานจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ให้ความสำคัญในการสำรวจความต้องการของแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการลงพื้นที่สำรวจฯ จึงควรขอความร่วมมือหรือประชาสัมพันธ์ให้สถานประกอบการ เครือข่ายองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนตอบแบบสำรวจทางออนไลน์ให้มากขึ้น และทางส่วนกลางได้ดำเนินการขอความรวมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (แบบสำรวจกับแบบแสดงสภาพการจ้างงานและสภาพการทำงานของสถานประกอบกิจการ (แบบ คร. 11) ในการเชื่อมลิ้งแบบสำรวจฯ ออนไลน์ เพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับความจริงในตลาดแรงงาน และใช้สำหรับวางแผนกำลังคนในอนาคตได้

3. จากข้อค้นพบการศึกษาครั้งนี้ คือ (1) สถานประกอบการต้องการแรงงานระดับไร้ฝีมือในตำแหน่งผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน ประกอบกับ (2) ประมาณการอุปสงค์แรงงานลดลง ร้อยละ 0.3 ขณะที่ประมาณการอุปทานแรงงานลดลงร้อยละ 1.5 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี พ.ศ. 2567 – 2571) ทำให้คาดการว่าจะเกิดการขาดแคลนแรงงานมากกว่าปัจจุบัน จึงควรมีการวางแผนกำลังคนให้ครอบคลุมความต้องการแรงงานในทุกระดับทักษะ เนื่องจากแรงงานในกลุ่มที่ไร้ทักษะ จะทำงานในลักษณะ 3D (Difficult Dirty Dangerous) และคนไทยไม่ต้องการทำงานแรงงานหนัก ทำให้ขาดแคลนแรงงานในกลุ่มนี้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นควรกำหนดนโยบายในการบริหารแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจนในการจ้างงานแรงงานต่างด้าวและมีความจำเป็นที่จะต้องวางระบบโครงสร้างการลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลแรงงานต่างด้าว เพื่อให้มีตัวเลขที่สะท้อนความเป็นจริง โดยเร่งให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมายการลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการลงทะเบียน การกำหนดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม และเพื่อป้องกันการเลี่ยงไปใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย สำหรับกิจการที่มีความต้องการใช้แรงงานเข้มข้น (ไร้ฝีมือ,กึ่งฝีมือ) นอกจากนี้ควรส่งเสริมการนำเข้าเครื่องจักร หรือส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม หรือเครื่องจักรเพื่อใช้ทดแทนแรงงานคนเพื่อลดการจ้างงานแรงงานต่าวด้าว

4. สำหรับแรงงานฝีมือ สถานประกอบกิจการอาจพิจารณาใช้ระบบ AI เช่น Chat GPT มาทำงานกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควรปรับหลักสูตรให้นักเรียน นักศึกษา ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน สามารถทำงานร่วมกับ AI เพื่อทดแทนแรงงานในส่วนนี้ และออกมาตรการดึงดูดแรงงานทักษะสูง เช่น การทำให้เป็นเมืองน่าอยู่มีคุณภาพชีวิตดี โครงสร้างพื้นฐานดีมีมาตรการดึงดูดใจทางภาษี VISA สำหรับแรงงานทักษะสูง เป็นต้น

5. จากข้อค้นพบการศึกษาครั้งนี้ คือ ระบบฐานข้อมูลอุปสงค์และอุปทานกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในส่วนของการประมาณการความต้องการแรงงานและด้านอุปทานแรงงาน ปี พ.ศ. 2567 - 2571 เป็นการนำเข้าข้อมูลไฟล์ Excel ตั้งแต่การพัฒนาระบบฯ ซึ่งทำให้ข้อมูลไม่อัพเดท ส่งผลให้การประมาณการไม่น่าเชื่อถือ ควรมีการพัฒนาระบบใหม่ โดยการใช้ข้อมูลจาก Big data จากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net