Skip to main content
sharethis

งานศึกษา "ปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจต่อการจ้างงานของผู้ช่วยเหลือดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงในประเทศไทย" เก็บข้อมูลจากผู้ช่วยเหลือดูแล จำนวน 563 คน พบส่วนใหญ่ทำสัญญาจ้างกับ รพ.สต. และ อปท. เคยประสบกับการจ่ายค่าจ้างล่าช้ารวมถึงไม่ได้รับการจ่ายค่าจ้าง แนะควรเพิ่มค่าจ้างของ 'ผู้ช่วยเหลือดูแล' ให้ไม่น้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ


แฟ้มภาพสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ปัจจุบันไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ภาระการดูแลผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะพึ่งพิง และผู้ต้องการความช่วยเหลือ มีเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ อาชีพ 'ผู้ช่วยเหลือดูแล' จึงเริ่มมีความสำคัญขึ้นด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจากการศึกษา "ปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจต่อการจ้างงานของผู้ช่วยเหลือดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงในประเทศไทย" โดยภัทรพร คงบุญ และคณะ ที่เผยแพร่ใน วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 17 ฉบับที่ 3 ก.ค.-ก.ย. 2566 ที่ได้ทำการศึกษาความพึงพอใจต่อการจ้างงานของผู้ช่วยเหลือดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงระยะยาวในชุมชนผ่านหน่วยบริการ/ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจในการจ้างงานของผู้ช่วยเหลือดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงระยะยาวในชุมชน หลังการประกาศปรับการจ่ายค่าจ้างผู้ช่วยเหลือดูแล (caregiver) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ทำการศึกษาระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2565 เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากผู้ช่วยเหลือดูแล จำนวน 563 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงระยะยาวในชุมชน ภายใต้กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (long term care, LTC) จาก ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร

งานศึกษานี้มีข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

'ผู้สูงอายุที่ติดบ้าน-ติดเตียง' และ 'ผู้มีภาวะพึ่งพิง' มีจำนวนเพิ่มขึ้น

จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทย ทำให้จำนวนและสัดส่วนของประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุนั้น เมื่ออายุมากขึ้นก็มีความเสื่อมถอยของร่างกาย ส่งผลให้ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองลดลง ต้องพึ่งพาบุคคลอื่นในการดูแลสุขภาพและการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และพบว่าผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง จะมีอุบัติการณ์การเกิดภาวะทุพพลภาพมากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ภาระค่าใช้จ่ายที่ประเมินในปี 2559 สำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านมีค่าเฉลี่ย 9,667 บาทต่อคนต่อเดือน, ผู้สูงอายุที่ติดเตียง 19,129 บาทต่อคนต่อเดือน

ทั้งนี้ความเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะทุพพลภาพ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ต้องได้รับบริการดูแลแบบต่อเนื่อง นอกเหนือจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงอื่น ได้แก่ ผู้พิการ ผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยภาวะสมองบกพร่อง โดยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ปี 2560 ประเทศไทยมีประชากรพิการประมาณ 3.7 ล้านคน หรือร้อยละ 5.5 ของประชากรทั่วประเทศ ซึ่งผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงจัดเป็นบุคคลกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องการการดูแลสนับสนุน การปกป้องเป็นพิเศษ

กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการขับเคลื่อนผลักดันเชิงนโยบายการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รับทราบและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ในการประชุมเมื่อ 17 พ.ค. 2556 กระทั่งผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ 14 ก.ย. 2558 และเริ่มมีงบประมาณสนับสนุนให้ในปีงบประมาณ 2559 เป็นปีแรก จำนวน 600 ล้านบาท (เหมาจ่าย 5,000บาท ต่อคนต่อปี) โดยมุ่งเน้นการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ มีแนวคิดหลักคือให้ท้องถิ่นเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนและบริหารจัดการระบบ โดยอาศัยกองทุนตำบลเป็นกลไกในการทำงานร่วมกันของภาคสาธารณสุขและภาคอื่นๆ 

แต่ด้วยข้อจำกัดของศักยภาพท้องถิ่น จึงต้องอาศัยกลไกโรงพยาบาลในการสนับสนุนและพัฒนาในระยะแรก การดำเนินงานในช่วงปี 2559-2561 พบว่า ความครอบคลุมการจัดบริการด้านสุขภาพทำได้ดีกว่าบริการด้านสังคม มีท้องถิ่นร้อยละ 30 เท่านั้นที่จัดบริการด้านสังคมได้อย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ นอกจากนี้นโยบายยังจำกัดอยู่ที่การดูแลเฉพาะผู้สูงอายุและเฉพาะสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 80 เท่านั้น หรือหากคิดในประเด็นความครอบคลุมกลุ่มผู้มีความจำเป็นต้องได้รับบริการระยะยาวทั้งหมดก็ครอบคลุมได้เพียงร้อยละ 56-64 เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลเปราะบางกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ แฝงอยู่ภายใต้ระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลอื่น(สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิประกันสังคมและอื่นๆ) จึงได้มีการขยายสิทธิเพื่อให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มเปราะบางนี้ ดังประกาศกองทุนฯ ฉบับที่ 2 ปี 2562 เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ต.ค. 2562 โดยมีการจัดทีมหมอครอบครัวร่วมกับ อปท. ดำเนินการคัดกรองผู้สูงอายุและบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีทุกสิทธิ ตามแบบประเมินความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) โดยแบ่งผู้สูงอายุและบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ทุกสิทธิ ออกเป็น 4 กลุ่มและประเมินความต้องการบริการด้านสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์

ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน

สำหรับบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงและเป็นกำลังสำคัญในพื้นที่นั้นหลักๆ คือ 'ผู้จัดการระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข' (care manager, CM) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการและประสานให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับบริการด้านสาธารณสุข ตามชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ.2561 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562 โดยการจัดทำแผนดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นรายบุคคล (care plan) ประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ long-term care (LTC) ในการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ รวมทั้งเชื่อมประสานกับทีมสหวิชาชีพ พหุภาคี อปท.และภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการจัดบริการตาม care plan โดย CM 1 คนดูแลผู้ช่วยเหลือดูแล 5-10 คน และดูแลผู้สูงอายุประมาณ 35-40 คน รวมถึงติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงาน

นอกจากนี้บุคลากรสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ 'ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน' หรือ 'ผู้ช่วยเหลือดูแล' (caregiver) ต้องผ่านการอบรม 70 ชั่วโมงหรือ 420 ชั่วโมงโดยหลักสูตร 70 ชั่วโมงนั้นผู้สมัครต้องมีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุมาก่อนไม่น้อยกว่า 1 ปี และมีหนังสือรับรองจากโรงเรียนหรือสถาบันหรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ผู้สมัครที่เป็น อสม. มาก่อนหรือเคยเป็นพนักงานดูแลผู้สูงอายุมาก่อน ส่วนหลักสูตร 420 ชั่วโมงนั้น มีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการอบรม เช่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน เมื่ออบรมครบ 420 ชั่วโมง สอบรับประกาศนียบัตรแล้ว สามารถขึ้นทะเบียนและได้รับความคุ้มครองทางด้านแรงงาน (ค่าตอบแทน) ทั้งนี้ ผู้ช่วยเหลือดูแลกลุ่มนี้ทำงานบางเวลาเท่านั้น (parttime) โดยหน่วยงานในพื้นที่ที่จ้างผู้ช่วยเหลือดูแลคือ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน (จัดตั้งโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) หน่วยบริการหรือสถานบริการ ซึ่งได้งบสนับสนุนค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิง (ค่าบริการ LTC) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้ากองทุนฯ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการ โดยการจ้างเหมาผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุในลักษณะจิตอาสาตามแผนการดูแล โดยกรณีที่จ้างผู้ช่วยเหลือดูแลผ่านหน่วยบริการหรือสถานบริการจะอิงระเบียบเงินบำรุงกระทรวงสาธารณสุข ในอัตราค่าจ้างเหมาไม่เกิน 1,500 บาทต่อเดือนต่อผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ 1 คน

ทั้งนี้ ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ให้ดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงตั้งแต่ 5-10 คน ยกเว้นในกรณีที่พื้นที่มีผู้มีภาวะพึ่งพิงน้อยกว่า 5 คน ให้จ้างเหมาไม่เกิน 600 บาทต่อเดือนต่อผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ 1 คน โดยให้ผู้จัดการระบบการดูแลเป็นผู้พิจารณาจัดสรรผู้มีภาวะพึ่งพิงให้แก่ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ ตามศักยภาพและคละกลุ่มให้เหมาะสม ส่วนกรณีที่จ้างผู้ช่วยเหลือดูแลผ่านศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนนั้น สามารถเบิกจ่ายได้ตามมติคณะอนุกรรมการ LTC ที่อนุมัติ โดยอัตราค่าตอบแทนอาจจะเท่ากับระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขหรือมากกว่า โดยฐานข้อมูลกรมอนามัย เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 พบว่ามีผู้จัดการระบบการดูแลจำนวน 14,418 คน และผู้ช่วยเหลือดูแลจeนวน 93,001 คน คิดเป็นอัตราส่วน ผู้จัดการระบบการดูแล:ผู้ช่วยเหลือดูแล ≈ 1:6

พบค่าจ้าง 'ผู้ช่วยเหลือดูแล' น้อยมาก

บุคลากรที่ปฎิบัติงานในชุมชน ถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานและกิจกรรมด้านการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงในระยะยาว ให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ โดยกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้มีภาวะพึ่งพิงในระยะยาวได้รับการบริการอย่างทั่วถึงและครอบคลุมนั้นคือกลไกการจ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนให้กับบุคลากร ซึ่งเคยมีวิจัยก่อนหน้านี้ รายงานว่าพื้นที่ที่มีการจ่ายค่าตอบแทนผู้ดูแลในทุกรูปแบบมีความครอบคลุมการจัดบริการอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอได้ดีกว่าพื้นที่ที่ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนผู้ดูแลเกือบทุกด้าน

อย่างไรก็ตาม การจ่ายค่าจ้างเหมาผู้ช่วยเหลือดูแล ในพื้นที่ตามหนังสือกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้จ่ายค่าจ้างแก่ผู้ช่วยเหลือดูแลที่ดูแลผู้สูงอายุ 1-4 คน ในอัตราค่าจ้างเหมาบุคคล เดือนละไม่เกิน 600 บาท และ ผู้ช่วยเหลือดูแล ที่ดูแลผู้สูงอายุ 5-10 คน ในอัตราค่าจ้างเหมาบุคคลเดือนละไม่เกิน 1,500 บาทนั้น ได้ดำเนินการจ่ายในอัตรานี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา และปัจจุบันมีผู้ช่วยเหลือดูแลที่ลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูล 3C (ฐานข้อมูลขึ้นทะเบียน care manager, caregiver และจัดทำ care plan พัฒนาโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข) เกือบหนึ่งแสนราย แต่การศึกษาวิจัยถึงความพึงพอใจต่อการจ้างงานของผู้ช่วยเหลือดูแล (ผ่านหน่วยบริการ สถานบริการศูนย์ฯ) มีน้อยมาก ดังนั้นคณะวิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาความพึงพอใจต่อการจ้างงาน ตลอดจน ศึกษา อัตราค่าจ้าง และปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจต่อการจ้างงาน ของผู้ช่วยเหลือดูแลในประเทศไทย

'ผู้ช่วยเหลือดูแล' ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่ทำสัญญาจ้างกับ รพ.สต. และ อปท. เคยประสบกับการจ่ายค่าจ้างล่าช้ารวมถึงไม่ได้รับการจ่ายค่าจ้าง

ข้อมูลจากผู้ช่วยเหลือดูแล จำนวน 563 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากถึงร้อยละ 95.4 และเป็นเพศชายเพียงร้อยละ 4.6 หากจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือร้อยละ 62.3 มีอายุระหว่าง 40-59 ปี รองลงมาอยู่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้น ไปคือร้อยละ 32.3 และอายุต่ำกว่า 40 ปีคือร้อยละ 5.4 จำแนกตามระดับการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาสูงที่สุด คือร้อยละ 59.9 รองลงมาคือระดับประถมศึกษามีสัดส่วนร้อยละ 20.4 เมื่อพิจารณาด้านรายได้ พบว่า มีเพียงร้อยละ 19.4 ที่มีรายได้หลักจากค่าจ้างของผู้ช่วยเหลือดูแล

กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.2 มีระยะเวลาการทำงานเป็นผู้ช่วยเหลือดูแลอยู่ระหว่าง 3-5 ปี รองลงมาคือร้อยละ 31.6 มีระยะเวลาการทำงานอยู่ในช่วง 1-3 ปี กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 89.6 ผ่านการอบรมหลักสูตร 70 ชั่วโมง

ด้านการทำสัญญาจ้าง พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.3 ทำสัญญาจ้างกับหน่วยบริการ ได้แก่โรงพยาบาล รพ.สต. และศูนย์บริการสาธารณสุข, ร้อยละ 30.6 ทำสัญญาจ้างกับเทศบาล/อบต./อปท., และร้อยละ 17.6 ไม่ได้ทำสัญญาจ้าง ในขณะที่ความถี่ของการได้รับค่าจ้างพบว่า ร้อยละ 25.8 ได้รับค่าจ้างทุกเดือน, ร้อยละ 17.9 ได้รับค่าจ้างทุกๆ 3 เดือน และเมื่อพิจารณาปัญหาการค้างจ่ายค่าจ้าง พบว่า ร้อยละ 48.7 เคยประสบกับการจ่ายค่าจ้างล่าช้ารวมถึงไม่ได้รับการจ่ายค่าจ้าง

กิจกรรมที่ผู้ช่วยเหลือดูแลปฏิบัติมากที่สุด ได้แก่ พูดคุยให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยและญาติที่ดูแลผู้ป่วย ร้อยละ 79.0 รองลงมาคือ การตรวจวัดความดันโลหิต/น้ำตาลในเลือด ร้อยละ 77.1, ช่วยทำกายภาพบำบัด/นวดไทย ร้อยละ 56, เขียนรายงานการปฏิบัติงาน ร้อยละ 49, และการดูแลกิจวัตรประจำวันทั่วไป เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ การนอนหลับพักผ่อน ร้อยละ 43.9

เมื่อพิจารณาด้านค่าจ้างโดยเฉลี่ย พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับค่าจ้างสูงที่สุดเฉลี่ย 3,054 บาทต่อเดือน ภาคตะวันออกได้รับค่าจ้างเฉลี่ย 1,265 บาทต่อเดือน ภาคเหนือและภาคใต้ได้รับค่าจ้างใกล้เคียงกันคือเฉลี่ย 774 บาท และ 764 บาทต่อเดือนตามลำดับ ในขณะที่ กทม. ยังไม่ได้รับค่าจ้าง

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ช่วยเหลือดูแลฯ ในการออกไปปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเป็นเงินที่ผู้ช่วยเหลือดูแลเป็นผู้จ่าย พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเฉลี่ย 356 บาทต่อเดือน ภาคตะวันออกเฉลี่ย 215 บาทต่อเดือน ภาคใต้เฉลี่ย 182 บาทต่อเดือน กทม. เฉลี่ย 177 บาทต่อเดือน และภาคเหนือเฉลี่ย 115 บาทต่อเดือน

ความพึงพอใจต่อการจ้างงานของผู้ช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน

ระดับความพึงพอใจต่อการจ้างงานของผู้ช่วยเหลือดูแล ส่วนใหญ่ คือร้อยละ 51.6 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก รองลงมา คือร้อยละ 26.3 มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด ร้อยละ 21.5 มีความพึงพอใจในระดับปานกลางและร้อยละ 0.6 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับน้อยเมื่อพิจารณาจำแนกตามพื้นที่พบว่า ระดับความพึงพอใจต่อการจ้างงานของผู้ช่วยเหลือดูแลในเขตกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ อยู่ในระดับปานกลาง คือร้อยละ 73.8 รองลงมาอยู่ในระดับมาก คือร้อยละ 13.1 และอยู่ในระดับมากที่สุด คือร้อยละ 9.8 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีความพึงพอใจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ผู้ช่วยเหลือดูแลส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก รองลงมาอยู่ในระดับมากที่สุดและระดับปานกลางตามลำดับ ในขณะที่ภาคตะวันออกผู้ช่วยเหลือดูแลส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก คือร้อยละ55.4 รองลงมาอยู่ในระดับปานกลาง คือร้อยละ 25.0 และระดับมากที่สุด คือร้อยละ 18.5

เมื่อพิจารณาจำแนกตามหน่วยงานที่ทำสัญญาจ้างพบว่า ในกลุ่มผู้ที่ทำสัญญาจ้างกับหน่วยบริการฯ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก คือร้อยละ 42.0 รองลงมาอยู่ในระดับปานกลางคือร้อยละ 30.5 และระดับมากที่สุดคือร้อยละ 26.7 ในกลุ่มผู้ที่ทำสัญญาจ้างกับ อปท. ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมาก คือร้อยละ 58.1 รองลงมาอยู่ในระดับมากที่สุด คือร้อยละ 31.1 และในระดับปานกลางคือร้อยละ 10.8 ในกลุ่มผู้ที่ทำสัญญาจ้างกับศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมาก คือร้อยละ 63.5 รองลงมาอยู่ในระดับมากที่สุดคือร้อยละ 30.4

ปัญหา/อุปสรรค และข้อเสนอแนะของผู้ช่วยเหลือดูแล

กลุ่มตัวอย่างประสบปัญหาอุปสรรคมากที่สุด ได้แก่ การขาดแคลนอุปกรณ์ เครื่องมือที่ไม่เพียงพอในการปฏิบัติงาน คือร้อยละ 27.6 รองลงมาคือ การที่ผู้ป่วยและญาติไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติการดูแลผู้ป่วย คือร้อยละ 11.0, ญาติไม่ไว้ใจ ไม่ยินยอมให้ผู้ช่วยเหลือดูแลเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน คือร้อยละ 10.4, และปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ค่อนข้างสูง/ไม่มีค่าเดินทางในการลงพื้นที่ คือ ร้อยละ 6.0

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือร้อยละ 52.8 ต้องการให้เพิ่มเติมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงาน เช่น อุปกรณ์วัดความดันโลหิตหรือชุดทำแผล, ร้อยละ 21.8 ต้องการให้มีการเพิ่มค่าจ้าง/ค่าตอบแทนในการทำงาน, ร้อยละ 16.5 ต้องการให้มีการเพิ่มค่าใช้จ่ายเช่นค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์, ร้อยละ 15.6 ต้องการได้รับการสนับสนุนสิ่งของที่จำเป็นต่อผู้ป่วย เช่น แพมเพิร์ส และร้อยละ 11.9 ต้องการให้มีการสนับสนุนของเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อเพิ่มกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย

แนะควรเพิ่มค่าจ้างของ 'ผู้ช่วยเหลือดูแล' ให้ไม่น้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

ผลจากการศึกษามีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยในด้านค่าจ้าง ควรปรับเพิ่มค่าจ้างของผู้ช่วยเหลือดูแลให้ไม่น้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ หรือปรับเพิ่มค่าจ้างแบบขั้นบันไดตามอายุงานของผู้ช่วยเหลือดูแล กรณีที่ไม่เพิ่มค่าจ้างก็ควรให้ค่าเดินทาง ค่าป่วยการต่างๆ ด้านปัจจัยสนับสนุนการทำงาน ควรจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงาน เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต ให้แก่ผู้ช่วยเหลือดูแลทุกคน, จัดอบรมฟื้นฟูความรู้และทักษะเพิ่มเติมให้ผู้ช่วยเหลือดูแลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ, จัดหาเสื้อทีม บัตรประจำตัวหรือสัญลักษณ์เพื่อแสดงตัวตนให้แก่ผู้ช่วยเหลือดูแลเพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนทั่วไป.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net