Skip to main content
sharethis

“ชัยธวัช-พิธา” นำทีม สส. พรรคก้าวไกล ร่วมรำลึก 47 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา ชี้ ปัญหาสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมยังคงเป็นโจทย์ตกค้างจาก 6 ตุลา เสนอนิรโทษกรรมคดีการเมือง หวังทุกฝ่ายรับหลักการวาระแรก ขอรัฐบาลถอดบทเรียน 6 ตุลา ไม่กีดกันความคิดใดออกจากพื้นที่ปลอดภัย

6 ต.ค. 2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานต่อสื่อมวลชน ที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แกนนำพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตลอดจน สส.พรรคก้าวไกลหลายคน ได้เดินทางมาร่วมงานรำลึกครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 พร้อมวางพวงมาลาและช่อดอกไม้ไว้อาลัยให้กับผู้สูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยก่อนพิธีการจะเริ่มต้น ทั้งสองได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนถึงประเด็นต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 และสถานการณ์ทางการเมืองทั่วไปในปัจจุบัน

พิธา ระบุว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นบทเรียนที่ไม่ควรลืมว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 47 ปีที่แล้วเป็นความรุนแรงที่ไปไกลเกินกว่าที่ใครควรจะรับได้ ที่คนในรุ่นปัจจุบันควรต้องถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมศึกษาและทำความเข้าใจจากหลักฐานที่มีมากขึ้นในวันนี้ ให้เห็นถึงมุมองที่แตกต่าง ว่ามีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ต้องการทำให้เราลืมเหตุการณ์ในครั้งนี้เพื่อทดแทนด้วยความว่างเปล่า

หลายปีที่ผ่านมามีความพยายามสะสางประวัติศาสตร์ข้อเท็จจริงมาโดยตลอด แม้จะยังไม่มีผลสรุปว่าใครต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 47 ปีที่แล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็เห็นได้ว่าคนรุ่นนี้เข้าถึงความจริงที่มีคนพยายามปกปิดมาตลอดมากกว่าคนรุ่นตนมากแล้ว

พิธายังกล่าวต่อไป ว่านี่คือเหตุผลว่าทำไมพรรคก้าวไกลจึงพยายามทำงานเพื่อทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 47 ปีที่แล้วไม่เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย ด้วยการยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เมื่อวานนี้ (5 ตุลาคม) ให้เป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟ ไม่ให้เกิดความแตกแยกที่ไม่จบสิ้น ให้เกิดการสืบหาข้อเท็จจริง เกิดความยุติธรรม และให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้

ส่วนชัยธวัช ระบุว่า ในวาระ 47 ปี เราไม่ควรพูดถึงเพียงแค่การรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตเท่านั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตยังคงสะท้อนปัญหาทางการเมืองในสังคมไทยที่ยังเป็นโจทย์ตกค้างมาถึงปัจจุบันหลายเรื่อง เช่น สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางการเมือง ระบบกฎหมายและอำนาจรัฐต้องเคารพชีวิตและร่างกายของประชาชน ไม่ให้อำนาจใดมาพรากชีวิตและร่างกายของประชาชน ยังไม่นับว่าในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีคนถูกดำเนินคดีอย่างรุนแรง จำคุก และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เพียงเพราะความคิดเห็นทางการเมืองหลายพันคน

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้พรรคก้าวไกลตัดสินใจยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดสืบเนื่องจากความเห็นทางการเมือง นับตั้งแต่วันแรกที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมมาจนถึงปัจจุบัน ที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังยืดเยื้อไม่จบสิ้น ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองเจตนาดี แสดงความคิดเห็นและชุมนุมเพื่อสร้างสังคมที่ดีในมุมของตัวเอง แต่เกิดความขัดแย้งมาจนไม่มีทางออกขนาดนี้ ประตูบานแรกที่จะนำไปสู่การหันหน้ามาคุยกัน ตั้งต้นใหม่ทางการเมืองตามเป้าหมายของรัฐบาลในการสร้างความปรองดอง ก็คือการคืนความยุติธรรม ทำให้ทุกฝ่ายลดกำแพงมาพูดคุยกัน ใช้กระบวนการประชาธิปไตยแสวงหากติกาการเมืองแบบใหม่ที่เรายอมรับที่จะอยู่ร่วมกัน

ชัยธวัชยังกล่าวต่อไป ว่าพรรคก้าวไกลเชื่อว่ากระบวนการนิติบัญญัติในสภาจะเป็นพื้นที่ให้เราเอาความเห็นที่ไม่ตรงกัน มาออกแบบร่วมกันด้วยความรอบคอบ รอบด้าน มีวุฒิภาวะ และมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ที่พรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน รวมทั้ง สว. มีความเห็นที่เป็นจุดร่วมกันได้ ดังนั้น ตนจึงขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายมาพิจารณาร่วมกัน เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในฉบับของตัวเองขึ้นมาด้วยก็ได้ ผ่านวาระหนึ่งแล้วค่อยไปว่ากันในรายละเอียดที่เห็นต่างกันในวาระที่ 2 และ 3 ได้

จากนั้น ผู้สื่อข่าวถามถึงความพึงพอใจของพรรคก้าวไกล ต่อคำตอบของภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต่อการตั้งกระทู้ถามสดในกรณีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อวานนี้ โดยในส่วนของพิธา ระบุว่าจากคำตอบที่ได้ ตนกลัวว่าสิ่งที่ทุกฝ่ายได้มีการศึกษามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนมีหลักการที่ออกมาตรงกันแล้วว่าต้องมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะถูกย้อนหลักการกลับ รวมถึงอาจเป็นการประวิงเวลา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยต้องการ

ชัยธวัชระบุว่า จากคำตอบที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ยังไม่มีผลให้ สส. ส่วนใหญ่ในพรรคมีความเห็นที่แตกต่างไปจากมติเดิมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว พรรคก้าวไกลมีจุดยืนที่ชัดเจนที่ต้องการให้เกิดการทำประชามติ ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง แต่แม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการ พรรคก้าวไกลก็ยังคงยินดีที่จะเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการในทางต่างๆ ที่ทำได้

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าสิ่งที่พึงระวังสำหรับรัฐบาล ก็คือท่ามกลางความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดหลายขั้ว ถ้าจัดการไม่ดีอาจมีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงได้ในอนาคต เมื่อรัฐบาลมีอำนาจแล้วต้องใช้อย่างระมัดระวัง ควรเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายทุกความคิดได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการเอาความคิดเห็นมาเสนอ สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เห็นด้วยทุกฝ่าย แต่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการจัดระบบทางการเมืองโดยไม่มีใครถูกกีดกัน

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลอยู่บนพื้นฐานวิธีคิด ว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องไม่กีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไป ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในทางการเมืองให้ทุกความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เสียงส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปอย่างไรก็ต้องเห็นตามนั้น รัฐบาลไม่ควรมีท่าทีว่าใครที่ต้องการเสนอความคิดเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองของตัวเองโดยยึดในหลักการที่ถูกต้อง คือคนที่เป็นชนวนความขัดแย้งหรือตัวปัญหา แบบที่มีท่าทีออกมาเมื่อวานนี้

“ถ้าพูดตามรัฐบาล ว่าใครก็ตามที่ยึดมั่นในหลักการมากเกินไประวังจะเป็นชนวนความขัดแย้ง เป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก เหมือนกับการพูดว่าเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาที่ยืนยันหลักการที่ถูกต้องคือคนที่เป็นชนวนปัญหาใช่หรือไม่ กระบวนการที่เปิดพื้นที่ให้ทุกความคิดเห็นต่างหากที่สำคัญ แม้ทุกคนจะไม่ได้ทุกอย่างที่ต้องการ อย่าผลักให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีพื้นที่ทางการเมือง อย่าผลักให้คนที่เสนอในหลักการที่ถูกต้องกลายเป็นคนที่เป็นชนวนของความขัดแย้ง” ชัยธวัช กล่าว

“ชัยธวัช” ชี้ โจทย์ใหญ่ตกค้างจาก 6 ตุลาฯ 2519 คือวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด-ประชาชนขาดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก 

ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งในผู้กล่าวปาฐกถา เนื่องในโอกาสครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 โดยได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “อีกกี่ตุลาคมสังคมไทยจึงจะพร้อมสำหรับเรื่องแหลมคม และการปูทางสู่ประชาธิปไตย”

ชัยธวัชเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรับรู้ของตนที่มีต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซึ่งก็คงเหมือนกับคนส่วนใหญ่ในสังคม ที่โตมากับแบบเรียนที่กล่อมเกลาให้เรารักในความเป็นไทย และสังคมไทยที่เปรียบเสมือนหมู่บ้านอันน่าอยู่ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สงบสุข ไม่มีการพูดอะไรถึงเหตการณ์เดือนตุลาคม จนบังเอิญได้ไปค้นเจอหนังสือเก่าเล่มหนึ่งที่นักเรียนทำขึ้นกันเองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ที่เกี่ยวกับ อุดมคติของคนหนุ่มสาว การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม รู้สึกว่าเป็นหนังสือรับน้องที่แปลกดี

จนมาปี 1 ได้รับรู้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จริงๆ เพราะที่ลานข้างตึกในมหาวิทยาลัยปีนั้นมีการจัดนิทรรศการเล็กๆ ได้เห็นวิดีโอเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แบบเต็มๆ ครั้งแรก จำได้ว่ามีโอกาสไปดูละครเวทีกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลาฯ มีการชูคำขวัญ “ขอที่เล็กๆ ให้เราได้ยินและฝันบ้าง” ก็ได้แต่รู้สึกว่ามันช่างเป็นคำขวัญที่เจียมเนื้อเจียมตัวเสียนี่กระไร ไม่ยิ่งใหญ่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่าการขอให้มีที่ยืนเล็กๆ และฝันบ้างในสังคมไทยยิ่งใหญ่และมีนัยยะสำคัญอย่างไร ภายหลังจึงเข้าใจว่าสังคมไทยอนุญาตให้คนไทยมีอุดมการณ์ได้เพียงอุดมการณ์เดียว และหากใครคิดเป็นอื่นไปจากอุดมการณ์หลักของชาติ คนนั้นอาจผิดถึงตาย โดยที่ไม่มีใครมารับผิดรับชอบด้วย

ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่านี่คือโจทย์ใหญ่ที่ยังคงตกค้างมาถึงปัจจุบัน และนำมาสู่การสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 ดังนั้น ที่ผู้จัดงานให้โจทย์ว่าเมื่อไรสังคมไทยจะพร้อมสำหรับเรื่องแหลมคม ตนตอบไม่ได้จริงๆ แต่เราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการยืนยันและผลักดันในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญ 2 เรื่อง คือ

1) ช่วยกันทำทุกวิถีทาง ให้เกิดการยกเลิกวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ไม่ใช่แค่สำหรับ 6 ตุลาฯ แต่ต่อทุกกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุสลายการชุมนุม จนเกินความสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ ค้นหาความจริง เรียกร้องกระบวนการยุติธรรมเอาผิดเจ้าหน้าที่และผู้บริหารประเทศ ในเหตุการณ์ เม.ย. - พ.ค. 2553

2) ทำให้เกิดการยืนยันในหลักการ ว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ต้องได้รับความคุ้มครอง ไม่มีใครต้องติดคุกจากการแสดงออกทางการเมืองโดยสันติ

ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการต่อสู้ผลักดันเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมมางการเมือง กฎหมายต่างๆ ไปจนถึงกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้า คือการผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน น่าจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาขน ไม่ว่าจะสังกัดความคิดทางการเมืองแบบใด

“เพื่อยืนยันว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่อาชญากรรม แต่เป็นการแสดงออกทางการเมืองที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ที่ไม่ควรเอาไปติดคุก นี่คือประตูบานแรกที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝั่งฝ่ายที่เคยขัดแย้งกันมีพื้นที่ปลอดภัย ใช้กระบวนการประชาธิปไตยแสวงหาฉันทามติใหม่ของสังคมไทยต่อไปในอนาคต” หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว

ชัยธวัชยังกล่าวต่อไป ว่าปัจจุบันนี้ การเมืองไทยกำลังเดินทางเข้าสู่หมุดหมายใหม่ จากเดิมในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ที่เป็นช่วงเวลาทางการเมืองที่ขัดแย้ง ปะทะ และต่อสู้กัน ระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองแบบจารีตที่ไม่มีฐานมาจากการเลือกตั้ง ปะทะกับชนชั้นนำทางการเมืองใหม่ที่มีฐานความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง ผ่านไปสองทศวรรษความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองสองกลุ่ม ได้ส่งผลกระเทือนต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ท่ามกลางการต่อสู้ของชนชั้นนำ ประชาชนทุกฝ่ายก็ได้เกิดสำนึกทางการเมืองใหม่ขึ้นมา และเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและระบอบประชาธิปไตย ที่ก่อนหน้านี้ชนชั้นนำไม่อนุญาตให้มีประชาชนเข้าไปเกี่ยวด้วย และเป็นแค่พื้นที่ต่อรองกันระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองสองฝ่ายเท่านั้น

แต่วันนี้เมื่อชนชั้นนำทั้งสองกลุ่มได้รอมชอมกันแล้วอย่างน้อยชั่วคราว ประเทศไทยก็ได้เข้าสู่การเมืองหมุดใหม่อีกครั้ง เป็นการปะทะต่อสู้กันระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองและกลุ่มทุนใหญ่ที่เป็นพันธมิตร กับการเมืองของประชาชนที่มีสำนึกใหม่ ที่ชนชั้นนำไม่ว่าฝ่ายไหนรู้สึกว่าเป็นศัตรูและภัยคุกคามที่แท้จริง

เรากำลังเดินทางอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่และน่าตื่นเต้นที่สุดในรอบหลายทศวรรษของสังคมไทย แน่นอนว่าเป็นกระบวนการที่ยืดเยื้อ ไม่ใช่การต่อสู้ที่จะสามารถแตกหักกันได้ในครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง ไม่มีการต่อสู้ครั้งสุดท้าย มีแต่ต่อสู้ไปเรื่อยๆ มีแพ้-มีชนะ มีรุก-มีถอย มีเพลี่ยงพล้ำ-มีโต้กลับ มีความหวัง และมีโศกนาฏกรรม

ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่าอยากให้ทุกคนมองโลกอย่างมีความหวัง เข้าใจสภาพการณ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่ สำหรับตน หากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงต้องทำสามอย่าง คือ
1) เข้าใจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหญ่ให้ได้
2) มองให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลง
3) จงเตรียมพร้อมเมื่อห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึง เพื่อทำในสิ่งที่ใครต่อใครบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ให้กลายเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในที่สุด

“หลายคนอาจรู้สึกท้อแท้พ่ายแพ้ แต่ผมอยากให้ทุกคนนึกย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว หรือกระทั่งเมื่อ 47 ปีที่แล้ว เราจะตระหนักได้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันเรามาไกลมากแล้ว ขอแต่เพียงมองให้เห็นชัยชนะ อย่ามองเห็นแต่ความพ่ายแพ้ และเก็บเกี่ยวชัยชนะนั้นให้ได้” ชัยธวัชกล่าว

ธนาธรร่วมเสวนา 6 ตุลา ตั้งคำถามผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทำไมกลายเป็นปีศาจในประเทศนี้

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “บทเรียน 6 ตุลา: การเมือง อำนาจ และความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งจัดโดยโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยธนาธรเริ่มต้นด้วยการตอบคำถามผู้ร่วมเสวนา ที่เทียบว่าพรรคก้าวไกลเป็นสายล่อฟ้า เป็นปีศาจตัวใหม่ที่อาจทำให้ผู้มีอำนาจหวาดกลัวและทำให้การเมืองไทยวนกลับไปยุค 6 ตุลาอีกครั้ง

ธนาธรกล่าวว่า หากว่าการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง ทำให้เรากลายเป็นปีศาจ กลายเป็นสายล่อฟ้า ตนก็ยอมเป็นปีศาจ แต่ขอตั้งคำถามสาเหตุใดการยืนยันในสิ่งที่ถูกต้อง การเรียกร้องประเทศที่ดีกว่านี้ สังคมที่ดีกว่านี้สำหรับคนรุ่นต่อไป จึงทำให้ผู้เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงต้องถูกผลักเป็นปีศาจ

ธนาธรยังได้ถามนักศึกษาที่มาร่วมฟังเสวนา ว่าใครคิดว่าอนาคตตนเองสดใส มีงานมีอาชีพมั่นคงรออยู่ในประเทศนี้ ให้ยกมือขึ้น ซึ่งมีนักศึกษายกมือเพียง 2 คน จากผู้ร่วมฟังนับร้อย จากนั้นจึงกล่าวต่อไปว่า ตนไปถามนิสิตนักศึกษาทุกที่ที่มีโอกาส ได้รับคำตอบแบบเดียวกันทุกครั้ง ในเมื่อประชาชนในปัจจุบันไม่มีใครพอใจในสภาพสังคมที่เป็นอยู่ ทำไมเราจึงต้องลดข้อเรียกร้องของเราในการสร้างประเทศไทยที่เสรี ก้าวหน้า เท่าเทียมกว่านี้ ทำไมเราต้องถูกผลักไสให้เป็นปีศาจ

ธนาธรยังกล่าวเทียบเหตุการณ์ 6 ตุลา กับเหตุสังหารคนเสื้อแดงในปี 2553 กับเหตุการณ์ 6 ตุลา ในด้านการโหมกระพือความเกลียดชังในสังคมจนกระทั่งการเข่นฆ่าผู้เห็นต่างเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม เป็นการปกป้องชาติบ้านเมือง ในเหตุการณ์ 6 ตุลา มีกลุ่มนวพล กระทิงแดง ชมรมแม่บ้าน มีบุคคลมีชื่อเสียงอย่างทมยันตี มีวิทยุยานเกราะ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โหมกระพือความเกลียดชังต่อนักศึกษา จนการสังหารหมู่กลางเมืองกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการยกย่องเชิดชู ไม่ต่างจากการจัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ และบรรยากาศเฉลิมฉลองของคนกรุงเทพหลังการสังหารหมู่คนเสื้อแดงในเดือนเมษา-พฤษภา 53

ธนาธรระบุว่า การสร้างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย คือประเทศที่มีพื้นที่ให้คนเห็นต่าง แม้มีความคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน แต่อยู่ร่วมกันในสังคมได้ ซึ่งต้องเริ่มจากการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เขียนขึ้นโดยประชาชน และแก้ไขเอาองคาพยพที่ไม่เป็นประชาธิปไตยออกไป ซึ่งน่าเสียดายที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล เพราะพรรคก้าวไกลมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะเร่งให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ให้สมาชิกสภาร่างฯ มาจากการเลือกตั้ง โดยจะมีมติ ครม. ให้ทำประชามติ ภายในการประชุม ครม. นัดแรก แต่รัฐบาลปัจจุบันกลับทำเพียงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นอำนาจนายกฯ ที่จะสามารถกำหนดให้มีประชามติแก้รัฐธรรมนูญได้เลย ทำให้ตนมองว่าการตั้งคณะกรรมการฯ เป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net