Skip to main content
sharethis

สปสช. ร่วมภาคีเครือข่าย ลุยงานเชิงรุกเขตบางกอกน้อย ร่วมค้นหาคนไทยไร้สิทธิในกรุงเทพฯ ช่วยเหลือพิสูจน์สิทธิเพื่อให้ใช้บัตรทองรักษาโรค-ส่งเสริมสุขภาพ  

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่าคณะทำงานพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานเขตบางกอกน้อย สำนักทะเบียนและประมวลผล กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ตลอดจนผู้นำชุมชนจากหลายพื้นที่ในเขตบางกอกน้อย ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียน กลุ่มคนไทยตกหล่นทางทะเบียนราษฎร หรือบุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง และบุคคลที่ถูกจำหน่ายชื่อทางทะเบียนราษฎร หรือบุคคลที่เป็นคนไทยแต่ไม่มีบัตรประชาชน ให้ได้รับการพิสูจน์สถานะ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2566 เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ โดยเฉพาะสิทธิด้านการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ให้มากขึ้น  

น.ส.อมาวศรี เปาอินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่ม สปสช. เขต 13 กทม. รับผิดชอบดูแลพื้นที่ฝั่งธนบุรี เปิดเผยว่า สปสช. มียุทธศาสตร์สำคัญที่จะยกระดับสิทธิบัตรทองในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) โดยหนึ่งในนั้นคือ การคุ้มครองหลักประกันสุขภาพของประชาชน ที่มุ่งเน้นค้นหากลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนที่เข้าม่ถึงบริการหรือเข้าถึงได้น้อย เพื่อเป็นการสร้างกลไกการรับรู้ในการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ ชุดสิทธิประโยชน์ที่เป็นสิทธิของประชาชนทุกคน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงและทำให้ระบบบัตรทองมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

ทั้งนี้ ในพื้นที่ กทม. มีกลุ่มประชากรที่มีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิบริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะประชากร 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน และคนที่อยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร และ 2. กลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นประชากรใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะหรือศูนย์พักคนไร้บ้านของภาครัฐและภาคประชาสังคม  

น.ส.อมาวศรี กล่าวต่อไปว่า การทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่ายต่างๆ มีความสำคัญต่อการค้นหากลุ่ม เป้าหมายในชุมชนอย่างมาก โดยเฉพาะกับภาคประชาชน ที่ได้กำลังขับเคลื่อนจากผู้นำชุมชน ประธานชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) รวมไปถึงศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง หรือหน่วย 50 (5) ที่ร่วมค้นหาและพากลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน เข้าสู่การพิสูจน์สิทธิ และหากมีหลักฐานการยืนยัน ทีมสปสช.จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ออกหน่วยบริการเชิงรุกลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการ เพื่อให้สามารถใช้สิทธิบริการสุขภาพจากสิทธิบัตรทองได้ทันที 

"พร้อมกันนี้ สปสช.ยังทำข้อตกลงร่วมกันกับโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เพื่อให้เก็บสิ่งส่งตรวจพันธุกรรม (DNA) กับผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการ แต่มีปัญหาสถานะ หรือไม่พบสิทธิการรักษา และต้องมีการพิสูจน์สถานะ โดยเพิ่มโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจมายังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพื่อสูจน์ DNA ในการยืนยันสถานะ โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางในการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิบริการสุขภาพได้มากขึ้น" ผู้อำนวยการกลุ่ม สปสช. เขต 13 กทม. กล่าว  

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ประธานคณะทำงานพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ เขตพื้นที่ กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการสำรวจคนไร้บ้านที่ยังมีปัญหาสถานะทางทะเบียน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิบริการต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิบริการด้านสุขภาพ กอปรกับในพื้นที่ กทม. มีคนไร้บ้านอาศัยอยู่ตามที่สาธารณะ  

รวมถึงประชาชนที่อยู่ในชุมชนและเช่าอาศัยอยู่ในชุมชน ยังคงไม่มีสิทธิ์และตกหล่นสถานะทางทะเบียน ทำให้ไม่มีบัตรประชาชนจำนวนมาก ดังนั้น การขับเคลื่อนร่วมกันกับภาคีเครือข่ายดำเนินการเชิงรุก เพื่อค้นหากลุ่มคนเปราะบางในกรุงเทพฯ ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ สถานะ เมื่อพิสูจน์ทราบแล้วจะได้ทำบัตรประชาชน เพื่อให้เข้าถึงบริการโดยเฉพาะบริการสุขภาพให้มากยิ่งขึ้น  

ทั้งนี้ เป้าหมายการขับเคลื่อนของคณะทำงานพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบางฯ ในปี 2566 จะนำร่อง 6 เขตในพื้นที่ กทม. ประกอบด้วย 1. เขตบางกอกน้อย 2. เขตคลองสามวา 3. เขตสวนหลวง 4. เขตมีนบุรี 5. เขตภาษีเจริญ และ 6. เขตหนองจอก โดยจะให้เขตบางกอกน้อยเป็นพื้นที่นำร่อง หรือโมเดลแรกของการขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วม ก่อนจะขยายไปยังเขตอื่นๆ ในปีต่อไปเพื่อให้เกิดการค้นหากลุ่มเปราะบางและนำเข้าสู่ระบบการพิสูจน์สถานะสิทธิต่างๆ ทางทะเบียนเพื่อนำไปสู่การทำบัตรประชาชน และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และให้สิทธิสวัสดิการเกิดขึ้นอย่างครอบคลุมคนไทยทุกคน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ  

 "การไม่มีสิทธิ เพราะไม่มีบัตรประชาชน ทั้งที่เป็นคนไทย จะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ขาดโอกาสในชีวิต โดยเฉพาะสิทธิด้านสุขภาพที่ควรจะได้รับ ทั้งการรักษา ส่งเสริมป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงสิทธิสวัสดิการอื่นๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้นได้" ประธานคณะทำงานพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าว  
 
ด้าน น.ส.วรรณา แก้วชาติ เครือข่ายภาคประชาชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การค้นหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนไทยไร้สิทธิใน กทม. ของพื้นที่เขตบางกอกน้อย เริ่มจากวันที่ 25 ส.ค. 2566 ซึ่งมีการอบรมประธานชุมชน แกนนำชุมชน อสส. ในพื้นที่ รวมถึงหน่วย 50 (5) ของ สปสช. เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชากรในพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาสถานะทางทะเบียน ให้รวบรวมกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาที่เขตบางกอกน้อย กระทั่งมาถึงวันนี้ ที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีการนำเคสที่เป็นปัญหาเข้าสู่การแก้ไขได้ถึง 15 ราย และในจำนวนนี้ได้รับนัดหมายทำบัตรประชาชนแล้วด้วย  

อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่มีปัญหาทางด้านสุขภาพ จึงไม่สามารถมายังเขตบางกอกน้อยเพื่อแก้ปัญหาได้ ภาคีเครือข่ายยังจัดคณะลงพื้นที่ไปยังชุมชนเพื่อสอบถาม และตรวจสอบสิทธิ รวมถึงหากพบว่าเป็นมีสิทธิสถานะทางทะเบียนก็สามารถทำบัตรประชาชนที่บ้านได้อีกด้วย ทั้งหมดจึงเป็นการทำงานเชิงรุกของภาคีเครือข่ายที่เข้ามาแก้ปัญหาคนไทยไร้สิทธิในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่เขตบางกอกน้อยที่มีความราบรื่นอย่างมาก 

"ทั้งหมดเพื่อให้เห็นเป็นโมเดลว่า เมื่อเจอเคสในชุมชนต้องทำอย่างไร และต้องให้คำแนะนำอย่างไร ผู้นำชุมชนสำคัญอย่างมาก เพราะการเข้าไปช่วย จะทำให้คนในชุมชนที่เคยเป็นปัญหา สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการตามบริการต่างๆ ได้ แต่หากไม่ช่วย คนที่แบกรับปัญหาก็คือประธานชุมชน และเครือข่ายต่างๆ ที่ต้องหาความช่วยเหลือจากภายนอกเข้าไปช่วยเขา แต่หากขับเคลื่อนให้เข้าถึงสิทธิที่มีระบบดูแลอยู่แล้ว ก็ช่วยให้ประธานชุมชนอยู่ได้อย่างไม่มีภาระปัญหาเช่นกัน" น.ส.วรรณา กล่าวตอนท้าย  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net