Skip to main content
sharethis

ภายใต้การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา แต่ละกลุ่มต่างรวมตัวกันออกมาต่อสู้เรียกร้องต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ มีกิจกรรมทางการเมืองเพื่อสื่อนัยสำคัญบางอย่างให้ผู้คนได้ตีความและบอกเล่าปัญหานั้นๆ หลายยุคหลายสมัย

ต่อมาจนถึงช่วงการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่นับแต่ปี 2563 นั้นการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ก็เป็นสิ่งที่พวกเขานำมาใช้สื่อสารกับผู้คน ผู้อ่านอาจจะเห็นตามข่าวอยู่บ้างไม่ว่าจะเป็นการปาสีแดงใส่สถานีตำรวจ โดยสีแดงนั้นหมายถึงสีเลือดของผู้คนที่ล้มตายจากโควิด-19 การทำหุ่นศพและนำมาเผา ศพนั้นก็หมายถึงร่างของประชาชนที่ล้มตายจำนวนมากในสถานการณ์โรคระบาด 

หรือจะเป็นการนำศาลพระภูมิซึ่งหักแล้วมาตั้งพร้อมกับรูปของเหล่าผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีให้ประชาชนติดคุกโดยไม่สนหลักสิทธิเสรีภาพใดๆ สิ่งของ สี การกระทำเหล่านี้มีความเสียดสีกับสถานการณ์ในช่วงนั้นเป็นอย่างดี แม้จะเคลื่อนไหวภายใต้หลักสันติวิธีแต่การต่อสู้เช่นนี้ดูเป็นเรื่องใหม่เพราะหลายครั้งเกิดการถกเถียงกันอย่างมากในสังคมไทย และแน่นอนว่าฝ่ายรัฐซึ่งไม่ถูกใจกับการต่อสู้เรียกร้องจะนำพฤติการณ์ไปตีความและแจ้งข้อหา และหากยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองที่รัฐเร่งปราบปรามอย่างหนัก การนำผู้คนไปจำคุกเพื่อกำราบก็เกิดขึ้นบ่อย

“ศาลอุทธรณ์บอกว่าเรามีลักษณะนิสัยเป็นอันธพาล ไม่กลับใจ เขาใช้คำแบบนี้เลยอ่ะ ซึ่งแบบ เห้ย เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่อ่ะ มันเกินไปกับการที่เขาตัดสินเราแค่ตรงนั้น” คำบอกเล่าจากต๋ง เธอเล่าถึงคำพิเคราะห์ของศาลที่มีต่อเธอและเพื่อนๆในการพิพากษายืนต่อคำตัดสินคดีละเมิดอำนาจศาล

หลายครั้งที่ ‘ศาล’ คือคำที่เข้ามาข้องเกี่ยวในขบวนการเคลื่อนไหว นักกิจกรรมหลายรายเดินทางไปศาลเป็นว่าเล่นเพราะต้องไปดำเนินการในคดีที่รัฐกล่าวหา คำว่าฝากชีวิตไว้กับศาลคือไม่เกินจริง คำตัดสินซึ่งถูกตีความโดยผู้พิพากษาไม่กี่คนเป็นสิ่งที่ชี้ชะตาชีวิตของประชาชนที่เห็นต่างจำนวนมากเพราะคำตัดสินเหล่านั้นจะติดตัวพวกเขาไปตลอด เว้นแต่จะมีการนิรโทษกรรมเมื่อเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล

และในคดีนี้ศาลอุทธรณ์บอกว่าต๋งและเพื่อนๆ ส่อเป็น “อันธพาล”

ปนัดดา สิริมาศกุล หรือ ต๋ง

ปนัดดา สิริมาศกุล หรือ “ปาล์ม” เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี หรือในวงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเราจะรู้จักเธอในชื่อ “ต๋ง” 

ต๋งเริ่มเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้าเมื่อปี 64 เธอร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางการเมืองก็คุกรุ่น มีนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนหลายรายถูกรัฐจับกุมโดยมิชอบแล้วแจ้งข้อหาพวกเขา ต้องเสียเวลาไปขึ้นศาลและรายงานตัวตามหมาย ถูกจับ ไม่ก็ถูกคุกคามติดตามจากผู้ที่อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พวกเขาเหล่านั้นเพียงแค่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ 

ต๋งคือหนึ่งในคนที่ยืนหยัดเรียกร้องต่อการบริหารงานของรัฐบาลในตอนนั้นและเรียกร้องให้มีการปล่อยเพื่อนเรา และ “คดีความ” คือสิ่งที่ตามมา

“น่าจะสิบกว่าคดี ไม่ก็ 15 เลยนะ ไม่เคยนับเลย นับแล้วรู้สึกปวดหัว ไม่อยากใส่ใจกับมันมาก ก็เลยไม่นับดีกว่า” ต๋งบอกเราเมื่อถามถึงจำนวนคดีที่เธอถูกแจ้งข้อกล่าวหา มันเยอะมากจนเธอไม่อยากใส่ใจ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.เครื่องเสียง หากฟังจากคำบอกเล่าของเธอส่วนมากจะเป็นคดีที่ออกไปใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม 

“แต่ว่าก็จะมีคดีที่หนักๆหน่อย คือคดีที่ศาลธัญบุรี และคดีที่โดนหน้าพรรคภูมิใจไทย เขาจะพ่วงข้อหาว่าเราเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ โทษก็จะสูงกว่าปกติ” ต๋งเล่าต่อ 

คดีที่หน้าพรรคภูมิใจไทยที่ต๋งพูดถึงคือ คดีที่กลุ่มทะลุฟ้าจัดกิจกรรมยื่นหนังสือถึงพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเรียกร้องให้พรรคดังกล่าวถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพจนผู้คนล้มตายจำนวนมาก แม้ว่าศาลจะให้ประกันตัวในคดีนี้แต่มีเงื่อนไขทั้งให้ติด EM, ห้ามออกนอกเคหสถานช่วงกลางคืน และที่น่าสังเกตคือมีเงื่อนไขห้ามทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์และศาลเสื่อมเสีย ทั้งที่พฤติการณ์ในคดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ แต่อย่างใด

ส่วนอีกหนึ่งคดีที่เธอกล่าวถึง คือคดีที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาล ซึ่งเป็นคดีที่ผู้เขียนกล่าวถึงในตอนต้น หากกลับไปย้อนดูคดี คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวโยงสืบเนื่องกัน 

2 ส.ค. 2564 กลุ่มทะลุฟ้าได้จัดกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรามา คืนประชาธิปไตย” ที่หน้าสโมสรตำรวจ ในช่วงบ่ายวันนั้นเองเจ้าหน้าที่ได้ทำการรวบกลุ่มทะลุฟ้าและประชาชน รวม 32 รายโดยมิชอบและถูกพาไปที่หน้า บก.ตชด.ภาค 1 ทั้งที่พวกเขาไม่ได้สร้างความวุ่นวาย ไม่มีอาวุธ ไม่มีความรุนแรง เพียงแค่ไปเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวคนขับรถปราศรัยในคาร์ม็อบของกลุ่มราษฎรพร้อมทีมงาน

ชุมนุมหน้า ตชด.ภาค 1 เรียกร้องให้ปล่อยตัวทะลุฟ้าและมวลชนที่ถูกจับ

ในวันเดียวกันนั้นหลังสมาชิกกลุ่มประชาชนรวม 32 รายถูกเจ้าหน้าที่จับกุมจากการรวมตัวกันทำกิจกรรม ต๋งและเพื่อนๆ รวมทั้งหมด 9 คนได้ไปปราศรัยชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว หนึ่งในนั้นรวมถึง “ปูน” ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน ทะลุฟ้าด้วย ขณะนั้นปูนเป็นเยาวชนเรียนอยู่มัธยมปลายเท่านั้นเอง

ในช่วงเวลานั้นนับว่าสถานการณ์ทางการเมืองตึงเครียดมาก ขณะเดียวกันสถาบันตุลาการและเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างจับผู้เห็นต่างทางการเมืองเข้าคุกไม่เว้นวันด้วยข้อหาและคดีเกี่ยวเนื่องอย่างที่ต๋งโดน ราวกับว่าฝ่ายรัฐอยากให้พวกเขาหลาบจำ จนต้องสร้างเงื่อนไข เมื่อพวกเขาเหล่านี้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก็ใช้เป็นข้ออ้างในการจับเข้าคุก หลังจากวันนั้นมา นักกิจกรรมทั้งหมด 9 คนต่างทยอยถูกศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับจากเหตุชุมนุมปราศรัย เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ต๋งและปูนจึงเดินทางไปมอบตัวที่ สภ.คลองห้า โดยมีการตั้งลวดหนามบริเวณหน้าสภ. และมีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนตรึงกำลังอยู่โดยรอบ

 “ในสถานการณ์ตอนนั้นอ่ะ พวกเราถูกจับและถูกนำตัวไปที่ใต้ถุนศาล แล้วมันรอนานมากเราถูกขังไว้ในห้อง ถ้าไปศาลเวลาจะมีเหตุการณ์จะต้องคิดคุกเราก็จะต้องนั่งในห้องเวรชี้ ซึ่งปกติเวลาทำการ 4-5 โมงเย็นเราก็จะรู้แล้ว แต่วันนั้นลากยาวมาถึง 6 โมงก็ยังไม่มีวี่แววอะไร เราถามอะไรเขาก็ไม่มีคำตอบให้เรา คือมันนานมากเว้ย มันทำให้เรารู้สึกว่า นี่ไม่ปกติ เพราะเวลาของศาลมันเลยแล้ว ณ ตอนนั้นพวกเราไม่สามารถติดต่ออะไรกับใครได้เลย ทนายก็อยู่ข้างบนห้อง” ต๋งเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ที่เธอกับเพื่อนต้องเผชิญ

ต๋งเล่าต่อว่า “เรามีโทรศัพท์กันอยู่ 1 เครื่อง ตอนแรกเรายังไม่ได้ไลฟ์สดนะ เราแค่คุยกันกับเพื่อนว่าหากมันเกิดอะไรขึ้นเราต้องสื่อสารกับคนข้างนอกว่ายังไง เราก็คุยกันว่าจะต้องสื่อสารให้มันชัดเจน อย่างนี้นะ 1 2 3 4 เพราะเราอาจจะโดนขังคุกในคืนนี้เลยก็ได้ อาจจะไม่ได้ไปเจอคนข้างนอก ซึ่งเราไม่อยากให้เหตุการณ์นี้ถูกเก็บเงียบ อยากให้สังคมภายนอกรับรู้เพราะมันไม่เป็นธรรม มันคือคดีที่ไม่ปกติอ่ะ แล้วบอกเราเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ เรารู้สึกว่ามันเป็นคดีทางการเมือง ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่เข้มข้นมากๆด้วย เรารู้สึกว่าสังคมภายนอกต้องรับรู้ อีกอย่างหนึ่ง ช่วงที่เราเลือกที่จะไลฟ์สดมันเป็นช่วงที่ใกล้เหมือนเหตุการณ์เริ่มตึง เขาเอาตำรวจ เอาเจ้าหน้าที่ คฝ. เข้ามาสังเกตดูเราเรื่อยๆด้วย ตอนแรกมีคำสั่งศาลออกมา แล้วได้ข่าวแวบๆ มาว่าเขาจะเอาตัวเราไปทีละคนๆ ซึ่งพวกเราไม่ยอมรับคำสั่งศาลใช่มั้ย เรารู้สึกว่าเราต้องสื่อสารแบบนี้กับคำข้างนอก เลยมีการไลฟ์สดขึ้นมา วันนั้นเราขอแถลงต่อศาลด้วยนะ ศาลไม่ให้แถลง แล้วเขาปิดไมค์ไปเลย ในเมื่อเขาไม่ให้แถลงเลยมีการขีดเขียนผนังห้อง” 

ปูน ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเช่นกัน เขาเล่าถึงเจตจำนงในการตัดสินใจไลฟ์สดในห้องใต้ถุนวันนั้น

“เรารู้สึกว่ามันน่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะสามารถส่งออกไปให้ภายนอกได้รับรู้ว่า โอเค ตอนนี้เรากำลังจะโดนขังกันแล้วนะ และเราก็ไม่ได้ยินยอม เราจะต่อสู้กับมัน ให้ได้มากที่สุด รู้สึกว่าอยากจะส่งภาพบางภาพให้เพื่อนข้างนอกได้เห็นว่าเพื่อนข้างในที่กำลังจะโดนจับไปถึงแม้ว่าจะเป็นนาทีสุดท้ายแล้วก็ยังสู้ จนสุดจริงๆ ยังไงก็เอาเราไปขังอยู่ดี ไม่กลัวอะไรแล้ว จะโดนอะไรก็มาเถอะ” ปูนกล่าวถึงเหตุการณ์วันนั้น

ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน ทะลุฟ้า

จนกระทั่งเหตุการณ์ในวันนั้นเวลาล่วงเลยมาถึงเวลา 21.40 น. คำสั่งศาลออกมาชัดเจนแล้วว่าไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีนี้ทั้ง 9 ราย โดยพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ตามข้อกล่าวหาผู้ต้องหาได้กระทําการโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง 

“วันนั้นนาทีสุดท้ายที่จะต้องไปแล้วอ่ะพวกเราก็ยังคล้องแขนกันเป็นวงกลม พี่ต๋งเป็นผู้หญิงคนเดียวด้วยเนอะ การที่เขาจะเอาเราไปขังมันต้องจินตนาการก่อนเลยว่าเราไม่ควรมาอยู่ตรงนี้ตั้งแต่แรกเพราะว่ามันเป็นการแสดงสิทธิเสรีภาพ ในตอนนั้นแต่ละคนก็ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์อะไรเลย ถ้าจะไปอยู่ในเรือนจำก็ไปด้วยกันนี่แหละ 9 คนจะเป็นผู้หญิงจะเป็นผู้ชายจะเป็นอะไรก็ช่างมัน เพราะเราเป็นเพื่อนกันเราอยากอยู่ด้วยกัน ก็เลยคล้องแขนกันไว้ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาในห้องประมาณครึ่งกองร้อย แล้วก็กระชากแขนเราออก เอาไปขังทีละเซท แล้วก็ค่อยแยกพี่ต๋งไปคนเดียว” ปูนเล่าเหตุการณ์ก่อนถูกนำตัวไปเรือนจำให้เราฟัง ช่วงดึกวันนั้นพวกเขาถูกนำตัวไปเรือนจำทันทีเพราะศาลยกคำร้องขอคัดค้านการฝากขัง พวกเขาจึงถูกขังทั้งที่คดียังไม่มีการตัดสิน

ต่อมาวันที่ 22 พ.ย. 2564 หลังกระบวนการพิจารณาแล้วเสร็จ ศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษาสั่งลงโทษกักขังเป็นระยะเวลา 10 วัน ทนายความจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อและเวลาผ่านมาปีกว่าจน 21 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืน แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาประหลาดใจ คือคำวินิจฉัยของศาลในคำสั่งฉบับนี้

“…ผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดศาล ทำลายทรัพย์สินราชการ พฤติกรรมส่อเป็นนักเลงอันธพาล ก่อความเสียหายต่อศาลยุติธรรม ผู้ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดีในความผิดดูหมิ่นศาล, ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตาม ป.อ. มาตรา 112 และความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวนมากหลายคดี ส่อว่าไม่มีสำนึกรับผิดชอบ ไม่กลับใจ ไม่มีเหตุให้รอลงอาญา โทษกักขัง 10 วันที่สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานีเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม อุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน” คือคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ตัดสินการทำอารยะขัดขืนของพวกเขาในวันนั้น

“ทำไมเราถึงอารยะขัดขืน มันเป็นการแสดงออกเดียวที่ทำให้เราสามารถสื่อสารกับคนภายนอกได้ในสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญในตอนนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าเขาไม่ได้มองถึงเจตนารมย์หรือความจำเป็นของพวกเราเลย เขามองแค่การกระทำของพวกเราที่มันไปเข้าข่ายกฎหมาย เขาเลยบอกว่าเรามีลักษณะนิสัยเป็นอันธพาล ไม่กลับใจ เขาใช้คำแบบนี้เลยอ่ะ ซึ่งแบบ เห้ย เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่อ่ะ มันเกินไปกับการที่เขาตัดสินเราแค่ตรงนั้น” ต๋งเล่าให้เราฟังด้วยความโกรธกับคำที่ศาลใช้ตัดสินพวกเขา

“เป็นนักเลงอันธพาล ไม่กลับใจ อันนี้จำแม่นเลย” ต๋งพูดด้วยความผิดหวังเพราะยังหวังว่าถ้าเป็นศาลอุทธรณ์น่าจะมีมุมมองหรือเหตุผลอื่นที่มาประกอบ มองในมุมอื่นต่างจากศาลชั้นต้นบ้าง 

“มองในเจตนาของเรา หรือมองสถานการณ์ความเป็นจริงในตอนนั้นว่ารัฐบาลจัดการปัญหาอะไรล้มเหลวหมด มันทำให้ประชาชนเดือดร้อนจริงๆ แล้วการที่เราเลือกที่จะออกไปชุมนุม ออกไปใช้สิทธิของเรา เราก็รู้สึกว่าเราทำได้นะ แล้วเราก็ไปสื่อสารปัญหาตรงนั้นจริงๆ เราหวังว่าเขาจะดูไปถึงเจตนาของเรามากกว่านี้ มันก็เลยงงว่าทำไมถึงยังเลือกที่จะตัดสินตามเดิม ตัดสินตามเดิมไม่เท่าไหร่ แต่เหตุผลประกอบที่เขาพูดกับพวกเรามันทำให้เรารู้สึกว่า เรากลายเป็นคนไม่ดีขนาดนั้นของสังคมนี้ไปแล้วหรอ เป็นอันธพาลอ่ะ ซึ่งแบบเราไม่เข้าใจว่าทำไมผู้พิพากษาถึงมีมุมมองต่อพวกเราแบบนั้นได้ ทั้งๆที่เราไม่ใช่แบบนั้น มันสะท้อนถึงเจตนาของศาลมากกว่าว่ามองเรายังไง เรารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไอ้เชี่ย กูแค่ออกไปชุมนุมอ่ะ” ต๋งระบาย

ส่วนปูนก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากต๋งนัก “สำหรับเรา เรารู้สึกว่าตอนนั้นบรรทัดฐานที่ศาลเอามาใช้ระหว่างคดีเรากับคดีทั่วๆ ไปมันอาจจะเป็นบรรทัดฐานเดียวกันเนาะ แต่ในความเป็นจริงแล้วเนี่ยคนละพฤติกรรม ในแง่การปฎิบัติมันต่างกันกับคดีทั่วๆไปที่ต้องการให้ทรัพย์สินเสียหาย กับคดีที่เขาลิดรอนอิสรภาพเราโดยบอกว่าเราคือผู้กระทำความผิดทั้งๆที่ยังไม่มีการสืบเสาะใดๆทั้งสิ้น เราเลยรู้สึกว่าด้วยความชอบธรรมที่มันไม่มีตั้งแต่แรกที่เอาพวกเราไปขังอ่ะ มันเลยทำให้กระบวนการอะไรหลายๆอย่างที่เขาพิจารณามากลายเป็นเครื่องมือการให้ฝ่ายนักกิจกรรมเป็นฝ่ายผิดอย่างเดียว” 

ในมุมมองของคนทั่วไป หากนึกถึง “ผู้พิพากษา” ก็ต้องคิดว่าเป็นคนที่เที่ยงตรง เที่ยงธรรม เป็นผู้ที่มีอำนาจอย่างมากในการตัดสินชี้ชะตาคนคนหนึ่งได้

“คือเราก็ได้แต่หวังอ่ะเอาจริงๆ มันก็ได้แต่หวังว่าสถาบันตุลาการในประเทศนี้มันจะสร้างความหวังให้เราได้มากกว่านี้ หวังว่าเขาจะมองเห็นเจตนาของพวกเราที่แบบคดีนั้นมันเป็นคดีทางการเมือง มองกลับถึงสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้พวกเราแสดงพฤติกรรมแบบนั้น เพราะเรารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย ถ้ามองกลับย้อนไปในคดีแรกก่อนจะโดนคดีละเมิดอำนาจศาล พวกเราโดนตัดสินจับคุกทันที เรายังไม่ได้พิสูจน์อะไรเลย เราแค่ไปชุมนุม อยากให้เขามองไปถึงตรงนั้นไม่ใช่แค่ว่ามองเราด้านเดียว แต่เอาเข้าจริงๆ เราไม่รู้เลยว่าเราสามารถหวังกับตุลาการประเทศนี้ได้มากน้อยเท่าไหร่ แต่เราก็ยังหวังอยู่ลึกๆ” ต๋งกล่าวทิ้งท้ายกับความหวังที่มีต่อสถาบันตุลาการ

แม้ในตอนนี้สถานการณ์ทางการเมืองจะไม่เข้มข้นเท่ากับช่วงปี 2564 การชุมนุมจะลดน้อยลง และได้รัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้งแล้วแต่ในทางกลับกันก็ยังมีประชาชนและนักกิจกรรมจำนวนมากทีเดียวที่ยังอยู่ในเรือนจำ คดีมาตรา 112 และอีกหลายคดีมีการพิพากษาใช่ช่วงที่ผ่านมาศาลล้วนตัดสินจำคุก บ้างได้ประกันในชั้นอุทธรณ์ แต่หลายรายกลับไม่ได้ประกัน สุดท้ายแล้วศาลตัดสินคดีทางการเมืองด้วย “ความยุติธรรม” จริงหรือไม่ หรือเพียงแค่เป็นกลไกหนึ่งในการ “ยุติความเป็นธรรม” 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net