Skip to main content
sharethis

'ก้าวไกล' เผยที่ประชุมจัดสรรตำแหน่งประธาน กมธ. ยังไร้ข้อยุติ เหตุฝ่ายรัฐบาลต้องการให้ตรงกับกระทรวงที่รับผิดชอบ ชี้ควรมีธรรมเนียมโควต้า กมธ. ฝ่ายค้าน เน้นการตรวจสอบ ด้าน 'พิเชษฐ์' เผยพรรคการเมืองไม่ยอมถอย ส่งผลการประชุมแบ่งเก้าอี้ประธานกรรมาธิการยังไม่คืบ ชี้หากตกลงไม่ได้ต้องจับสลากอย่างเสมอภาค 

 

4 ก.ย.2566 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานการประชุมตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร 35 คณะ นัดที่สอง โดย ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยภายหลังการประชุมดังกล่าวว่า ยังมีเรื่องการดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ที่ต้องใช้เวลาในการเจรจา เพราะเป็นเรื่องปกติที่พรรครัฐบาลต้องการคณะกรรมาธิการตรงกับกระทรวงที่รับผิดชอบ ส่วนพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคฝ่ายค้านเห็นว่ามีคณะกรรมาธิการหลายคณะที่สำคัญ ที่ควรให้เป็นบทบาทของฝ่ายค้านเข้าไปตรวจสอบฝ่ายบริหาร จึงทำให้ต้องใช้เวลาในการพูดคุยกัน เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นต้น  ส่วนที่ฝ่ายรัฐบาลให้เหตุผลว่าจะทำให้การทำงานราบรื่นนั้น มองว่าในทางกลับกันอาจจะทำให้กลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลของสภาฯ มีปัญหา อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่จะต้องใช้เวลาในการพูดคุยกัน คาดว่าจะตกลงกันได้ ส่วนจะให้ใครเลือกคณะใดก่อนนั้น ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากพรรคส่วนใหญ่เป็นรัฐบาล ภาระจึงตกมาที่พรรคก้าวไกลที่จะต้องไปเจรจากับทุกฝ่าย

ชัยธวัช กล่าวด้วยว่า ควรจะมีธรรมเนียมที่ชัดเจนว่าคณะกรรมาธิการคณะใด ต้องเป็นของฝ่ายค้าน สำหรับพรรคก้าวไกลยืนยันยันจะทำหน้าที่คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ

ขณะที่พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ในฐานะประธานการประชุมร่วมกันของผู้แทนจากพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ กล่าวว่า การประชุมเรื่องการแบ่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการ วันนี้ (4 ก.ย. 66) ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากแต่ละพรรคการเมืองได้เตรียมชื่อคณะกรรมาธิการฯ ที่ต้องการมาเสนอต่อที่ประชุม แต่ปรากฎว่าบางพรรคมีเป้าหมายซ้ำและบางพรรคการเมืองไม่ยอมถอยไม่ยอมเจรจา การประชุมจึงไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ และไม่มีกำหนดว่ากำหนดการประชุมครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ระหว่างนี้จะให้ทุกพรรคไปพูดคุยเจรจาตกลงกันนอกรอบ หากตกลงกันไม่ได้ก็ไม่สามารถนัดประชุมได้

พิเชษฐ์ ระบุว่า ถ้าสุดท้ายแล้วตกลงกันไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีจับฉลาก ซึ่งจะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ทุกพรรคจะเท่าเทียมกัน จะใช้หลักการเดียวกับ กกต. ที่ใช้วิธีจับสลากเลือกเบอร์ผู้สมัคร สส. เพื่อตั้งอยู่บนความยุติธรรม ซึ่งในเดือนกันยายนนี้จะสิ้นสุดปีงบประมาณ 2566 หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่สามารถทำงานเพื่อประชาชนได้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net