Skip to main content
sharethis

ครอบครัวของผู้ถูกอุ้มหายร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมจัดนิทรรศการ “แล้วกลับมากินข้าวด้วยกันนะ” เล่าเรื่องราวของผู้ที่ถูกอุ้มหายไปผ่านเมนูอาหารที่พวกเขาชอบกินเป็นประจำ วงเสวนาสะท้อนอุปสรรคของคนในครอบครัวที่ต้องเจอหลังคนที่พวกเขารักถูกอุ้มหายไป ความเฉยชาของรัฐในการตามหาและการเยียวยาที่ยิ่งซ้ำเติม

(ขวาไปซ้าย) ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์, ชลิสา สุขประเสริฐภักดี, กัญญา ธีรวุฒิ,สีละ จะแฮ,อังคณา นีละไพจิตร และฐปณีย์ เอียดศรีไช ผู้ดำเนินรายการ

27 ส.ค.2566 ที่กินใจ คอนเทมโพราลี่ มีเสวนา “เมื่อแตกสลายจะกลับสู่สภาพเดิมได้หรือ”  ที่ให้ครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย(อุ้มหาย) มาเล่าถึงความสัมพันธ์ของพวกเขากับครอบครัวผ่านเมนูอาหารที่ทำกินกันในครอบครัวและชะตากรรมที่ต้องเจอหลังจากคนในครอบครัวถูกอุ้มหายไป เสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “แล้วกลับมากินข้าวด้วยกันนะ” ซึ่งจะมีการจัดแสดงอาหารที่ทำเสร็จพร้อมเสียงเล่าของคนในครอบครัวถึงผู้ที่ถูกอุ้มหายไป

ในส่วนของงานเสวนาวันนี้มีครอบครัวของผู้บังคับสูญหายมาร่วมเสวนา โดยมี กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยาม ธีรวุฒิ, อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของสมชาย นีละไพจิตร, ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัย แซ่ด่าน, ชลิสา สุขประเสริฐภักดี ภรรยาของชัชชาญ บุปผาวัลย์ และสีละ จะแฮ มาในฐานะผู้ที่เคยถูกอุ้มและเป็นตัวแทนของผู้ถูกบังคับสูญหายของชนเผ่าลาหู่

อังคณา นีละไพจิตร ปัจจุบันเป็นสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายของสหประชาชาติหรือ WGEID กล่าวว่า ตั้งแต่สมชาย นีละไพจิตร สามีของเธอที่เป็นทนายความให้กับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ถูกอุ้มหายมาเกือบ 20 ปีแล้ว ตอนนั้นพอเกิดเหตุขึ้นมาคนรอบข้างก็ตกอยู่ในสภาวะความหวาดกลัวเพื่อนร่วมงานของสมชายบางคนก็ต้องหนี ส่วนตัวเธอเองตอนที่สมชายหายก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดีตัวอย่างให้เดินตามก็ไม่มีไม่รู้ว่าคนยุคก่อนๆ ที่คนในครอบครัวถูกอุ้มหายไปเขาทำอย่างไรกัน แต่ก็ยังโชคดีที่เพื่อนๆ ของสมชายที่พยายามเอาเรื่องของเขาเข้าไปพูดในสภาจนรัฐบาลทักษิณเกิดความกระตือรือร้นที่จะมาตามหาตัว

อังคณาเล่าว่าหลังจากนั้นมาคดีของสมชายก็ได้เข้าสู่กระบวนการศาลที่ถือได้ว่าเป็นคดีอุ้มหายคดีแรกที่ถูกเข้ามาพิจารณาในศาล จากเรื่องนี้ทำให้ต้องไปดูประสบการณ์ของต่างประเทศ แล้วก็ได้พบว่ามีปัญหาการอุ้มหายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เยอะมาก แต่ในช่วงที่รัฐบาลทักษิณมีนโยบายทำสงครามยาเสพติดทำให้มีผู้ที่ถูกอุ้มหายในช่วงดังกล่าวทั้งในภาคเหนือ อีสาน และใต้เยอะด้วยเช่นกัน และเมื่อมีคนถูกอุ้มหายก็ทำให้คนในสังคมหวาดกลัวไปด้วย ส่วนตัวเธอเองชีวิตก็ยังต้องมาเผชิญกับการคุกคามอยู่ไม่เคยรู้สึกว่าชีวิตมีความปลอดภัยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็เพิ่งมีคนเอากรรไกรมาปาบ้าน  

สมาชิกคณะทำงานด้านบังคับสูญหายฯ ระบุว่างานระลึกถึงเหยื่อของการถูกบังคับสูญหายที่มีขึ้นในวันที่ 30 ส.ค.ของทุกปี เริ่มขึ้นมาจากในช่วงปี 1980 แม่ของผู้ที่ถูกบังคับสูญหายในอาเจนติน่ารวมตัวกันไปที่สำนักงานใหญ่ของยูเอ็นที่เจนีวาเพื่อถามหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบังคับสูญหายที่มีเยอะ ทำให้ที่ประชุมของยูเอ็นในปีนั้นมีมติที่จะให้มีคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายขึ้นมารวมถึงมีการร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยการบังคับคนสูญหายในปี 1992 แล้วหลังจากนั้นก็มีการตั้งคณะทำงานในการร่างอนุสัญญาตามขึ้นมาแม้ว่าจะใช้เวลาในการร่างนานแต่มีประเทศสมาชิกให้การรับรองเร็วที่สุดวันนี้มีประเทศต่างๆ ทั่วโลก 99 ประเทศให้สัตยาบันในอนุสัญญานี้ แต่ไทยยังไม่ยอมให้สัตยาบัน

อังคณาเล่าว่าทราบข่าวมาว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทยกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่แต่น่าจะมีข้อสงวนไม่รับอนุสัญญาบางข้อ ซึ่งเธอก็ว่าอย่าตั้งข้อสงวนเยอะนักเลยเพราะเป็นอนุสัญญาที่ใช้ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

สมาชิกคณะทำงานด้านบังคับสูญหายฯ เปิดเผยว่าข้อมูลของคณะทำงานในปีที่ผ่านมาคณะทำงานมากรทบทวนกรณีผู้ที่ถูกบังคับสูญหายจากทั่วโลกเกือบ 60,000 กรณี โดยเธออธิบายโดยยกตัวอย่างกรณีของกัมพูชากรณีอุ้มหายที่เกิดหลังจากให้สัตยาบันแล้วจะอยู่ในการพิจารณาของคณะทำงานฯ แต่กรณีเป็นคนที่ถูกบังคับสูญหายก่อนหน้าที่กัมพูชาจะให้สัตยาบันจะอยู่ในการตรวจสอบด้านมนุษยธรรมซึ่งเป็นการพยายามตามหาตัวคนที่หายไปว่าอยู่ที่ไหนและทราบชะตากรรม ทำให้ตัวเลขของผู้ที่ถูกบังคับสูญหายจึงมีจำนวนมากมีกรณีที่เป็นเด็กและผู้หญิงด้วย แต่มีกรณีที่สามารถคลี่คลายได้จำนวนน้อยมาแค่ 104 กรณีเท่านั้นเนื่องจากส่วนใหญ่คนที่ถูกทำให้หายไปแล้วจะไม่ได้กลับมาอีกแต่มีกรณีที่หาตัวพบเช่นถูกนำตัวไปคุมขังอยู่ในคุกลับหรือกรณีที่รัฐให้ข้อมูลว่าเสียชีวิตแล้ว

อังคณาระบุอีกปัญหาหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้คือมีหลายประเทศที่รัฐพยายามกดดันให้ครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับสูญหายถอนเรื่องร้องเรียนออกจากคณะทำงานฯ จึงเป็นประเด็นที่คณะทำงานด้านบังคับสูญหายกังวลและให้ความสำคัญ

สีละ จะแฮ ตัวแทนของผู้ถูกบังคับสูญหายของชนเผ่าลาหู่จากช่วงนโยบายปราบปรามยาเสพติดและนอกจากนั้นตัวเขาเองยังเป็นผู้ที่เคยถูกเจ้าหน้าที่อุ้มหายไปบังคับให้รับสารภาพเองด้วย เขาเล่าถึงผลกระทบจากนโยบายยาเสพติดในเวลานั้นว่า สำหรับตัวเขาเองไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามยาเสพติดแต่อยากให้รัฐบาลใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติธรรมด้วย พวกเขายอมรับการใช้กฎหมายของบ้านเมืองได้แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้ปฏิบัติการจู่โจมเข้ามาและใช้กฎอัยการศึกในการเข้าปราบปราม ซึ่งในเวลานั้นก็มีพยานในเหตุการณ์เป็นจำนวนมากเพราะเจ้าหน้าที่มาจับคนไปต่อหน้าต่อตาของคนในครอบครัวและชุมชนแต่พอชาวบ้านถูกจับไปแล้วก็ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่เอาตัวไปไว้ที่ไหน

สีละเล่าตอนนั้นยังไม่รู้กฎหมายก็เลยไม่รู้ว่ากฎหมายไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่จับใครได้ตามอำเภอใจแบบนี้ พอจับไปแล้วคนที่ถูกจับก็ไม่ได้กลับมา แล้วยังมีการจับไปขังในหลุมดินให้ปัสสาวะในหลุมซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เขาเจอกับตัว คนไหนไม่ยอมรับสภารภาพก็ถูกทำให้หายไป บางครั้งมีคนถูกจับไปพร้อมกัน 3-4 คนแต่ไม่มีใครได้กลับมา คนในครอบครัวก็ไม่มีใครกล้าไปตามเพราะมีคนมาบอกว่าถ้าไปตามหาจะมีความผิดด้วย ทำให้เขาเลือกมาทำงานนี้เพราะอยากทำให้ความจริงปรากฏ

ตัวแทนของชาวลาหู่บอกว่าตัวเขาเองรู้สึกฝังใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่คนที่จับพี่น้องชนเผ่าไปในตอนนี้ก็อาจจะกลายเป็นนายพลแล้วก็ได้ ทั้งพ.ท.นพรัตน์ ธีรพงษ์ กับพ.อ.สุทัศน์ จารุมณี คนพวกนี้ทำกับเขาไม่เหมือนมนุษย์ ตอนเอาคนไปสอบสวนก็ใช้ไฟฟ้าช็อตพอฟื้นก็เอาไปสอบสวนต่อ

สีละกล่าวต่อว่าทุกวันนี้ก็เริ่มกลับมามีอีก แต่ก็ไม่ได้ใช้ตามอำเภอใจเหมือนเมื่อราว 2 เดือนก่อนมีชาวบ้านมีปัญหากับเจ้าหน้าที่แต่พอเจ้าหน้าที่ตามจับไม่ได้ก็ไปจับพ่อแม่ของคนนั้นมาเพื่อปิดคดี หรือตำรวจออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหามาแล้วหมายไปไม่ถึงตัวคนที่ออกหมายเรียกเพราะอยู่ไกลหรือไปถึงแต่เขาไม่กล้าไปตามหมายเพราะไม่รู้หนังสือก็กลายเป็นความผิด

ตัวแทนของชาวลาหู่บอกว่าในช่วงเวลานั้นมีชาวลาหู่ถูกจับไปกว่าสิบคนแต่ก็ไม่มีใครตามหาพวกเขาเจอกลายเป็นคนสูญหาย หลังเหตุการณ์ก็ไปติดตามทั้งสถานีตำรวจหรือที่ท่องเที่ยวต่างๆ แต่ก็หาไม่เจอแต่ก็รู้ว่าถูกจับไปเพราะว่าเจ้าหน้าที่จับกุมคนไปต่อหน้าชาวบ้าน

สีละบอกว่านายทหารที่ก่อเหตุในเวลานั้นก็ไม่เคยมีใครถูกดำเนินคดีแล้วตอนนั้นชาวบ้านเองก็ไม่รู้กฎหมายทำให้ไม่ได้ไปแจ้งความไว้อีกและชาวบ้านก็ไม่มีสัญชาติ แต่เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา กสม. ก็ไปลงพื้นที่ มีหนังสือถึงรัฐสภาและกองทัพเพื่อให้ชดเชยและเยียวยาแต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา

ผัดพริกถั่วอาหารที่สยามชอบที่กัญญาแม่ของเขาทำ

กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยาม ธีรวุฒิ ผู้ลี้ภัยจากคดีมาตรา 112 จากเหตุเล่นละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ที่ถูกอุ้มหายไประหว่างลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มีความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในประเด็นอุ้มหายอุ้มฆ่านี้จึงอยากขอให้คืนความยุติธรรมและสืบหาลูกๆ ว่าหายไปไหน สยามที่เล่นละครแล้วต้องหนีไปเป็นเรื่องเศร้าของคนเป็นแม่ เธออยากให้รัฐบาลใหม่เยียวยาและตามหาสยามให้ด้วย

กัญญาเล่าถึงสยามว่า เป็นเด็กดีรักครอบครัว และเป็นคนง่ายๆ เขาชอบกินผัดพริกถั่วใส่หมูมาก พอเธอเห็นแล้วก็ทำให้คิดถึงสยามแล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาสูญเสียกันเพราะเรื่องแบบนี้ประเทศไทยทำไมต้องไล่ฆ่าคนที่คิดต่างจากตัวเอง สำหรับครอบครัวเธอก็เดือดร้อนเพราะสยามเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนพ่อแต่ก็ต้องหนีไปเพราะโดนคดีและถูกเรียกไปรายงานตัว ก็เลยขาดคนทำงาน รถที่สยามยอมถอนเงินประกันชีวิตมาดาวน์แล้วก็ตั้งใจจะผ่อนก็ทำไม่ได้แล้วเพราะต้องลี้ภัยก็ทำให้ตอนนี้ครอบครัวมมารับช่วงผ่อนต่อ

แม่ของสยามเล่าว่า ทุกวันนี้คุยเรื่องสยามกับใครก็ยังเสียใจและจะร้องไห้ แต่ก็จะพยายามเข้มแข็งรอวันที่เขาจะกลับมา ส่วนรัฐไทยก็อย่าทำตัวน่าเกลียดให้คนอื่นมองว่าไม่สนใจชีวิตมนุษย์ด้วย เพราะตอนที่เธอไปแจ้งความตำรวจก็ไม่รับแจ้งความจนมูลนิธิกระจกเงาต้องมาช่วยขอให้ยอมรับแจ้งความเพราะมูลนิธิอยากจะเข้ามาช่วยแต่ถ้าตำรวจไม่ออกใบแจ้งความให้ก็ดำเนินการขอความช่วยเหลือไม่ได้ มูลนิธิก็ต้องขอกับตำรวจว่าเธอที่เป็นแม่ของสยามพยายามหาตัวมา 4 ปีแล้ว ไปขอเยียวยาก็บอกว่าไม่เข้าข่าย

กัญญาบอกว่า นอกจากรัฐจะไม่ช่วยแต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่มาติดตามมาถามว่าสยามอยู่บ้านหรือไม่ก็ยิ่งทำให้เสียใจเพราะเหมือนรัฐไม่ยอมรับว่าสยามสูญหายไปแล้วจริงๆ

ชลิสา สุขประเสริฐภักดี ภรรยาของชัชชาญ บุปผาวรรณ หรือภูชนะ กล่าวว่า กรณีชัชชาญเป็นกรณีเกือบสูญหายเพราะสุดท้ายแล้วก็เจอศพลอยมาตามแม่น้ำโขง โดยก่อนหน้านั้นภูชนะสัญญาว่าจะติดต่อมาในวันเกิด 23 ธ.ค.แต่ก็ไม่ติดต่อมาก็เลยต้องติดต่อไปทางไฟเย็นถึงได้รู้ว่าหายไป เธอจึงติดต่อ สภ.ธาตุพนม เพื่อตรวจสอบทางตำรวจก็ยอมส่งข่าวมาว่าศพที่เจอเป็นภูชนะ แต่ตำรวจก็ขอว่าอย่าเพิ่งเป็นข่าว แต่สุดท้ายแล้วก็ได้มีการตรวจสารพันธุกรรมแล้วพบว่าเป็นภูชนะจริงๆ

ภรรยาของชัชชาญเล่าอีกว่า หลังจากนั้นมาพอถึงวันที่จะเผาศพทางวัดเองก็ยินดีจะทำพิธีให้แล้ว แต่ก็มีทหารไปข่มขู่วัดอีกสุดท้ายแล้วก็ได้เผาแล้วเอาไปฝัง แล้วในตอนที่พยายามยืนยันตัวว่าศพเป็นภูชนะก็ต้องเจออะไรมามากนิติเวชของกรมตำรวจตอนนั้นเคยตรวจสารพันธุกรรมของลูกไปแล้วก็ยังมีการเรียกตรวจซ้ำอีก แล้วตอนหลังไปตามความคืบหน้าคดีกับตำรวจที่นครพนมทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้รับคำสั่งให้หยุดตามด้วย

ชลิสามองว่าครอบครัวของคนที่ถูกอุ้มหายไปต้องเจออะไรมามากกว่าเพราะยังหาตัวไม่เจอด้วย แต่กรณีของภูชนะก็ยังได้รู้ว่าตาย แต่ก็อยากให้รัฐบาลช่วยกันติดตามหาผู้กระทำความผิด ทุกปีก็จะจัดงานรำลึกให้ภูชนะทุกปี 23 ธ.ค.2566 แล้วที่วันนี้มาก็เพราะลูกๆ ขอให้มาเพราะอยากให้ทำแกงหน่อไม้ที่พ่อชอบและการได้กินเป็นความสุขของภูชนะ

แกงเลียงอาหารที่สุรชัย แซ่ด่านชอบที่ปราณี ภรรยาของเขาทำมา

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัย แซ่ด่านกล่าวว่าสุรชัย เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหารและถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ต่อต้านอำนาจรัฐหัวรุนแรง แต่เธอเล่าว่าที่ผ่านมาสุรชัยเป็นคนที่ประสานเชื่อมให้ระหว่างรัฐกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะว่าเมื่อชาวบ้านไปร้องเรียนกับผู้มีอำนาจในท้องถิ่นแล้วก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็เลยมาหาสุรชัย แต่พอไปสมัครรับเลือกตั้งก็ไม่เคยได้รับเลือกตั้ง

ปราณีเล่าว่าสมัยก่อนสุรชัยก็มักถูกเชิญไปให้ความรู้ทางการเมืองกับชาวบ้านไปจนถึงผู้ลงสมัครนักการเมืองท้องถิ่นด้วยเพราะเป็นคนที่เล่าเรื่องการเมืองได้สนุก พูดแล้วไม่ได้เครียด แต่ก็ไม่ได้ค่าจ้างอะไรนอกจากค่าน้ำมัน หรือกระทั่งเคยไปช่วยเจรจาให้ระหว่างเจ้าหน้าที่เรือนจำกับผู้ต้องขังในเรือนจำทุ่งสงจนมีการปรับแนวการดำเนินงานของเรือนจำ จริงๆ แล้วสุรชัยเป็นคนประนีประนอมไม่ได้เหมือนที่รัฐพยายามกล่าวหา

ภรรยาของสุรชัยบอว่าสุรชัยชอบอาหารใต้หลายอย่างทั้งแกงส้ม แกงเลียง ขนมจีนน้ำพริก จึงได้ทำแกงเลียงมาร่วมนิทรรศการแต่โดยปกติแล้วสุรชัยเป็นคนทำอาหารเอง ทำให้เวลาได้เห็นอาหารที่สุรชัยชอบแล้วก็ได้แต่หดหู่ ว่าทำไมเขาต้องถูกจองล้างจองผลาญขนาดนี้เพราะเห็นต่างทางการเมือง

ปราณีเล่าถึงเหตุที่ทำให้สุรชัยต้องเจอเริ่มมาจากโดนดำเนินคดีจากการปราศรัยตอนปี 2554-2556 จนพอใกล้จะพ้นโทษได้ออกจากเรือนจำก็มีหมายจับคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยมาอีก เขาเห็นว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมในคดี 112 แล้วศาลก็มักตัดสินไปก่อนแล้วว่าทำผิดเพราะเมื่อโดนแล้วก็ไม่ได้ประกันตัวอีกทั้งยังโทษสูงทั้งที่เป็นเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองสรุชัยไม่ได้เป็นฆาตกร แต่พอ คสช.ทำรัฐประหารสุรชัยจึงลี้ภัยทางการเมืองออกไปพร้อมกับไกรเดช ลือเลิศ หรือ สหายกาสะลอง และภูชนะ

ภรรยาของสุรชัยเล่าต่อว่า หลังจากสามีของเธอลี้ภัยออกไปแล้วก็ยังวิจารณ์เผด็จการอยู่ทำให้ถูกตามล่าและขาดการติดต่อไปหลายเดือนจนกระทั่งปี 2558 ถึงได้รับการติดต่อจากสุรชัยและติดต่อกันมาเรื่อยๆ หลังจากนั้นจนกระทั่ง 12 ธ.ค.2566 ก็ขาดการติดต่อไป จนได้ข่าวว่าพบศพที่ท่าเรือบนลำน้ำโขง 3 ท่า โดย 2 ศพที่เจอพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นภูชนะกับกาสะลอง ส่วนศพที่พบก่อนหน้าที่คาดว่าเป็นสุรชัยที่พบที่ท่าจำปานั้นปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นศพนั้นก็หายไปแต่พอไปแจ้งความแล้วตำรวจก็ไม่รับแจ้ง

ปราณีบอกว่าที่ผ่านมาไปร้องทุกข์มาหลายที่ทั้ง ยูเอ็น กสม. ดีเอสไอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วก็ต้องคอยตามเรื่องอยู่เรื่อยๆ แต่พอเดือน ก.ค.ปี 2562 ทาง สภ.ท่าจำปาก็แจ้งว่าปิดแล้วเพราะพยานที่เคยบอกว่ามีศพขึ้นฝั่งก็ให้การใหม่ว่าไม่คิดว่าเป็นศพแต่เป็นกระสอบขยะและคงจะเป็นศพที่ลอยไปติดที่ท่าอื่นก็เลยกลายเป็นว่าไม่มีการแจ้งความไม่มีเหตุฆาตกรรมแล้วตำรวจก็ปิดสำนวนไป เธอจึงต้องไปดูสถานที่เองก็พบว่าท่าเรือที่พบศพแต่ละท่าอยู่ห่างกัน 50 กม.การบอกว่าศพหนึ่งไหลไปขึ้นอีกที่เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น เพราะทั้งสภาพอากาศในเวลานั้นและการทำประมงของชาวบ้านตลอดเส้นแม่น้ำ

ภรรยาของสุรชัยยังบอกอีกว่าภายหลังตำรวจก็ยังมาปฏิเสธว่าไม่ใช่ศพของสุรชัยเพราะยังยืนยันได้ว่าสุรชัยเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทางครอบครัวติดต่อไม่ได้อีกเลย แล้วหลังจากนั้นมาก็มีคนไปพบว่าข้าวของของสุรชัยในที่พักตอนลี้ภัยก็ถูกค้นด้วย  และเมื่อรัฐไม่ยอมรับว่าสุรชัยหายตัวไปภายหลังศาลก็ยังจะยึดเงินประกันตัวในคดีของสุรชัยไปอีกเป็นจำนวนเงินกว่า 4 แสนบาท ทำให้นายประกันที่ใช้ตำแหน่งมาเป็นหลักประกันให้ต้องเดือดร้อนและเธอก็ต้องหาเงินมาจ่ายค่าประกันตัวไม่เช่นนั้นนายประกันก็จะโดนดำเนินคดีแทนทำให้ตอนนี้ต้องจ่ายเงินค่าประกันตัวให้กับศาลเดือนละ 3,000 บาททุกเดือน

ปราณีได้ขอว่ารัฐอย่าทำเพิกเฉยกรณีคนที่ถูกบังคับสูญหายแบบนี้เพราะครอบครัวของคนเหล่านี้ยังต้องเจอปัญหาอื่นๆ อีกแต่รัฐก็มักอ้างกฎหมายว่าให้ชดเชยไม่ได้เพราะคนเหล่านี้ไม่มีหลักฐานว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่มั้ย ส่วนญาติก็ต้องเจอความยากลำบากในการดำรงชีวิตอยู่แล้วจะไปหาหลักฐานจากไหนมายืนยันอีก และหวังว่ารัฐบาลใหม่มีความจริงใจที่จะสืบสาวคดีเพื่อให้ความยุติธรรมกับญาติของผู้ที่ถูกบังคับสูญหายอื่นๆ ด้วย

อังคณาบอกว่าคนที่ถูกทำให้หายคนข้างหลังก็จะเจอภาระต่างๆ อีกมาก เรื่องหนี้สินเป็นเรื่องหนึ่งที่หลายคนต้องเจอ อย่างตัวเธอเองหลังจากสมชายหายไปก็มีภาระค่าใช้จ่ายแต่พอจะเอาที่ดินไปขายก็ต้องเอาตัวสามีมาเซนจนกระทั่งเวลาผ่านไป 5 ปีแล้วถึงได้ขาย แล้วยังเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นเมียทนายโจรอีก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้และก็ต้องทำให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีเพื่อให้คนที่กระทำผิดเห็นว่าผู้เสียหายยังสามารถใช้ชีวิตพัฒนาอะไรอย่างอื่นได้อีก

อย่างไรก็ตาม อังคณาก็ยังรู้สึกสะท้อนใจที่ยังเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มหายยังลอยนวลอยู่และยังได้ดิบได้ดีในหน้าที่การงาน การที่คนหนึ่งถูกทำให้หายไปแต่คนที่ได้ชื่อว่าเกี่ยวข้องการอุ้มหายกลับเจริญเติบโตก็เหมือนเป็นการเยาะเย้ยที่ชีวิตคนคนนึงไม่มีความหมายเลย ถ้าถามเธอว่าแตกสลายแล้วทำอย่างไรก็ถือเป็นความทุกข์ทรมาน เพราะอย่างกรณีของสมบัต สมพอน นักกิจกรรมชาวลาวที่ไม่สามารถทำกิจกรรมในประเทศตัวเองได้ก็เข้ามาทำในไทยแล้วหายตัวไป ทุกวันนี้ก็ทำได้แค่นับจำนวนวันเพื่อรำลึกการหายตัวไปได้เท่านั้น

สมาชิกคณะทำงานด้านบังคับสูญหายฯ กล่าวด้วยว่าเธอยังโดนคุกคามถึงชีวิตอีกหลังออกมาพูดเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่งก็จะเจอตลอด ทำให้เห็นว่าการที่คนกลุ่มหนึ่งกระทำความผิดที่จะต้องรับโทษก็เลยใช้วิธีปิดปากเหยื่อด้วยการคุกคาม เธอยังชี้ให้สังเกตว่าเมื่อมีคนคนหนึ่งถูกอุ้มไปคนในชุมชนก็เงียบกันหมด พี่น้องหรือญาติก็กลัวกัน แต่ถ้าคนรอบตัวของเหยื่อไม่พูดถึงเรื่องก็จะเงียบไป อย่างเช่นเรื่องราวของชาวบ้านที่พัทลุงที่บอกว่าคนในหมู่บ้านหายไป 3,000 คนถูกอุ้มหายไปในช่วงที่รัฐบาลไทยปราบปรามคอมมิวนิสต์ ชาวบ้านทำได้แค่สร้างอนุสรณ์ถังแดงให้และเหนื่อยล้าเกินกว่าจะออกมาทำอะไรมากกว่านี้ได้

อังคณายังได้ยกกรณีที่สีละมากล่าวถึงว่า คนไทยมักมองลาหู่ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเมื่อไปค้นบ้านเขาแล้วเจอเงินก็คิดว่าเป็นเงินที่เกี่ยวกับการค้ายาทั้งที่พวกเขาเองไม่สามารถนำที่ทำงานหามาได้ไปฝากธนาคารเพราะไม่มีสัญชาติ กลายเป็นว่าคนที่ควรจะได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองกลับถูกกล่าวหาและเย้ยหยัน พวกเขาอยู่ในสภาพติดลบพูดอะไรไปก็กลายเป็นว่ากำลังโกหก เรื่องเหล่านี้ทำให้แม่หลายคนต้องตายไปพร้อมกับความโกรธ เป็นเรื่องทุกข์ทรมานมาก แม้บางคนอาจจะบอกว่ายังพอทำอะไรได้แต่จริงๆ แล้วก็แตกสลายไม่น้อยไปกว่าคนอื่น

อังคณาบอกว่าสำหรับเธอแล้วมีแต่ต้องทำงานมากขึ้นก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ และเป็นเรื่องที่เธอภูมิใจทำงานได้มาถึงจุดนี้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วอาจจะตายไปกับความจริง แต่ก็ยังได้ช่วยคนอื่นในการเปิดปากส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ก็ไม่มีใครก้าวผ่านไปได้ถ้าไม่รู้ชะตากรรมของคนใกล้ชิด ชีวิตต้องอยู่กับความกำกวม ทุกวันนี้เธอเองก็ยังต้องมาตอบคำถามเดิมว่าตกลงสมชายแล้วหรือไม่หรือต้องมาเล่าสิ่งที่ไม่อยากเล่าซ้ำไปซ้ำมา กลายเป็นการย้ำแผลที่แห้งไปบ้างแล้วให้กลับมากลายเป็นแผลสดอีก

รัฐควรจะต้องบอกเราได้ว่าพลเมืองของรัฐหายไปได้อย่างไร คนหนึ่งคนจะหายไปได้อย่างไร การช่วยเหลือทางการเงินมีความสำคัญมาก ถ้าคนที่หายไปเป็นหัวหน้าครอบครัวผู้หญิงที่ยังอยู่ก็ต้องรับภาระ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้วิธีอุ้มหายเพราะไม่ต้องรับผิด อย่างไรก็ตามวันนี้ก็มีกฎหมายแล้วและรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ว่ารัฐมีหน้าที่ต้องทำตามก็ขอว่ารัฐอย่าปล่อยให้ครอบครัวต้องเป็นคนไปวิ่งหาเอง และอยากบอกรัฐไทยว่าทุกวันนี้การตามหาตัวคนหายก็ไม่ได้มาตรฐานเพราะการหาคือการหาตัวคนที่หายว่าถูกเอาไปไว้ที่ไหนไม่ใช่ว่าหาเจอกระดูกของเหยื่อได้แล้วแต่ไม่รู้ว่าใครทำ

สีละ กล่าวว่าตัวเขาเองก็มักต้องเจอคำถามจากคนในชุมชนว่าได้เรื่องจากหน่วยงานรัฐว่าอย่างไร แต่สิ่งที่เขาอยากฝากถึงหน่วยงานรัฐคือการเยียวยาครอบครัวของคนที่ถูกอุ้มหายไปเพราะคนเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่ อีกทั้งยังชัดเจนว่าคนเหล่านี้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตัว และอยากฝากรัฐบาลด้วยว่าการบริหารรัฐก็ให้คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย กฎหมายที่ออกมาแล้วก็อยากให้รัฐประชาสัมพันธ์ไปถึงหน่วยงานรัฐในพื้นที่ต่างๆ ด้วยเพราะหน่วยงานเหล่านี้ต้องอยู่กับชาวบ้าน ชาวบ้านเขาเกิดมาก็เป็นมนุษย์เท่าเทียมกันก็อยากให้กฎหมายถูกใช้อย่างเท่าเทียมด้วย ชาวบ้านอยู่ในป่าเดินทางใช้ชีวิตลำบากอยู่แล้วยังมาโดนละเมิดสิทธิอีกก็ยิ่งลำบาก

กัญญากล่าวว่าสำหรับเธออยากให้สยามได้กลับมากินข้าวที่บ้าน แต่ก็เป็นได้แค่ความฝันเพราะคงเป็นไปไม่ได้สี่ปีแล้วก็หมดโอกาสที่จะคิดแบบนั้นแล้ว ถ้าสยามไม่ต้องลี้ภัยวันนี้ก็น่าจะได้มาช่วยพ่อทำงานแล้วไปสอบเป็นข้าราชการ แต่โอกาสก็ริบหรี่ ทางการก็ไม่เลียวแล บางทีก็อยากตะโกนบอกว่าเป็นทุกข์มากแค่ไหนแต่ตอนนี้เจ็บปวดอยู่คนเดียวเพราะคนที่ทำงานเป็นหลักก็โดนอุ้มหายไปต้องมาผ่อนรถผ่อนบ้าน และก็ต้องไปกู้เงินดอกร้อยละ 10 มาหมุนเพื่อไม่ให้รถต้องโดนยึด เธอไม่เคยคิดเลยว่าแค่สยามไปเล่นละครจะต้องมาสูญเสียขนาดนี้ จึงอยากฝากรัฐบาลให้เยียวยาและเห็นว่าครอบครัวคนเหล่านี้เดือดร้อนขนาดไหนแต่จะตามหาตัวคงยากแล้ว

ชลิสา กล่าวว่าสำหรับเธอแม้ว่าภูชนะจะไม่อยู่แล้ว แต่ก็อยากให้ความเป็นปกติของครอบครัวกลับคืนมา วันนี้ไม่มีพ่อ ลูกก็ไม่รู้ว่าจะดูจากใครแม่ก็ต้องเข้มแข็งเป็นหลักให้กับลูก แต่จะให้กลับมาเหมือนเดิมคงไม่ได้แล้วเพราะภูชนะก็ตายไปแล้ว แต่พอเห็นคนอื่นเขาเดือดร้อนกว่าก็ได้แค่หวังว่าฟ้ามีตาจะจับคนที่กระทำความผิดมาได้

ภรรยาของภูชนะเล่าว่าภูชนะก็เป็นคนดีแต่เขาเป็นคนเสื้อแดงด้วย เคยนำคนไปชุมนุมก็โดนล้อมปราบ ตอนหลังพอรู้ว่ามีคนตายที่ถูกเอาศพไปที่ระยองภูชนะเขาก็ไปตามถึงที่ ถ้าวันนี้ภูชนะยังอยู่ก็คงมีเรื่องเล่าอีกหลายเรื่องเพราะตอนไปเจอที่ลาวเขาก็เล่าหลายเรื่องแล้วก็บอกเขาว่าได้กลับบ้านก่อนค่อยเล่าแต่ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเขาจะไม่ได้กลับมาอีกเลย

ชลิสาบอกว่าวันที่เห็นทักษิณ ชินวัตรได้กลับบ้านก็ทำให้นึกถึงภูชนะเพราะถ้ายังอยู่ก็คงไปรับที่สนามบินแน่ๆ เพราะตอนที่ทักษิณอยู่เราก็ทำมาหากินกันได้ดี จนวันนี้คนที่จะไปรับก็ตายไปแล้วเธอก็สะท้อนใจกับความไม่มีตัวตนต้องมากินข้าวร่วมกันอย่างเศร้าๆ กับเพื่อนๆ ที่มาตามหาคนหายด้วยกัน

ถ้าสุรชัยยังอยู่ก็น่าจะยังช่วยชาวบ้านในการประสานงานกับหน่วยงานรัฐ อยากทำประโยชน์ให้กับชาวบ้าน แต่วันนี้ความหวังก็ริบหรี่แต่ก็ยังหวังอยู่ว่าจะเจอสุรชัย และเธอก็หวังว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนี้จะเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบหรืออะไรก็แล้วแต่ก็ขอรัฐบาลทำให้ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรม ช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกกดขี่ขูดรีด แล้วก็อย่าทำให้เรื่องที่เคยหาเสียงไว้เป็นเพียงการหาเสียงเท่านั้น ขอความจริงใจจากรัฐบาลใหม่ด้วย

สำหรับนิทรรศการ “แล้วกลับมากินข้าวด้วยกันนะ”  จัดขึ้นโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ กลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในช่วงวันที่ 27-30 ส.ค.2566 ทุกวันเวลา 11.00 – 19.00 น. ณ KINJAI CONTEMPORARY สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีสิรินธร ลงทางออก 1

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net