Skip to main content
sharethis

ศาลเชียงใหม่พิพากษาคดี “รามิล - เท็น” สองนักศึกษา มช. และสมาชิกกลุ่มศิลปิน Artn’t สั่งลงโทษจำคุกตาม ม.112 และ พ.ร.บ.ธงฯ รวม 3 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 1,500 บาท ใหัรอลงอาญา 3 ปี คุมประพฤติ 2 ปี จากเหตุแสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงิน เมื่อปี 2564 โดยคดีนี้มีศรีสุวรรณ จรรยา เป็นผู้กล่าวหา

 

28 ส.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงาน ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาคดีของ รามิล - ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ และเท็น - ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ สองนักศึกษา มช. และสมาชิกกลุ่มศิลปิน Artn’t เหตุแสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงิน ศาลมีความเห็นว่าจำเลยมีความผิดทั้งตาม ม.112 และ พ.ร.บ.ธงฯ

พิพากษาลงโทษจำคุกตาม ม.112 จำคุก 4 ปี และ พ.ร.บ.ธง จำคุกอีก 8 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 4 เหลือจำคุกรวม 3 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 1,500 บาท และเห็นว่าจำเลยทั้งสองยังเป็นนักศึกษาและไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกใหัรอลงอาญา 3 ปี ให้คุมประพฤติ 2 ปี

เท็น - ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ และ รามิล - ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์

ทั้งนี้ รามิลและเท็นแสดงงานศิลปะที่มีลักษณะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงิน ในงานกิจกรรมชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริเวณสนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 คดีนี้มี พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง และ ศรีสุวรรณ จรรยา เป็นสองผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ นักศึกษาทั้งสองเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 ก่อนพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่จะมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 18 ม.ค. 2565 โดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธมาตลอด ก่อนศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งหมด 4 นัด เมื่อวันที่ 8-10 ก.พ. และ 2 พ.ค. 2566

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานคดีเพิ่มเติมวันนี้ (28 ส.ค. 2566) จำเลยทั้งสองและทนายจำเลยเดินทางมาศาล โดยมีนายประกันที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนนักศึกษา และเพื่อนศิลปิน รวมกว่า 10 คน เดินทางมาให้กำลังใจและติดตามคดีของทั้งสองคนที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1

ในช่วงเช้า ศาลได้พิจารณาคดีอื่นๆ ที่นัดไว้ก่อน จนเวลา 11.35 น. จึงได้เรียกจำเลยและทนายความเข้ามาฟังคำพิพากษา ขณะที่ผู้มาให้กำลังใจซึ่งมีจำนวนมากไม่สามารถเข้าห้องพิจารณาได้ทั้งหมด
ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุป เห็นว่าพยานโจทก์เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้พบเห็นเหตุการณ์ทั้งสามปาก ได้เบิกความถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 ที่สนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบเห็นชาย 2 คน ถือวัสดุคล้ายธงชาติไปวางไว้ และมีประชาชนมาร่วมกันเขียนข้อความหลายคน โดยพยานจำได้ว่าคือจำเลยทั้งสองในคดีนี้ เจือสมกับการนำสืบของจำเลย ที่เบิกความว่าทั้งสองคนต้องการวางงานศิลปะที่มีการปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในงาน จึงนำวัสดุดังกล่าวไปวาง

ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้นำวัสดุดังกล่าวไปวางไว้จริง โดยเมื่อพิจารณาแถบของวัสดุดังกล่าว มีลักษณะใกล้เคียงกับลักษณะของธงชาติ ตามมาตรา 5 อนุ 1 ของ พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 แตกต่างเพียงสัดส่วนที่ไม่ตรงกัน แม้จำเลยทั้งสองจะต่อสู้ว่าไม่ได้มีเจตนาทำผลงานคล้ายคลึงกับธงชาติ

ได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสามปาก ว่าจำเลยทั้งสองได้ชูวัสดุดังกล่าวขึ้นเป็นเวลาประมาณ 10 นาที โดยพยานทั้งสามปากอยู่คนละจุดกัน แต่เบิกความในลักษณะเดียวกัน โดยมีพยาน 1 ปาก ที่ระบุว่าการชูวัสดุดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่พิธีกรเชิญชวนให้มีการเคารพธงชาติ

แตกต่างจากที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าชูและพับเก็บโดยใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที แต่จากภาพถ่ายพยานหลักฐานในคดี บางภาพเห็นจำเลยทั้งสองหยุดนิ่งกับที่ แต่บางภาพมีการเคลื่อนที่ไปไม่น้อย ไกลเกินกว่าจะเป็นการพับเก็บตามที่จำเลยอ้าง และยังมีภาพที่บุคคลผู้เข้าร่วมกำลังยืนอยู่ด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยชูวัสดุขณะเปิดเพลงชาติ ไม่ใช่การชูขึ้นเพื่อพับเก็บแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ยังพบข้อความที่เขียนบนวัสดุดังกล่าวว่า “Revolution Flag” ย่อมทำให้เข้าใจว่ามีผู้ที่มาเขียนข้อความเข้าใจว่าวัสดุดังกล่าวมีลักษณะคล้ายธงชาติ เมื่อพิจารณารูปแบบ ลักษณะ และช่วงเวลาที่จำเลยชูขึ้นประกอบกัน จึงทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าวัสดุดังกล่าวเป็นธงชาติ เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 มาตรา 51 แล้ว

ส่วนที่พยานจำเลยปากหนึ่งเบิกความถึงประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุถึงมาตรฐานของค่าสีของธงชาติ ซึ่งไม่ตรงกับสีกับวัสดุดังกล่าวนั้น ประกาศดังกล่าวก็เป็นแต่เพียงคำแนะนำเท่านั้น

เห็นว่าการทำสีแถบคล้ายกับธงชาติ แต่มีพลาสติกใสแทนแถบบริเวณสีน้ำเงิน และชูในงานชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเวลาที่มีการเคารพธงชาติ แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องการให้มีพระมหากษัตริย์ในธงชาติไทย อันเป็นลดทอนคุณค่าของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำปากกามาวางไว้บริเวณวัตถุดังกล่าวเพื่อทำงานศิลปะที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมนั้น จำเลยทั้งสองย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ชมอาจเขียนข้อความอะไร

ส่วนข้อความที่ปรากฏบนวัสดุ คำว่า “พอแล้วไอษัตร์” พบว่าถูกเขียนเป็นตัวขนาดใหญ่ ด้านที่จำเลยที่ 1 ยกชูขึ้น เจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่าได้เห็นถ้อยคำนี้ก่อนยกชูขึ้น แต่ไม่เข้าใจความหมาย

คำว่า “ษัตร์” ไม่มีความหมายตามพจนานุกรม แต่ฟังเสียงคล้ายกับคำว่า “ไอ้สัตว์” ที่ใช้กล่าวติเตียน ด่าว่า และพ้องรูปกับคำว่า “กษัตริย์” เมื่อพิจารณาว่าถูกเขียนลงบนวัสดุคล้ายธงชาติ ที่ไม่มีสีน้ำเงิน บุคคลย่อมทราบและเข้าใจว่าความหมายว่า “ให้พระมหากษัตริย์หยุดได้แล้ว” และมีคำว่า “ไอ้” ซึ่งเป็นคำไม่สุภาพ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจความหมายเช่นกัน ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอธิปไตยผ่านคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล และโดยที่พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และคำว่า “พอแล้ว” หมายถึงพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต จึงเป็นการดูหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ส่วนจำเลยที่ 2 ถืออยู่คนละด้านกับข้อความดังกล่าว และธงยังมีขนาดใหญ่ มีข้อความขนาดเล็กถูกเขียนกระจายกันอยู่จำนวนมาก จำเลยที่ 2 อาจจะมองไม่เห็นข้อความก็เป็นได้ ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เห็นข้อความดังกล่าวหรือไม่

ส่วนข้อความอื่นๆ ตามฟ้อง เห็นว่าเป็นตัวอักษรขนาดเล็ก เห็นได้ไม่ชัด และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยทั้งสองเห็นข้อความหรือไม่ และเข้าใจความหมายของข้อความหรือไม่ อย่างไร การกระทำของจำเลยที่ 2 ในการชูวัสดุดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดในกรณีนี้

สำหรับฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำผิดไว้หลายประการ เมื่อมีบางการกระทำที่ครบองค์ประกอบของมาตรา 112 แล้ว จึงเห็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดในข้อหานี้

จำเลยทั้งสองกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษเป็นกระทงความผิดไป ข้อหาตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี และข้อหาตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 51 ให้ลงโทษจำคุก 8 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท

จำเลยทั้งสองให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ข้อหาตามมาตรา 112 คงจำคุก 3 ปี และข้อหาตาม พ.ร.บ.ธง คงจำคุก 6 เดือน ปรับคนละ 1,500 บาท

รวมโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 1,500 บาท เห็นว่าจำเลยทั้งสองยังเป็นนักศึกษา ใกล้สำเร็จการศึกษาแล้ว หากต้องรับโทษจำคุกย่อมเสียประวัติ ประกอบกับจำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 3 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยทั้งสอง มีกำหนด 2 ปี โดยให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติทั้งหมด 8 ครั้ง และให้ยึดของกลางในคดีนี้

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี ได้แก่ ภมร อนันตชัย

หลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ เวลาประมาณ 12.00 น. ตำรวจศาลได้ควบคุมตัวนักศึกษาทั้งสองคนลงไปห้องขังใต้ถุนศาล เพื่อรอชำระค่าปรับตามคำพิพากษา โดยต้องรอชำระในช่วงบ่าย

เวลา 14.10 น. หลังชำระค่าปรับรวม 3,000 บาท ทั้งสองคนจึงได้รับการปล่อยตัว และเดินทางไปรายงานตัวเจ้าหน้าที่คุมประพฤติตามคำพิพากษาของศาล

 

 

หมายเหตุ : วันที่ 28 ส.ค. 2566  เวลา 18.50 น. มีการเพิ่มเติมเนื้อหาส่วนรายงานคดี

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net